Notice: Undefined index: strFacebookID in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/gallery/placeview_4.php on line 3

Notice: Undefined index: strFacebookID in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/gallery/placeview_4.php on line 3
เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางวัน จันทบุรี ทัวร์ออนไทยดอทคอม

www.touronthai.com

หน้าหลัก >> จันทบุรี >> เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางวัน

เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางวัน

ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฎ การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนที่ลาดชันมาก ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาทนี้เป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์

    บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน เฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ โทร. 0 3945 2074

    อ่านการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏในช่วงกลางคืนได้ที่ เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางคืน

ติดต่อสอบถาม:
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานระยอง โทร. 0-3865-5420
http://www.tourismthailand.org/rayong
ลานจอดรถที่วัดพลวง

ลานจอดรถที่วัดพลวง ขณะที่เราไปถึง ประมาณ 11.00 น. ลานจอดรถที่อยู่ใกล้ๆเต็ม ต้องออกมาจอดด้านนอกที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นก็เดินเข้าไปในวัด ตามลำดับแล้วควรจะมีการตั้งสัจจะ หรืออธิษฐานก่อนการเดินทางขึ้นเขาคิชกูฏ โดยเฉพาะห้องประดิษฐานสังขารหลวงปู่นัง เป็นสถานที่ที่ทางวัดจะประกาศตลอดเวลาว่าต้องไปกราบหลวงปู่นังแล้วตั้งสัจจะ ก่อนเดินทางเสมอ
การเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ให้นักท่องเที่ยวไปซื้อบัตรขึ้นรถ 4WD ซึ่งจะมีวนมาัรับเป็นเที่ยวๆ คันหนึ่งจะนั่งได้ประมาณ 10 คน ทุกๆ วันจะมีคนมารอซื้อบัตรเป็นแถวยาวเหยียดกว่าจะได้ขึ้นรถอาจจะนานเป็นชั่วโมง รถ 4WD ของชาวบ้านจะไปส่งประมาณครึ่งทางขึ้นเขา จากนั้นต้องต่อรถอีกครั้ง ราคาคนละ 50 บาท 2 ต่อ ก็ 100 บาท ขากลับอีก 100 บาท ทางวัดไม่อนุญาตให้เราขับรถขึ้นไปเองเพราะเส้นทางลาดชันและบางช่วงการหลบหลีกรถกันจะเป็นแบบไลน์ขวา ไม่ใช่การขับชิดซ้ายตลอดทาง และบนเขาคิชกูฏไม่มีที่กว้างพอที่จะให้เราเอารถไปจอดแช่ไว้ การใช้รถบริการของชาวบ้านจึงเป็นทางที่ดีที่สุด

บรรยากาศการต่อรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ

บรรยากาศการต่อรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ จุดรอรถช่วงที่ 2 ขอแนะนำว่าถ้ารถมีที่ว่างให้รีบขึ้นไปก่อน ไม่ควรรอกัน เพราะจะนานมาก ให้แยกกันไปแล้วรอกันที่ด้านบนจะดีกว่า เหมือนกันกับตอนขาลง นักท่องเที่ยวที่เดินวนเวียนอยู่ที่ลานต่อรถ เพราะรอเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันเพื่อลงพร้อมกันซึ่งทำให้ช้ามากครับ คนไหนเดินเร็วกว่าก็ลงก่อนดีกว่า

จุดสิ้นสุดทางเดินรถ

จุดสิ้นสุดทางเดินรถ จุดสิ้นสุดทางเดินรถ ถึงที่จุดนี้ ทุกคนต้องเดินเท้ากันต่อ อีก 1.2 กม. มีแคร่แบกบริการด้วยนะสำหรับผู้ที่ไม่มีกำลังแต่ศรัทธา ที่จุดรับส่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ มีคนมากราบไหว้พระสิวลีกันหนาแน่น มีควันธูปลอยคลุ้งตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะเดินไปตามทางเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏ ระหว่างทางมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เป็นระยะๆ เราสามารถไหว้พระไปตามทางเรื่อยๆ เพื่อเป็นการพักให้หายเหนื่อยได้ด้วย

