www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> ธรรมาสน์สิงห์

ธรรมาสน์สิงห์

 ธรรมาสน์สิงห์ศิลปะญวนที่บ้านชีทวน ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (อุบลราชธานี-ยโสธร) ประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงบ้านท่าวารี (กม.268) มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านอีก 5 กิโลเมตร เป็นธรรมาสน์ที่แตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปกล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท (ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง ธรรมาสน์นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวญวน เป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 11150

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เจ้าแม่หงษ์ทอง

เจ้าแม่หงษ์ทอง การเดินทางมาหาธรรมาสน์สิงห์ผมเข้ามาที่บ้านชีทวน ตอนนั้นคิดแต่ว่าพอเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเจอป้ายบอกทางไปที่ธรรมาสน์สิงห์เลย แต่พอเอาเข้าจริงไม่มีป้ายบอก ตอนนี้ก็ต้องเข้าไปหาตามวัด ที่บ้านชีทวนมีวัดอยู่หลายแห่ง เริ่มเอาจากวัดนี้เลยครับ วัดธาตุสวนตาล แต่พอเข้ามาแล้วไม่ใช่ที่ที่ธรรมาสน์สิงห์ตั้งอยู่ นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะเมื่อเข้ามาวัดธาตุสวนตาลแล้วก็ไหว้พระชมสิ่งสำคัญๆ ภายในวัดกันก่อนก็ได้ไม่ซีเรียส เผื่อว่าใครมาเส้นทางนี้จะได้รู้จักวัดเพิ่มอีกวัด
สิ่งสำคัญในวัดสวนตาลซึ่งไม่มีรายชื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีตามที่ผมถืออยู่ ผมก็ไม่นึกว่าจะมีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ แต่ความเป็นจริงวัดนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด อย่างเช่นเจ้าแม่หงษ์ทอง ซึ่งก็หมายถึงเรือโบราณลำหนึ่งที่พบจมอยู่ในแม่น้ำ เมื่อนำเรือขึ้นมาได้ชาวบ้านจะนำเรือมาไว้ที่วัดครับ เพราะมีความเชื่อว่าเรือลำใหญ่ๆ จะสร้างจากต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจะมีเจ้าแม่ตะเคียนทองสถิตอยู่ หรือจะเป็นแม่ย่านางเรือก็ว่ากันไป เรือโบราณที่พบมักจะมีอายุเกือบ 100 ปี ในละแวกหมู่บ้านชีทวนและตำบลใกล้เคียงก็ทยอยพบเรือโบราณกันหลายลำ

เรือเจ้าแม่หงษ์ทองลำนี้ พบในปี พ.ศ. 2537 เดือนพฤษภาคม ในลำน้ำชี เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำชีแห้งขอดลงมาก ชาวบ้านจึงพบเรือลำนี้ที่หาดทรายวังไหลน้อย ซึ่งห่างจากบ้านชีทวนประมาณ 5 กิโลเมตร วันที่ 14 พฤษภาคม 2537 (ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ) พระภิกษุสามเณรโดยการน้ำของพระปลัดอู๊ด เตชธมโม เจ้าคณะตำบลชีทวน กับพระบุญมี อสสโว รองเจ้าคณะตำบล รองเจ้าอาวาสวัดธาตุสวนตาล พร้อมชาวบ้านได้พากันเดินทางไปขุดเอาเรือขึ้นแต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ เพราะเครื่องมือมีไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 พระภิกษุสามเณรพร้อมชาวบ้านได้พากันไปขุดเอาเรืออีกครั้งหนึ่ง เวลา 15.00 น. จึงขุดเรือขึ้นได้แต่ก็ไม่สามารถจะนำมาได้ จึงลากเอาเรือไปไว้ที่หาดทราย ต่อมาฝนได้ตกลงมาทำให้ระดับน้ำชีสูงขึ้นจนถึงที่เก็บเรือไว้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 พระภิกษุสามเณรโดยการนำของพระครูสุนทรสุตกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน พร้อมด้วยชาวบ้าน 200 คน นำโดยคุณแม่จินตนา จาตุรันตานนท์ ได้ทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงช่วยกันลากเรือลำนี้มาตามลำน้ำชี และนำขึ้นมาเก็บไว้ที่วัดธาตุสวนตาล เนื่องจากสภาพเรือที่ขุดได้ยังไม่สมบูรณ์ จึงได้ช่วยกันซ่อมแซมใช้เวลา 17 วัน จึงแล้วเสร็จแล้วนำมาเก็บไว้ที่โรงเรืออย่างในปัจจุบัน

