www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ราชบุรี >> วัดมหาธาตุวรวิหาร

วัดมหาธาตุวรวิหาร

 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหน้าพระธาตุ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไล่เลี่ยกับการสร้างเมืองราชบุรีเก่า ต่อมาได้มีการสร้างปราสาทศิลปะเขมรหรือลพบุรีซ้อนทับ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง ตามความเชื่อเรื่องคติจักรวาลของเขมร ต่อมาปราสาทที่สร้างขึ้นอาจจะหักพังลง จึงมีการสร้างปรางค์ใหม่ต้นสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20–21 ดังปรากฎรูปแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันซ้อนทับ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ วิหารหลวง ประดิษฐานพระมงคลบุรี พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 8 ศอก 1 คืบ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น พระพักตร์สุโขทัย พระองค์ยาว พระชาณุสั้น (ตัวยาวเข่าสั้น) หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ด้านหลังสร้างพระหันหลังให้กันอีกองค์หนึ่ง หันหน้าสู่ทิศตะวันตก หมายความถึง อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง เรียกพระรักษาเมือง ตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา ด้านหน้าวิหารมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง

ปรางค์ องค์พระปรางค์มีความสูง 24 เมตร ปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนทางทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกมา มีบันไดขึ้น ฐาน เรือนธาตุและส่วนยอดประดับด้วยลายปูนปั้น ภายในองค์ปรางค์ประธานมีคูหาเชื่อมถึงกัน ผนังส่วนบนเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วเป็นแถวเรียงต่อกัน ตอนล่างเป็นพุทธประวัติ สันนิษฐานว่าเขียนพร้อมกับการสร้างองค์ปรางค์และซ่อมแซมพร้อมกับองค์ปรางค์ในเวลาต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 22 บริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ วิหารคตรอบลานพระปรางค์ มีพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี สมัยลพบุรีและสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบ ด้านหน้าพระปรางค์มีอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น สร้างในสมัยอยุธยา มีความยาว 127 คืบ 9 นิ้ว และที่วัดนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโอ่ง ไห แบบต่างๆ

การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 200 เมตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3232 1597, 0 3232 6669

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานราชบุรี
โทร.032 919 176-8
เฟสบุค https://www.facebook.com/tatratchaburioffice/

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 30899

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
โคปุระวัดมหาธาตุ

โคปุระวัดมหาธาตุ จากถนนเพชรเกษม เลี้ยวเข้าเมืองราชบุรี ตรงทางแยกโรงพยาบาลเมืองราช เข้ามาอีกหน่อยจะมี 5 แยก ให้ชิดซ้ายแล้วก็เลี้ยวซ้าย เป็นเส้นทางที่มาวัดมหาธาตุวรวิหารได้ง่ายที่สุด มาจอดรถตรงลานกว้างของวัด ตอนที่เลี้ยวเข้ามาจะเห็นแล้วว่ากำแพงรอบวัดเป็นศิลาแลงสีแดงๆ พื้นที่ของวัดแบ่งออกเป็น 2 ด้านโดยมีถนนคั่นกลาง จอดรถแล้วก็มุ่งหน้าเข้าวัดซึ่งจะต้องผ่านซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ศัพท์ทางโบราณคดีจะเรียกซุ้มประตูที่สร้างในลักษณะของปราสาทหินศิลปะแบบบายนอย่างที่เห็นนี้ว่า โคปุระ

เรามาศึกษาข้อมูลของโคปุระ (ซุ้มประตู) นี้สักนิดพอเป็นความรู้ครับ โคปุระนี้เป็นอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนฐานของซุ้มประตูมีผังเป็นรูปกากบาท ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก ด้านข้างมีปีกซุ้มประตูทั้งสองข้าง ฐานประตูมีลักษณะเดียวกับฐานกำแพงแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาถูกรื้อถอดชิ้นส่วนออกไปทำให้หลักฐานที่พบไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถยืนยันรูปแบบอาคารตั้งแต่ส่วนผนังอาคารได้ บริเวณด้านหน้าซุ้มประตูถัดออกไปทางทิศตะวันออกพบแนวศิลาแลงก่อเป็นพื้นยื่นออกมาจากซุ้มประตูเดิม และพบชิ้นส่วนสาประดับกรอบประตูสลักจากหินทราย พร้อมด้วยฐานบัวหินทราย เดิมคงมีราวบันได เนื่องจากพบประติมากรรมหินทรายรูปครุฑยุดนาคด้วย