พิสูจน์ศรัทธาเขาคิชฌกูฏ

พิสูจน์ศรัทธาเขาคิชฌกูฏ อย่างที่ได้เห็นในภาพชุดนี้ การเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏนั้นมีผู้ศรัทธาแรงกล้าและเดินอย่างมุ่งมั่นที่จะขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทให้ได้ หลายคนที่อายุมากแล้วก็ใช้ไม้เท้าช่วย บางคนเท่านั้นที่เห็นใช้แคร่หามขึ้นไปเพราะสู้สังขารไม่ไหว ระหว่างทางขึ้นเขาคิชกูฏ มีวิวสวยๆ เนื่องจากเป็นเทือกเขาที่อุดมสมบูรณ์ มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียวสวยงามสบายตา บางวันมีหมอกจางๆ ระหว่างทางเดินขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เดินไปได้สัก 800 เมตรจะมีสะพานทางเดินที่สร้างขึ้นเป็นทางยาว มีระฆังแขวนอยู่ตลอดแนวหลายคนจะตีระฆังเหล่านี้ระหว่างทางเดินทางกลับลงจากเขา มีระเบียงเล็กๆ ยื่นออกไปให้ได้ชมวิวกันชัดๆ และไม่ขวางทางเดินของคนอื่นๆ ด้วย

การเดินทางช่วงสุดท้าย

การเดินทางช่วงสุดท้าย จากสะพานช่วงนี้เดินต่อไปอีกประมาณ 400 เมตร จะถึงรอยพระพุทธบาทที่อยู่ใกล้ๆ กับหินบาตรคว่ำ โดยเส้นทางจะต้องผ่านประตูสวรรค์ มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่อยู่ใกล้กัน มีช่องทางเดินอยู่ใต้ส่วนโค้งของหินซึ่งต้องเดินแบบก้มหัวหรือย่อตัว เรียกว่าการลอดประตูสวรรค์ บริเวณช่วงนี้มีที่ให้นั่งพัก มีร้านขายน้ำ เครื่องดื่ม ผ้าเย็นก็มี หลังจากชื่นใจหายเหนื่อยแล้วค่อยเดินกันต่อไป ต้นไม้ใหญ่หลายต้นมีนกมาเกาะโดยไม่เกรงกลัวผู้คนที่เดินไปมา เนื่องด้วยเป็นเขตอภัยทานห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด นกจึงไม่รู้สึกว่าคนเป็นสิ่งอันตรายสำหรับมัน

ประตูสวรรค์เขาคิชฌกูฏ

ประตูสวรรค์เขาคิชฌกูฏ การลอดประตูสวรรค์อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วในรูปข้างบน เมื่อผ่านประตูสวรรค์นี้ไปก็เป็นลานใหญ่มีโรงทาน ร้านเครื่องดื่มบริการ มีลานสำหรับทำบุญ บูชาวัตถุมงคล และพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร จากนั้นก็ลานพระพุทธบาท หินบาตรคว่ำ ถ้ำพระฤๅษี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางขั้นต้นของการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ บางคนอาจจะเดินต่อไปจนถึงผ้าแดง บางคนก็ขอขึ้นมาถึงเพียงแค่นี้ก็พอแล้ว

ด้านหน้าประตูสวรรค์

ด้านหน้าประตูสวรรค์ อีกด้านหนึ่งของประตูสวรรค์หลังจากที่ลอดผ่านมาแล้ว

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร บริเวณนี้มีศาลาหลายหลังเรียงติดกันเป็นแนว สำหรับบูชาวัตถุมงคลของวัด ทำบุญพระอุ้มบาตร เป็นกองอำนวยการบนยอดเขาคิชฌกูฏ อีกด้านหนึ่งมีทางเดินไปพระพุทธบาทและหินบาตรคว่ำ อีกทางหนึ่งเดินไปยังผ้าแดง สำหรับทริปนี้เป็นครั้งแรกของเราในการร่วมประเพณีขึ้นเขาคิชฌกูฏ สักการะพระพุทธบาท เราจึงขอเดินเพียงประมาณนี้แล้วไม่ไปต่อถึงผ้าแดง สำหรับอีกทริปหนึ่งที่ได้มาขึ้นเขาคิชฌกูฏ อีกครั้ง เราได้เดินไปจนถึงผ้าแดง คลิกอ่านได้ที่ ขึ้นเขาคิชฌกูฏกลางคืนถึงผ้าแดง

