www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ฉะเชิงเทรา >> วัดโพธิ์บางคล้า

วัดโพธิ์บางคล้า

 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ ชื่อว่า "วัดโพธิ์" สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310-2350 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปะอยุธยากับรัตนโกสินทร์ พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องเกล็ดเต่าทำจากดินเผา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ บริเวณวัดจะเห็นค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่ตามต้นไม้ ค้างคาวแม่ไก่เป็นค้างคาวสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตาเหมือนสุนัขจิ้งจอกคือ มีดวงตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง และมีเล็บที่แหลมคมสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ มีปีกสีดำ บินได้เร็วและไกลเหมือนนก กางปีกกว้างประมาณ 3 ฟุต แม่ค้างคาวให้กำเนิดลูกได้ครั้งละ 1 ตัว ในเวลากลางวันจะอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา ยามพลบค่ำก็จะออกบินไปหากิน อาหารของค้างคาวจะเป็นพวกผลไม้และใบไม้อ่อนเช่น ใบโพธิ์ ใบมะม่วง ใบมะขาม เป็นต้น เคยมีผู้เฝ้าสังเกตการหากินของค้างคาวที่นี่พบว่าค้างคาวบินไปหากินตามเขตชายแดนไทยหรือฝั่งประเทศกัมพูชา หากล่องเรือชมทัศนียภาพตามลำน้ำบางปะกงจะผ่านวัดนี้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นชมวัดได้จากท่าน้ำของวัด

การเดินทางวัดโพธิ์บางคล้า ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3121 เข้าตัวอำเภอบางคล้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร ผ่านศาลและอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 500 เมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานฉะเชิงเทรา โทร.038 514 009
https://www.facebook.com/TAT-Chachoengsao-175554016247495/

แก้ไขล่าสุด 2016-05-20 19:44:55 ผู้ชม 51666

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า

ค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า หลังจากที่ขับรถเข้ามาตัวเมืองบางคล้า เลี้ยวซ้าย ถึงหน้าวัด เราก็ลงเดินเข้าไปในวัด แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ชักจูงความสนใจของเราให้มาที่นี่ก็คือเรื่องราวของค้างคาวแม่ไก่ ว่ากันว่าที่วัดโพธิ์บางคล้ามีค้างคาวชนิดนี้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พอเราถึงวัดก็มองแต่บนต้นไม้ เราเห็นค้างคาวตัวดำๆ ขนาดใหญ่เหมือนแม่ไก่นอนห้อยหัวอยู่บนต้นไม้ จำนวนของค้างคาวที่เราเห็นไม่สามารถประมาณจำนวนได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรขอให้กิ่งมันใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักค้างคาวได้มันก็ห้อยหัวนอนไปหมด มากี่ทีๆ ก็จะเห็นอยู่ทุกครั้ง

ภายในวัดโพธิ์บางคล้าไม่ได้มีเสนาสนะอะไรมากมายนัก ส่วนใหญ่คนที่มาก็จะไปไหว้พระที่ศาลา บริเวณศาลากลางวัดจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ ก่อนที่จะเดินถึงศาลาแห่งนี้ก็จะเห็นค้างคาวแม่ไก่บนต้นไม้จำนวนมากมาย

เกร็ดประวัติวัดโพธิ์บางคล้าวัดโพธิ์บางคล้า เริ่มมีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากหลักฐานบางอย่างอาจสันนิษฐานได้ว่ามีมาครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๙ คราวพระเจ้าตากสินนำกองกำลังตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่า จากกรุงศรีอยุธยา และได้สู้รบกับกองกำลังของพม่าครั้งสุดท้ายที่ปากน้ำโจ้โล้ (ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร) ก่อนเดินทัพไปเมืองจันทบูร ได้มาพักทัพที่วัดแห่งนี้ก็อาจเป็นไปได้

ค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า

ค้างคาวแม่ไก่วัดโพธิ์บางคล้า ค้างคาวพวกนี้มีพฤติกรรมที่แปลกดีเหมือนกัน บางทีเรามาถูกจังหวะจะเห็นมันเลี้ยงลูกไว้ในอ้อมแขน เป็นภาพที่ประทับใจคนได้พบเห็น บางทีมาเห็นพวกมันนอนโดยใช้ปักปิดหน้าปิดตา บางทีก็ห้อยหัวลงเฉยๆ

ปิดทองวัดโพธิ์บางคล้า

ปิดทองวัดโพธิ์บางคล้า เดินแค่ไม่นานเราก็มาถึงศาลาที่อยู่บริเวณกลางวัด เป็นศาลาเปิดโล่งไม่มีผนัง ทั้งๆ ที่ในวัดมีค้างคาวอยู่เป็นจำนวนมากแต่ไม่ยักเห็นว่ามันจะบินโฉบเข้ามาในศาลาหลังนี้เลย พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในศาลาเป็นพระพุทธรูปสร้างแบบนูนต่ำ ไม่พบเห็นได้บ่อยๆ ในวัดอื่น พระพุทธรูปแบบนูนต่ำหันหลังเข้าหากัน ขนาดเท่าพระพุทธรูปองค์ลอยเต็มองค์ คล้ายกับการสร้างเหรียญพระเครื่องสองหน้า

พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่ค่อยได้เห็นบ่อยคือพระพุทธรูปปางนี้นี่เอง สร้างความประทับใจให้เรามากที่ได้มานมัสการพระพุทธรูปปางนี้ ทำให้ผมนึกถึงการบำเพ็ญเพียรผ่านความทุกข์ยากลำบากทั้งปวง เพื่อพบทางสว่างพ้นทุกข์ เวลางานมีปัญหาก็จะนึกถึงพระพุทธรูปปางนี้เสมอ

เมื่อถ่ายรูปมาแล้วก็หาข้อมูลมาเพิ่มให้เป็นความรู้ จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นพระพุทธรูปในลักษณะอิริยาบทนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ (กระดูก) และพระนหารุ (เส้นเอ็น) ปรากฏ ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมเห็นหนังติดกระดูก

การบำเพ็ญทุกรกิริยา (กิริยาที่ทำได้โดยยาก ได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เป็นวิธีของโยคี) หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) เมื่อพระองค์ทรงศึกษาจนสำเร็จสมาบัติ 7 จากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และสมาบัติ 8 จากสำนักอุทกดาบส รามบุตร และอุทกดาบสได้ตั้งพระบรมโพธิสัตว์ไว้ในตำแหน่งอาจารย์เสมอด้วยตนเอง แต่พระบรมโพธิสัตว์เห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาออกจากสำนัก ทรงแสวงหาหนทาง ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็นอุปัฏฐาก พระบรมโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยา เช่น ลดอาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย ร่างกายซูบผอม พระโลมา (ขน) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจน ไปทั่วพระวรกาย การกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี จนมีพระวรกายผ่ายผอมแต่ก็ยังคงไม่ได้พบหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเป็นการปฏิบัติฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค ในที่สุดพระองค์จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา

ไหว้พระปิดทองวัดโพธิ์บางคล้า

ไหว้พระปิดทองวัดโพธิ์บางคล้า นอกจากพระพุทธรูปแล้วภายในศาลาก็ยังมีรูปพระอริยสงฆ์ให้นมัสการกันอีกหลายองค์

เลี้ยงอาหารเต่าวัดโพธิ์บางคล้า

เลี้ยงอาหารเต่าวัดโพธิ์บางคล้า ข้างๆ กับศาลา เดินออกมาให้อาหารเต่าเป็นการทำทานต่อจากทำบุญ ภายในสระเล็กๆ แห่งนี้มีเต่าอยู่เป็นจำนวนมาก รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นน่าพักผ่อน และแน่นอนว่าทุกต้นจะมีค้างคาวแม่ไก่เจ้าถิ่นของที่นี่เกาะห้อยหัวให้เราดู

ดอกสาละ

ดอกสาละ ข้อมูลของพืชชนิดนี้ได้นำลงเว็บในหลายๆ ทริปแล้วนะครับ ส่วนมากต้นสาละจะพบเห็นได้ในวัด เป็นต้นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องทางพุทธศาสนาตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน โดยที่พุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา เมื่อใกล้กำหนดจะให้พระสูติการก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไป ยังกรุงเทวทหนคร อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ (ที่การคลอดบุตรฝ่ายหญิง จะต้องกลับไปคลอดที่บ้าน พ่อ-แม่ ของฝ่ายหญิง) ในระหว่างทางพระนางได้ทรงหยุดพักบริเวณป่าแห่งหนึ่ง ใต้ร่มต้นสาละ เขตตำบลลุมพินีสถาน คงจะเป็นด้วยทรงถูกกระทบกระเทือนจากการเดินทางไกล หรือจะ เป็นด้วยอำนาจบุญญาธิการของพระราชโอรส (คือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา) พระนางทรงเจ็บพระครรภ์ ผู้ตามเสด็จก็คงจัดเตรียมกั้นเป็นฉากห้อง เพื่อใช้เป็นสถานที่พระสูติการภายใต้ร่มของต้นสาละนั้น สำหรับในช่วงสุดท้ายที่ต้นสาละเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัตินั้น ก็โดยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จ ไปถึงยังเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ได้ประทับในบริเวณสาลวโณทยาน ภายใต้ร่มต้นสาละคู่หนึ่ง ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมาก จึงรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดที่บรรทมเอนพระวรกาย ลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ แล้วเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพานภายใต้ต้นสาละนั่นเอง.......

