www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครสวรรค์ >> วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

 วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งอยู่ที่ บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก พื้นที่วัดสร้างเป็นรูปเรือหลวงบนยอดเขา เรือมีนามว่า ราชญาณ นาวา ฑีฆายุ มงคล ซึ่งสื่อความหมายถึง พาหนะที่จะช่วยให้พ้นห้วงกิเลส ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่ล้วนเป็นมงคลมากมาย อาทิ

    - มณฑปเรือนแก้ว สถาปัตยกรรมประยุกต์ไทยอินเดีย มุงและกั้นด้วยกระจกสีชาทั้งหมด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาททั้งคู่ และพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระประธานของวัด
    - ศาลาเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวีไทย
    - ลานพระธรรมจักร ประดิษฐานแท่นพระธรรมจักร มีหินทรายแกะสลักเป็นรูปกวาง และแท่นหิน 8 เหลี่ยม ที่แกะจากหินทรายสลักเป็นรูปมงคลต่างๆ
    - เจดีย์ศรีมหาราช ภายในเจดีย์มี 3 ชั้น จัดแบ่งเป็นห้องต่างๆ มีรูปหล่อมหาราช 8 พระองค์ ห้องสำคัญทางประวัติศาสตร์ ห้องพระไตรปิฎก ชั้นบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
    - เจดีย์ศรีพุทธคยา จำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยย่อส่วนลงให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีความสูง 28 เมตร มีพระพุทธรูปอยู่รายรอบ ภายในองค์เจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ประวัติความเป็นมาของ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ
    วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ หมู่ที่ 2 บ้านเขาโคกเผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บนยอดเขาโคกเผ่น ในเนื้อที่ 96 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวาและทางกรมป่าไม้ให้ดูแลพื้นที่ตั้งแต่ 501 ไร่ขึ้นไปในพื้นที่ 864 ไร่และโดยรอบภูเขาตามแนวถนนลาดยางมีโครงการจะขุดคลองรอบภูเขา มีความกว้าง 20 เมตร ยาว 6.7 กิโลเมตร ลึก 5 เมตร ตามโครงการ ป่ารักน้ำ เพื่อสนองพระราชดำริในโอกาสต่อไป

    วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นที่พักสงฆ์ ในชื่อว่า เสนาสนะวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ครั้นต่อมาทางราชพัสดุอนุญาตให้ใช้พื้นที่สร้างวัดและตั้งวัดตลอดจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยลำดับ โดยถูกต้องทุกประการในปีพุทธศักราช 2548

    การสร้างวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที แด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺสารเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม กรุงเทพมหานคร และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เป็นอมตนครมรดกสืบต่อไปความมุ่งหมายของการก่อสร้าง อันเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ แฝงแนวความคิดไว้ด้วยปริศนาธรรม และธรรมคติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอุทยานการศึกษาของเยาวชนและสาธุชน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าแห่งเอกลักษณ์ของชาติว่าเหนือสิ่งอื่นใด หัดทำใจในความเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ นำมาซึ่งสันติภาพ สันติสุข และสันติธรรม เป็นแนวปฏิบัติดำเนินไป ด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และนำมาพัฒนาด้วยความรู้ - รัก - สามัคคี คือคนดีของสังคม ให้เกิดคุณค่าของผู้มาเยี่ยมชมด้วย จิตวิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์กลับไปอย่างมีความสุข ด้วยหัดทำใจให้หยุดได้ สงบได้ นิ่งได้ ปล่อยวางได้ นั้นคือ สันติภาพอย่างแท้จริง

    และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เป็นวัดในพระองค์ ฯ และทรงรับเป็นองค์ประสานงานก่อสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทรงพระเมตตาพระราชทานตราโครงการบรรพชา อุปสมบทหมู่ 84 พรรษาให้เป็นตราประจำวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ด้วย กับทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้คำว่า ราชนครินทร์ ไว้ใช้ในกิจกรรมที่สมควรกับอาคารอื่นๆ ในวัดอีกต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาอย่างหาที่สุดมิได้

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครสวรรค์ โทร.056-221811
https://www.facebook.com/TAT-Nakhonsawan-103513930140126/