ส่วนกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาทประธาน มีผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่สมัยอยุธยาตอนต้นกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกถูกรื้อถอนออกเพื่อขยายพื้นที่ศาสนสถาน กำแพงแก้วช่วงนี้ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนฐานประกอบด้วยชุดฐานเขียงหน้ากระดาน รองรับชั้นบัวคว่ำ ท้องไม้ ชั้นบัวหงาย และชั้นหน้ากระดานอีกชั้นหนึ่ง ส่วนตัวกำแพงประกอบด้วยบัวคว่ำแล้วก่อเสริมขึ้นไปตรงๆ และส่วนบนเป็นชั้นบัวหงายรับกับแนวกำแพงชั้นบนสุดที่เป็นรูปบัวคว่ำ มีรอยบากตรงกลางเพื่อประดับด้วยทับหลังกำแพงที่จำหลักจาหินทรายสีชมพู เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วเรียงต่อเนื่องเป็นแถวตลอดความยาวของกำแพง ซึ่งทับหลังกำแพงลักษณะนี้ในประเทศกัมพูชาพบในศาสนสถานที่สร้างในสมัยพระเจ้าขัยวรมันที่ 7 หลายแห่ง เช่น ปราสาทบันทายกเด็ย ปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ส่วนในประเทศไทยพบที่โบราณสถานเนินโคกพระ อำเภอปักธงชัย และปราสาทหินเมืองเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

วิหารราย

วิหารราย อาคารต่างๆ ในกำแพงแก้ว เมื่อก้าวเข้ามาในโคปุระ เราจะมองเห็นพื้นที่โล่งกว้างของโบราณสถาน หลายจุดยังคงพอเห็นฐานหินศิลาแลงเรียงกันเป็นเส้น ซึ่งเดิมทีมีอาคารหรือปราสาท หรืออาจจะเป็นเจดีย์ตั้งอยู่ แต่ปัจจุบันจะเห็นเพียงส่วนฐาน แล้วก็มีศาลาต่างๆ ได้แก่ ศาลาปุณณชาโต จียังสุวัต ศาลาวชิโร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เก็บชิ้นส่วนโบราณสถานที่พบในบริเวณวัดมหาธาตุ แต่ได้ชำรุดลงมา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ ส่วนภาพสุดท้ายเป็นบ่อผสมปูน เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้อิฐเพียงชั้นเดียวก่อเรียงในแนวตั้ง ส่วนก้นสอบ ด้านบนผายกว้าง ผิวอิฐด้านในมีคราบปูนเกาะติดอยู่ สันนิษฐานว่าบ่อผสมปูนเหล่านี้ใช้ในสมัยอยุธยา ซึ่งมีการบูรณะซ่อมแซมวิหารหลวงถึง 3 ครั้ง