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ อย่างที่ได้เห็นอยู่นี้ประชาชนที่หลั่งไหลกันมานมัสการสักการะรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะมากลางวันหรือมากลางคืนก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่ากันนัก แม้ว่าช่วงวันธรรมดาจะมีคนน้อยบางตาลงไปบ้างแต่ก็ไม่ต่างกันมาก เพราะช่วงเวลาที่เปิดให้ขึ้นสักการะรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏนั้น มีเพียง 3 เดือน ในแต่ละปี
 มหัศจรรย์หินบาตรคว่ำ หินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายบาตรที่คว่ำไว้ อยู่บนยอดเขามาช้านาน ดูเหมือนว่าจะกลิ้งหล่นถล่มลงไปแต่กลับตั้งอยู่ได้อย่างน่าประหลาด

บูชารอยพระบาทยอดเขาคิชฌกูฏ

บูชารอยพระบาทยอดเขาคิชฌกูฏ กว่าจะแทรกตัวเข้ามาระหว่างผู้คนจำนวนมากที่เบียดแน่นอยู่โดยรอบ คนนอกก็พยายามจะเข้าไป จนคนที่อยู่ด้านในออกมาแทบไม่ได้ ต้องรอกันไปรอกันมา ใช้เวลาพักใหญ่จนหลายคนยอมแพ้ขอไหว้อยู่ด้านนอกเพราะฝ่าฝูงคนเข้ามาไม่ไหว ทุกคนบนนี้ต้องทำใจต่างคนต่างก็อยากจะไหว้บูชารอยพระพุทธบาทให้ได้เหมือนๆ กัน
  ลานกว้างใต้หินรูปบาตรคว่ำมีรอยพระพุทธบาทที่ประชาชนที่มา ณ ที่แห่งนี้ต้องการเดินทางเข้าไปสักการะบูชาจนเนืองแน่นอย่างที่เห็น ลานนี้ไม่มีรั้วล้อมรอบการเดินที่บริวเณขอบลานอาจจะเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงไปเนื่องจากคนเบียดเสียดกันได้นะครับ ระมัดระวังหน่อย
 ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของผู้คนที่ขึ้นมาบนนี้คือการถือดอกไม้และพลอยจากข้างล่างเพื่อมาสักการะรอยพระพุทธบาทให้จงได้ เพื่อความเป็นสิริมงคล ที่ร้านขายพลอยจะจัดชุดพลอยให้เราเป็นพลอยประจำวันเกิด หากถือเดินขึ้นมาโรยพระพุทธบาทนี้ได้จะเป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต

 รอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏนับว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,000 เมตร

ถ้ำพระฤๅษี

ถ้ำพระฤๅษี สถานที่แห่งหนึ่งสำหรับปฏิบัติธรรมในยามปกติ ในช่วงเวลาที่เปิดเขาคิชฌกูฏ ประชาชนหลายคนก็ใช้ถ้ำนี้เป็นที่พักเหนื่อย ภายในมีพระพุทธรูปและรูปฤๅษีมากมาย เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนที่เดินทางมาที่นี่ มีคนมาจุดธูปเทียนจำนวนมากภายในจนควันธูปอบอวลไปทั่งทั้งถ้ำ สำหรับคนไม่ชินพอเดินลงไปแรกๆ จะแสบตามากแต่หลายคนที่อาศัยอยู่ในนี้ได้เป็นเวลานานๆ

มหัศจรรย์ธรรมชาติ

มหัศจรรย์ธรรมชาติ หินขนาดใหญ่ที่ซ้อนกันอยู่ในลักษณะที่ไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่ได้แถมยังตั้งอยู่แบบนี้มาช้านานมากแล้ว ใครผ่านไปมาก็มีเอาธูปมาปัก เอาเทียนมาตั้ง เอาดอกไม้มาโรย มีพระพุทธรูปบูชาองค์เล็กๆ เรียงรายอยู่ใต้หิน จุดนี้เป็นทางเดินจากหินบาตรคว่ำต่อไปยังผ้าแดง แต่เนื่องจากทริปนี้เราตั้งใจมาเพียงนมัสการรอยพระพุทธบาท จึงไม่เดินต่อไปไกลนักแค่พอได้เห็นหินบาตรคว่ำกันชัดๆ แล้วจะเดินกลับลงเขา

