www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สุโขทัย >> อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นดินแดนแห่งยุคทองที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทยในอดีต ที่ยังคงร่องรอยแห่งอารยธรรมอันรุ่งเรือง สถาปัตยกรรมอันงดงามวิจิตรบรรจง และที่สำคัญเป็นร่องรอยอดีตแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย และของคนทั้งโลกจนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. 2534

 เมืองเก่าสุโขทัยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย - ตาก ในอดีตเมืองสุโขทัยเคยเป็นราชธานีของไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ ภายในอุทยานฯ มีสถานที่สำคัญที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน โดยมีคูเมือง กำแพงเมือง และประตูเมืองโบราณล้อมรอบอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบไปด้วยโบราณสถานทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง ดังนี้

สถานที่สำคัญภายในกำแพงเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

กำแพงเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก เรียกว่า ตรีบูร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 1,300 เมตร ยาว 1,800 เมตร กำแพงชั้นในเป็นศิลาแลงก่อบนคันดิน กำแพง 2 ชั้นนอกเป็นคูน้ำสลับกับคันดิน นอกจากทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกแล้วคูน้ำยังใช้ระบายน้ำไม่ให้ไหลท่วมเมืองอีกด้วย ระหว่างกึ่งกลางแต่ละด้านมีประตูเมือง และป้อมหน้าประตูด้วย

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจ พบว่าบริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือ และด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า พระอัฎฐารศ

วัดชนะสงคราม

เนินปราสาทพระร่วง หรือเขตพระราชวังในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับวัดมหาธาตุ มีโบราณสถานแห่งหนึ่งเรียกว่า เนินปราสาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นฐานปราสาทราชวัง ของกษัตริย์เมืองสุโขทัย กรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2526 พบฐานอาคารแบบฐานบัวค่ำ บัวหงาย มีลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 27.50X51.50 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้า และด้านหลัง

วัดตระพังเงิน

วัดสระศรี

วัดศรีสวาย

ศาลตาผาแดง มีลักษณะเป็นโบราณสถานตามแบบศิลปเขมร ก่อด้วยศิลาแลง สมัยนครวัด (พ. ศ. 1650-1700) ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่ง และบูรณะศาลนี้ได้พบชิ้นส่วนเทวรูป และเทวสตรีประดับด้วยเครื่องตกแต่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

สถานที่สำคัญนอกกำแพงเมืองด้านเหนือ

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย นักท่องเที่ยวควรเริ่มต้นชมอุทยานฯ จากจุดนี้เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของสุโขทัยในอดีต

แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง บริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า แม่โจน เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลกมีลักษณะคล้ายประทุนเกวียนขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชาม มีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่น สีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร

วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานที่ เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน

วัดศรีชุม ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอจนะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้

 ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายเรื่องชาดกต่าง ๆ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ

 เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่อย่างนี้ เรื่องนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ และด้านอื่นๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็กๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดังๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก

วัดช้างรอบ อยู่ห่างจากประตู้อ้อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว มีจำนวน 24 เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ราย 5 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และโบสถ์

วัดสะพานหิน

เขื่อนสรีดภงค์

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านใต้

วัดเชตุพน ศิลปกรรมที่น่าสนใจของวัดคือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบท คือนั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง สิ่งที่น่าชมภายในวัด คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ และหนา โดยมีการสกัด และบากหินเพื่อทำเป็นกรอบ และซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้หลักที่ 58 จารึกในปี พ. ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้

วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปประมาณ 100 เมตร โบราณสถานที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษ และสตรี สวมอาภารณ์ และเครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นมีปูนปั้นรูปช้าง และสิงห์ประดับรูปบุคคล องค์เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลมที่ได้รับการบูรณะ ส่วนยอดเจดีย์ได้หักพังลง

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก

วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ

วัดตระพังทองหลาง อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยวัดตระพังทองหลางอยู่ริมซ้ายมือ ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย

 บริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร และมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมอีกมากมาย

 กรณีที่นักท่องเที่ยวมีเวลามาก โบราณสถานที่ควรชมนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นใคร่ขอแนะนำดังนี้

