Notice: Undefined index: strFacebookID in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/gallery/placeview_4.php on line 3

Notice: Undefined index: strFacebookID in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/gallery/placeview_4.php on line 3
กิ่วแม่ปาน เชียงใหม่ ทัวร์ออนไทยดอทคอม

www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> กิ่วแม่ปาน

กิ่วแม่ปาน

เส้นทางศึกษาธรมชาติกิ่วแม่ปาน อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 42 ของถนนจอมทอง-ดอยดินทนนท์ ที่ระดับความสูงประมาณ 2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดเป็นเส้นทางเดินเท้าที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจศึกษาธรรมชาติได้เข้ามาใช้ประโยชน์เรียนรู้และเพลิดเพลินกับธรรมชาติ

    เส้นทางนี้มีลักษณะเป็นวงรอบที่เดินลาดชันขึ้นไปทางทิศตะวันตกจนกระทั่งถึงบริเวณสันกิ่วแม่ปานและอ้อมวกลงมาทางใต้ตามสันกิ่วซึ่งเป็นทางลาดชันลงและในที่สุดจะวกกลับมาทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางลาดชันขึ้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปบรรจบกับทางที่เดินเข้ามาในครั้งแรก

    ธรรมชาติบริเวณกิ่วแม่ปานมีค่ายิ่งนัก ขอให้ใช้เส้นทางนี้อย่างทะนุถนอมและตระหนักในคุณค่า รักษาความรู้จากขุมปัญญาที่ไม่มีวันหมดของธรรมชาติแห่งนี้

ติดต่อสอบถาม:
ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai
จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน

จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน การเดินทางมาเที่ยวดอยอินทนนท์ นอกจากการขึ้นไปพิชิตยอดดอยสูงสุดในประเทศไทยแล้ว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง ได้แก่พระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ จุดชมวิว น้ำตกมากมายหลายแห่งที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ น้ำตกวชิรธาร อีกสิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไปก็คือเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน สถานที่อันเป็นห้องเรียนรู้ธรรมชาติของป่าไม้ในเมืองไทยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

 ป่าไม้ของไทยนั้นนับได้ว่ามีความหลากหลายของชนิดป่าสูงแม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก ทั้งนี้เป็นเพราะความแปรผันของสภาพภูมิประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่ชายทะเลไปจนถึงใจกลางทวีป มีวิวัฒนาการของหินและดินอันยาวนาน และสภาพภูมิอากาศทั้งแบบเขตร้อนแท้ และแบบกึ่งร้อน จึงก่อให้เกิดชนิดป่าที่หลากหลายทั้งป่าผลัดใบ และป่าไม่ผลัดใบ

ป่าผลัดใบ เป็นป่าที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ทิ้งใบหมดในฤดูแล้งและเริ่มแตกใบใหม่ในต้นฤดูฝน มักพบที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ปริมาณน้ำฝนประมาณ 800-1500 มิลลิเมตร ดินเป็นดินร่วนปนทราย ดินปนกรวด หรือดินลูกรัง ในประเทศไทยพบสองชนิดคือ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

ป่าไม่ผลัดใบ เป็นป่าที่พบในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนสูงและช่วงความแห้งแล้งสั้น ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังคงใบไว้ตลอดปีหรือไม่ปลดใบทิ้งหมดในรอบปี การกระจายความหลากหลายของสังคมป่าไม่ผลัดใบตามระดับความสูงจากน้ำทะเลมีตั้งแต่ปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง เป็นป่าชายเลนบริเวณตามชายหาดที่เป็นทราย เป็นป่าชายหาด ในที่ลุ่มน้ำจืดเป็นป่าพรุ บนที่ดอนระดับต่ำเป็นป่าดงดิบชื้น บริเวณที่สูงขึ้นและมีความแห้งแล้งเด่นชัดขึ้นเป็นป่าดิบแล้ง ส่วนระดับที่สูงจากน้ำทะเลไปจนถึง 1,800 เมตร และมีอากาศค่อนข้างเย็นจะพบป่าสนเขา และระดับความสูงจากน้ำทะเลที่เกิน 1,200 เมตร เป็นป่าดิบเขา

 อันนี้เป็นข้อมูลความรู้เบื้องต้นของการศึกษาธรรมชาติ เมื่อแนะนำให้รู้จักกิ่วแม่ปานกันแล้ว คราวนี้ก็เข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเดินเข้าไปดูของจริงกันดีกว่าครับ ค่าธรรมเนียมคนละ 200 บาทสำหรับชาวไทย ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยทุกกรณี เราติดต่อเจ้าหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งจะเป็นทุนสำหรับดูแลป่าและการดับไฟป่า เจ้าหน้าที่นำทางของเราชื่อ พี่ยะ เป็นเจ้าหน้าที่ที่ใจดีให้ความรู้เราอย่างมากมายในระหว่างการเดินทาง

บรรยากาศทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน

บรรยากาศทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน หลังจากที่พี่ยะแนะนำตัวแล้วได้บรรยายความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ฟังคร่าวๆ อย่างแรกที่นักท่องเที่ยวควรรู้คือการเดินป่าแห่งนี้มีอากาศเบาบางมากเพราะความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมตร ทำให้เรารู้สึกว่าเหนื่อยง่ายและหายเร็ว จากนั้นพี่ยะพาเราเดินขึ้นเนินแรกไปประมาณ 40 เมตร แล้วหยุด การหายใจของพวกเราเปลี่ยนไปทันที เราต้องหายใจเร็วขึ้นเหมือนการหอบเนื่องจากการออกกำลังกาย เพราะอากาศบนนี้เบาบางมากจริงๆ พี่ยะแนะนำให้หายใจเข้าทางจมูก หายใจออกทางปาก จะช่วยได้

 หลังจากนั้นเมื่อเดินต่อไปเราจะได้รู้จักกับป่าไม้ชนิดที่เรียกกันว่า ป่าเมฆ เป็นคำเรียกป่าที่เราเพิ่งจะได้ยินเป็นครั้งแรก

 ป่าเมฆ ธรรมชาติอันโดดเด่นที่สุดของดอยอินทนนท์ได้ปรากฏแก่สายตาตั้งแต่เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ อาณาจักรของป่าดิบเขาที่รายล้อมเป็นป่าดิบเขาระดับสูง ซึ่งมักพบได้ที่ความสูงมากกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดป่าดิบเขาประเภทนี้คือสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีความชื้นสูงตลอดปี พื้นที่จะมีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดเวลา ทำให้การสลายใบไม้ยาก ดินจึงเป็นกรดสูง สภาพเช่นนี้สร้างให้ดูโปร่ง ไม้พื้นล่าง และไม้สูงแยกจากกันเป็นสองส่วนชัดเจน พันธุ์ไม้ที่คุ้นเคยอากาศร้อนและชื้นไม่อาจอยู่ได้ บางคนจึงเรียกป่าชนิดนี้ว่าป่าเมฆ ตามต้นไม้ต่างๆ จึงมีพืชที่ชอบความชื้นจำพวกมอส เฟิร์น ฝอยลม และกล้อวยไม้ป่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ไม้วงศ์ก่อและทะโล้เป็นพรรณไม้เด่นของป่าแห่งนี้

 นอกเหนือจากนั้นแล้ว ป่าในบริเวณนี้ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ที่มีกิ่งก้านเปราะ เมื่อลมแรงๆ มาปะทะ เราจะต้องระวังกิ่งไม้จะหักลงมาได้

เฟิร์นยุคโบราณ

เฟิร์นยุคโบราณ เดินเข้าป่ามาได้พักใหญ่ พี่ยะชี้ให้ดูเฟิร์น และอธิบายว่าเฟิร์นเหล่านี้เป็นพืชดึกดำบรรพ์ มีมาแต่เมื่อไหร่ไม่มีใใครรู้ แต่นักสำรวจป่าอย่างพี่ยะที่เดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานมานาน บอกแค่ว่ามอสเฟิร์นเหล่านี้มีมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ไม่เคยมีใครเห็นเฟิร์นเหล่านี้ตายเลยสักครั้ง

 แสงรำไรกลางสายหมอก เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเฟิร์น ใบบางที่สุดในโลกมีมาแต่โบราณประมาณ 230 ล้านปี ด้วยใบหนาขนาดเพียงหนึ่งเซลล์ จึงไม่มีปากใบ มีเพียงช่องอากาศไว้แลกเปลี่ยนก๊าซและดูดซับน้ำหมอก ช่วงแล้งอากาศแห้งจะพักตัวชั่วคราว ใบเหี่ยวแต่ไม่ตาย พร้อมฟื้นคืนความเขียวอีกครั้งเมื่อได้ละอองหมอก