วิหารหลวง

วิหารหลวง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งประจำวัดมหาธาตุ ก็คือวิหารหลังนี้ แล้วก็มีพระมหาธาตุเจดีย์ ที่อยู่ด้านหลังมีระเบียงคดล้อมรอบพระมหาธาตุ (ปรางค์) ทั้งสี่ด้าน ก่อนที่จะเข้าไปยังพระมหาธาตุ ผมจะกล่าวถึงหลักฐานที่นักโบราณคดีพบที่บริเวณวิหารหลวงกันก่อน อย่างที่เราได้เห็นว่าลักษณะการสร้างโคปุระกับกำแพงแก้วเป็นศิลปะแบบบายน ใช้ศิลาแลงในการสร้าง ซึ่งหมายความว่าจะมีปราสาทศิลาแลงตั้งอยู่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานให้มองเห็น ปราสาทศิลาแลงเดิมอยู่ที่หน้าวิหารหลังนี้ ต่อมาในสมัยอยุธยาครั้งบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุวรวิหาร ได้มีการสร้างพระมหาธาตุหรือปรางค์ที่มองเห็นอยู่ด้านหลังวิหารหลวง แล้วก็มีการสร้างวิหาร 2 ห้อง มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในวิหารทั้งสองห้อง โดยผินพระปฤษฎางค์ชิดผนัง แต่ละห้อง (หลังชนกันแต่มีผนังกั้น) เรียกว่าวิหารนอกและวิหารใน แต่เป็นหลังเดียวกัน ต่อมาในการบูรณะได้มีการเปลี่ยนแปลงวิหารหลวงของเดิมไปบางส่วน ซึ่่งเป็นที่มาของพระพุทธรูปหันพระปฤษฎาง (หลัง) ชนกันอย่างทุกวันนี้ ในการบูรณะได้รื้อส่วนผนังออก แล้วชลอพระพุทธรูปในวิหารหลังด้านในมาชิดกับพระพุทธรูปในวิหารหลังนอก ทำให้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ติดกัน รายละเอียดของพระพุทธรูปจะกล่าวต่อทีหลังครับ ตอนนี้ของเข้าไปในระเบียงคด นมัสการพระมหาธาตุกันก่อน

พระมหาธาตุ

พระมหาธาตุ คำว่าพระมหาธาตุ หรือพระมหาธาตุเจดีย์ หรือวัดมหาธาตุนั้น สงสัยหรือเปล่าครับว่าทำไมจึงมีอยู่มากมายหลายจังหวัด อย่างเช่น วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี วัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ที่กล่าวมานี้ล้วนมีกำเนิดขึ้นด้วยพระราชดำริ และอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเครื่องอุดหนุน เพราะตามธรรมเนียม พระมหากษัตริย์ไทยจะสร้างวัดมหาธาตุขึ้นในจังหวัดต่างๆ ด้วยทรงเจริญพระราชศรัทธา เป็นอัครศาสนูปถัมภก

ดังนั้นวัดมหาธาตุในหลักเมืองต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมงานบุญ งานกุศล ตลอดจนพระราชพิธีต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และข้าแผ่นดิน วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรีก็เช่นเดียวกัน เป็นวัดประจำเมืองราชบุรี ย้อนหลังไปก่อนที่จะได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ และสร้างพระมหาธาตุ รวมทั้งวิหารหลวงขึ้น บริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทศิลปะบายน นับถึงปัจจุบันก็อยู่ราวๆ 700 ปี ที่นี่เดิมเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาแบบมหายาน ในอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท และมีความนิยมในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เป็นศาสนสถานหลักประจำเมือง จึงมีการขยายพื้นที่ของศาสนสถานเดิมไปทางด้านหลัง แล้วสถาปนาพระมหาการสถาปนาธาตุขึ้นเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21

พระมหาธาตุ เมืองราชบุรีเป็นศาสนสถานประจำเมืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้บางคราวอาจถูกทิ้งร้างไปบ้าง แต่ด้วยความศรัทธาในพระมหาธาตุ และพระพุทธศาสนา ชาวเมืองราชบุรีจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนมาเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง ได้กำหนดให้มีการจัดงานประจำปีขึ้น เรียกว่างานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ 3 วัน 3 คืน ในช่วงวันมาฆบูชา

วัดมหาธาตุวรวิหาร

ลักษณะของพระมหาธาตุ มีพระธาตุเจดีย์ทรงปรางค์เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารขนาดเล็กลงมาอยู่ 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าของปรางค์ประธานมีมุขยื่นออกมา มีบันไดสร้างไว้ให้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุที่ฐานด้านบนได้ ปัจจุบันทางวัดจะไม่เปิดให้ขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุด้านบน ยกเว้นเฉพาะในวันพิเศษ เช่นงานประจำปี เนื่องจากในองค์พระมหาธาตุมีพระพุทธรูปเก่าแก่ ประมาณค่ามิได้ ประดิษฐานอยู่ นอกเหนือจากปรางค์บริวารรอบปรางค์ประธานแล้ว ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่ที่มุมของปรางค์ทั้งสี่มุม

