www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ลำปาง >> อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

 อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูงและเป็นแหล่งที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์การดำเนินงานอย่างสอดคล้องเป็นประโยชน์และเพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และการรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองปาน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 768 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือช่วงเดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ

บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยา มีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในบริเวณพื้นที่ที่ทำการอุทยานฯประมาณ 3 ไร่ ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นมาจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณ น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า

น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่กำเนิดจากลำน้ำแม่มอญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีแอ่งน้ำรองรับอยู่ตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ มี 6 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1 กิโลเมตร มีทางเดินไปสะดวกและมามารถเดินจากบ่อน้ำพุร้อนไปถึงน้ำตกได้

น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง น้ำจะตกลงมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 5 กิโลเมตร

น้ำตกแม่ขุน อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญ มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาว สูงประมาณ 100 เมตร ไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทาง

ถ้ำผางาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังเหนือ 8 กิโลเมตร อยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ แจ้ซ้อน 3 (ผางาม) หน่วยนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 60 กิโลเมตร มีถ้ำที่สามารถเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวได้ เช่น ถ้ำฟางงาม ถ้ำน้ำ ถ้ำหม้อ เป็นต้น

ชมดอกเสี้ยวบาน ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ของทุกปี ดอกเสี้ยวจะบานเต็มผืนป่า นักท่องเที่ยวสามารถขับรถชมดอกเสี้ยวบานได้ตามเส้นทางแจ้ซ้อน-บ้านป่าเหมี่ยง เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร

แอ่งน้ำอุ่น ตั้งอยู่ติดกับบ่อน้ำพุร้อน เป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อนทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่อาบ

ห้องอาบน้ำแร่ มีทั้งห้องอาบแช่ สำหรับ 3-4 คน ห้องรวมแบบตักอาบและบ่อสำหรับแช่อาบกลางแจ้ง น้ำแร่ที่ใช้ต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน มีอุณหภูมิน้ำแร่ประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถใช้แช่อาบได้ ประโยชน์ของการอาบน้ำแร่คือ ช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น กลาก เกลื้อน ผื่นคัน และยังช่วยบรรเทาอาการของโรคเกี่ยวกับกระดูก แต่น้ำแร่จากที่นี่ไม่สามารถใช้ดื่มได้ เพราะมีแร่ธาตุบางชนิดสูงกว่ามาตรฐาน

 ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อนระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยเส้นทางจะผ่านจุดสื่อความหมาย 19 จุด ผ่านสภาพป่าและพรรณไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด รวมถึงอาจพบสัตว์หายากอย่างนกเขนเทาหางแดงและปลาปุงแห่งลำห้วยแม่มอญ เป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับเยาวชนผู้สนใจศึกษาพรรณไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นก๋ง กวาวเครือ หรือ ยางปาย ศึกษาระบบนิเวศน์ เช่น วงจรชีวิตหนอนรถด่วน และสภาพภูมิศาสตร์โดยรอบลานน้ำพุร้อน เช่น อะไรทำให้เกิดบ่อน้ำพุร้อน ทำไมน้ำพุร้อนทำให้ไข่แดงสุกแต่ไข่ขาวเหลว หรือจั๊กจั่นน้ำแร่ เป็นอย่างไร (จั๊กจั่นน้ำแร่จะมีชุกในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) แอ่งอาบน้ำอุ่นนี้เกิดจากน้ำร้อนในบ่อน้ำพุร้อนมาบรรจบกับน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน สำหรับอุทยานฯ ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งจะอยู่ในเส้นทางนี้ด้วย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 60 กิโลวัตต์ ผู้สนใจสามารถขับรถขึ้นไปดูได้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะสภาพทางค่อนข้างเละและชัน

