www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> วัดพระธาตุศรีดอนคำ

วัดพระธาตุศรีดอนคำ

 วัดพระธาตุศรีดอนคำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดห้วยอ้อ อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1078 คราวพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย พระธาตุแห่งนี้ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป และมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า ที่ทำจากไม้เรียกว่า พระเจ้าพร้าโต้ตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งเก็บไว้ในหอไตรของวัด

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 11478

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ป้ายวัดศรีดอนคำ

ป้ายวัดศรีดอนคำ ใกล้จะบ่ายแล้วสำหรับการเดินทางตั้งแต่ตัวเมืองแพร่ ผ่านอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง แวะพักรับลมเย็นๆ เดินชมสวนหินมหาราช ใช้เวลาประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นก็ออกเดินทางตามเส้นทาง แพร่ - ลอง ระยะทางอีก 25 กิโลเมตรโดยประมาณ ธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรตามเส้นทางสายนี้ ดูสบายตาสบานใจในระหว่างการขับขี่ เส้นทางผ่านเขาต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 2 ข้างทาง ก่อนที่จะถึงตัวเมืองลองนิดหน่อยก็จะเริ่มมีรถติด รถจอดอยู่บนไหล่ทาง มีป้ายกำหนดวันคู่ วันคี่ ให้จอดได้ด้านเดียว ขวามือของเราเป็นวัดศรีดอนคำ ถัดไปอีกหน่อยเป็นตลาด นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีรถติดเยอะ กว่าจะหาที่จอดได้ก็ต้องเลยไปอีกไกลแล้วเดินย้อนกลับมา

วัดพระธาตุศรีดอนคำ

พอเดินเข้ามาในวัด สิ่งแรกก็คือมุ่งตรงไปยังด้านหลังของโบสถ์ เป็นที่ตั้งของพระธาตุองค์นี้ ที่ไม่เพียงจะเป็นพระธาตุสำคัญประจำอำเภอลองเท่านั้น พระธาตุศรีดอนคำก็นับเป็นพระธาตุสำคัญอันดับต้นๆ ของจังหวัดแพร่ด้วยเช่นกัน ประวัติขององค์พระธาตุมีการสร้างศิลาจารึกเอาไว้ ทางวัดก็ได้คัดลอกเอามาให้เราได้ศึกษา ภาษาบนศิลาจารึกเป็นภาษาท้องถิ่นโบราณเพื่อไม่ให้มีความผิดเพี้ยนไปก็เลยคัดลอกเอามาตามที่จารึก ใจความว่าดังนี้

ประวัติพระธาตุเจ้าห้วยอ้อและวัด
สิริสุภมังคลอุรุงคะพจนวันทนากถา พระธาตุเจ้าองค์นี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยพระนางจามเทวีเสด็จมาจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ราวพุทธศักราช 1078 เมื่อจุลศักราชได้ 988 ตัว ปีกาบไจ้ (พุทธศักราช 2169) พระสังฆราชเจ้าวัดยอดชัยเมืองแพร่ เป็นมูลศรัทธาสร้างและได้เมตตายังเจ้าเมืองนคร (ลำปาง) ขออาวาสเขตแดนมหาธาตุเจ้ากำใต้ร้อยวา เหนือร้อยวา เบื้องตะวันตกรอดดร่องอ้อเบื้องตะวันออกกวมหนองเปือยก้ำวันออกหื้ออนุญาตเป็นที่วัด สร้างบ่ทันแล้วพระยาน่านพื้นพ่ายตกเมืองใต้เสีย แต่นั้นมาศักราชได้ 1015 ตัวเปิกยี่ (พุทธศักราช 2169) พระสังฆราชาวัดท่อนน้อยเมืองแพร่กับพระเจ้าหลวงวัดดอนไฟ แม่ทะนครลำปางเป็นมูลศรัทธาสร้าง ภายในมีพระมหาสังฆราชาทั้งสองคือเมืองแพร่และนครเป็นมูลศรัทธาสร้าง ภายนอกมีพระยาแพร่ และพระยานคร เป็นผู้อุปถัมภ์สืบมาตามหลักเขตแดนทะเบียนการเช่าอยู่ของกรมการศาสนา เมื่อปีพุทธศักราช 2522