เรือลำนี้มีชื่อว่าเจ้าแม่หงษ์ทองนั้น ตั้งตามนิมิตหมายของคุณแม่จินตนา จาตุรันตานนท์ มีความยาว 24 เมตร กว้าง 2.7 เมตร เป็นเรือขุดขนาดใหญ่โดยใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่เพียงท่อนเดียว ระหว่างการทำการกู้เรือได้มีพายุฝนฟ้าคะนองจนทุกคนที่ไปร่วมพิธีต้องวิ่งหนีหลบฝนกันวุ่นวาย ทั้งๆ ที่ไม่มีเค้าว่าฝนจะตกเลยแม้แต่น้อย หลังจากได้เรือมาแล้วฝนก็ตกตลอดไม่เว้นวัน จนถึงวันที่ซ่อมแซมเสร็จฝนจึงหยุดตก เป็นเหตุน่าอัศจรรย์

พระธาตุสวนตาล

พระธาตุสวนตาล เดิมเป็นองค์พระธาตุเก่าแก่คู่กับวัดธาตุสวนตาล มีทรงสี่เหลี่ยมขนาดฐานกว้าง 9x9 เมตร สูง 18 เมตร ก่อด้วยอิฐเผาและสลักปูนปั้นเป็นลวดลายซุ้มเรือนแก้วทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าสร้างระหว่างปี พ.ศ.2250-2300 จากการผุกร่อนเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา พระธาตุสวนตาลจึงได้พังทลายลงเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.30 น. ตรงกับวันอาสาฬหบูชา พระธาตุองค์ปัจจุบันมีรูปทรงเหมือนพระธาตุองค์เดิมทุกประการ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบส่วนที่เหลือของพระธาตุองค์เดิม มีขนาดฐานกว้าง 14x14 เมตร สูง 28.9 เมตร เริ่มปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ทำพิธียกฉัตรเมื่อวันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2541 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ตรงกับปีมหามงคลเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประทานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุให้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 เวลา 08.00น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นประธานประกอบพิธีอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดพระธาตุ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2543 เวลา 15.19 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ หลังจากสักการะพระธาตุสวนตาล ผมสอบถามทางไปหาธรรมาสน์สิงห์กับหลวงพ่อในวัด ท่านบอกว่าแค่ออกประตูโขงวัดธาตุสวนตาลทางด้านหลัง แล้วตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงวัดที่ธรรมาสน์สิงห์ตั้งอยู่ ชื่อวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตอนนี้ผมก็มาถึงหน้าซุ้มประตูโขงของวัดแล้วเดี๋ยวก็จะได้เห็นแล้วว่าธรรมาสน์สิงห์ จะงดงามสมกับที่พยายามตามหาหรือเปล่า