หินรูปช้าง

หินรูปช้าง เป็นหินขนาดใหญ่ที่ว่ากันว่าลักษณะเหมือนช้าง โดยเฉพาะวันที่หมอกลงหรือท้องฟ้าเริ่มมืดสลัว เงาของหินก้อนนี้จะเหมือนดังช้างเชือกใหญ่ๆ จะชมหินรูปช้างนี้ต้องเดินเลยจากหินบาตรคว่ำมาอีกพักนึงแต่ไม่ไกลมาก มีสะพานทางเดินข้ามระหว่างหิน บนสะพานมีวิวสวยๆ แต่แคบหยุดชมวิวนานๆ ไม่ได้เพราะมีคนเดินไปมาตลอดเวลา

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ปริมาณของประชาชนที่หลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทที่หินบาตรคว่ำ ต้องมองกันมุมนี้จะเห็นได้ชัด แต่ดูคนเบียนกันเยอะๆ แล้วน่ากลัวน่าหวาดเสียว เพราะที่ขอบไม่มีอะไรกั้นนะครับ หากเซถลาหน้ามืดไปคงจะลำบากกันแน่ๆ และเพราะเหตุนี้เขาคิชฌกูฏ จึงไม่ใช่สถานที่สำหรับคนกลัวความสูงจะมาเดินกันได้

มหัศจรรย์หินซ้อน

มหัศจรรย์หินซ้อน อย่างที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่าหินที่เขาคิชฌกูฏ มีลักษณะที่น่าอัศนจรรย์เหนือธรรมชาติ หินเหล่านี้ซ้อนกันอยู่ได้อย่างประหลาดโดยเฉพาะหินที่เล่าลือกันว่าลอยได้ ที่ใกล้ๆ ผ้าแดง มีคนเล่าว่าเอาธนบัตร หรือ แบงค์ สอดเข้าไปแล้วดึงออกจากอีกด้านหนึ่งได้ หินที่เห็นว่าซ้อนกันอยู่กลับเอาเงินลอดผ่านไปได้ แค่ได้ยินก็แปลกแล้ว อันนี้ไม่ยืนยันนะครับเพราะไม่ได้ไปพิสูจน์ เพียงแต่ได้ยินต่อๆ กันมาเท่านั้น

ทางไปรอยเสือใหญ่

ทางไปรอยเสือใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเมื่อมาเขาคิชฌกูฏควรรู้ไว้เป็นข้อมูล หากมีเวลาหรือยังมีแรงเหลือพอจะเดินไปชมได้ก็ควรจะไป นั่นก็คือรอยเสือใหญ่ ปรากฏรอยคล้ายเท้าเสือขนาดใหญ่เป็นหลุมลึกลงไปในเนื้อหิน ส่วนจุดนี้เป็นทางไปรอยเสือใหญ่มีพระพุทธรูประหว่างทางเดิน สำหรับแรงศรัทธานั้นดูได้จากกลุ่มธูปเทียนดอกไม้ ที่คนนำมาบูชากันครับ

รอยเสือใหญ่เขาคิชฌกูฏ

รอยเสือใหญ่เขาคิชฌกูฏ ตรงนี้เองที่ว่าหลุมลึกบนหินขนาดใหญ่ลักษณะเหมือนรอยเท้าเสือ ซึ่งถ้าหากเป็นรอยเท้าเสือจริงเสือตัวนี้ต้องมีขนาดใหญ่มากๆ หากอยากเห็นชัดๆ คงต้องเดินไปดูด้วยตัวเองเท่านั้นละครับ

ชมวิวเขาคิชฌกูฏ

ชมวิวเขาคิชฌกูฏ จุดเด่นของการเดินไปที่รอยเสือใหญ่ก็คือ บนนั้นจะสามารถมองลงมาเห็นสะพานทางเดินที่เราเดินขึ้นเขามาในตอนแรก เป็นสะพานที่ทอดยาวระหว่างผาหินเพื่อให้เดินได้สะดวก ราวสะพานแขวนระฆังจำนวนนับร้อยใบเป็นแนวยาวระฆังเหล่านี้เชื่อกันว่าจะตีระหว่างเดินกลับลงเขา หรือหลังจากนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้วเพื่อให้ชื่อเสียงก้องกังวาล หรือเพื่อประกาศให้ทวยเทพเทวดารับรู้ถึงการบำเพ็ญกุศลของเรา ก่อนถึงสะพานจะมีระเบียงยื่นออกไปบนผาหินขนาดใหญ่เป็นจุดชมวิวที่สวยงามจุดหนึ่งของเขาคิชฌกูฏ