แก้ไขล่าสุด 2017-03-26 16:33:58 ผู้ชม 65749

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์หรือวัดพระพี่นางฯ

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์หรือวัดพระพี่นางฯ เมื่อเดินทางเข้ามาในบริเวณวัดจากทางเข้าสามารถมองเห็นวัดบนยอดเขาได้อย่างชัดเจน เกือบทุกอาคารเป็นภาพที่สวยงามมากจนหลายคนต้องจอดรถเพื่อเก็บภาพก่อนที่จะเดินทางขึ้นสู่ยอดเขา

วิวบนวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

วิวบนวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ บริเวณวัดป่าแห่งนี้ล้อมรอบด้วยท้องทุ่งนาเป็นบริเวณกว้าง ในช่วงฤดูทำนาทองเห็นวิวนาข้าวเขียวขจีเป็นผืนใหญ่จรดเทือกเขา ภาพนี้เป็นวิวที่ถ่ายได้จากบริเวณลานจอดรถ ซึ่งจากจุดนี้ไปจะมีบันไดให้เดินขึ้นไปซึ่งจะผ่านจุดสำคัญๆ หลายจุด หรืออาจจะใช้บริการรถสองแถวเพื่อขึ้นสู่ เจดีย์ศรีพุทธคยาโดยตรงก็ได้

พระพิฆเนศวร

พระพิฆเนศวร งานปูนปั้นพระพิฆเณศบนฉากที่สวยงามเหมือนสวรรค์ อยู่ระหว่างทางเดินชมวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

สถานีรถไฟเก่า

สถานีรถไฟเก่า วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ มีสถานีรถไฟเก่าซึ่งมีโบกี้รถไฟแบบเก่าแก่ที่ไม่ได้ใช้กันมานานแล้ว และเครื่องมือสำหรับออกตั๋วรถไฟ เสาสำหรับคล้องห่วงเมื่อมีรถไฟเข้า-ออก จากสถานี ที่นำขึ้นมาแสดงไว้ จากตรงนี้มีทางเข้าสู่เจดีย์ศรีมหาราช แต่นานๆ จะเห็นสถานีรถไฟในแบบเก่าๆ แบบนี้ก็ไดแวะถ่ายรูปที่ระลึกกันไปหลายรูปครับ

ภาพที่ระลึกจากสถานีรถไฟเก่า

ภาพที่ระลึกจากสถานีรถไฟเก่า เก็บมากันละภาพ 2 ภาพจนพอใจแล้วจึงค่อยเดินกันต่อไปยังจุดอื่นๆ ของวัด

เจดีย์ศรีมหาราช

เจดีย์ศรีมหาราช สร้างขึ้นเพื่อถวายในปีกาญจนาภิเษก โดยพระราชญาณปรีชา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามและคณะศิษยานุศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงค์อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติกามวรวิหารได้พร้อมใจกันสร้าง เพื่อถวายเป็นราชสักการะปูชนียานุสรณ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เจดีย์ศรีมหาราชมีความสูง ๔๕ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เจดีย์ศรีมหาราชมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเจดีย์อื่นๆคือ เจดีย์โดยทั่วไป มักสร้างเป็นองค์ทึบตัน แต่ส่วนเจดีย์ศรีมหาราชภายในกลวงซึ่งภายในประดิษฐานพระกาญจณาภิเษก มีความสูง ๑๗๕ ชม.และบริเวณส่วนยอดบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อสักการบูชา แต่เจดีย์ศรีมหาราชได้ประยุกต์ให้เห็นภายในองค์เจดีย์ยังจัดแบ่งออกเป็นห้องๆที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสาม ให้เกิดขึ้นและยังปลูกจิตสำนึกในเรื่องของความรักชาติให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้เข้มาชมห้องประวัติศาสตร์ๆ ในองค์เจดีย์ศรีมหาราช

เจดีย์ศรีมหาราชแบ่งออกเป็นชั้นต่างๆดังนี้คือ
ชั้นล่าง มีชื่อเรียกว่า วังนาคราช ใช้เป็นที่ปฎิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนระหว่างวันที่ ๒๑ –๒๓ ตุลาคม ของทุกปี