 - ทิศตะวันออก วัดเจดีย์สูง วัดเกาะไม้แดง วัดหอดพยอม
 - ทิศตะวันตก วัดพระบาทน้อย วัดเจดีย์งาม วัดมังกร วัดอรัญญิก วัดช้างรอบ
 - ทิศใต้ วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม วัดต้นจัน วัดอโศการาม

อัตราค่าเข้าชม :
 นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชั้นใน, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชั้นนอก ด้านทิศเหนือ, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชั้นนอก ด้านทิศตะวันออก, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชั้นนอก ด้านทิศตะวันตก, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชั้นนอก ด้านทิศใต้ ในจังหวัดสุโขทัยได้

 เวลาเปิด-ปิด : เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.)

 หมายเหตุ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจัดให้มีการชมโบราณสถานยามค่ำคือ (Light up) ในเดือนเมษายน - ธันวาคม 2550 ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 19.00-21.00 น.
 ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าเขตโบราณสถานจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย และที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการ รถจักรยาน ให้เช่าในราคาคันละ 20 บาท

 กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. 0 5569 7310

การเดินทาง จากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร. 0 5569 7310

แก้ไขล่าสุด 2017-07-25 22:13:32 ผู้ชม 39361

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
แผนผังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

แผนผังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มต้นการเดินทางชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หลายคนคงจะรู้ดีว่าที่นี่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก ประกอบไปด้วยวัดที่เป็นโบราณสถานมากมายหลายแห่งด้วยกัน การเดินทางมาเที่ยวชมเมืองโบราณแห่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบความพอใจของแต่ละคน บางคนมาเที่ยวมีเวลาน้อย บางคนตั้งใจมาเที่ยวโดยมีเวลาเต็มที่ ซึ่งโดยมากก็จะเป็นชาวต่างชาติหลายคนที่มาที่นี่มักจะใช้เวลาหลายวันปั่นจักรยานชมวัดต่างๆ ไปทีละแห่งจนครบ ส่วนผู้มีเวลาน้อยก็จะมุ่งเข้าไปในกำแพงเมือง ถ่ายรูปวัดสำคัญๆ แล้วก็ต้องเดินทางต่อไป
ทีมงานของเราเองก็ได้มีโอกาสมาที่นี่หลายครั้งเราพยายามเก็บภาพวัดต่างๆ ให้มากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ครบทุกวัดหรอกครับ เราจะพยายามถ่ายรูปวัดเด่นๆ เอามาบอกกัน ให้มากที่สุดก็แล้วกัน เริ่มจากตัวเมืองสุโขทัยมุ่งหน้ามาบ้านเมืองเก่า ตามแผนผังแล้วเราจะมาทางจากด้านขวาซึ่งเป็นทิศตะวันออก ก่อนเข้ากำแพงเมืองมีวัดสำคัญ 2 วัดคือ

วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วย ปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ

วัดตระพังทองหลาง อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัยวัดตระพังทองหลางอยู่ริมซ้ายมือ ศิลปกรรมที่สำคัญคือ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ตอนประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัย

วัดตระพังทอง

วัดตระพังทอง บนพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตรของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แม้ว่าเราจะอยากไปให้ครบทุกวัดแต่ก็ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ ผมเองก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าไปยังวัดช้างล้อมและวัดตระพังทองหลาง เพราะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เคยเห็นรูปในหนังสือแล้วขอแนะนำเลยครับว่า 2 วัดนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออกควรจะไปครับ
ผมเริ่มลงมือเก็บภาพวัดโบราณต่างๆ เริ่มจากวัดตระพังทอง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนมองเห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ผ่านกำแพงเมืองมาแล้ว วัดแห่งนี้เป็นเกาะกลางน้ำที่เรียกว่าตระพังทอง จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ริมทางเท้าหน้าวัดเปิดเป็นตลาดขายของกินของใช้ที่จอดรถก็เลยแน่นไปหน่อยแต่หลังจากจอดรถได้แล้วเดินข้ามสะพานไปยังเกาะ จุดเด่นของวัดคือเจดีย์ประธานทรงระฆัง ใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐาน ส่วนด้านบนใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างโดยรอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายล้อมจำนวน 8 องค์ โบสถ์ในปัจจุบันยังเห็นผนัง และรูปทรงหลังคาค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นเพราะราว 90 กว่าปีที่แล้ว พญารณชัยชาญยุทธ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัยได้มาบวชเณร และได้เรี่ยไรทรัพย์ก่อสร้างโบสถ์โดยก่อลงบนฐานโบสถ์เก่าสมัยสุโขทัย และในปี พ.ศ. 2548 ก็มีการบูรณะอีกครั้ง นอกจากนั้นก็จะมีรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย จำหลักเป็นลายมงคล 108 ประการ รอยพระบาทนี้ได้เคลื่อนย้ายมาจากเขาพระบาทใหญ่ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้าง ประดิษฐานไว้ ณ เขาสุมนกูฏ เมื่อปี พ.ศ. 1902