น้ำตกในเส้นทางกิ่วแม่ปาน

น้ำตกในเส้นทางกิ่วแม่ปาน สายน้ำสายใยแห่งชีวิต ป่าดิบเขาที่รายล้อมอยู่นี้มีความสำคัญในการซึมซับและปลดปล่อยน้ำสู่ลำห้วย ลำธารที่เห็นอยู่ตรงหน้าถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพื้นป่ามีซากพืชปกคลุมค่อนข้างหนา เนื้องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น การสลายตัวของซากพืชจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้สิ่งปกคลุมหน้าดินเปรียบเสมือนฟองน้ำที่มีรูพรุน เกิดผลดีต่อการดูดซับและเก็บกักน้ำไว้ในดิน นอกจากนั้น บรรดามอส เฟิร์น ที่ขึ้นตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ยังทำหน้าที่ดูดซับความชื้นที่มากับเมฆหมอกและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลงสู่ดินอีกด้วย น้ำที่ไหลสู่ดินนี้เองจะค่อยๆ ถูกปล่อยลงสู่ลำธารตลอดปี น้ำที่ใสสะอาดเกิดจากป่าบริเวณต้นน้ำยังอยู่ในสภาพดี ไม่ถูกบุกรุกทำลายและไม่ถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากกิจกรรมของมนุษย์เราจะยังคงมีน้ำใสสะอาดเช่นนี้ในแหล่งต้นน้ำอื่นๆ

 ห้วยแห่งนี้แบ่งออกเป็นยุค ยุคแรก น้ำในลำห้วยไหลชิดติดผนังด้านตรงข้าม น้ำตกรุนแรงด้วยปริมาณน้ำมาก สร้างหลุมลึกไว้เป็นหลักฐาน ยุคปัจจุบันสายน้ำเปลี่ยนทางไหล ปริมาณลดลงและไม่รุนแรง เป็นต้นกำเนิดสายน้ำที่บริสุทธิ์สะอาด มีออกซิเเจนและธาตุอาหารสูง ลำห้วยทุกสายในลุ่มน้ำนี้ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านทั่วภาคกลาง

ดอกไม้แสนสวยแห่งหิ่วแม่ปาน

ดอกไม้แสนสวยแห่งหิ่วแม่ปาน นอกเหนือจากการชมไม้ยืนต้นที่สูงโปร่งปกคลุมไปด้วยมอสและเฟิร์นของป่าเมฆแล้ว ยังมีพืชหลายชนิดที่มีดอกสวยงามหลากสีสันให้ได้ชมระหว่างทาง ดอกไม้เหล่านี้มีขนาดเล็ก แต่ละดอกมีขนาดประมาณหัวไม้ขีดเท่านั้น

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน บรรยากาศของป่าเมฆที่เราเดิน บางช่วงจะมีสะพานไม้เพื่อความสะดวกในการศึกษาธรรมชาติ พรรณไม้ในป่าเมฆที่มีอยู่มากมายนั้นได้แก่ ต้นก่อ (ต้นโอ๊ค) ต้นทะโล้ ต้นหว้าอ่างกา (พืชเฉพาะถิ่น) ในป่านี้เป็นชนิดพันธุ์ไม้เมืองหนาว พัฒนาปรับตัวให้อยู่ได้ดีในป่าหนาวและชุ่มชื้นสูง ปกติพันธุ์ไม้กลุ่มนี้พบในเทือกเขาหิมาลัย ยุโรป และ อเมริกา บริเวณพื้นป่า ขิงข่าและพันธุ์ไม้อื่นหลากหลายชนิดขึ้นคละกัน แต่มีพันธุ์ไม้ชนิดเดียวยึดพื้นที่ได้กว้างแสดงว่าดินมีกรดสูง เกือบไม่มีกล้าไม้ขึ้นได้เพราะใบร่วงลงคลุมดินตลอดเวลา

 ระหว่างทางเดิน จะเห็นลูกไม้เปลือกแข็งหลายชนิดตกเกลื่อนบนพื้นป่า มีทั้งที่เป็นผลกลมเล็กติดกันเป็นพวง ผลแป้นคล้ายตลับ หรือ ผลรูปร่างคล้ายหมวกเป็นต้น ผลเหล่านี้เป็นผลของไม้ก่อนชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในกลุ่มไม้โอ๊ก ในวงศ์ Fagaceae ต้นก่อจัดว่าเป็นไม้เด่นที่ใช้ในการบ่งชี้ความเป็นสังคมพืชป่าดิบเขาที่พบในประเทศไทยมีด้วยกัน 4 สกุล ซึ่งบริเวณกิ่วแม่ปานเป็นแหล่งที่พบไม้ก่อได้ทั้ง 4 สกุล เช่น ก่อหมวก หรือก่อตลับ ในสกุล Quercus ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู ซึ่งบางครั้งเรียกทั่วไปว่าก่อหนามหรือก่อกินลูก ในสกุล Castanopsis ก่อพวง สกุล Lithocarpus และก่อดอยช้าง สกุล Trigonobalanus ผลของไม้ก่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า เปลือกก่อบางชนิดใช้ย้อมหนังได้ดี

