www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ร้อยเอ็ด >> วัดเจดีย์ชัยมงคล

วัดเจดีย์ชัยมงคล

 สถานที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ซึ่งก่อนหน้าการจัดตั้งวัดเจดีย์ชัยมงคลนั้น พระมหาเจดีย์ถูกสร้างขึ้นมาในบริเวณที่ใกล้กันกับ วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม หรือ ผาน้ำย้อย เป็นพุทธอุทยานอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จึงกลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์ชัยมงคลมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งได้จัดตั้งเป็นวัดเจดีย์ชัยมงคลขึ้น จนถึงวันนี้หลายคนก็ยังคงเรียกพระมหาเจดีย์ชัยมงคลว่า วัดผาน้ำทิพย์ จนติดปาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์องค์ใหญ่และมีความงดงามตระการตามากที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาและความภาคภูมิใจของชาวร้อยเอ็ดและชาวอีสานทั้งมวล พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะ และยังถือเป็นศาสนสถานสำคัญที่สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาที่แรงกล้าของประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ร่วมกันประกาศความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

    พระมหาเจดีย์ชัยมงคล นั้นได้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2528 มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ เนื่องด้วยในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นวันรวมกฐินสามัคคีของวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ได้ปรารภกับที่ประชุมสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ว่าท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาเป็นกรณีพิเศษ แต่ยังไม่มีที่ประดิษฐานอันเหมาะสม น่าจะหาสถานที่ก่อสร้างพระมหาเจดีย์ไว้สำหรับเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอยให้จัดสร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นที่เทือกเขาเขียว บริเวณใกล้กับวัดถ้ำผาน้ำทิพย์ (วัดผาน้ำย้อย) ครั้นต่อมาเมื่อมีการประชุมพระสังฆาธิการภาค 8-9-10-11 (ฝ่ายธรรมยุต) ที่วัดถ้ำผาน้ำทิพย์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) เป็นประธานที่ประชุมได้มีมติให้หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นผู้นำในการก่อสร้าง และได้ให้ใช้ชื่อว่าพระมหาเจดีย์ชัยมงคล โดยทุนเริ่มแรกที่ใช้ในการเริ่มก่อสร้างได้มาจากการจัดให้มีการทอดผ้าป่าทั่วภาคอีสาน 19 จังหวัด โดยการจัดในครั้งแรกนี้ได้จัดผ้าป่า เป็นจำนวน 84,000 กอง กองละ 1,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 84 ล้านบาท เป็นทุนเริ่มต้นและได้จัดให้มีการทอดผ้าป่า เป็นประเพณีตลอดมาอีกทุกๆ ปี พระมหาเจดีย์ชัยมงคลได้ออกแบบก่อสร้างโดยกรมศิลปากร เป็นศิลปะผสมผสานของศิลปะแบบอีสาน และศิลปะแบบไทยภาคกลาง เริ่มก่อสร้างวางศิลาฤกษ์และลงเสาเอกเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2531 เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างในส่วนต่างๆ แล้วเสร็จใน วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ได้จัดให้มีการทำพิธียกยอดฉัตรที่สร้างด้วยทองคำ น้ำหนักรวม 60 กิโลกรัม ต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่หลวงปู่ได้รับมาเป็นกรณีพิเศษ และองค์ที่หลวงปู่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกา รวทั้ง องค์ที่สมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกาได้อัญเชิญเสด็จมาส่งให้ด้วยพระองค์เอง อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ชัยมงคลบนชั้นที่ 6 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้สักการะนมัสการเป็นสิริมงคลของตนตลอดไป

    เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า วัดเจดีย์ชัยมงคล เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2548 ได้มีการแต่ตั้งให้พระครูปลัดทองอินทร์ (หลวงพ่ออินทร์ กตปุญโญ) เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ชัยมงคล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 123 ตอนที่ 44 วันที่ 27 เมษายน 2549

    วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง เพื่อเป็นศูนย์กลางของการฝึกอบรมการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน โดยการปฏิบัติจริงตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นที่ตั้งของรูปเหมือนแกะสลักด้วยหินของพระเถรานุเถระของภาคอีสาน จำนวน 101 องค์ พร้อมทั้งประวัติของท่าน และภาพพุทธประวัติ ภาพทศชาติชาดก

    สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในบริเวณวัดเจดีย์ชัยมงคล

1. กำแพงแห่งศรัทธา ซึ่งหลวงพ่ออินทร์เป็นผู้นำคณะศิษยานุศิษย์ทำการก่อสร้างถวายบูชาคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร เริ่มก่อสร้างวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 แล้วเสร็จน้อมถวายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตัวกำแพงสูง 5 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 3,500 เมตร ชั้นบนเดินชมวิวได้โดยรอบ ชั้นล่างเป็นที่ปฏิบัติธรรม มีห้องน้ำ 1,000 ห้อง

2. เจดีย์บรมพุทโธ (บูโรบูโด) จำลอง ซึ่งชาวพุทธจากประเทศอินโดนีเซีย จัดสร้างและส่งทีมงานช่างมาติดตั้งถวายเป็นพุทธบูชา

3. ตำหนักรับรองสมเด็จพระสังฆราช

4. กุฏิรับรองหลวงปู่ศรี มหาวีโร

5. โรงทานขนาดใหญ่ 3 หลัง

    ภายในบริเวณพระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร โดยใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสานอันเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแห่งพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม พระเจดีย์เป็นสีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ อันมาจากชื่อของจังหวัดร้อยเอ็ด ยอดทองคำใช้ทองคำหนักถึง 60 กิโลกรัม

    ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โออ่า ใช้เป็นห้องเอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ

ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ

ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถ และประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูป เหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์

ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ชมทัศนียภาพรอบภูเขาเขียว

ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ศรี มหาวีโร (กำลังอยู่ในระหว่างรวบรวม)

ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ความเชื่อและวิธีการบูชา พระมหาเจดีย์ชัยมงคลจะยังเป็นสถานที่ในการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ มีพิพิธภัณฑ์วิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ศรี และเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ในอดีตทั้ง 101 องค์ รวมทั้งพระสารีริกธาตุ ซึ่งอยู่ชั้นบนสุด ให้ประชาชนทุกสารทิศได้มาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลในคราวเดียวกัน

    เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.00 น.

    การเดินทาง ไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานขอนแก่น โทร. 0 4322 7714-5
http://www.tourismthailand.org/khonkaen

แก้ไขล่าสุด 2017-08-20 22:24:36 ผู้ชม 85319

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ระเบียงคต

ระเบียงคต เดินลอดซุ้มประตูเข้ามา ตอนนี้เรามายืนอยู่กลางระเบียงคต จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการสร้างระเบียงคตก็คือการประดิษฐานพระพุทธรูป โดยมากจะนิยมพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่บางทีก็จะเห็นระเบียงคตของบางวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด สำหรับที่วัดเจดีย์ชัยมงคล จะประดิษฐานพระสาวกนั่งสมาธิรอบด้าน (บางแห่งก็จะเป็นพระอรหันต์ ส่วนจำนวนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของความยาวของระเบียงคต)

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ระหว่างที่เราอยู่ตรงซุ้มประตูของระเบียงคด ภาพหนึ่งที่เราเคยเห็นอยู่ตามเว็บก็คือองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ที่มีกรอบภาพเป็นโค้งซุ้มประตู เมื่อเราได้มาที่นี่อีกครั้ง เราก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพมุมสวยๆ นี้ไว้ แล้วก็เอามาให้ชมกัน ความสวยงามขององค์พระธาตุยามท้องฟ้าแจ่มใสแบบนี้ถือว่าเป็นโชคดีของการเดินทางถ่ายรูปเป็นอย่างมาก ที่เหลือก็คือการนั่งรอ รอให้คนที่เดินไปเดินหน้าอยู่ตรงทางเดินระหว่างระเบียงคดกับองค์พระมหาเจดีย์ได้เดินถึงที่หมายและทางเดินก็จะได้ว่างลง การรอคอยอยู่ตรงนี้ใช้เวลาพอสมควรทีเดียว เพราะประชาชนที่ศรัทธาองค์พระมหาเจดีย์และต้องการจะมาชมความงดงามของเจดีย์องค์นี้มีมากเหลือเกิน ตั้งแต่ที่ยังก่อสร้างด้านนอกไม่เสร็จดีในปี 2548 ระเบียงคดยังมีโครงไม้ระเกะระกะ ก็ยังมีคนมากันเยอะแล้ว จวบจนวันนี้ 8 ปี ผ่านไป ก็ยังคงมีคนเดินทางมาเที่ยวชมและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุมากมายไม่ลดลงเลย ปริมาณร้านค้าตรงลานจอดรถก็มีแต่เพิ่มขึ้นจนแน่นไปหมด สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพในระดับมือใหม่ ถ้าสงสัยว่าภาพนี้ถ่ายกันยังไง ก็ต้องบอกว่าควรจะเริ่มต้นด้วยการมีเลนส์มุมกว้าง ได้แก่ 10 mm - 12 mm ประมาณนี้ ไม่งั้นแล้วคงลำบากเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะถ้ามีแต่เลนส์ที่เรียกันว่า Kit ละก็

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล หลังจากที่ถ่ายรูปพระเจดีย์พร้อมกรอบซุ้มประตูแล้ว ได้เวลาที่จะเดินเข้าไปภายในองค์พระเจดีย์ตามขั้นตอนปกติ แต่ก่อนหน้านั้น ก็น่าจะมีภาพองค์พระเจดีย์แบบไม่มีกรอบซุ้มประตูเอาไว้บ้างสักภาพ ไม่ใช่ว่าเราเดินจากด้านในซุ้มตอนถ่ายภาพแรกแล้วจะมายืนถ่ายรูปนี้ได้เลยหรอกนะครับ ช่วงเวลาที่เดินมาไม่กี่ก้าว ก็จะมีคนเดินเข้า-ออกพระเจดีย์ เป็นสิบคนทีเดียว ทีนี้ก็ต้องมาเริ่มต้นรอกันใหม่ เพื่อให้คนว่างอีกครั้ง

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ภาพอีกมุมหนึ่งที่จะมีพญานาคด้านซ้ายมาด้วยก็นานๆ มาที ก็ต้องถ่ายรูปเยอะๆ เข้าไว้ครับ

ภายในพระมหาเจดีย์

ภายในพระมหาเจดีย์ ตอนนี้เราก็มาอยู่ที่ชั้นที่ 3 ไม่ต้องสงสัยนะครับว่า ชั้นที่ 1 กับ 2 ทำไมไม่มีรูป แล้วมาเริ่มที่ชั้น 3 เลย ก็เป็นเพราะว่าชั้นแรกนั้นยังคงกำลังตกแต่งเพิ่มเติม แม้ว่าจะใกล้เสร็จมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย ชั้นแรกนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เดียวอยู่ตรงกลางโถงกว้าง คำว่าโถงกว้างในที่นี้ก็ดูจากภาพนี้ก็ได้ครับ การสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคลแต่ละชั้น จะสร้างแบบเดียวกันทั้งหมด มีเสาอยู่เฉพาะส่วนกลาง แล้วบริเวณรอบๆ ไม่มีเสา เลยเป็นสภาพห้องโถงที่กว้างขวางมาก แต่ละชั้นมีความสูงมากกว่าความสูงของอาคารทั่วไป หลายคนที่เคยมาที่นี่ก็รู้สึกเหมือนกับว่าเจดีย์ชัยมงคลสูงถึง 9 ชั้น ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกครับ แต่ละชั้นต้องเดินบันไดขึ้นเหมือนบันไดหนึไฟ เดินวนไปวนมา กว่าจะถึงแต่ละชั้น เหมือนมีความสูงเป็นเท่าตัวของความสูงอาคารทั่วไป สำหรับชั้นที่ 2 นั้น ยังคงต้องทำการก่อสร้างและตกแต่งอีกมากเลยครับ ความคืบหน้าของการสร้างพระมหาเจดีย์ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมานั้น ทำได้น้อยมาก น่าจะเป็นเพราะงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมากในการตกแต่งให้สวยงามอย่างที่เราเห็นอยู่นี้
ที่เราเห็นอยู่ตรงกลางของโถงในพระเจดีย์เป็นลิฟท์ครับ รอบๆ ประตูลิฟท์ จะตกแต่งด้วยงานภาพสีที่สวยงามมากและมีความหมายเกี่ยวข้องกันกับพระพุทธศาสนา ตัวลิฟท์ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ครับ ยังไงๆ ก็ต้องเดินขึ้นบันไดอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่คนพิการที่ขาทั้งสองข้าง ก็ยังมาเดินขึ้นบันไดไปจนถึงยอดพระมหาเจดีย์ชั้นที่ 6 น่าเลื่อมใสในศรัทธาอันแรงกล้าของเขาจริงๆ