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแม่เปียก ระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร เป็นเส้นทางวงรอบเลียบริมห้วยแม่เปียก ผ่านจุดสื่อความหมาย 16 จุด ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ การนำทรัพยากรจากป่ามาใช้ประโยชน์ เช่น น้ำมันยาง สารพัดประโยชน์ที่นำมาใช้กับเครื่องยนต์จนถึงทำน้ำมันใส่แผล ไผ่ข้าวหลาม ที่มีเปลือกบางเผาง่าย เมี่ยง(ชา) ที่ใบอ่อนจะนำมานึ่งแล้วหมักทำเป็นเมี่ยงนิยมรับประทานเป็นของว่างใช้ต้อนรับแขกทางภาคเหนือของไทย ยอดอ่อนนำมาอบแห้งแล้วชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นชา ซึ่งเมี่ยง(ชา)จะมีสารคาเฟอีนออกฤทธิ์เช่นเดียวกับกาแฟ แหย่ง ใบใช้ห่ออาหารแทนใบตอง หรือนำลำต้นไปตากให้แห้งแล้วสานเป็นเสื่อ หรือแม้แต่การสร้าง ฝายน้ำล้น ที่นำไปผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อใช้ภายในอุทยานฯ ระหว่างเส้นทางถ้าโชคดีอาจพบ หมูป่า และเต่าปูลู ที่มีลักษณะไม่เหมือนเต่าทั่วไปและกำลังจะสูญพันธ์ เต่าปูลูมีหางยาวหัวและขาไม่สามารถหดในกระดองเหมือนเต่าทั่วไป มีความสามารถในการปีนป่ายและกินสัตว์จำพวกปูหรือปลาเป็นอาหาร ในเส้นทางจะพบน้ำตกวังไฮ และน้ำตกแม่เปียกซึ่งน้ำตกแม่เปียกอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 3 กิโลเมตร มีชั้นน้ำตก 3 ชั้น และชั้นที่ 3 จะมีความสวยงามที่สุดโดยมีความสูงประมาณ 100 เมตร ด้านล่างบริเวณแอ่งรองรับน้ำจากน้ำตกจะมีกล้วยป่าขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปทำให้มีความงามไปอีกมุมมองหนึ่ง

 ค่าเข้าชมอุทยานฯ คนไทย ผู้ใหญ่ คนละ 40 บาท เด็ก คนละ 20 บาท ขาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ คนละ 200 บาท เด็ก คนละ 100 บาท

สถานที่พัก อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนนอกจากจะได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยมในด้านการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานฯ ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติแล้ว สภาพแวดล้อมภายในอุทยานฯ ยังตกแต่งได้อย่างสวยงามไม่แพ้รีสอร์ทเอกชน เหมาะสำหรับผู้ที่จะไปเที่ยวแบบครอบครัว สามารถเที่ยวได้ตลอดปี ฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด บ้านพักในอุทยานมีจำนวน 11 หลัง พักได้หลังละ 3-15 คน ราคา 900-3,600 บาท ค่ายพักแรม พักได้ 40 คน ราคา 4,000 บาท อุทยานฯ มีเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวเช่า พักได้ 2-5 คน ราคา 150-225 บาท หรือนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าสถานที่กางเต็นท์ คนละ 30 บาท/คืน ในอุทยานฯ ยังมีร้านอาหารสวัสดิการบริการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760-2 อุทยานฯ แจ้ซ้อน โทร.08 9851 3355 หรือ www.dnp.go.th

การเดินทาง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอด มีให้เลือก 2 เส้นทาง คือ

รถยนต์
 - จากสนามกีฬาประจำจังหวัดไปตามถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร (สายเก่า) เลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านน้ำโท้งไปตามถนนสาย 1157 เส้นลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน ไปประมาณ 55 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 1287 เมืองปาน-แจ้ห่ม ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 1252 เส้นข่วงกอม-ปางแฟง อีก 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเขาอุทยานฯไปตามถนน รพช. อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
 - จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 เส้นลำปาง-แจ้ห่ม ไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1287 ซึ่งเป็นทางเข้าไปอำเภอเมืองปาน แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยก ใช้ทางหลวงหมายเลข 1252 เส้น ข่วงกอม-ปางแฟน ประมาณ 11กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ ตามถนน รพช. อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
 - เส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1006 ผ่านอำเภอสันกำแพง แล้วเข้าสู่ถนนสานถ้วยแก้ว-บ้านแม่กำปอง ผ่านบ้านป่าเหมี้ยง ถึงที่ทำการอุทยานฯ