ประวัติพระนางจามเทวีผู้นำพระบรมสาริริกธาตุเจ้ามาบรรจุ
ราวปีพุทธศักราช 1078 พระนางจามเทวี พระราชธิดา กษัตริย์ผู้ครองเมืองละโว้ เป็นมเหษีพระยารามรามัญผู้ครองเมืองอโยฌิยา (เมืองรามบุรี) ขณะนั้นทรงตั้งครรภ์ฝาแฝดยังอ่อนอยู่ ได้เสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) เวลาที่มานั้นพระราชบิดาได้มอบผอบทองคำปจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้มาจากโทณพราหมณ์ มาด้วยเรือพร้อมด้วยคณะสังฆะนักปราชญ์ไพร่พลอันมาก ชรอยผิดกระแสร์น้ำปิงมาตามน้ำยม พระนางก็หันน้ำจ้อมจึงคนึงใจว่า เราลองขึ้นไปก่อนเทอะ ว่าอั้น แต่นั้นมาจึงเรียกว่าเมืองลอง จนบัดนี้และแล้วได้ประชุมยังสังฆะนักปราชญ์พิจารณาหันว่า ที่นี้ปูนสนุกถูกเนื้อเปิงใจก็ใคร่ปจุพระธาตุ ว่าอั้นแล้ว พอถึงวันดีจึงพร้อมกันปจุพระธาตุไว้และปลูกต้นมะแงต้นหนึ่ง แล้วจึงดาริพลล่องน้ำยมกลับขึ้นน้ำปิงไปรอด เมืองหริภุญชัย อยู่มาจึงได้ประสูติลูกชายสองคนชื่อว่ามหันตยศ - อนันตยศ พระนางไปสร้างเมืองเชียงใหม่ และสร้างหอพัก ตำนานล้านนาเอาขึ้นไว้ยังหอพระแก้วหั้นเสี้ยง ตำนานมีสันนี้

ระฆังลูกระเบิด

ระฆังลูกระเบิด หลังจากที่ไหว้พระธาตุห้วยอ้อแล้ว กะว่าจะเดินเวียนเทียนสัก 3 รอบ เดินมาเจอเอาระฆังรูปร่างแปลกประหลาด เลยมองหาที่มาที่ไปเผื่อว่าจะมีป้ายอะไรเขียนบอกเราไว้บ้าง ก็ไปเจอเอากับป้ายประวัดของระเบิด เอ้ย! ระฆัง ใบนี้เข้า เคยได้ยินคำว่า เมืองแพร่แห่ระเบิดกันหรือเปล่าครับ ระฆังใบนี้มีความเป็นมา ลองมาดูกันว่ามันเป็นมายังไง

นายทอง มโนมูลซึ่งเป็นคนงานรถไฟ สถานีแก่งหลวง ได้ไปพบซากระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งนำระเบิดมาทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟ ข้ามห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่น เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ประมาณปี พ.ศ. 2485 - 2488) จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน และขอความช่วยเหลือจากคนงานสถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียงให้มาช้วยกันขุดและทำการถอดชนวน แล้วใช้เลื่อยตัดเหล็ก ตัดส่วนหางของลูกระเบิดเอาดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในออก และช่วยกันหามขึ้นล้อ(เกวียน) นำไปพักไว้ที่บ้านแม่ลู้ ตำบลบ้านปืน ต่อมาได้ลากมาจากบ้านแม่ลู้ โดยล้อ (เกวียน) ชาวบ้านทราบข่าวจึงแตกตื่นออกมาดูกันทั้งหมู่บ้าน เดินตามกันเป็นขบวนยาวติดตามมาตลอดทาง จนถึงวัดแม่ลานเหนือ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรอบๆ วัด พอทราบข่าวก็ออกมาต้อนรับ พร้อมวงฆ้อง กลอง ขบวนแห่จึงเคลื่อนขบวนเข้าวัดทำพิธีถวายให้เป็นสมบัติของวัด เพื่อใช้เป็นระฆังของวัดจนถึงทุกวันนี้ ระเบิดลูกที่ 2 นำไปถวายวัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ อ.ลอง จ.แพร่ ส่วนระเบิดลูกที่ 3 นายบุญมา อินบันตีใช้ช้างลากขึ้นมาจากห้วยแม่ต้า แล้วนำมาบรรทุกล้อ (เกวียน) ลากไปถวายที่วัดนาตุ้ม ตำบลย่อเหล็กลอง

