www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดแสนสุข

วัดแสนสุข

 วัดแสนสุข เป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พื้นที่ของวัดส่วนหนึ่งเปิดเป็นโรงเรียนวัดแสนสุข ส่วนฌาปณสถานแยกออกไปอีกด้านหนึ่งของวัดอย่างชัดเจน สิ่งที่น่าสนใจได้แก่มณฑปหลวงพ่อแสนสุข ศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ปัจจุบันกำลังก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขนาดใหญ่และสวยงามมาก ด้านหนึ่งของวัดติดคลองแสนแสบมีศาลาท่าน้ำสำหรับพักผ่อน ในเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ วัดแสนสุขก็เปิดเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย

ประวัติความเป็นมาวัดแสนุสข
 วัดแสนสุขนั้น เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานกันว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณพุทธศักราช ๒๓๑๕ ไม่ทราบนาม และประวัติผู้สร้างแต่อย่างใด เข้าใจว่าชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำเมืองมีนบุรีแล้วขนานนามวัดว่า "วัดแสนแสบ" ตามท้องที่ภูมิทัศน์ที่ตั้งวัด เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระครูมีนนครธรรมภาณ (ปั่น) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะจังหวัดมีนบุรี ได้สร้างอุโบสถวัดแสนแสบ เสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ วัดแสนสุขได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๙
 ครั้นต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๗ ได้เปลี่ยนนามวัดใหม่ เป็น "วัดแสนสุข" และได้สร้างอุโบสถหลังใหม่จากหลังเดิมขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘

ที่ตั้งปัจจุบันของวัด : ปัจจุบันวัดแสนสุขตั้งอยู่ เลขที่ ๔๗ หมู่ ๒ ถนนสุวินทวงศ์ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
สังกัดคณะสงฆ์ : เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
พื้นที่และอาณาเขต : พื้นที่ตั้งของวัดเป็นที่ราบสูง มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๑ งาน ๙๘ ตารางวา มีที่ดินตั้งวัดเป็นเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๑๖ ตารางวา โดยมีอาณาเขตดังนี้
อาณาเขตด้านทิศเหนือ ยาว ๖๖ วา ติดกับถนนสาธารณะ
อาณาเขตด้านทิศใต้ ยาว ๗๑ วา ติดกับลำคลองแสนแสบ
อาณาเขตด้านทิศตะวันออก ยาว ๖๖ วา ติดกับถนนสุวินทวงศ์ไปติดกับลำคลองแสนแสบ
อาณาเขตด้านทิศตะวันตก ยาว ๘๒ วา ติดกับที่ดินของเอกชนจากลำคลองแสนแสบใกล้ถึงถนนสุวินทวงศ์

ถาวรวัตถุภายในวัด : สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นถาวรวัตถุภายในวัดแสนสุขนั้นมีมากมาย แต่สถานที่สำคัญ ๆ นั้น มีดังนี้
- อุโบสถ สร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร (หลังเดิมกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๖.๕๐ เมตร)
- ศาลาการเปรียญหลังเก่า สร้างเป็นแบบอาคารไม้ยุคโบราณ
- ศาลาการเปรียญหลังใหม่ สร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น มี ๓ ยอดเป็นทรงจตุรมุขลวดลายสวยงาม
- เมรุ สร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เตาเผาน้ำมันปลอดมลพิษ
- มณฑป สร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็กทรงจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง หลวงพ่อแสนสุข และรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส

 วัดแสนสุขเป็นวัดที่มีกิจกรรมในการสืบทอดพระพุทธศาสนา บรรพชา(บวชเณร) ภาคฤดูร้อน มาต่อเนื่องถึง 19 ครั้ง (ถึง ปี 2555) โดยกิจกรรมครั้งล่าสุดจัดขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2555 มีทั้งหมด 185 รูป โดยสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดจนถึงต้นเดือนเมษายน กำหนดการพิธีในการบวชภาคฤดูร้อนปีที่ 19 ที่ผ่านมาดังนี้
 กำหนดการพิธี
วันที่ 6 เมษายน 2555
เวลา 06.30 น. นาคเณรรับประทานอาหาร
เวลา 07.00 น. พิธีปลงผมนาคเณร
เวลา 10.30 น. นาคเณรรับประทานอาหาร
เวลา 12.00 น. นาคเณรเข้าแถวเตรียมขบวนแห่นาค
เวลา 12.30 น. พิธีแห่นาคเณร
เวลา 13.00 น. พิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
 - ประธานในพิธี (ฝ่ายฆราวาส) จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย (นายอรุณ พ่วงสมบัติ ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี)
 - พิธีกรนำอาราธนาศีล
 - กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี
 - ประธานในพิธี (ฝ่ายฆราวาส) กล่าวเปิดโครงการฯ
 - ผู้มีเกียรติกล่าวแสดงความยินดี อนุโมทนาแด่สามเณรและเจ้าภาพ
เวลา 14.00 น. พิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ
 - นำกล่าวคำอธิฐานไถ่ชีวิตโค-กระบือ
เวลา 14.30 น. พิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
 - แขกผู้มีเกียรติ, เจ้าภาพ, ผู้ปกครอง ทำพิธีมอบผ้าไตรแก่เยาวชนที่เข้ารับการบรรพชา
 - พิธีบรรพชาสามเณร โดยพระครูโกศลวิมลกิจ เจ้าอาวาสวัดแสนสุข เจ้าคณะเขตมีนบุรี
 - กรวดน้ำ - รับพร
 - เสร็จพิธี