วัดมหาธาตุวรวิหาร

วัดมหาธาตุวรวิหาร

พระอาทิมงคล

พระอาทิมงคล เมื่อเดินเวียนรอบองค์พระมหาธาตุ ผมเห็นว่ามีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนฐานสูงที่มุมทั้งสี่ของปรางค์ประธาน มี 3 องค์เป็นลักษณะประทับนั่ง คงมีเพียงองค์เดียวที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน นี่ก็คือพระอาทิมงคล สร้างด้วยหินชนวนประทับยืน ปางประทานพร ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจมากคือ

พระอาทิมงคลนี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในคูหาปรางค์ประธาน ต่อมาเศียรถูกโจรกรรมไป ทางราชการไปจับได้ที่ท่าเรือคลองเตย ในขณะที่จะส่งออกนอกประเทศ และเศียรนั้น ทางราชการได้ยึดเข้าพิพิธภัณฑ์ ต่อมาจึงได้ย้ายองค์พระที่ไม่มีเศียร ไปไว้หลังพระรำพึงในระเบียงคด ต่อมาได้ถูกย้ายไปไว้ที่มุมระเบียงคตทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งด้านในและด้านนอกตามลำดับ จากนั้นได้บูรณะให้เป็นองค์ที่สมบูรณ์ แล้วมาประดิษฐานอยู่ที่ฐานเจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ประธานเหมือนในปัจจุบัน แต่ยังมีข้อสันนิษฐานอีกว่า เคยมีการสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระอาทิมงคลบริเวณที่เป็นวิหารหลวงในปัจจุบัน หลังจากการบูรณะองค์พระก็ยากที่จะสังเกตุเห็นว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้เคยถูกตัดส่วนเศียรมาก่อน

พระพุทธรูปที่ระเบียงคต

พระพุทธรูปที่ระเบียงคต เดินรอบองค์พระมหาธาตุกันไปเรียบร้อย เราก็จะได้เห็นพระพุทธรูป 4 องค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานสูงที่มุมของปรางค์ประธาน ทีนี้ลองมองดูรอบๆ ทั้ง 4 ด้านของปรางค์ เราจะเห็นว่ามีระเบียงคดล้อมรอบทุกด้าน และแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปเอาไว้มากมาย แต่ละองค์ก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไป แต่จะมีใครบ้างที่จะรู้ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เนื่องจากในอดีต เมืองราชบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เรียกว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของไทย มีประวัติความเป็นมาของการตั้งชุมชนการเข้าอยู่อาศัยตั้งรกรากมานานหลายร้อยปี นับแต่สมัยทวารวดี บริเวณใกล้เคียงกับวัดมหาธาตุจึงมีวัดอยู่มากมายหลายแห่ง ต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองข้ามฟากแม่น้ำในสมัยรัชกาลที่ ๒ มาตั้งเมืองอยู่บริเวณค่ายภาณุรังษี จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงตัดทางรถไฟผ่านใจกลางเมือง จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง การเดินทางมาทำบุญต่างๆ ของชาวบ้านก็เริ่มลดน้อยลงไป วัดมากมายหลายแห่งหรือแม้แต่วัดมหาธาตุเองก็เคยถูกปล่อยเป็นวัดร้าง แต่ด้วยศรัทธาที่ยังมีต่อวัดประจำเมือง ชาวบ้านจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุขึ้นใหม่ จากนั้นก็ได้ทำการอัญเชิญพระพุทธรูปที่เคยเป็นพระประธานในอุโบสถวัดเก่าแก่และวัดร้างรอบๆ วัดมหาธาตุ มาประดิษฐานอยู่รอบๆ ระเบียงคตของปรางค์ ใครไปก็จะได้เห็นพระพุทธรูปซึ่งมีพุทธลักษณะแตกต่างกัน บางองค์เป็นศิลปะสมัยทวารวดี บางองค์เป็นศิลปะสมัยอยุธยา

พระนอนวัดมหาธาตุ

พระนอนวัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปสร้างในสมัยอยุธยา ความยาวตั้งแต่พระเกตุถึงพระบาท 127 คืบ 9 นิ้ว มีการบูรณะในสมัยเจ้าอธิการแพ ปุณณชาโต เจ้าอาวาสรูปที่ 3 และมีการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ.2526 พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ในระเบียงคดด้านหน้าปรางค์มหาธาตุ