ชั้นที่๑ มีชื่อเรียกว่า ห้องมหาราช หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ได้เคยเรียกห้องมหาราชว่าเหมือนปราสาทพระเทพบิดรของประชาชนชาวไทยเพราะเป็นที่ประทับของรูปหล่อของพระมหาราชทั้ง ๘ พระองค์รวมตลอดถึง พระบรมรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในฐานะพระชนกนาถของพระปิยมหาราชและพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยด้วย พระบรมรูปของมหาราชทั้ง ๘ พระองค์คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปิยมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหาเจษฏาราชเจ้า (รัชกาลที่ ๓ ได้สถาปนา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในห้องมหาราชยังได้ประดิษฐานพระพุทธเอกนพรัตน์ โดยได้รวมพระพุทธรูปประจำวันทั้ง ๙ วัน ๙ ปาง เป็น ๓ องค์ ๓ สมัย ๔ อิริยาบถ ๑๐ ปาง ไว้บนฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีพระสยามเทวาทิราช สูงประมาณ ๑๗๒ ชม.ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางมหาราชทั้งปวง ห้องมหาราชนี้ จึงเป็นสถานที่เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนไทยทั้งหลายได้มาสักการะและน้อมรำลึกถึงพระมหาการุณาธิคุณของพระมหาราชทุกพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

เจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

เจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์
ชั้นที่ ๒ ห้องพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชย (เมืองลำพูน)ผู้มีความตั้งมั่นในบวรพระพุทธศาสนา ภายในห้องจะมีภาพงานจิตรกรรมรูปพระพุทธเอกนพรัตน์และพระบรมรูปของพระนางจามเทวีซึ่งได้แกะจากไม้จามจุรี
ห้องพระนเรศวรมหาราช (ห้องสามพี่น้อง) ภายในห้องมีพระบรมรูปหล่อด้วยทองสำริดประทับยืนของสามพระองค์ สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และภาพสีน้ำมันพระสาทิสลักษณ์ของพระสุพรรรกัลยา ชื่อว่า ภาพไกลบ้าน ด้วย
ห้องสมเด็จพระสุริโยทัย วีรกษัตรีย์ ผู้กล้าหาญและยอมเสียสละได้แม้ชีวิต เพื่อรักษาบ้านเมือง ด้านหน้าห้องจะมีซุ้มเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่๖)และภาพสีน้ำมันพระสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและราชวงค์ทุกพระองค์ อันได้แก่ ภาพที่มีชื่อว่า ภาพพร้อมพักตร์ และรวมถึงภาพสีน้ำมันอันงดงามเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระสุริโยทัย พระมเหสีและพระราชธิดาผู้กล้าหาญคือพระบรมดิลกรวมทั้งสิ้นจำนวนภาพ สามภาพ ชื่อภาพ แทบบาทบงก์ ราชกุมารีจอมสยาม และเพื่อมาตุภูมิ