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

หลังจากเข้าวัดตระพังหลวง ขับตรงเข้ามาอีกหน่อยก็จะมีประตูเก็บค่าเข้าชม คนทั่วโลกอิจฉาคนไทยที่ได้เสียค่าเข้าแค่ 20 บาท ชาวต่างชาติเสียแพงกว่านี้เยอะ แถมยังต้องนั่งเครื่องบินมาดูอีกต่างหาก พอเสียค่าเข้าชมแล้วจุดหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจะมุ่งตรงดิ่งมาก็คงจะไม่พ้นวัดมหาธาตุ อันเป็นศูนย์กลางของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดที่ใหญ่ที่สุด สวยที่สุด ของที่นี่ ที่จอดรถอยู่ซ้ายมือ รอบๆ วัดมีคูน้ำกั้นต้องเดินข้ามสะพานไปจึงมาถึงภายในวัดแห่งนี้

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ ผมเริ่มถ่ายรูปจากทางทิศเหนือของวัด เราจะยืนอยู่ท่ามกลางเจดีย์มากมาย หลายองค์ยังคงมียอดสูง หลายองค์คงเหลือเพียงส่วนฐาน ที่เราเห็นโดดเด่นอยู่ตรงกลางเรียงกว่าเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่มีข้อสันนิษฐานว่ายอดบัวตูมน่าจะเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ทีหลัง ของดั้งเดิมที่มีแต่แรกน่าจะเป็นยอดแบบเดียวกันกับเจดีย์ทิศที่อยู่ 4 ด้านของเจดีย์ประธาน ลักษณะพิเศษของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุก็คือมีเจดีย์ทิศทั้งสี่และเจดีย์รายที่มุมอีก 4 องค์ รวมเป็น 8 องค์ อยู่บนฐานเดียวกันกับเจดีย์ประธาน เจดีย์ที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์ประธานมียอดแหลม มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชย(ลำพูน) ส่วนเจดีย์ทิศ 4 องค์ มีลักษณะการสร้างที่ไม่เหมือนกับเจดีย์ราย เพราะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ นี่เป็นด้านทิศเหนือของวัด มีสระน้ำและอุโบสถอยู่ทางด้านนี้ จากมุมนี้ผมถ่ายให้กว้างหน่อยเราจะเห็นวิหารหลวงมีเสาเรียงรายมากมายอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ประธาน ที่วิหารหลวงหลังนี้มีแท่นฐานประดิษฐานพระพุทธรูปเหมือนกับวิหารหลวงวัดอื่นๆ ที่เราจะได้เห็นในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เดิมทีเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ในศิลาจารึกหลักที่ 1 มีข้อความตอนหนึ่งว่า "...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารสมีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม ..." พระพุทธรูปทองในที่นี้คงหมายถึงพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่าพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1905 พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย

กลุ่มเจดีย์ต่างๆ ที่อยู่โดยรอบวัดมหาธาตุ มีกลุ่มหนึ่งที่อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ 5 ยอด มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากเจดีย์ประธาน มีการพบหลักฐานจารึกทอง มีข้อความระบุเป็นที่น่าเชื่อว่า เจดีย์ 5 ยอดเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท

รอบๆ วัดมหาธาตุ

รอบๆ วัดมหาธาตุ เนื่องจากเป็นวัดที่สวยงามมีมุมให้ถ่ายรูปได้มากมายหลายมุมข้อมูลเกี่ยวกับวัดมหาธาตุก็มีมากกว่าวัดอื่นๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผมก็เลยขอนำเสนอเยอะหน่อยครับ ตอนนี้ก็เดินไปชมเจดีย์ต่างๆ ที่มีมากถึง 200 องค์ในวัดมหาธาตุ เจดีย์บางองค์นั้นมีขนาดใหญ่มีการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานบนฐานของเจดีย์ 4 ด้าน ส่วนภาพเล็กบนเป็นพระอัฏฐารศพระพุทธรูปยืนในมณฑป น่าจะสูงราวๆ 18 ศอก พระอัฎฐารศมีอยู่ 2 องค์ อยู่ด้านข้างทั้ง 2 ของเจดีย์ประธาน (เหนือและใต้) ภาพเล็กล่างเป็นส่วนฐานของเจดีย์ประธาน เป็นงานปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลี (พนมมือ) เดินประทักษินโดยรอบพระมหาธาตุ ลักษณะคล้ายกำลังก้าวเท้าเดินไปทางเดียวกันคือเวียนขวานั่นเองครับ

วิวสวยยามเย็นของวัดมหาธาตุ

วิวสวยยามเย็นของวัดมหาธาตุ การมาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแต่ละครั้งผมจะใช้เวลาในการถ่ายรูปนานครับ บางทีถ่ายกลางวันแล้วไปที่อื่นก่อนแล้วกลับมาถ่ายตอนเย็น เพราะแสงสีของท้องฟ้าตอนเย็นๆ จะสวยไปอีกแบบ แล้วก็จะรอจนถึงค่ำถ่ายรูปตอนที่เปิดไฟส่องสว่างโบราณสถานด้วยครับ

ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ

ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ นี่เป็นภาพส่วนหนึ่งในงานประเพณีลอยกระทงที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดสุโขทัย การแสดงแสงสีเสียงบริเวณวัดมหาธาตุ เป็นสิ่งที่สวยงามมากที่เราจะได้เห็นเพียงปีละครั้งเดียว ชมภาพความสวยงามของประเพณีนี้ได้ที่ ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ

อุโบสถวัดมหาธาตุ

อุโบสถวัดมหาธาตุ เดินมาทางทิศเหนือของเจดีย์ประธานเราจะเห็นอุโบสถที่ยังคงมีใบเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นใบเสมาคู่ซ้อนกันแสดงว่าเป็นวัดที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ เทียบกับขนาดของเจดีย์ประธานและวิหารหลวงของวัดแล้วอุโบสถมีขนาดเล็กลงไปเลยครับเราก็อาศัยมุมของแสง ช่วงเวลาต่างๆ กันเก็บภาพที่นี่กันหลายครั้ง ส่วนภาพล่างขวาเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่เจดีย์ประธานของวัด

อุโบสถวัดมหาธาตุ

อุโบสถวัดมหาธาตุ นี่ก็เป็นรูปที่ถ่ายตั้งแต่ไปอุทยานประวัติศาสตร์ครั้งแรกสุด เมื่อมีการไปชมไปศึกษาหลายๆ ครั้งได้ข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมาหลายครั้งได้รูปเพิ่มมาอีกหลายรูป แล้วเอามาคัดกรองเลือกรูปที่สวยที่สุดของแต่ละวัดออกมา ปรากฏว่ารูปนี้ก็ยังคงติดอันดับรูปสวยของวัดมหาธาตุอยู่ทุกครั้งไป

เจดีย์วัดสระศรี

เจดีย์วัดสระศรี เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ไกลๆ จากวัดมหาธาตุ วัดสระศรีเองก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ควรจะไปชมกันครับ

เจดีย์วัดชนะสงคราม

เจดีย์วัดชนะสงคราม เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ไกลๆ จากวัดมหาธาตุ