รถโดยสารประจำทาง มีคิวรถโดยสารประจำทางสายลำปาง-แจ้ซ้อนถึงที่ทำการอุทยานฯ อยู่บริเวณถนนตลาดเก่า ราคา 50 บาท ออกจากลำปางเวลา 08.00-18.00 น. หรือเหมารถประมาณ 350 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติม:กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760-2
อุทยานฯ แจ้ซ้อน โทร.08 9851 3355
http://www.dnp.go.th/

แก้ไขล่าสุด 2017-02-12 03:12:33 ผู้ชม 37271

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางถึงแจ้ซ้อน

เดินทางถึงแจ้ซ้อน จากตัวเมืองลำปาง ผมใช้ทางหลวงหมายเลข 1035 แยกซ้ายมือจากพหลโยธิน มุ่งหน้าอำเภอแจ้ห่ม เลยแจ้ห่มไปสักพักจะมีแยกทางซ้ายมือไปแจ้ซ้อน ในที่สุดก็มาถึงเขตอุทยานแห่งชาติ ช่วงนั้นเป็นช่วงเย็นที่เลือกเข้าอุทยานในช่วงเย็นเพราะคิดว่าถ้ามีน้ำตกจะได้แสงพอดีๆ ในการถ่ายรูปน้ำตก จากนั้นนอนค้างที่อุทยาน 1 คืน เก็บภาพเพิ่มเติมบ่อน้ำพุร้อนในตอนเช้า นี่ก็เป็นแผนการเดินทางที่ผมใช้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเข้าอุทยานแห่งชาติไหน ก่อนเข้าอุทยานใช้เวลาช่วงเช้าในการเก็บภาพสถานที่อื่นๆ ให้คุ้มก่อน อย่างเช่นก่อนเข้าแจ้ซ้อน ผมก็ถ่ายรูปวัดอักโขชัยคีรีก่อน

ตามแผนที่คิดไว้ พอเข้ามาถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนผมก็มุ่งหน้าตรงไปยังน้ำตกแจ้ซ้อนก่อนเลย เพียงแต่ตอนมาถึงมัน 5 โมงเย็นแล้ว เรียกว่าเย็นไปนิดครับ ตอนนี้ก็เลยรีบเดินไปตามลำธารเพื่อถ่ายรูปน้ำตก ดีว่าน้ำตกที่นี่ 6 ชั้น ระยะทางแค่ 200 เมตร เอง แต่ละชั้นเป็นน้ำตกจากผาและไม่ค่อยจะมีแอ่งนอกจากชั้น 1 จึงไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ ถ้าอยากลงเล่นน้ำต้องเล่นที่ลำธาร ก็เลยมีร้านค้าอาหารเครื่องดื่มมากมายอยู่ที่ริมธาร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่คนนิยมกันมาก (ดูจากจำนวนของร้านค้าก็รู้)

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 1 ตาดหลวง

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 1 ตาดหลวง เป็นน้ำตกที่อยู่ชั้นแรกสุดและสูงที่สุด หลังจากเดินตามลำธารข้ามสะพานมาเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร เราจะเห็นน้ำตกตรงนี้มีแอ่งกว้างๆ จำได้ว่ามีป้ายห้ามลงเล่นน้ำ ให้เล่นได้เฉพาะในลำธารจากตรงนี้เป็นต้นไป ตรงที่ผมยืนถ่ายรูปนี้มีก้อนหินเรียงเหมือนฝายและเป็นทางเดินข้ามลำธาร จากชั้นแรกจะขึ้นไปชั้นต่อไปมีบันไดสร้างไว้ให้อย่างดี

การเดินทางของผมมาอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน นอกจากจะวางแผนเรื่องเวลาแล้ว ผมยังต้องเลือกที่จะเข้ามาให้ถึงวันศุกร์ เพื่อให้มีคนมาเที่ยวน้อยไม่งั้นจะทำให้การถ่ายภาพของผมลำบากขึ้นแน่ พอมาถึงสถานที่จริงถึงได้รู้ว่าคิดผิด วันธรรมดาแท้ๆ ที่อุทยานฯ แห่งนี้ก็มีคนมาเที่ยวกันไม่ใช่น้อยๆ เลยครับ ว่ากันว่าการเที่ยวบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนในหน้าหนาว เป็นช่วงที่บรรยากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเป็นสถานที่พักผ่อน

น้ำตกแจ้ซ้อน

น้ำตกแจ้ซ้อน หลังจากที่เดินขึ้นบันไดมาได้สักพัก ตอนนี้ขอถ่ายรูปย้อนลงไปข้างล่างดูบ้าง จะเห็นเลยว่าความสูงของน้ำตกชั้นแรกนี้สูงขนาดไหน กว่าจะเดินผ่านบันไดแต่ละขั้นไปได้ก็ขาตึงไปตามๆ กัน จากน้ำตกชั้นแรกไปถึงชั้น 6 ระยะทางใกล้มากไม่กี่ร้อยเมตร แต่เป็นน้ำตกต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ทางเดินก็เลยเป็นบันไดขึ้นอย่างเดียวเลยครับ

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 3 ตาดรุ้ง

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 3 ตาดรุ้ง ผ่านน้ำตกชั่นที่ 2 มา มองดูแล้วหามุมถ่ายรูปไม่ได้ เลยได้แต่มอง น้ำตกชั้นที่ 2 ตาดไทร เดินต่อมาถึงชั้นที่ 3 มีระเบียงยืนออกไปให้เราพอจะมีมุมเก็บภาพน้ำตกได้ น้ำตกชั้นนี้เองก็สูงมาก อย่างที่เห็นว่าไม่สามารถลงไปเล่นน้ำได้ ถึงจะมีแอ่งเล็กๆ อยู่ก็ตาม เพราะแต่ละชั้นมีความสูงมาก ถ้าตกลงไปก็คงจะแย่แน่ๆ ในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม น้ำในน้ำตกแจ้ซ้อนยังคงไหลแรงอย่างที่เห็น

น้ำตกแจ้ซ้อน

น้ำตกแจ้ซ้อน นี่ไม่ใช่ชั้นที่ 4 หรอกครับ เป็นสายน้ำที่ไหลจากชั้น 5 ไปยังชั้นที่ 4 พอดีมองๆ ดูมุมแล้วชั้น 4 เป็นชั้นที่หามุมเก็บภาพได้ยาก เลยเลื่อนขึ้นมานิดนึง จำได้ว่าน้ำตกแต่ละชั้นเดินไม่กี่ก้าวก็ถึง แต่มันเป็นบันไดขึ้นข้างน้ำตก ก็ต้องอาศัยขาที่แข็งแรงหน่อยเท่านั้นเอง

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 5 ตาดทรายขาว

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 5 ตาดทรายขาว

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 6

น้ำตกแจ้ซ้อนชั้นที่ 6 จบแล้วครับการเดินชมน้ำตกแจ้ซ้อนทั้งหมด 6 ชั้น ใช้เวลาไม่กี่นาทีเองเพราะระยะทางที่ใกล้มากๆ น้ำตกแจ้ซ้อนก็เลยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยว รองจากน้ำพุร้อน ลองไปถามใครหลายๆ คน บางคนก็บอกว่าไม่ได้มาเที่ยวบ่อน้ำร้อนแต่มาเที่ยวน้ำตกอย่างเดียวก็มีครับ มันแล้วแต่คนชอบ

บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน

บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน มาแจ้ซ้อนไม่เดินบ่อน้ำร้อนจะเรียกว่ามาถึงได้ยังไงละครับ ตอนนี้ผมก็ขับรถจากน้ำตกแจ้ซ้อนมาจอดที่ลานจอดรถหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ลืมบอกไปว่าน้ำตกแจ้ซ้อนห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 1 กิโลเมตร มีลานจอดรถทั้ง 2 จุด แล้วก็มีร้านอาหารเปิดบริการมากมาย ห้องอาหารของอุทยานฯ เองก็มีเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เพราะรองรับแขกได้ถึงหลักร้อยที่ จะมาพักผ่อนมาสัมมนาได้ทั้งนั้นครับ บรรยากาศการเดินเที่ยวบ่อน้ำร้อนว่ากันว่าช่วงเช้ากับช่วงเย็นจะเหมาะที่สุดเพราะว่าจะมองเห็นไอน้ำร้อนพวบพุ่งขึ้นมาขาวโพลนไปทั่ว ส่วนในเวลากลางวันจะมองเห็นเป็นไอจางๆ เท่านั้น ก็นี่ยืนอยู่ที่ทางเข้ามองเข้าไปก็เห็นไอขาวๆ ขึ้นเป็นกลุ่มเลย

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

บ่อน้ำร้อนแตกต่างกับน้ำพุร้อนตรงที่มันไม่พุ่งขึ้นมาเหมือนน้ำเดือดหรือว่าน้ำพุ แต่มันค่อยๆ ซึมออกมาจากใต้ดิน อุณหภูมิสูงสุดที่นี่ประมาณ 82 องศา บรรยากาศตั้งแต่เราก้าวเท้าเข้ามาในพื้นที่ของบ่อน้ำร้อนเราจะได้กลิ่นกำมะถันค่อนข้างมาก แต่ไม่แรงจนถึงกับทนไม่ไหว กลิ่นกำมะถันที่ว่าก็ทำให้ผมกลัวๆ อยู่เหมือนกันว่าไอของกำมะถันจะเข้ามาจับในตัวกล้อง ผมก็เลยรีบๆ ถ่ายรูปโดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่บ่อน้ำร้อนให้น้อยที่สุด

เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทางอุทยานสร้างทางเดินแบบปูด้วยหิน เราจะเห็นว่าพื้นที่นอกทางเดินมีน้ำร้อนซึมขึ้นมานองอยู่ตลอดเวลา หินบางก้อนก็อาจจะลื่นได้ ต้องเดินเที่ยวอย่างระวังมากที่สุด

บ่อต้มไข่น้ำแร่

บ่อต้มไข่น้ำแร่ ไฮไลท์ของการมาเที่ยวบ่อน้ำร้อนไม่ว่าจะเป็นที่แจ้ซ้อนหรือว่าที่ไหนๆ ก็คือการต้มไข่ การต้มไข่จะใช้ไข่ไก่ บางคนซื้อเตรียมมาจากร้านสะดวกซื้อนอกอุทยานฯ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดกติกา แต่ผมอยากจะบอกว่าในร้านค้าที่มีอยู่มากมายของอุทยานฯ มีไข่ไก่ขายพร้อมตะกร้าไม่ไผ่ราคาไม่แพง ถือว่าเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อสุขภาพโดยรวมทางอุทยานไม่ให้นำภาชนะพลาสติกทุกชนิดสำหรับบรรจุไข่ไก่ลงไปแช่