ภายในห้องสุริโยทัยมีพระบรมรูปหล่อด้วยเนื้อโลหะปิดทองของ สมเด็จพระสุริโยทัยในเครื่องทรงนักรบ ความสูงประมาณ ๑๖ นิ้ว ประทับยืนอยู่ในบุษบกทองอันงดงามและภายในห้องนี้ยังได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บายศรีผ้า ซึ่งได้เคยใช้บูชาบวงสรวงในงานพิธีสำคัญของวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ ฯ มาแล้วทั้งสิ้นจุดเด่นของห้องสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นเครื่องทรงนักรบประทับบนคอคชาธาร ชื่อภาพ วีรกษัตรีย์ แรงอธิษฐาน และสุริโยทัย
พระพุทธกาญจนาภิเษก พระพุทธรูปยืนปางอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาท ความสูง ๙ เมตรปิดทองแท้ทั้งองค์ ประทับยืนอยู่ในซุ้มด้านหน้าห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางยืนอธิษฐานประทับรอย พระพุทธบาท มีพระพุทธลักษณะ พระเกศเป็นเปลวเพลิง เหนือพระเกศมีดอกบัวบานกลีบซ้อน ๓ ชั้น รองรับเลข ๙ คือ นวโลกุตรธรรม อยู่ในกรอบของปรกมณฑล พระหัตถ์ทั้งสองปล่อยลงมาเหนือพระชานุ ริ้วชายจีวรปรกลงมาครึ่งพระชงฆ์ ปิดอันตรวาสก พระพุทธบาทเบื้องซ้าย เหยียบทับซ้อนพระพุทธบาทเบื้องขวาเล็กน้อย ประทับยืนอยู่ในรอยพระพุทธบาท สี่ รอย ด้านหน้าผ้าทิพย์ปรากฏเป็นพระพุทธบาททั้งคู่เด่นชัด มีเทพพนม ทั้งคู่อยู่ด้านขวา เหนือพระพุทธบาท ฐานรองพระพุทธบาทมีบัวบาน ๓ ชั้น รองรับด้านล่างมีเทพประจำ ๑๒ นักษัตร ด้านหน้าชั้นล่างใต้ฐานผ้าทิพย์จะเป็นตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เลข ๙ หุ้มด้วยทองคำหนัก ๕๐ บาท นิมิตหมาย คือ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีบัวบาน ๓ ชั้น รองรับเลข ๙ หุ้มด้วยนาค ๑๓๔ บาท นิมิตหมายคือรวมสิริพระชนมายุทั้ง สองพระองค์ในปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ เปลวพระเกศและพระอุณาโลม หุ้มด้วยเงินบริสุทธิ์ ๒๑๔ บาท นิมิตหมายคือ อายุกรุงรัตนโกสินทร์ รวม เงิน ,ทอง , นาค หุ้มพระเกศ ๓ กษัตริย์ได้ ๓๙๘ บาท

ห้องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมฺรังสี) ห้องนี้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ศึกษาและพิจารณาถึงปฏิปทาของท่าน

ห้องพระไตรปิฏก เป็นห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก มีทั้งภาษาไทย ,ภาษาบาลีและภาษาพม่าและมีรูปหล่อของเนื้อโลหะของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) นั่งแสดงธรรม , หลวงพ่อทวด , รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงค์ (วิน ธมฺมสารเถร) และหลวงปู่โง่น โสรโย

ชั้นที่ ๓ คือชั้นบนสุด มีเจดีย์ความสูง ๑๒ เมตร เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธกาญจนาภิเษก พระพุทธรูปต่างๆ เจดีย์องค์นี้จะเป็นศูนย์รวมเอกลักษณ์ของชาติไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อความเป็นเอกภาพแห่งเมตตาจิตของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นกำลังสืบสานกรุงรัตนโกสินทร์ให้มั่นคงถาวรยืนยาวตลอดไป

ชั้นล่างเจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

ชั้นล่างเจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

ชั้นล่างเจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

ชั้นล่างเจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

พระภัควัมบดี-แท่นพระธรรมจักร

พระภัควัมบดี-แท่นพระธรรมจักร (ภาพซ้าย) พระภัควัมบดี (พระอยู่เย็นเป็นสุข พระไม่มีหน้า) เป็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณะเหมือนพระสังกัจจายน์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ปางขัดสมาธิเพชร บนกลีบบัว ๓ ชั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์นี้มีลักษณ์เหมือนกันทั้งสองด้าน หมายถึงไม่มีหน้า ไม่มีหลัง และไม่มีตา ปริศนาธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในเรื่องของการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน คือการทำความดีไม่เอาหน้าในสังคม พระองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางเขาโพธิสัตว์ หน้าตักกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร ประกอบด้วยรัศมีประภามณฑล และฉัตรทองอีก ๙ ชั้น สูงราว ๑๔ เมตร เพื่อเป็นปูชนียสักการะ ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันสนับสนุน ส่งเสริม สถาบัน และเอกลักษณ์ของชาติให้มั่นคงถาวร
ส่วนภาพขวาคือแท่นพระธรรมจักร อยู่ระหว่างอาศรมพ่อหมอปู่ชีวกโกมารภัจจ์ และพระภัควัมบดี แท่นพระธรรมจักรภายในวงกลมสีขาว คือสัญลักษณ์ของพระธรรมที่ได้อุบัติขึ้นในโลกที่มีเพลิงทุกข์คือกิเลสรุมเร้าอยู่เนืองนิตย์ อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ สามารถช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติตาม สามารถที่จะข้ามพ้นจากความทุกข์ได้ ยังโลกให้สว่างไสวเป็นโลกสีขาว เป็นที่เกิดของสังฆรัตนครบรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