วัดชนะสงคราม

วัดชนะสงคราม ออกจากวัดมหาธาตุก็มาเก็บภาพเจดีย์แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ใกล้กับโบราณสถานที่เรียกว่าหลักเมือง เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ เป็นเจดีย์ประธาน และมีวิหาร โบสถ์ เจดีย์รายต่างๆ อาคารต่างๆ ในวัดชนะสงครามชำรุดลงไปมากคงเหลือให้เห็นเจดีย์องค์ใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุด ภาพที่ผมเลือกมาให้ชมเป็นบรรยกาศในงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ มีคนเอาโคมลอยขึ้นไปจุดบนฐานเจดีย์ กิจกรรมสำคัญที่เราจะได้เห็นในวันงานก็คือการแสดงโขน เป็นสิ่งประทับใจอย่างหนึ่งเพราะผมเองไม่ค่อยได้เห็นการเล่นโขนมาก่อน แต่เนื่องจากคนมาชมกันเยอะมากได้แต่ยืนอยู่ไกลๆ เท่านั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ลักษณะพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ
ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ที่ถ่ายทอดความรู้สึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม มีความเด็ดขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย ใครมาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไม่ได้มาสักการะองค์พ่อขุนรามคำแหง เห็นทีจะมาไม่ถึงแล้วครับ

บรรยากาศในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

บรรยากาศในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จากทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ตอนนี้ผมเลียบมาทางทิศใต้บ้าง ปกติแล้วถ้าขับรถเป็นวงกลม จากวัดมหาธาตุจะเดินหน้ามายังทางใต้คือทางไปวัดศรีสวายก่อนแล้ววกไปวัดตระพังเงิน วัดสระศรี วนกลับวัดชนะสงคราม พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง แต่ผมเรียงเนื้อหาตามความเหมาะสมและความสำคัญจากตะวันออกไปตะวันตกครับ เผื่อว่าอ่านแล้วมันอาจจะสับสนกับเวลาไปเที่ยวจริงๆ ก็ขออภัย

วัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย ถ้ามาจากทางเหนือจะเห็นประตูที่กำแพงวัดเป็นช่องตรงกลางเดินทะลุเข้าไปจะเห็นปรางค์สามยอดอยู่ริมน้ำ แต่ความจริงวัดศรีสวายมีวิหารอยู่อีกด้านหนึ่งของปรางค์ เราอาจจะมองไม่เห็นต้องอ้อมไปเข้าอีกด้านหนึ่ง วัดศรีสวายเป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง

วัดตระพังเงิน

วัดตระพังเงิน จากวัดศรีสวายมุ่งหน้าต่อไปทางด้านตะวันตก (ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็น่าจะเรียกว่าด้านหลังของอุทยานประวัติศาสตร์ ถ้านับวัดมหาธาตุเป็นด้านหน้า) คำว่า ตระพัง หมายถึง สระน้ำ หรือหนองน้ำ เป็นโบราณสถานสำคัญ ตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ ห่างจากวัดมหาธาตุ 300 เมตร โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน ลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม คือ มีจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปปางลีลา (จระนำ หมายถึง ชื่อซุ้มท้ายวิหาร หรือท้ายโบสถ์ มักเป็นช่องตัน) วิหารประกอบอยู่ด้านหน้า และทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ

วัดสระศรี

วัดสระศรี จากวัดตระพังเงินไปทางเหนือไม่ไกลก็จะเห็นวัดที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ เป็นโบราณสถานสำคัญอยู่บริเวณกลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน และสิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม

พระประธานวิหารวัดสระศรี

พระประธานวิหารวัดสระศรี เป็นภาพที่ถ่ายจากงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ สุโขทัยอีกเช่นกันครับ สำหรับมุมนี้ถ้าเป็นคนที่ชอบค้นหาภาพสถานที่ท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำน่าจะเคยเห็นมาบ้าง เมื่อมีการจุดพลุในงานลอยกระทงหลายคนก็จะมาตั้งกล้องรอที่ด้านหลังขององค์พระประธาน

วัดสะพานหิน

วัดสะพานหิน เป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองไปทางด้านตะวันตกตามถนนมุ่งหน้าสู่จังหวัดตาก เพียงไม่กี่กิโลเมตรจะมีทางแยกซ้ายมือมีป้ายบอกว่าทางไปวัดสะพานหิน เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรก็จะมาถึงที่นี่ สำหรับการเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ที่ผมบอกไปแต่แรกว่าถ้ามีเวลาน้อยก็คงจะเที่ยวในเขตกำแพงเมืองแบบขับรถเป็นวงกลม ส่วนถ้ามีเวลามากก็ลองขับมาตามทางนี้ครับ นอกเหนือจากวัดสะพานหินนี้แล้ว ยังมีวัดอีกมากมายหลายวัดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ได้แก่ วัดช้างรอบ วัดอรัญญิก วัดเจดีย์งาม วัดถ้ำหีบบน วัดถ้ำหีบล่าง วัดมังกร วัดตระพังช้างเผือก วัดพระยืน หอเทวาลัย วัดป่ามะม่วง วัดศรีโทน ฯลฯ ผมจะเอาเฉพาะวัดที่มีความน่าสนใจและมีความสมบูรณ์ของโบราณสถานมาให้ชมก็แล้วกัน นอกเหนือจากเส้นทางหลักที่มุ่งหน้าไปจังหวัดตากแล้ว จากบริเวณวัดตระพังเงินจะมีถนนออกประตูอ้อของกำแพงเมืองมาที่นี่ได้เหมือนกัน แต่จะเรียงลำดับวัดสลับกันคือเริ่มจากวัดศรีโทน วัดป่ามะม่วง ...ฯ