ศิลปะปูนปั้นโบราณ

ศิลปะปูนปั้นโบราณ ปรางค์ประธานหรือที่เราจะเรียกว่าพระธาตุองค์ใหญ่ในวัดมหาธาตุ รวมทั้งปรางค์บริวารที่อยู่รอบๆ ปรางค์ประธาน จะมีลวดลายการตกแต่งด้วยงานปูนปั้นมากมายหลายชิ้นทั่วทั้งองค์พระปรางค์ เวลาผ่านพ้นมาเป็นร้อยปี ลวดลายเหล่านี้ได้ชำรุดหลุดลงมาเสียหาย จึงมีการบูรณะด้วยปูนแบบเรียบ ส่วนที่ยังคงเหลือลวดลายสมบูรณ์อยู่นั้นก็เหลือน้อยเต็มที แต่ก็ยังคงบ่งบอกถึงความปราณีตสวยงามของฝีมือช่างที่สร้างสรรค์ลวดลายเหล่านี้ติดอยู่บนพระมหาธาตุ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของชาวไทย

ผู้ดูแลวัด

ผู้ดูแลวัด หลังจากที่ได้ไหว้องค์พระธาตุ ไหว้พระบนระเบียงคต เดินถ่ายรูปรอบๆ องค์พระมหาธาตุ ไม่นานฝนก็เทลงมาอย่างหนัก ในวัดมหาธาตุมีแม่ชีอยู่ประจำคอยดูแลความสะดวกต่างๆ สำหรับประชาชนที่เข้าไปนมัสการพระธาตุ และเพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เผยแผ่การฝีกวิปัสสนา ก็มีประชาชนที่ศรัทธามาศึกษาฝึกปฏิบัติธรรมที่นี่อยู่เนืองๆ ในระหว่างที่ฝนตกผมก็ได้สนทนากับท่านอยู่หลายเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของวัด และสิ่งสำคัญอย่างปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดมหาธาตุ ได้ความรู้มาเยอะทีเดียว

พระมงคลบุรี-พระศรีนัคร์

พระมงคลบุรี-พระศรีนัคร์ พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนต้น พระประธานในวิหารหลวงซึ่งอยู่ด้านนอกระเบียงคดของพระธาตุ ผมได้เล่าถึงเรื่องความเป็นมาที่พระพุทธรูป 2 องค์ประดิษฐานพระปฤษฎางค์ชนกันแบบนี้ไปบ้างแล้ว จวบจนปัจจุบันนี้พระพุทธรูปหลังชนกันนี้ก็ยังคงเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวราชบุรี คือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ใครๆ ไปราชบุรีก็จะแวะเวียนเข้ามานมัสการสักการะพระทั้ง 2 องค์ หลายคนก็เชื่อว่าเป็นการขอพรพระป้องกันภัยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง องค์พระพุทธรูปเป็น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 8 ศอก 1 คืบ พระพักตร์ศิลปะสุโขทัย พระองค์ยาว พระชาณุสั้น (ตัวยาวเข่าสั้น) องค์ที่ผินไปทางตะวันออกพระนามว่าพระมงคลบุรี ส่วนอีกองค์หนึ่งที่ผินไปทางตะวันตกพระนามว่าพระศรีนัคร์ บางครั้งก็มีการเรียกพระพุทธลักษณะแบบนี้ว่าศิลปะอู่ทองตอนปลาย บ้างก็เรียกว่าเป็นพระอู่ทองหน้าหนุ่ม

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ ด้านองค์พระมหาธาตุ ปราสาทเขมรโบราณ เราก็ได้ชมรอบพื้นที่ทั้งหมดแล้ว คราวนี้ลองเดินมาศึกษาอีกด้านหนึ่งของวัดซึ่งมีสถานที่สำคัญหลายแห่งตั้งอยู่ที่นี่ ก็เพียงเดินข้ามถนนด้านข้างของวิหารหลวง ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งของวัดมหาธาตุแล้ว เริ่มต้นจากอุโบสถของวัดซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่หลายชนิดตั้งแต่ทางเข้าประตูวัดมาเลยทีเดียว ประวัติของอุโบสถหลังนี้ก็คือ เป็นอุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมาหลังคาได้พังลง เนื่องจากวัดมหาธาตุได้เคยร้างไปช่วงหนึ่งตอนย้ายเมือง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงพ่อบุญมาปฐมเจ้าอาวาสยุคหลังสุดได้ทำการบูรณะขึ้นมาใหม่ อุโบสถหลังนี้จึงมีฐานเป็นโค้งรูปสำเภา แบบอยุธยา ส่วนหลังคาเป็นลักษณะของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