พระประธานอุโบสถ

พระประธานอุโบสถ ความสำคัญอย่างหนึ่งของพระมหาเจดีย์ชัยมงคลที่ชั้น 3 ก็คือ ใช้ประโยชน์เหมือนกับอุโบสถ ของวัดอื่นๆ จึงประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธาน นอกจากนั้นก็ยังมีพระพุทธรูปปางอื่นๆ อีกหลายองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ในส่วนหนึ่งของโถงใหญ่ พื้นที่ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ว่าง เหมาะสำหรับกิจกรรมทางศาสนพิธี ลวดลายการตกแต่งภายในไม่ว่าจะเป็นบริเวณเสา ผนัง คาน ขื่อ ล้วนแต่สวยงามลงตัว รวมไปถึงกระจกรอบด้านที่เป็นภาพเขียนสีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คล้ายกับงานสเตนกลาสของโบสถ์คริสต์ ซึ่งผมจะมีภาพให้ชมกันอีก

รูปเหมือนสลักหินอ่อนพระสุปฏิปันโน

รูปเหมือนสลักหินอ่อนพระสุปฏิปันโน ตอนนี้เราจะขึ้นไปบนชั้นที่ 4 ครับ ระหว่างเดินขึ้นบันไดมองลงมาเห็นพระสงฆ์มาชมความสวยงามของพระมหาเจดีย์ชัยมงคลและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ตรงกับช่องแสงที่ส่องลงมาจากเพดานพอดี เรียกได้ว่าเป็นจังหวะโชคดีของคนที่ชอบถ่ายรูปเลยละครับ ก็เลยได้รูปนี้มา อยากให้สังเกตุที่ผนังของเจดีย์ เราจะเห็นรูปเหมือนของพระสงฆ์จำนวนมาก เรียงรายอยู่เป็นช่องๆ ละ 1 องค์ ในแต่ละช่วงเสาจะมีรูปเหมือน 5 องค์ เรียงกันอย่างสวยงามมาก และยิ่งได้รู้ว่าเป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อนก็ยิ่งทึ่งและประทับใจที่ได้มาเห็นครับ สรุปสั้นๆ ว่า พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 3 เป็นชั้นที่มีความงดงามที่สุด ใครๆ มาที่นี่ก็จะต้องถ่ายรูปกลับไปจำนวนไม่น้อย

ภาพสีบนกระจก

ภาพสีบนกระจก การออกแบบพระมหาเจดีย์ชัยมงคล นอกจากคำนึงถึงความสวยงามภายในและภายนอก ยังมีเรื่องของการประหยัดพลังงานโดยใช้กระจกให้มีแสงสว่างเพียงพอภายในพระมหาเจดีย์ ไม่เพียงแต่ในแง่ของความสว่าง แต่กระจกเหล่านี้ยังมีภาพเขียนพระพุทธรูปปางต่างๆ ด้วยสีสันที่สดใสและสวยงามมากๆ ทุกช่องเลยครับ นี่เอามาให้ชมเป็นตัวอย่าง 1 ช่อง