นี่ละหนอเมืองแพร่แห่ระเบิด

หอไตรกึ่งโบราณ

หอไตรกึ่งโบราณ คำว่ากึ่งโบราณคงไม่ค่อยได้ยินที่ไหนมาก่อน เป็นคำที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะที่สุดที่จะเรียกหอไตรหลังนี้ เป็นเพราะว่าหอไตรหลังนี้นั้นสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2332 (อาศัยข้อมูลตามที่พระท่านเล่ามาอีกที เรื่องของตัวเลขปีพ.ศ. ที่ฟังๆ มาอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะพระท่านอธิบายถึงประวัติของวัตถุโบราณในวัดหลายอย่างด้วยกัน สร้างกันประมาณระหว่างปี พ.ศ. 2332 - 2338 ประมาณนี้ แต่ละอย่างก็เลยสับสนไปหมด อาจจะมีจำสลับกันบ้างก็ต้องขออภัย เพราะหลวงพี่ท่านต้องไปศึกษานอกวัดท่านเลยไม่มีเวลาอธิบายมาก ทั้งหมดที่ผมถ่ายรูปมานั้นท่านเล่าประวัติย่อๆ รวมแล้วแค่ 10 นาทีเองครับ ถ้ามีโอกาสผมจะไปจดเอารายละเอียดแบบแม่นๆ มาให้ใหม่) เมื่อสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ 200 ปีก่อน เราก็เรียกได้ว่าเป็นหอไตรโบราณ แต่ภายหลังได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์กันใหม่ จนเกือบมองไม่ออกว่าเป็นของเก่า ก็เลยต้องเรียกกันว่าเป็นกึ่งโบราณ การบูรณะในครั้งนั้นได้นำเอาชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องประดับหลายอย่างมาใช้กับหอไตรที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง ได้แก่ คันทวยเป็นต้น

ศิลาจารึกประวัติวัดศรีดอนคำ

ศิลาจารึกประวัติวัดศรีดอนคำ ตรงหน้าหอไตรที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื้นส่วนเดิมๆ นั้น มีศิลาจารึกขนาดใหญ่ตั้งไว้ให้ศึกษา ของจริงดั้งเดิมนั้นได้ย้ายเข้าไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์

พระประธาน

พระประธาน พระพุทธรูปคู่วัดพระธาตุศรีดอนคำ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ ด้านข้างมีปูชนียวัตถุของเก่าแก่หลายชิ้น ได้แก่ธรรมาสน์ บุษบก ตู้พระคัมภีร์ แต่ละอย่างอายุเกิน 200 ปี มาแล้วทั้งนั้น

ธรรมาสน์เก่าแก่

ธรรมาสน์เก่าแก่

ภาพเงาธรรมาสน์

ภาพเงาธรรมาสน์ หลังจากที่เก็บภาพภายในโบสถ์สนทนากับหลวงพี่ที่วัดได้สักครู่หนึ่ง หลวงพี่ก็พาเดินมาดูเงาของธรรมาสน์ที่ฉายบนผนังโบสถ์ ปรากฏเป็นภาพเงาสี อย่างแปลกประหลาด อย่างที่เห็นนี้ละครับ จบการเก็บภาพบางส่วนจากในวัด มีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายในพิพิธภัณฑ์ของวัด แต่เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสดิดกิจนิมนต์ ส่วนหลวงพี่ที่ดูแลวัดก็กำลังจะออกไปศึกษาพระธรรม ก็เลยได้ชมกันเท่านี้ มีโอกาสไปอีกแน่นอนครับ แล้วคงจะได้มาอัพเดตเพิ่มเติมกันต่อไป

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระธาตุศรีดอนคำ แพร่
บ้านสามขาโฮมสเตย์
  23.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 4 ตร.ม. – เด่นชัย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  35.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนแก้ว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  48.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ban Noi Resort Phrae เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  50.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนอัมพร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  50.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนันตยา โฮม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
บีทู แพร่ บูทิก แอนด์ บัดเจ็ต โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Come Moon Loft Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเฮือนเชตวัน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  53.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
SA-DUE-MUENG Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  53.89 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com