การต้มไข่ที่นี่ถ้าอยากให้ออกมาเป็นยางมะตูมคือไข่แดงสุกส่วนไข่ขาวยังนิ่มๆ อยู่ ให้แช่นาน 17 นาที บวกลบนิดหน่อย ถ้าแช่นานเกินไปจะเกิดภาวะที่ชาวบ้านเรียกว่าไข่กระด้าง มันไม่อร่อย หรือถ้ารู้สึกว่าการนั่งรอริมบ่อน้ำร้อนมันนานเกินไป ตามร้านค้ามีไข่ต้มน้ำแร่มากมายไว้คอยบริการ เมนูที่นิยมสั่งก็มีตั้งแต่กินไข่ต้มทั้งยังงั้น กับยำไข่น้ำแร่ ไข่ที่ต้มจากบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนไม่สามารถทำปลอมได้ เพราะมันจะมีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าต้มมาจากบ่อไม่ใช่จากหม้อ คนที่ไม่ชินกับกลิ่นนี้กินเข้าไปแรกๆ อาจจะเวียนหัวได้เหมือนกัน

นอกจากนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ที่จะเอาไข่มาแช่ ในช่วงเช้าประมาณก่อน 7 โมงเช้า เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าเอาไข่มาต้มเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เค้าใช้ตะกร้าใหญ่มาก แช่ไข่ทีละหลายๆ ถาด เอาให้เพียงพอสำหรับขายให้นักท่องเที่ยวที่จะสั่งยำไข่น้ำแร่ในแต่ละวัน แม้แต่รีสอร์ทต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ อุทยานฯ ถ้ามีคนจองห้องสำหรับสัมมนา ก็จะเอาไข่มาต้มหลายร้อยใบทีเดียวครับ

บ่อพักน้ำร้อน

บ่อพักน้ำร้อน ด้วยหลักการธรรมชาติที่น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ก็เลยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เป็นสระน้ำกว้างๆ น้ำร้อนที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดินไหลมารวมกันที่นี่แล้วก็จะล้นออกไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งทางอุทยานฯ สร้างให้เป็นบ่อน้ำอุ่น หรือบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง เป็นบ่อที่อุณหภูมิของน้ำเริ่มเย็นลงบ้างแล้ว โดยใช้น้ำจากลำธารของน้ำตกแจ้ซ้อนซึ่งเป็นน้ำเย็นมาผสมกัน ส่วนหนึ่งก็จะถูกสูบขึ้นไปทำห้องอาบน้ำแร่ส่วนตัว

บรรยากาศยามเช้าที่แจ้ซ้อน

บรรยากาศยามเช้าที่แจ้ซ้อน หลังจากที่เดินชมบริเวณบ่อน้ำร้อนในช่วงเย็นของวันแรก ผมขับรถไปลานกางเต็นท์ ใกล้ๆ ห้องน้ำที่สุดแล้วก็เข้านอน ขอบอกเลยว่าการได้แช่น้ำแร่ในวันแรกหลังจากการเดินชมน้ำตกแจ้ซ้อนมาเหนื่อยๆ มันสุดยอดจริงๆ

เช้าวันต่อมาผมรีบตื่นแต่เช้า ขับจากลานกางเต็นท์มาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วก็เดินมาที่บ่อน้ำร้อน อย่างที่บอกครับว่าบรรยากาศที่นี่จะสวยตอนเช้ากับตอนเย็น โดยเฉพาะในตอนเช้าแสงแรกของวันจะสาดส่องลงมา ไอจากน้ำร้อนจะพุ่งเป็นสีขาวหนาๆ เหมือนหมอก อากาศหนาวกำลังดีเหมาะแก่การเดินเที่ยวกลางบ่อน้ำร้อน ผมเห็นคนที่มีลูกอ่อนจะพาลูกมานั่งรับไออุ่นแก้หนาวหลายคน

ไออุ่นแม่ลูก

ไออุ่นแม่ลูก นี่ก็เป็นแม่ลูกอ่อนอีกคนครับที่อุ้มลูกมานั่งรับไออุ่นของบ่อน้ำร้อนแต่เช้าเลย