ชั้น 5 บันไดสวรรค์

ชั้น 5 บันไดสวรรค์ จากชั้นที่ 3 เดินขึ้นบันไดมา ความสูงก็เหมือนกับเดินจากชั้น 1 ขึ้นชั้น 2 คือรู้สึกเหมือนกับเดินขึ้นบันไดหนีไฟ 2 ชั้น ใครที่เข้าห้างบ่อยๆ แล้วไปจอดรถในอาคารก็จะคุ้นเคยกับบันไดแบบนี้เป็นอย่างดี ที่ชั้นที่ 4 ไม่มีโถงตรงกลาง มีเพียงทางเดินรอบนอกและมีประตูออกมาที่ส่วนฐานเจดีย์ชั้นบนได้ เรียกว่าเป็นจุดที่เดินรอบองค์พระมหาเจดีย์ได้ครบรอบ และชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามภายนอกพระเจดีย์ แต่ตอนนี้เรายังไม่ออกไปชมวิว เราตรงขึ้นไปที่ชั้น 5 เพื่อที่จะขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ชั้น 6

พื้นที่บริเวณชั้น 5 เป็นโถงเล็กๆ เล็กกว่าชั้นอื่นๆ เป็นเพราะรูปทรงของพระเจดีย์ ที่ชั้น 5 ก็เป็นส่วนยอดที่เริ่มจะเล็กและเรียวแหลมเข้า พอเราอยู่ข้างในก็เลยดูเป็นห้องเล็กและสูง ชั้นที่ 5 นี้เป็นชั้นที่กำลังดำเนินการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ศรี มหาวีโร ที่เป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ปัจจุบันยังคงเป็นเพียงห้องว่างๆ เพราะกำลังรวบรวมภาพและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ศรี มาจัดแสดงที่นี่

หลายคนที่เดินขึ้นบันไดมาที่นี่ ก็จะมาหยุดอยู่ที่ชั้น 5 เพื่อเป็นการพัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มาด้วยศรัทธาแรงกล้า แต่ด้วยสภาพของสังขาร ทำให้เมื่อยล้าและเหนื่อยจนต้องนั่งพักกับพื้นอยู่หลายคน เหตุหนึ่งก็คงมาจากเห็นบันไดวนขึ้นชั้น 6 ที่สูงมากอยู่ตรงหน้า บันไดวนนั้นค่อนข้างชัน แคบ และสูงอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้นั่งพักเสียที่นี่ก็คงจะมีกำลังในการเดินช่วงสุดท้ายสู่ชั้น 6 หลายคนก็เรียกบันไดวนนี้ว่า บันไดสวรรค์

พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ ในที่สุดเราก็เดินขึ้นมาถึงชั้นที่ 6 ชั้นสุดท้ายอันเป็นยอดของพระมหาเจดีย์ ชั้นที่ 6 นี้มีขนาดเล็กมาก ซึ่งจุคนได้น้อย คนส่วนหนึ่งที่ขึ้นมาถึงชั้นนี้ หลังจากที่ได้นมัสการองค์พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ที่อยู่ตรงกลางแล้ว ยังคงต้องนั่งพักอยู่รอบๆ ไม่อยากเดินลง คนที่จะขึ้นมาก็เลยยังขึ้นไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าหายใจลำบาก ผนังด้านในของพระเจดีย์ชั้น 6 จะตกแต่งด้วยลวดลายท้องฟ้า รู้สึกเหมือนอยู่บนวิมานสวรรค์ชั้นฟ้า แบบนั้นเลยทีเดียว