บันไดสู่เจดีย์ศรีพุทธคยา

บันไดสู่เจดีย์ศรีพุทธคยา จากพระภัควัมบดี-แท่นพระธรรมจักรมีบันไดเดินขึ้นไปสู่เจดีย์ศรีพุทธคยา เป็นบันไดลักษณะศิลปะการก่อสร้างพญานาคเลื้อยสวยงามทั้งด้านบนและด้านล่าง เดินไปประมาณครึ่งทางจะพบพระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม มี 2 องค์ 2 ด้าน หันหลังให้กัน ด้านนี้มองจากทางขึ้นบันได

วิววัดป่าจากบันได 183 ขั้น

วิววัดป่าจากบันได 183 ขั้น วิวเจดีย์ศรีมหาราชกับบริเวณรอบเชิงเขาที่สวยงาม

พระธรรมจักรรอบกำแพง

พระธรรมจักรรอบกำแพง ระเบียงบริเวณนี้เป็นทางเดินรูปสี่เหลี่ยม ด้านในมีกำแพงประดับด้วยพระธรรมจักรล้อมรอบ บนนี้จะมองเห็นวิวเจดีย์ศรีมหาราชกับบริเวณรอบเชิงเขาที่สวยงามได้

บันไดสู่เจดีย์ศรีพุทธคยา

บันไดสู่เจดีย์ศรีพุทธคยา ราวบันไดมีสัญลักษณ์ตราประจำปี ๑๒ นักษัตร ในกรอบวงกลม

พระอุปคุต-เสาอโศก

พระอุปคุต-เสาอโศก เมื่อเราเดินตามบันไดพญานาคประมาณ ๑๘๓ ขั้น ก็จะพบวิหารน้อยมีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิหันหลังให้กันพ่นสีทองเหลืองอร่าม คือ พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็มพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากในการปราบพญามารวสวตีมาร
เมื่อเราเดินมาอีกก็จะพบเสาหินขนาดใหญ่บนยอดสุดเป็นสิงห์ที่ฐานทั้ง ๔ ด้านจะเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเสาอโศกที่พระอโศกมหาราชสร้างไว้เพื่อที่จะประกาศพระพุทธศาสนาให้ปรากฏมั่นคงในโลก

สุดบันไดถึงประตูโทรณะ

สุดบันไดถึงประตูโทรณะ เดินต่อมาก็จะพบประตู โทรณะ ประตูแห่งความหลุดพ้น และก็เป็นลานกว้างของเจดีย์ เราจะเห็นบริเวณตรงกลางจะเป็น ลานหยินหยางก็จะถึงเจดีย์ศรีพุทธคยา

บริเวณประตูโทรณะ

บริเวณประตูโทรณะ ภาพอีกมุมหนึ่งของประตูโทรณะ ประตูแห่งความหลุดพ้นที่เราเพิ่งผ่านเข้ามา ก่อนที่จะถ่ายรูปเจดีย์ศรีพุทธคยา ก็เก็บภาพมุมนี้ก่อนจะได้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านหลังของประตู

ภาพสลักนูนต่ำช่วงหนึ่งของบันได

ภาพสลักนูนต่ำช่วงหนึ่งของบันได

เจดีย์ศรีพุทธคยา

เจดีย์ศรีพุทธคยา ผ่านประตูโทรณะเข้ามาสิ่งที่เห็นคือลานกว้างกับเครื่องหมายหยินหยางกลางลาน เบื้องหน้าที่เห็นคือเจดีย์ศรีพุทธคยาขนาดใหญ่ สีแดงอมชมพู สร้างความประทับใจให้กับทีมงานที่มาในวันนี้เป็นอย่างมาก ข้อมูลเกี่ยวกับเจดีย์ศรีพุทธคยามีดังนี้

ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นวันประสูติของสมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ ได้รับพระเมตตาให้จัดโครงการบรรชาอุปสมบทหมู่ ๘๕ รูป สามเณร ๑๑ รูป รวม ๙๖ รูป เฉลิมพระเกียรติรวม ๑๕ วันและในวันที่ ๖ –๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้รับอาราธนาพระสงฆ์ สามเณรเปรียญ รวม ๘๕ รูปจากวัดต่างๆ รวมทั้ง ๒ นิกาย มาสาธยายพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย ๔๕ เล่มทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม รวม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมด้วยเจริญพระพุทธมนต์มหาสันติงหลวงเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ด้วย

โดยคณะกรรมการ ซึ่งมีนางสุมนา อภินรเศรษฐ์ ประธานโครงการการบรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติและนางสาวราชตี สิงหศิวานนท์ รองประธานกรรมการ ได้ดำเนินงานสำเร็จเรียบร้อยลุล่วงไปด้วยดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ประธานงานก่อสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ และทรงพระเมตตาพระราชทานตราโครงการบรรพชา อุปสมบทหมู่ ๘๕ พรรษา ให้เป็นตราประจำวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ด้วยและเป็นองค์ประธานทอดผ้าป่าพระราชทาน ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ พร้อมกับพระราชทานให้ทอดกฐินในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ กับทั้งพระราชทานพระอนุญาตให้ตั้งศูนย์เด็กเล็กในบริเวณหน้าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ มีชื่อว่า ศูนย์เด็กเล็กราชนครินทร์ และพระราชทานคำว่า ราชนครินทร์ ไว้ใช้ในกิจกรรมที่สมควรกับอาคารอื่นๆ ในวัดอีกต่อไป นับเป็นพระมหาการุณาอย่างหาที่สุดมิได้

เจดีย์ศรีพุทธคยาวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

เจดีย์ศรีพุทธคยาวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ สร้างขึ้นเพื่อรองรับวันวิสาขโลก ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติยกย่องให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาให้เป็นที่ทราบกันทั่วโลก และถือว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึงด้วยและเพื่อสืบสานอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนไปตราบเท่าครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปีและเป็นเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เจดีย์ศรีพุทธคยา มีความกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตรบนพื้นที่ ประมาณ ๓๐ เมตร พื้นชั้นล่างกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๓๓ เมตร แบ่งเป็นชั้นต่างๆ ดังนี้
ชั้นล่าง เป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรม มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ ขนาดหน้าตัก นิ้ว ปางมารวิชัย พระเกศทรงดอกบัว แกะสลักจากหินพิเศษ สีดำ ซึ่งขุดพบภายในวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ เป็นพระประธานในห้องปฏิบัติธรรม
ชั้นที่ ๑ เป็นห้องพระพุทธเมตตาสันติภาพ เนื้อสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง๔๙ นิ้ว สูง ๔.๑๙ เมตร สร้างถวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย ศรีศากยสิงห์ ขนาด หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว สูง ๔ เมตร ซึ่งสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในโอกาสฌฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา
ชั้นที่ ๓ สร้างเป็นวิหารทรงพรตเป็นที่ปฏิบัติผู้ใดที่จะขึ้นไปชั้นที่ ๓ ต้องตั้งสัจจะรักษาศีลให้ได้ ๑ ข้อตลอดชีวิต
ความมุ่งหมายของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ แฝงไว้ด้วยปริศนาธรรม และธรรมคติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอุทยานการศึกษาของเยาวชนและสาธุชน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าแห่งเอกลักษณ์ของชาติว่าเหนือสิ่งอื่นใด หัดทำใจในความเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ นำสันติภาพ สันติสุข และสันติธรรม เป็นแนวปฏิบัติดำเนินไป ด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และนำมาพัฒนา ด้วยความ รู้ - รัก – สามัคคี คือคนดีของสังคม

สิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น ยึดหลักแนวคิด ๔ ประการ คือ ปถมนสิการ คิดไปในแนวทางที่ถูกต้อง อุบายมนสิการ เลือกวิธีการที่ดีที่สุด การณมนสิการ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล และอุปาทนสิการ ประมวลวิธีทั้ง ๓ ประการนั้นด้วยสติและปัญญาให้เข้ากับกาลสมัย สนับสนุนส่งเสริม เชิดชูเอกลักษณ์ของชาติ ให้เกิดคุณค่าของผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนชม ให้ได้พลัง แห่งความรู้ ความรัก ความสามัคคี ด้วยจิตและวิญญาณที่สะอาดและบริสุทธิ์กลับไปอย่างมีความสุข ด้วยหัดทำใจ หยุดได้ สงบได้ นิ่งได้ ปล่อยวางได้นั้น คือสันติภาพอย่างแท้จริง

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ ชั้นล่างเจดีย์ศรีพุทธคยา เป็นสถานที่ใช้ปฏิบัติธรรม มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพ่อดำ ปางมารวิชัย พระเกศทรงดอกบัว แกะสลักจากหินพิเศษสีดำ ซึ่งขุดพบภายในวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์ฯ เป็นพระประธานในห้องปฏิบัติธรรม

พระพุทธรูปผนังด้านนอกเจดีย์ศรีพุทธคยา

พระพุทธรูปผนังด้านนอกเจดีย์ศรีพุทธคยา ที่ผนังด้านนอกขององค์เจดีย์ สร้างพระพุทธรูปปูนปั้นองค์เล็กๆ ทาด้วยสีทองจำนวนหลายองค์เต็มพื้นที่ของผนังทุกด้าน

ลานกว้างหน้าเจดีย์ศรีพุทธคยา

ลานกว้างหน้าเจดีย์ศรีพุทธคยา บริเวณด้านหน้าเจดีย์ศรีพุทธคยา มีลานกว้างขนาดใหญ่จากบันได 183 ขั้นที่เห็นเครื่องหมายหยินหยาง มีทางเดินด้านข้างของลานสร้างหลังคาคลุมเพื่อเดินเข้าสู่องค์เจดีย์ มองจากด้านบนขององค์เจดีย์ศรีพุทธคยาจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามเบื้องล่าง

พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์

พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์ ชั้นที่ ๒ ของเจดีย์ศรีพุทธคยา เป็นห้องที่ประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย ศรีศากยสิงห์ ขนาด หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว สูง ๔ เมตร ซึ่งสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในโอกาสฌฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา

พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์

พระศรีอริยเมตไตรยศรีศากยสิงห์ ภาพจากด้านหน้าของประตูทางเข้าเจดีย์ศรีพุทธคยาชั้นที่ 2

เจดีย์รายเจดีย์ศรีพุทธคยา

เจดีย์รายเจดีย์ศรีพุทธคยา พระพุทธรูปในเจดีย์ทั้งสี่มุม รอบเจดีย์ศรีพุทธคยาชั้นบนมีเจดีย์องค์เล็กๆ ที่มุมทั้งสี่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป

ช่อฟ้าใบระกาเก่า

ช่อฟ้าใบระกาเก่า ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในเจดีย์ศรีพุทธคยา

รอยพระพุทบาทจำลอง

รอยพระพุทบาทจำลอง ภายในเจดีย์ศรีพุทธคยามีรอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานที่ช่องหน้าต่างมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกที่สวยงาม

บันไดขึ้ลงชั้น 3 เจดีย์ศรีพุทธคยา

บันไดขึ้ลงชั้น 3 เจดีย์ศรีพุทธคยา ระหว่างชั้นที่ 2 กับชั้นที่ 3 บันไดทางเดินจะมองเห็นเจดีย์ราย 4 มุมรอบองค์เจดีย์ศรีพุทธคยา ชั้นที่ 3 สร้างเป็นวิหารทรงพรตเป็นที่ปฏิบัติผู้ใดที่จะขึ้นไปชั้นที่ 3 ต้องตั้งสัจจะรักษาศีลให้ได้ 1 ข้อตลอดชีวิต

เจดีย์ศรีพุทธคยา

เจดีย์ศรีพุทธคยา กลับลงมาด้านล่าง ตรงทางเดินเข้าเจดีย์ศรีพุทธคยาตั้งแต่ลานหยินหยาง ข้างบันไดทางขึ้นมีรูปปั้นสิงห์ อีกด้านหนึ่งเป็นยักษ์ทวารบาล ผสมผสานกัน