พระอาทิตย์ขึ้นที่แจ้ซ้อน

พระอาทิตย์ขึ้นที่แจ้ซ้อน ผมก็หามุมที่จะเห็นแสงอาทิตย์สาดส่องลงมาที่บ่อน้ำร้อนให้สวยๆ แต่ดูเหมือนจะดวงไม่ดีเท่าไหร่ กว่าจะเห็นแสงอาทิตย์ก็สายมากแล้ว ก็เลยเดินผ่านบ่อน้ำร้อนมาทางด้านหลังเป็นพื้นที่ของห้องอาบน้ำแร่ส่วนตัว ผมชอบมุมนี้ที่สุดเลย น้ำที่ไหลมารวมกันอยู่ที่ใกล้ๆ ห้องอาบน้ำแร่ เป็นสีเขียวสวยมาก ไอน้ำร้อนลอยขึ้นมาจางๆ เห็นห้องอาบน้ำแร่แค่ลางๆ เหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา มีบ่อน้ำร้อนธรรมชาติรอบหมู่บ้านยังไงยังงั้น ถ้าหมู่บ้านแบบนี้มีอยู่จริงก็อยากจะไปอยู่มากเลย

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

หลังจากพระอาทิตย์ขึ้นสูงมากแล้ว แสงที่ส่องลงมาก็แรงขึ้นมาก เดินจากห้องอาบน้ำแร่มาหามุมที่จะได้ภาพสวยๆ จากบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนกับเค้ามั่ง นอกเหนือจากการที่เราจะอยู่ในมุมที่สวยแล้ว เราก็ยังต้องรอจังหวะการลอยของไอน้ำร้อน ไม่ให้บังแสงแดดมากไป แล้วก็ไม่น้อยเกินไปด้วย สุดท้ายได้ภาพนี้มาเป็นภาพที่ดีที่สุดของวันนี้ โอเคแล้วไว้วันหน้าถ้าได้มาอีกค่อยว่ากันใหม่

ผมถ่ายรูปบ่อน้ำร้อนในช่วงเช้าจนถึงเกือบ 9 โมง ตอนนี้นักท่องเที่ยวที่มากางเต็นท์ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ ก็เริ่มออกมาเที่ยวบ่อน้ำร้อนกันแล้ว คนเริ่มเยอะการถ่ายรูปก็ต้องยากขึ้น ก็เลยพอแค่นี้

ห้องอาบน้ำแร่ส่วนตัว

ห้องอาบน้ำแร่ส่วนตัว ราคาการใช้บริการห้องอาบน้ำแร่มันไม่แพง นักท่องเที่ยวที่มาหลายคนก็คงคิดว่าถ้าไม่อาบน้ำแร่แล้วจะมาแจ้ซ้อนทำไม ด้วยเหตุนี้ห้องอาบน้ำแร่ของที่นี่ก็เลยทำงานหนัก รับนักท่องเที่ยวมากมายไม่เว้นแต่ละวัน การอาบน้ำแร่ก็ต้องทำแต่พอดี อย่าให้นานเกินไป คนเป็นโรคประจำตัวก็ไม่ควรใช้บริการ อย่างโรคความดัน และหัวใจ ถ้าไม่เข้าห้องอาบน้ำแร่ ชอบแบบกลางแจ้งก็มีครับไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด ใกล้ๆ กับห้องอาบน้ำแร่ก็มีบริการนวดคลายเมื่อย นวดฝ่าเท้าด้วย

จบการนำเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนไว้เท่านี้ เดี๋ยวผมต้องลงอ่างแล้วครับ ^^

รีวิว อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง


 "อยากกินไข่น้ำแร่แจ้ซ้อนมันต้องลงมือเองจะอร่อยขึ้นอีก"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-01-27 15:06:10

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง
เดอะ ลิตเติล เอิร์ธ ฟาร์ม วิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
KHONBONDOI HOMESTAY เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
Him doy muang pan resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Porn Romyen เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Porn Romyen เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Porn Romyen 1 room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Porn Romyen เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านอิงดอย แม่กำปอง
  20.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านพนิดา แม่กำปอง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Doilia Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.80 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com