พื้นที่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านตะวันตกทั้งหมดเราเรียกว่าเขตอรัญญิก ตามการแบ่งการปกครองของคณะสงฆ์ออกเป็น 2 ฝ่าย เรียกว่าฝ่ายคามวาสีเป็นพระสงฆ์อยู่ในเขตเมือง อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสงฆ์ที่อยู่นอกเมือง มุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อการหลุดพ้น เขตอรัญญิกในระยะแรกๆ ของสุโขทัยคงเริ่มขึ้นที่บริเวณด้านตะวันตก การเดินทางไปเขตอรัญญิกก็ต้องผ่านประตูอ้อ นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญเพราะนอกจากพ่อขุนรามคำแหงจะทรงเสด็จขึ้นไปไหว้พระบนเข้าตะพานหินตามเส้นทางนี้แล้วพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งผนวชแล้วมาจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง ตลอดจนสมเด็จพระสังฆาชจากนครพันที่มาเผยแผ่ศาสนาที่สุโขทัย ก็ทรงใช้เส้นทางและมีกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตอรัญญิกอีกด้วย

กลับมาเรื่องวัดสะพานหินกันต่อครับ วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ

พระอัฏฐารศ วัดสะพานหิน

พระอัฏฐารศ วัดสะพานหิน เป็นสิ่งที่เราจะมองเห็นได้ตั้งแต่ถนนที่ขับเข้ามาและเป็นสิ่งที่ทำให้ผมจอดรถแล้วก็เดินขึ้นมาชมถึงข้างบน ก่อนที่จะถึงพระพุทธรูปองค์นี้ก็จะมีเจดีย์องค์หนึ่งอยู่กลางทางที่จะเดินขึ้นมาถึงพระอัฎฐารศ จากศิลาจารึกหลักที่ 1 มีข้อความกล่าวถึงเขตอรัญญิกว่า "...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่งลุกยืน..." เมื่อเทียบกับสภาพที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน วัดสะพานหินน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างแผือกชื่อรูจาคีรีเพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและข้างแรม 15 ค่ำ

วิวบนวัดสะพานหิน

วิวบนวัดสะพานหิน

วัดเจดีย์งาม

วัดเจดีย์งาม จากวัดสะพานหินขับรถตามทางไปเรื่อยๆ จะมาถึงเนินเตี้ยๆ มีป้ายบอกว่าทางขึ้นวัดเจดีย์งาม (ระหว่างทางก็มีวัดอื่นๆ ด้วยครับแต่อย่างที่บอกว่าถ่ายรูปทุกวัดคงจะไม่ได้ก็มีข้ามๆ บ้างตามสมควร) ทางขึ้นวัดเจดีย์งามปูด้วยหินชนวนโบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่ฐานชั้นล่างมีซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ฐานพระวิหารก่อด้วยศิลาแลงปูด้วยหิน กุฎิสงฆ์สำหรับวิปัสสนามีทั้งก่อด้วยอิฐและหิน สระน้ำขุดลงไปในศิลาแลง