วิหารหลวงพ่อโต

วิหารหลวงพ่อโต ที่วัดโพธิ์บางคล้าก็มีพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อโต อยู่เหมือนกันครับ ประดิษฐานอยู่ในวิหารทรงจตุรมุขหลังไม่ใหญ่มากนัก เป็นวิหารเก่าแก่ของวัดสร้างไว้ติดกำแพงด้านหน้าของวัด ตอนที่เราเดินเข้ามาในวัดก็เห็นวิหารหลังนี้ก่อนแล้ว แต่ตามความนิยมก็จะพากันเข้าไปไหว้พระที่ศาลาก่อนแล้วค่อยมาที่วิหารหลังนี้

หลวงพ่อโตวัดโพธิ์บางคล้า

หลวงพ่อโตวัดโพธิ์บางคล้า วิหารวัดโพธิ์สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2310-2315 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังคาเป็นทรงจตุรมุขมุงด้วยกระเบื้องดินเผาเกล็ดเต่า ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันไม่มีลวดลาย มีประตูทางเข้า 2 ด้านคือ ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก เหนือประตูประดับด้วยเครื่องถ้วยจีนเรียงเป็นรูปกลม มีหน้าต่าง 1 ช่องทางทิศตะวันออก ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ แต่เดิมเคยมีระเบียงคดล้อมรอบและภายในระเบียงคดนั้นเดิมมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 9 องค์ ประดิษฐานอยู่โดยรอบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์วิหาร โดยซ่อมเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องเกล็ดเต่าสีเขียว ประดับด้วยช่อฟ้ารูปหัวพญานาคและมีใบระกา หน้าจั่วทางทิศตะวันตกปั้นเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยลายเครือเถา หน้าจั่วด้านทิศเหนือปั้นเป็นรูปดอกบัว 5 ดอก ประดับแจกัน ต่อมาหลังคาพังลงมาทำให้พญานาคและใบระกาชำรุดเสียหายในปีพ.ศ. 2541 ชาวอำเภอบางคล้าร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เป็นเงิน 350,000 บาท บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารในส่วนของโครงสร้างหลังคาโดยคงรูปแบบเดิมไว้ และได้ตั้งเสาขึ้น 8 ต้น เสริมความแข็งแรงของหลังคาทั้งสี่ด้าน พื้นรอบวิหารปูด้วยศิลาแลง ผนังภายในก่ออิฐฉาบปูน และเปลี่ยนเพดานใหม่ พร้อมติดตั้งโคมไฟ ปูพื้นด้วยหินอ่อน

เจ้าแม่ตะเคียนทอง

เจ้าแม่ตะเคียนทอง เดินไปวิหารหน้าวัดแล้วคราวนี้เดินมาทางด้านหลังวัดกันบ้าง ทางหลังวัดในปัจจุบันเดิมทีเป็นหน้าวัด เพราะในสมัยก่อนเดินทางด้วยทางเรือ พอต่อมาใช้ถนนกันมากขึ้นท่าน้ำก็เลยมีสภาพเป็นหลังวัดกลายๆ ใกล้ๆ กับท่าน้ำจะมีเจ้าแม่ตะเคียนทองอยู่ ชาวบ้านศรัทธากันมากดูจากเครื่องเซ่นไหว้กับผ้าหลายสีที่มีคนนำมาผูกเปลี่ยนใหม่เสมอ

ท่าน้ำวัดโพธิ์บางคล้า

ท่าน้ำวัดโพธิ์บางคล้า เป็นภาพที่ถ่ายจากเรือตอนที่ไปล่องเรือรอบเกาะลัดจากตลาดน้ำบางคล้า ตอนที่เรือเข้าใกล้ท่าน้ำเราก็จะมองเห็นฝูงค้างคาวแม่ไก่บนต้นไม้ได้แต่ไกลๆ เหมือนกับตอนที่เราเห็นค้างคาวตั้งแต่ขับรถมายังไม่ถึงวัด ที่ท่าน้ำนี้ก็ยังมีวิหารพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (พระแม่กวนอิม)

ค้างคาวแม่ไก่ วัดโพธิ์บางคล้า

ค้างคาวแม่ไก่ วัดโพธิ์บางคล้า ปิดท้ายการพาเที่ยววัดโพธิ์บางคล้าด้วยภาพค้างคาวแม่ไก่ไฮไลท์ของที่นี่กันอีกซักหน่อย ค้างคาวพวกนี้ปกติจะนอนกลางวัน แต่บางตัวคงนอนไม่หลับพอเราเดินไปใกล้ๆ มันก็หันมามองกล้องเราตาแป๋วแบบนี้

ค้างคาวแม่ไก่ วัดโพธิ์บางคล้า

ค้างคาวแม่ไก่ วัดโพธิ์บางคล้า หลับสนิทด้วยการห้อยหัวขาข้างเดียว เป็นท่าสุดเท่ห์ของค้างคาว

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา
ริเวอร์ บรีซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
T Vintage Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
T Time Hotel
  8.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุขฤทัย อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดวา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอส พี เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟ้า แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
Dream house เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
yourhouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
cthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา
สวนมะพร้าวน้ำหอมลุงแดง
  2.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระพิฆเณศวรปางนอนเสวยสุขวัดสมานรัตนาราม
  4.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชุมชนสวนมะพร้าวบ้านบางค้างคาว
  5.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนมะพร้าวคาวบอย Coco Cowboy Farm
  5.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนทดน้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา
  5.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะนก ฉะเชิงเทรา
  5.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดมะม่วงคุณภาพส่งออกแปดริ้ว
  5.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
โบสถ์สแตนเลสวัดหัวสวน ฉะเชิงเทรา
  7.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานพระพิฆเณศ (พระพิฆเณศยืน) บางคล้า
  7.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ฉะเชิงเทรา
  8.74 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com