หอแจก

หอแจก คำว่าหอแจกเป็นภาษาท้องถิ่นอีสานสำหรับใช้เรียกศาลาการเปรียญ ในอดีตศาลาการเปรียญของวัดมีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน หน้าที่หลักยังคงเป็นสถานที่สำหรับเทศนา สั่งสอนธรรมะ หรือแจกธรรมะ (อาจจะมาจากคำว่าแจกแจง) บ้างก็เรียกศาลาโรงธรรม เป็นสถานที่เก่าแก่ที่สุดในวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตามประวัติกล่าว่า วัดแห่งนี้สร้างโดยญาครูตีนก้อม แต่ไม่ปรากฏปีที่สร้าง ต่อมาได้ชื่อว่า สีนวล ตามชื่อนางสีนวล ซึ่งถวายที่ดินให้ขยายวัด ภายหลังได้เพิ่มคำว่าแสงสว่างอารมณ์ ต่อท้าย และใช้ชื่อว่าวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ มาจนถึงปัจจุบัน ในวัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าก็คือหอแจก เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์รูปสิงห์ ปูนปั้นฝีมือช่วงชาวญวณ สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2468-2470 หอแจกหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นในยุคหลัง ภายในวัดดูเงียบสงบแทบจะไม่มีคนภายนอกเข้ามาในวัด แต่ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคนที่มาเที่ยวบ้านชีทวนได้อาศัยพักแรมในวัดแห่งนี้ ซึ่งทางวัดไม่ขัดข้องเพียงแต่ต้องแจ้งก่อนพักทุกครั้ง

ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก

ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก เป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาท(บุษบก) เป็นเครื่องไม้เป็นชั้นลดหลั่น เป็นงานศิลปกรรมที่เกิดจากงานผสมผสานความคิดของช่างฝีมือไทยชีทวนกับช่างญวณ ด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปสิงห์ชัดเจนยืนตามขวางกับหอแจกหันข้างไปทางด้านหน้าของหอแจก ทางเดินขึ้นบนบุษบกอยู่ด้านข้างอีกด้านหนึ่งของตัวสิงห์ เป็นไม้ที่แกะสลักลายพญานาค นับว่าเป็นธรรมาสน์ที่มีรูปแบบแปลกที่มีอยู่หลังเดียวในประเทศไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผมเดินทางจากตัวเมืองอุบลราชธานีตั้งความหวังว่าจะได้เห็นสิ่งที่พิเศษสุดให้สมกับความตั้งใจ พอได้มาเห็นธรรมาสน์หลังนี้แล้วรู้สึกประทับใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทยอย่างมาก สิ่งที่ทรงคุณค่ามากมายเหล่านี้ควรค่าอย่างยิ่งที่เราคนไทยจะได้ศึกษาและรักษาไว้ให้ลูกหลานได้เห็นเหมือนกับเรา ผมเดินวนเวียนถ่ายรูปธรรมาสน์สิงห์หลังนี้หลายรอบ ใช้เวลานานมาก เพราะภายในหอแจกค่อนข้างมืดมีแสงสว่างอยู่นอกหอแจกที่เข้ามารบกวนเลนส์ กว่าจะหลบหามุมดีๆ ได้ก็ลำบากมากครับ หอแจกหลังนี้เป็นแบบโล่งไม่มีผนังเลย

ธรรมาสน์สิงห์ด้านหน้า

ธรรมาสน์สิงห์ด้านหน้า นอกเหนือจากความงดงามของโบราณวัตถุที่เห็นอยู่เบื้องหน้า ในระหว่างที่ถ่ายรูปธรรมาสน์ ผมเห็นลวดลายบนเพดานหอแจก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับธรรมาสน์สิงห์ เป็นแผ่นสังกะสีบุเพดานหอแจก เขียนเป็นรูปราหู ลายดอกไม้ ใบไม้ รูปสัตว์ต่างๆ ลายดวงดาราขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเด็กมีปีกคล้ายกามเทพ เกี่ยวพันเป็นวงกลมข้างๆ ดวงดารา มีรูปพญานาคพ่นออกมาเป็นลายดอกไม้ป่า รูปเต่า ม้ามังกร อีกข้างมีรูปคนนั่งอยู่บนพญานาค 2 ตัว อยู่ในท่าอุ้มเด็กถือถาดผลไม้บนศรีษะ มีรูปพญานาคและรูปหงส์ด้วย