วัดมังกร

วัดมังกร จากวัดเจดีย์งาม ขับรถเลาะมาเรื่อยๆ ตามถนน ผมเห็นมีวัดอยู่สองข้างทางแต่หลายๆ วัดก็ดูจะทรุดโทรมมากจนไม่ค่อยเหลือสภาพของเจดีย์หรือวิหาร ก็เลยขับผ่านๆ ดูมาเรื่อยๆ มาถึงวัดแห่งหนึ่งอยู่ตรงทางแยกไปเขื่อนสรีดภงส์ เป็นวัดขนาดใหญ่หลงเหลือส่วนอุโบสถใบเสมา เจดีย์ และกำแพงแก้วก็เลยจอดรถเก็บภาพมาให้ชมกัน นี่ก็คือวัดมังกร ความโดดเด่นของวัดนี้คือกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐ ประดับซี่ลูกกรงด้วยเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ และยังพบประติมากรรม มกรดินเผาเคลือบแบบเครื่องสังคโลกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ ภายในกำแพงวัดประกอบด้วยฐานโบสถ์ ที่มีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีใบเสมาหินชนวนปักล้อมรอบ เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ส่วนยอดได้พังทลายลง อยู่ทางด้านทิศเหนือของอุโบสถ มีฐานวิหารและยังมีเจดีย์รายอีกหลายองค์ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์รายที่ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงวัดด้วย

เขื่อนสรีดภงส์

เขื่อนสรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า ทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับกั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขาคือ เขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา ที่สร้างขึ้นเพื่อกักน้ำ และชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำมาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมือง และพระราชวังในสมัยโบราณ ซึ่งในปัจจุบันกรมชลประทานได้ปรับปรุงบูรณะ และซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2532 คำว่า สรีดภงส์ ก็มีสะกดหลายแบบ บางตำราใช้ สรีดภงส์ บ้างก็ใช้ สรีดภงษ์ หรือสรีดภงค์ ก็มีครับ

ประตูศาลหลวง

ประตูศาลหลวง จากพื้นที่เขตอรัญญิกคือนอกกำแพงเมืองทางด้านตะวันตกกลับมาทางเมืองสุโขทัย ผ่านวัดสำคัญที่อยากแนะนำให้แวะแต่ผมยังไม่มีโอกาสได้แวะเข้าไปได้แก่ วัดศรีชุม อยู่นอกกำแพงเมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนือ สิ่งสำคัญคือวิหารที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มวิหารขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 11.30 เมตร เชื่อกันว่าเป็น พระอจนะ ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 มีความหมายว่าผู้ไม่หวั่นไหว พระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่ง "มุทรา" หรือท่วงท่าการวางพระหัตถ์ที่นำมาใช้ ต้นตำรับอินเดียให้ความหมายว่า ความแน่วแน่ไม่หวั่นไหว พระพุทธรูปองค์นี้ได้มีการบูรณะในราว พ.ศ. 2496 - 2499
วิหารหรืออาคารที่สร้างขึ้นมาคลุมพระพุทธรูปในลักษณะเต็มพื้นที่พอดีแบบนี้พบได้หลายแห่งทั้งโบราณสถานเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ลักษณะการสร้างแบบนี้เรียกว่า พระคันธกุฎี หรือกุฎิส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวง จากประตูศาลหลวงซึ่งเป็นประตูเมืองทางด้านทิศเหนือ ออกมาจะเจอวัดแม่โจน ขับตามทางไปเรื่อยๆ เราจะพบโบราณสถานที่ดูยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยอาคารวิหารเจดีย์มากมายบนพื้นที่กว้างขวางมีคูน้ำล้อมรอบ ในคูน้ำก็ยังมีบัวชูดอกบานสะพรั่งสวยงามมาก การจะข้ามคูน้ำไปยังพื้นที่ของวัดจะมีทางเข้าอยู่ไม่กี่ด้าน ด้านที่ขับรถข้ามไปได้ ส่วนอีกด้านต้องเดินข้ามสะพานเท่านั้น วัดพระพายหลวงเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุด ใหญ่ที่สุดที่สวยงามที่สุด ของเมืองทางด้านเหนือเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันวัดพระพายหลวงมีพระจำพรรษาอยู่ โดยการสร้างเสนาสนะทั้งหมดขึ้นมาใหม่ แบ่งพื้นที่ออกจากโบราณสถานอย่างชัดเจน จึงทำให้วัดพระพายหลวงมี 2 โซน ด้วยกัน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพื้นที่ของเกาะแห่งนี้เหลือว่างอยู่มากมาย เพราะเป็นเกาะที่ล้อมด้วยคูน้ำยาวถึงด้านละ 600 เมตร ด้านตะวันออกสุดของโบราณสถาน เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถได้แก่นั่ง ยืน เดิน นอน เข้าใจว่าสร้างขึ้นหลังสุดในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลาย

วัดพระพายหลวง

วัดพระพายหลวง ความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้คือมีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของเมืองสุโขทัยจนถึงยุคปลายสุโขทัย มีปราสาท 3 องค์ แต่พังทลายลงเหลือเพียงองค์เดียว มีลักษณะของปราสาทและลวดลายปูนปั้นเรื่องราวพระพุทธประวัติเหมือนปราสาทที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี และปราสาทปาลิไลย์ในเมืองพระนครหลวงของเขมร เป็นเครื่องยืนยันว่า ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ชุมชนสุโขทัยมีวัฒนธรรมร่วมกับเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีความเกี่ยวข้องกับเมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองใหญ่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเขมรในที่ราบลุ่มภาคกลาง
นอกจากจะมีปราสาท วิหาร แล้วยังมีเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบปิรามิดประดับทุกด้านด้วยซุ้มพระพุทธรูปลดหลั่นเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเหมือนเจดีย์กู่กุดจังหวัดลำพูน เจดีย์นี้มีการสร้างทับซ้อนกันหลายสมัย เช่นมีพระพุทธรูปในซุ้มเป็นแบบหมวดวัดตระกวนอยู่ภายในที่ถูกปิดและซ้อนทับอยู่ด้วยพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นต้น

จากโบราณสถานเดินเข้าไปโซนที่เป็นที่จำพรรษาของสงฆ์ จะมีพระพุทธรูปศิลา เรียกว่าหลวงพ่อหิน ประดิษฐานอยู่ในศาลาไม้หลังเล็กๆ เข้าไปสักการะกันได้ มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ เดินลึกเข้าไปจนถึงอุโบสถหลังปัจจุบัน เป็นอุโบสถขนาดเล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ พระประธาน พระพุทธกาญจนวรมงคล (หลวงพ่อทอง) ทางวัดจะเปิดให้เข้าสักการะเวลา 8.30 น.- 16.30 น.

ผมขอจบการนำเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยไว้เท่านี้ก่อนครับ เชื่อว่าภาพและข้อมูลต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของข้อมูลเดินทางท่องเที่ยวและข้อมูลอ้างอิงสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ เรื่องราวของอุทยานประวัติศาสตร์ต่างๆ ในเมืองไทยของเราแต่ละแห่งนั้นมีโบราณสถานมากมาย ศึกษากันนานกว่าจะหมดถ้ามีโอกาสผมจะนำรูปภาพและข้อมูลมาเพิ่มเติมให้ตามสมควรครับ ถ้าสนใจจริงๆ แนะนำให้ซื้อหนังสืออุทยานประวัติศาสตร์ ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จะมีอะไรหลายอย่างมากมายที่เรายังไม่รู้และควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์สืบต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เที่ยวหัวใจใหม่เมืองไทยยั่งยืนกันครับ
รูปภาพที่มีอยู่มากมายแล้วต้องนำมาย่อให้เล็กรวมเป็นภาพเดียวกันเพื่อความเหมาะสมให้โหลดกันได้เร็วขึ้น ผมจะโหลดภาพใหญ่เอาไว้ในแกลเลอรี่ด้านล่าง สนใจรูปไหนคลิกเพื่อขยายใหญ่ได้นะครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
โอลด์ ซิตี้ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
สเปซ เบ็น เกสต์เฮ้าส์ @ เมืองเก่า เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
สเปซ เบ็น เกสต์เฮาส์ แอท เมืองเก่า
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอลด์ทาวน์ บูทิค เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
เวค อัพ แอท เมืองเก่า บูติก โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอล ซิตี้ บูทิก เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
วูดบริดจ์ โฮสเทล สุโขทัย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
Resting Place Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
แสงอรุณ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุโขทัย การ์เด้น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ตลาดปสาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
  0.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จ.สุโขทัย
  0.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ สุโขทัย
  0.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสระศรี อุทยานประวัคิศาสตร์สุโขทัย
  0.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สุโขทัย
  0.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดตระพังทอง
  0.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สุโขทัย
  0.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
นะโม handicraft
  1.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดศรีชุม สุโขทัย
  2.33 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com