มณฑปโบราณ

มณฑปโบราณ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุโบสถวัด อยู่ด้านหน้าอุโบสถ โดยเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดจะเรียกว่าวัดหน้าพระธาตุ เพราะสมัยก่อนเดินทางโดยทางเรือ ผู้ที่จะมาวัดมหาธาตุจะต้องขึ้นเรือที่ท่าวัดแห่งนี้ เป็นวัดคู่กับวัดลั่นทม (ปัจจุบันคือสำนักประชุมนารี) มณฑปแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทหินทรายสีชมพู ศิลปะอยุธยา นอกจากนี้แล้วในบริเวณวัดหน้าพระธาตุยังมีต้นโพธิ์เงินต้นโพธิ์ทอง (สังเกตุเวลาแตกใบอ่อนต้นโพธิ์ทองจะมีใบอ่อนสีแดง ส่วนโพธิ์เงินจะมีใบอ่อนสีขาว) โดยโพธิ์ที่สำคัญๆ จะนิยมปลูกในบริเวณปูชนียสถาน หรือท้ายโบสถ์ เพราะถือว่าต้นโพธิ์เป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง เมื่อทำวัตรสวดมนต์ในโบสถ์ก็คือว่าได้สักการะต้นโพธิ์ด้วย

ถัดจากต้นโพธิ์ทองใกล้ๆ มณฑปจะมีเจดีย์แถว เดิมมีทั้งหมด 8 องค์ ถูกรื้อถอนไป 3 องค์ และดัดแปลง 1 องค์ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญของเมืองราชบุรี นอกจากนี้ในบริเวณวัดที่เรียกว่าวัดหน้าพระธาตุ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกได้แก่ อู่เรือ มีลักษณะเป็นสระน้ำ เอาเรือเข้ามาจอด บางทีก็นำเรือขึ้นจากน้ำเพื่อการซ่อมแซม มีศาลาท่าน้ำ เรียกว่าศาลามุ้ง ใต้ศาลาฝังแร่บางอย่างเอาไว้ทำให้ไม่มียุง มีเจดีย์ริมน้ำ ซึ่งในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะอู่เรือพอเลิกใช้ก็กลายเป็นศาลาพักผ่อน หลังจากนั้นก็มีการรื้อถอนไป

ปิดท้ายวัดมหาธาตุ

ปิดท้ายวัดมหาธาตุ หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้กล่าวถึงบางอย่างก็ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ผมเองก็ไม่ได้เห็น ก็ถ่ายรูปเอาเฉพาะส่วนที่เหลืออยู่ หลายอย่างก็เป็นปูชนียวัตถุมากด้วยมูลค่าทางประวัติศาสตร์ ทางวัดก็ไม่ได้เปิดให้เข้าชมแล้ว จากนี้ต่อไปผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรที่ผมถ่ายรูปมาจะยังอยู่ครบหรือเปล่า หวังว่าจะเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลังได้เอามาอ่านศึกษาหาความรู้ ถ้ามีโอกาสก็ควรจะพาเด็กๆ ไปให้เห็นสถานที่เหล่านี้ อย่างน้อยก็ยังคงสืบสานเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจเหล่านี้ถ่ายทอดไปอีกรุ่น

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี
บ้านวนิลา ริเวอร์ ราชบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชรินทรัพย์ อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.97 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเวสเทิร์น แกรนด์ ราชบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
นัมซิน โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
วีรสุดา คอนโดเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
มายรูม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพรวอาภา เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนกาแล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านไม้แก้ว ราชบุรี
  3.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเอส สวิส ราชบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.51 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com