วิวเชิงเขาเขาคิชฌกูฏ

วิวเชิงเขาเขาคิชฌกูฏ จากรอยเสือใหญ่ก็เดินลงมาตามทางเดินจนใกล้ถึงสะพานจะเห็นวิวเชิงเขาสวยๆ เป็นหมู่บ้านมองเห็นเพียงขนาดเล็กๆ หากมีกล้องพร้อมเลนส์ดีๆ ไปด้วยคงได้ภาพสวยๆ มาหลายภาพระหว่างการเดินขึ้นและลงเขาคิชฌกูฏ

สะพานทางเดินเขาคิชฌกูฏ

สะพานทางเดินเขาคิชฌกูฏ ภาพจากมุมสูงของสะพานก่อนที่จะเดินลงสะพานและเดินลงเขา สำหรับอากาศในบางวันไม่มีแดดออกเป็นการเดินทางที่เย็นสบายเอามากๆ หากใครไปวันไหนมีแดดแรงๆ ก็คงจะร้อนน่าดูเหมือนกันก่อนเดินทางลองศึกษาข้อมูลสภาพอากาศด้วยก็จะดีนะครับ เพราะเคยเห็นคนเป็นลมแดดบนเขาคิชฌกูฏเหมือนกัน

จุดชมวิวเขาคิชฌกูฏ

จุดชมวิวเขาคิชฌกูฏ เป็นจุดชมวิวที่สร้างได้ไม่นานมากนัก หากใครเคยไปเขาคิชฌกูฏในหลายๆ ปีก่อนจะเห็นว่าหินตรงนี้เดิมทีไม่มีระเบียงกั้น แต่มีนักท่องเที่ยวไปนั่งบนหินเพื่อพักเหนื่อยและชมวิวสวยๆ กันหลายคน ทางวัดเกรงว่าจะเกิดอันตรายจึงสร้างระเบียงมีขอบกั้นอย่างที่เห็น

หินพระนอน(หงาย)

หินพระนอน(หงาย) อีกจุดหนึ่งที่มีประชาชนเคารพศรัทธา หินนี้มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปอากัปกิริยาดังนอนหงาย เป็นจุดที่เดินกลับลงมาจนใกล้จะถึงจุดขึ้นรถ หรือหากเป็นขาขึ้นจะเห็นหินนี้ก่อน แต่ผมลงมาถ่ายรูปทีหลังครับ

พระเลี้ยงหมีควาย

พระเลี้ยงหมีควาย เมื่อหลายๆ ปีก่อนที่ผมไปครั้งแรกจะเห็นพระรูปหนึ่งให้อาหารเจ้าหมีควายที่ว่ากันว่าท่านเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่มันยังเด็ก หมีควายตัวนี้จึงเชื่องกับคน แต่ก็ไม่ควรเข้าไปใกล้มันมาก ปัจจุบันหมีตัวใหญ่ขึ้นตามวัยของมันจึงต้องสร้างกรงขังและมีพี่เลี้ยงคอยเล่นกับมันแทน ในทริปกลางคืนก็มีภาพเจ้าหมีควายตัวนี้ที่โตแล้วให้ดูด้วยครับ

ไหว้พระตามทาง

ไหว้พระตามทาง จวนถึงลานพระสิวลี จุดที่ต้องขึ้นรถลงจากเขาแล้ว จะมีพระพุทธชินราชจำลององค์นี้ประดิษฐานอยู่ให้ประชาชนได้กราบไหว้ขอพรก่อนเดินทางลงจากเขาคิชฌกูฏ หรือหากเป็นขาขึ้นก็ไหว้พระพุทธชินราชก่อนเอาฤกษ์เอาชัย
 จบการพาเที่ยวชมเขาคิชฌกูฏไว้เพียงเท่านี้สำหรับทริปนี้หวังว่าผู้อ่านคงได้ประโยชน์ข้อมูลไปบ้างไม่มากก็น้อย หากสนใจเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏช่วงกลางคืน (เขาเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วง 2 เดือน) ลองอ่านในขึ้นเขาคิชฌกูฏกลางคืนถึงผ้าแดง ดูนะครับ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com