ภาพนูนต่ำพุทธประวัติ

ภาพนูนต่ำพุทธประวัติ

ภาพที่ระลึกของสมาชิกกับเจดีย์ศรีพุทธคยา

ภาพที่ระลึกของสมาชิกกับเจดีย์ศรีพุทธคยา เมื่อเราเดินลงมาก่อนแต่เพื่อนๆ ยังไม่ลงก็ต้องกลายเป็นช่างภาพให้เพื่อนๆ ไปทุกๆ คนที่มาที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ และได้เข้าชมเจดีย์ศรีพุทธคยา ย่อมอยากมีภาพที่ระลึกเก็บไว้ชมทั้งนั้นละครับ

ภาพที่ระลึกของสมาชิกกับเจดีย์ศรีพุทธคยา

ภาพที่ระลึกของสมาชิกกับเจดีย์ศรีพุทธคยา ต่างคนต่างมุมหากันตามใจชอบ

เจดีย์ศรีพุทธคยาวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

เจดีย์ศรีพุทธคยาวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ อีกภาพก่อนเดินทางลงไปยังลานจอดรถด้านล่าง เพราะความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างที่ได้เห็นเบื้องหน้าจนอยากถ่ายรูปเก็บไว้ทุกๆ มุม ก่อนที่จะเดินหันหลังแล้วกลับลงทางบันได 183 ขั้นตามเดิม จากประตูโทรณะ จะเห็นบันไดทอดยาวลงไป มีเสาอโศก พระบัวเข็ม พระเจดีย์ศรีมหาราช เรียงเป็นแนวกับทิวทัศน์ที่สวยงามรอบบริเวณวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ เบื้องล่างของเขาลูกนี้

บันได 183 ขั้นกับพระบัวเข็มขาลง

บันได 183 ขั้นกับพระบัวเข็มขาลง

เจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

เจดีย์ศรีมหาราชวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

นั่งพักก่อนเดินทาง

นั่งพักก่อนเดินทาง หลังจากที่ได้เดินลงทางบันได (มีรถสองแถวบริการขึ้นลงจากเจดีย์ศรีพุทธคยา แต่เลือกที่จะเดินลงมากันครับ) ก็มานั่งรอรถเพื่อที่จะลงจากเขาและเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่นๆ ของเรา แม้ว่าจะเป็นการเดินขาลงแต่ก็ต้องยอมรับว่าเหนื่อยจากความแรงของแสงแดดอยู่ไม่น้อย

ที่ระลึกภาพหมู่ป้ายทางเข้าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์

ที่ระลึกภาพหมู่ป้ายทางเข้าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ อยู่บริเวณทางแยกเข้าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ พอดีขากลับเห็นป้ายนี้แล้วนึกขึ้นได้ว่ายังไม่มีภาพหมู่กับป้ายเลยก็ต้องจอดรถลงมากันละครับ จบการพาชมวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์สำหรับทริปนี้ไว้ก่อน มีโอกาสคงได้กลับไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้ทั่ววัดอีกทีครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นครสวรรค์
The Naps Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิ อินฟินิตี้ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  49.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
Suk-sa-bai apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  63.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Floatel - Buntern เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  66.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแกรนด์ วิษณุ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  66.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมกอล์ฟ 19 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  67.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมตามสบาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  67.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
B2 Nakhonsawan Premier Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  67.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
พี.เอ. ธานีโฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  67.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพีเอ เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  68.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นครสวรรค์
เจดีย์พุทธคยา วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
พุทธศาสนสถานหลวงพ่อดำ นครสวรรค์
  22.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนวังรอ นครสวรรค์
  25.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
เมืองเก่าเวสาลี นครสวรรค์
  27.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
แหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ประสาท นครสวรรค์
  33.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
เป๋าตุงฟาร์ม
  34.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทุ่งปอเทืองบ้านซับตะเคียน
  40.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทะเลบัวแดง บึงบอระเพ็ด
  42.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไร่ธรรมชัย ทุ่งปอเทือง
  43.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกวังน้ำวิ่ง นครสวรรค์
  46.63 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com