การเดินทาง วัดแสนสุขอยู่ติดถนนสุวินทวงศ์ แต่ถ้าขับรถมาเองแนะนำให้ใช้เส้นทางถนนร่มเกล้า แล้วเลี้ยวเข้าซอยชุมชนวัดแสนสุข (ตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี)
ติดต่อวัดแสนสุข หน้าเฟสบุคแฟนเพจ http://www.facebook.com/pages/วัดแสนสุข/217078154981334

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 33725

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางเข้าวัดแสนสุข

เดินทางเข้าวัดแสนสุข ตามธรรมเนียมของการเขียนเรื่องราวของสถานที่ต่างๆ ของเรา เราจะต้องเริ่มจากการเดินทางก่อน วัดแสนสุขนั้นอยู่ที่มีนบุรี ติดถนนสุวินทวงศ์ มีซอยเลี้ยวเข้าวัดได้ แต่ในวันที่เราเดินทางไปเราใช้ถนนรามคำแหง เลี้ยวซ้ายเข้ามีนบุรีด้วยถนนร่มเกล้าถึงทางแยกบริเวณสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีซอยตรงข้ามจะเป็นซอยเข้าวัดแสนสุข ชื่อซอยชุมชนวัดแสนสุขแต่เป็นจุดห้ามเลี้ยวเพราะอยู่เชิงสะพาน ก็ต้องเลยไปหน่อยแล้วกลับรถเลี้ยวซ้ายเข้าซอยตรงเข้าวัดแสนสุขก่อนจะถึงซุ้มประตูวัดจะเป็นแนวกำแพงวัดล้อมรอบพื้นที่ฌาปณสถานอยู่ด้านขวามือ

ซุ้มประตูวัดแสนสุข

ซุ้มประตูวัดแสนสุข

มณฑปหลวงพ่อแสนสุข

มณฑปหลวงพ่อแสนสุข จากซุ้มประตูขับตรงเข้ามาจนถึงสุดเขตวัดจะมีลานจอดรถหน้าโรงเรียนวัดแสนสุข บริเวณนี้เป็นที่ตั้งมณฑปทรงจตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อแสนสุข พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดแสนสุข รอยพระพุทธบาทจำลอง และรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส

หลวงพ่อแสนสุข

หลวงพ่อแสนสุข ประดิษฐานอยู่กลางมณฑป มีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์เล็ก รูปเหมือนหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง ภูเก็ต ส่วนรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสอยู่เบื้องหลังหลวงพ่อแสนสุขชิดกับผนังมณฑป

รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสวัดแสนสุข

รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสวัดแสนสุข ลำดับเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดแสนสุข ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
ธรรมดาว่าวัดแต่ละวัดนั้นจะต้องมีผู้ปกครองหรือผู้ที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าสงฆ์ในแต่ละวัดคอยปกครอง วัดแสนสุขนั้น สร้างขึ้นมานานหลายปี แต่ก่อนนั้นไม่มีใครเก็บข้อมูลประวัติเจ้าอาวาสไว้เลย แต่ก็พอจะมีข้อมูลบางส่วนที่ได้มาจากการเล่าขานบ้างจากการเห็นบ้าง ซึ่งจะขอกล่าวดังต่อไปนี้
รูปที่ 1 พระครูมีนนครธรรมภาณ (ปั่น) เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนแสบ (ไม่ทราบปีที่ดำรงตำแหน่ง)
เมื่อครั้งที่วัดแสนสุขยังมีนามว่า วัดแสนแสบ ท่านได้มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดมีนบุรี ในครั้งที่เมืองมีนบุรียังไม่ขึ้นกับการปกครองของจังหวัดพระนคร ภายในวัดมีเจดีย์เก็บอัฐิของท่านอยู่ที่ข้างอุโบสถ ด้านทิศตะวันออก แต่ตอนนี้ได้นำอัฐิของท่านออกจากเจดีย์นั้นแล้ว และคณะสงฆ์ได้สร้างรูปหล่อขึ้นประดิษฐานไว้ให้สาธุชนสักการะบูชา ในปัจจุบันทุกวันนี้ ประดิษฐานในมณฑปทรงจตุรมุขด้านทิศตะวันออกของวัด
รูปที่ 2 พ.ศ. 2469-2471 พระอธิการเป้า เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนแสบ
รูปที่ 3 พ.ศ. 2471-2474 พระครูมีนนครธรรมภาณ (โหง) เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนแสบ
และในปี พ.ศ. 2474 ทางราชการได้ยุบจังหวัดมีนบุรี เป็นอำเภอมีนบุรีขึ้นกับการปกครองของจังหวัดพระนคร ภาพเป็นภาพถ่ายจากองค์หล่อรูปเหมือนในมณฑป ตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ของวัดแสนสุข และเป็นเจ้าคณะอำเภอมีนบุรีไม่มีเจดีย์บรรจุอัฐิปรากฏในวัดแต่อย่างใด
รูปที่ 4 พ.ศ. 2475 พระภิกษุฉุย เขมทสฺสี รักษาการเจ้าอาวาสวัดแสนแสบ
พ.ศ. 2478-2529 พระครูมีนธรรมภาณ (ฉุย) เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนสุข และในปี พ.ศ. 2521 วัดแสนสุข ได้รับการยกย่องจากกรมการศาสนาให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง" ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อเป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย รักษ์การพัฒนาจนวัดได้รับยกย่อให้เป็นวัดพัฒนาในยุคของท่าน ในปัจจุบันลูกศิษย์ของหลวงพ่อมีมากมาย รูปเหมือนหลวงพ่อประดิษฐานที่ บนอุโบสถด้านหน้าด้านทิศใต้ และมณฑปทรงจตุรมุขด้านทิศตะวันออกของวัด
รูปที่ 5 พ.ศ. 2531 พระครูพิศิษฐ์ธรรมวาที รักษาการเจ้าอาวาสวัดแสนสุข
รูปที่ 6 พ.ศ. 2533 พระครูโกศลวิมลกิจ เป็นเจ้าอาวาสวัดแสนสุข และปัจจุบันเป็นเจ้าคณะเขตมีนบุรี เป็นเจ้าสำนักเรียนคณะเขตมีนบุรีในปัจจุบัน

ซุ้มประตูวัดแสนสุขด้านถนนสุวินทวงศ์

ซุ้มประตูวัดแสนสุขด้านถนนสุวินทวงศ์ ซุ้มประตูนี้อยู่ขอบถนนแต่เป็นทางต่างระดับไม่สามารถขับรถเข้าประตูนี้ได้ครับ สร้างในปีพ.ศ. 2536 มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ

อุโบสถวัดแสนสุข

อุโบสถวัดแสนสุข เป็นอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสูงมากโดดเด่นอยู่ท่ามกลางเสนาสนะอื่นๆ อุโบสถสร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร (หลังเดิมกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๖.๕๐ เมตร)

หอไตร

หอไตร เป็นอาคารเก่าแก่ที่เราได้พบในวัดแสนสุข ด้านหลังถัดไปอีกไม่ไกลจะมีศาลาการเปรียญไม้ทั้งหลังเป็นศาลาขนาดใหญ่ที่มีความเก่าแก่ ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว

เมรุ

เมรุ หรือฌาปณสถาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใช้พื้นที่ค่อนข้างกว้าง ล้อมรอบด้วยศาลาอภิธรรมหลายหลัง พื้นที่ส่วนนี้แยกออกจากเขตสังฆวาส และเขตพุทธาวาส อย่างชัดเจน แม้ว่าจะไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างวัดนี้ขึ้นมา แต่สภาพปัจจุบันก็แสดงให้เห็นว่าศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัดแสนสุขนั้นมีอย่างมากล้นเพียงใด จึงได้สร้างเสนาสนะต่างๆ ในบริเวณวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางมากอย่างนี้ในกรุงเทพฯ ได้

ศาลาการเปรียญหลังใหม่

ศาลาการเปรียญหลังใหม่ ที่เห็นเป็นอาคารยอดสูงๆ ในภาพนี้คือศาลาการเปรียญกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีความสูง 3 ชั้น ด้านหลังเป็นคลองแสนแสบ มีศาลาท่าน้ำอยู่หลายหลัง ส่วนยอดของศาลาการเปรียญหลังใหม่สร้างเป็น 3 ยอดแบบจตุรมุขสวยงามมาก

กุฏิสงฆ์

กุฏิสงฆ์ เป็นภาพสุดท้ายที่เก็บมาจากวัดแสนสุข หวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมานี้จะมีประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจนะครับ ขอบคุณวัดแสนสุขสำหรับข้อมูลของวัดในการเผยแพร่มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดแสนสุข กรุงเทพมหานคร
ปลื้ม เรสซิเดนซ์ มีนบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
THE ALL 24 Luxury Residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
สตูดิโอ บ้าน 3 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 178 ตร.ม. – สนามบินสุวรรณภูมิ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
Family guesthouse Minburi เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุวรรณภูมิ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะ คาแนล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
เค เรซิเดนซ์ สุวรรณภูมิ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Asakan City เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 38 ตร.ม. – สนามบินสุวรรณภูมิ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
beautiful house loss in the park. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.21 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com