ลายกระจกโปร่งแสง

ลายกระจกโปร่งแสง หลังจากที่นมัสการพระบรมสารีริกธาตุชั้น 6 เรียบร้อยแล้ว เราก็จะเดินลงมาที่ชั้น 4 ทีแรกเราข้ามชั้น 4 ไป ตรงที่ยังไม่ได้ออกไปชมทิวทัศน์ด้านนอกพระเจดีย์ ตอนนี้ก็ได้เวลาที่เราจะออกไปแล้วครับ พอดีสังเกตุได้ว่าบนเพดานชั้น 4 มีแสงสว่างส่องลงมามาก เลยเงยหน้าขึ้นไปดูเห็นกระจกกับลวดลายภาพสีที่สวยงามมาก เป็นเพดานของชั้น 4 ทั้งหมด กระจกแตะละบานก็จะมีลวดลายแตกต่างกันด้วย ลองเดินดูรอบๆ แล้วจะเห็นความแตกต่าง

ชมวิวรอบพระมหาเจดีย์ชัยมงคล

ชมวิวรอบพระมหาเจดีย์ชัยมงคล พอออกประตูของชั้น 4 มาด้านนอก จะมีลักษณะเป็นเหมือนระเบียงรอบๆ มองลงไปจะเห็นบริเวณที่อยู่รอบองค์พระมหาเจดีย์ พื้นปูด้วยกระเบื้องสีขาว สร้างความแปลกใจให้เราได้เป็นอย่างมาก เพราะอยู่กลางแดดจ้าตลอดวัน แต่พอก้าวเดินออกไปแล้วไม่รู้สึกว่าพื้นร้อนเลย ต่างคนต่างก็เดินชมวิวแบบเท้าเปล่าได้อย่างสบายใจ เราจะเห็นเจดีย์รายที่ตั้งอยู่รอบองค์พระมหาเจดีย์ทั้งแปดทิศ ไกลออกไปเราก็จะเห็นพื้นราบเบื้องล่างเป็นชุมชนชาวบ้านและท้องทุ่งนา ด้านหนึ่งก็จะเห็นตำหนักรับรองสมเด็จพระสังฆราช

จบการนำเที่ยววัดเจดีย์ชัยมงคลไว้เพียงเท่านี้ครับ เป็นไงครับเห็นภาพหลากหลายมุมเหมือนได้มาเอง ตามสไตล์ของทัวร์ออนไทยเลย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางมาทำบุญไหว้พระ ชมความงามของปูชนียสถานที่สำคัญ เราขอแนะนำให้คลิกอ่านการเดินทางไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ของเราอีกสักเรื่อง จะได้เห็นพระธาตุอีก 8 องค์ด้วยกันครับ

รีวิว วัดเจดีย์ชัยมงคล ร้อยเอ็ด


 ""

Skg Anndy
2017-12-18 06:56:39


 ""

Skg Anndy
2017-12-18 06:56:34


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดเจดีย์ชัยมงคล ร้อยเอ็ด
รีสอร์ท บ้านฟ้าใสดาวสวย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไทยเฮาส์-อีสาน เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  31.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมนารายณ์เลอบัว
  52.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพิริยะ กุฉินารายณ์
  55.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
Green View Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  63.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม 8 เผ่าวิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  67.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนฮักเฮือนแพง กาฬสินธุ์
  70.88 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปร๋อหลอ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  71.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุณเพียรรีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  74.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชมกวาง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  75.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดเจดีย์ชัยมงคล ร้อยเอ็ด
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ร้อยเอ็ด
  0.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
ผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) ร้อยเอ็ด
  1.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ ร้อยเอ็ด
  1.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี ร้อยเอ็ด
  11.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดภูจ้อก้อ (วัดบรรพตคีรี) มุกดาหาร
  11.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำโสดา
  13.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มุกดาหาร
  19.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกตาดโตน มุกดาหาร
  29.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ท่องเที่ยวชุมชนบ้านบุ่งเลิศ
  29.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดภูด่านแต้ (วัดพุทธโธธัมมะธะโร) มุกดาหาร
  34.00 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com