ฐานธรรมาสน์สิงห์

ฐานธรรมาสน์สิงห์ ฐานของธรรมาสน์ซึ่งเป็นขาของสิงห์ มีปูนปั้นรูปต่างๆ หลายอย่าง

ธรรมาสน์สิงห์ด้านหลัง

ธรรมาสน์สิงห์ด้านหลัง งานปูนปั้นส่วนหางที่อ่อนช้อยพลิ้วไหวผสมงานศิลปะแกะสลักแผ่นไม้ลวดลายสวยงามมาเป็นบานหน้าต่างที่เปิดปิดได้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เอาละครับผมนำเสนอภาพของธรรมาสน์สิงห์หลายๆ มุม ความสวยงามของศิลปะอายุร่วมร้อยปี กันมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้ไปดูสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ใน วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์กัน อาคารที่อยู่ใกล้ๆ กับหอแจกเป็นพิพิธภัณฑ์แบบง่ายๆ โดยมากมีเกวียนให้ชมกัน รองลงมาเป็นงานจักสานแบบโบราณ ผลงานเหล่านี้ไม่ใช่ของดั้งเดิมเก่าแก่ แต่เกิดจากการสานขึ้นตามแบบและองค์ความรู้ของคนที่คุ้นเคยกับสิ่งของเหล่านี้เพื่อเก็บไว้ให้ชมและศึกษาหาความรู้

สะพิง

สะพิง หลังจากที่เดินชมเครื่องมือเครื่องใช้ที่เก็บไว้ในวัด มาสะดุดเอากับสิ่งที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้ามันเหมือนกับตุ่มใบใหญ่ แต่ไม่ใช่ตุ่มที่เราเคยเห็นทั่วไป มันทำมาจากการสานไม้ไผ่ ซึ่งถ้าลงยาหรือชันยาดีๆ แล้วก็คงจะใส่น้ำได้จริงๆ

กิจกรรมยามว่างของพระสงฆ์

กิจกรรมยามว่างของพระสงฆ์ ของใช้หลายอย่างที่วางอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ผมบอกว่าเกิดจากการสานขึ้นมาใหม่ให้เหมือนของที่เคยใช้จริงในอดีต ตอนแรกไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของผลงาน พอมาได้เห็นหลวงพ่อนั่งจักตอกไม่ไผ่อยู่แบบนี้ก็คงจะหายสงสัยกันนะครับ
จบการชมสิ่งล้ำค่าอีกหนึ่งอย่างของประเทศไทย ความร่ำรวยศิลปวัตถุอันมีอยู่มากมายจนชมกันไม่หวาดไม่ไหว นี่แหละเสน่ห์ของเมืองไทย ไม่ว่าจะมีอีกมากมายแค่ไหนผมก็จะพยายามเอามาให้ชมผ่านภาพสวยๆ เหมือนเดิม ออกจากวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ไปต่อวัดทุ่งศรีวิไลกันครับ

รีวิว ธรรมาสน์สิงห์ อุบลราชธานี


 "ตอนนี้ธรรมาสน์สิงห์อยู่ในระหว่างบูรณะ คาดว่าจะเสร็จอีก 40 วันนับจากวันนี้"

Akkasid Tom Wisesklin
2021-11-13 12:06:56

ธรรมาสน์สิงห์ อุบลราชธานี


3/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ธรรมาสน์สิงห์ อุบลราชธานี
เสียมทอง รีสอร์ต โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
ละทายห้องพัก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
แฟรงจิปานี เบด แอนด์ เบรคฟาสต์
  25.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
Mini-golf & Resort Ubon Ratchathani เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชมตะวัน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชิค ลีฟวิง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุมาพร เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 28 ตร.ม. – แจระแม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮ็อป อินน์ อุบลราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
เซ็นทรัลพาร์ค วิลล์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.90 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com