วัฐจักรธรรมชาติ

วัฐจักรธรรมชาติ พืชที่เจริญเติบโตที่นี่ก็มีอุปสรรคในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีการล้มตายลงจากหลายสาเหตุ ต้นไม้ใหญ่บางต้นที่มีอายุมากแล้วก็จะมีพืชบางชนิดเข้ามาเกาะกิน อย่างเช่นเห็ดขี้ช้างที่เห็นอยู่นี้เกาะอยู่บนต้นไม้ต้นเดียวกันถึง 3 จุด ด้วยกัน แต่เป็นเพราะเจ้าเห็ดขี้ช้างสามารถนำมาปรุงเป็นสมุนไพรมีความเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง จึงมีคนมาลักตัดเอาไป เห็ดชนิดนี้เมื่อเกาะต้นไม้ต้นใดแล้วจะกัดกร่อนกินเนื้อไม้ด้านในจนเป็นโพรง ท้ายที่สุดก็จะล้มลง เพื่อให้ต้นไม้ต้นใหม่ได้มีโอกาสเจิรญเต้บโตขึ้นมาแทนที่

รอยเท้าหมี

รอยเท้าหมี หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ากิ่วแม่ปานก็คือรอยเท้าหมีที่ปรากฏอยู่บนต้นไม้ต้นหนึ่ง พี่ยะเล่าว่ารอยเท้านี้มีมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการพบหมีในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน แต่ในระหว่างทางยังได้ยินเสียงเก้ง กวาง เลียงผา ส่งเสียงดังลั่นป่าอยู่ตลอดเวลา พี่ยะยังเล่าอีกว่า ในบางครั้งหากกวางตัวผู้เห็นนลูกกวาง มันจะวื่งเข้ามาชนให้ตาย

เถาวัลย์

เถาวัลย์ ป่าบริเวณนี้มีเรือนยอดค่อนข้างแน่นทึบ แสงส่องผ่านมายังพื้นดินเพียงเล็กน้อยช่วยทำให้บรรยากาศของป่าดูทึมทะมึนคล้ายป่าโบราณหรือป่าดึกดำบรรพ์ สายระโยงระยางของเถาวัลย์ที่พันเกี่ยวต้นไม้น้อยใหญ่ทำให้เกิดความรู้สึกสมจริงยิ่งขึ้น เหตุที่เถาวัลย์ต้องเลื้อยไม้ใหญ่ขึ้นไปก็เพราะว่า เถาวัลย์เป็นไม้ที่ไม่สามารถทรงตัวได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยไม้ใหญ่เป็นหลักเกาะขึ้นไปรับแสงแดดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสังเคราะห์แสงและการมีชีวิตรอด เป็นการดำรงอยู่ในสภาวะแห่งการพึ่งพาเกื้อกูลกันระหว่างไม้ใหญ่และเถาวัลย์ เถาวัลย์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในขณะที่สายระโยงระยางของเถาวัลย์ช่วยพยุงไม้ใหญ่ไม่ให้ล้มระเนระนาดเมื่อมีลมพัดแรง

 นอกจากนี้เถาวัลย์ ยังเป็นเส้นทางการเดินทางของสัตว์ขนาดเล็กๆ อย่างกระรอก กระแต เพื่อหากินในป่า กระรอกนั้นยังมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเครื่องเตือนภัยสำหรับสัตว์ป่า เมื่อมันมองเห็นสัตว์ดุร้ายอย่างเสือ มันจะส่งเสียงร้องทำให้สัตว์อื่นๆ ตื่นตัว

ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน

ป่าเมฆกิ่วแม่ปาน ลักษณะของป่าที่เปลี่ยนไปจากตอนแรก จะเห็นว่าป่าแถบนี้จะปกคลุมไปด้วยต้นไม้ที่แตกกิ่งต่ำ คือมีความสูงไม่มากนักแต่จะแตกกิ่งก้านออกด้านข้าง ส่วนช่วงที่เราเดินผ่านมานั้นมักจะเป็นต้นไม้ที่แตกกิ่งสูง ลำต้นสูงชะลูดแตกกิ่งที่ความสูง 15-30 เมตร ลักษณะของต้นไม้แตกกิ่งสูงทำให้แสงแดดส่องลงมาถึงพื้นดินได้น้อยกว่า

ละอองหมอกบนใบไม้

ละอองหมอกบนใบไม้ หลังจากเดินมาจนเหนื่อยพักแล้วพักอีกหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดเราก็มาทะลุป่าเมฆ ออกสู่ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ มาสะดุดกับใบไม้หลายใบมีขนเล็กๆ บนใบ ละอองหมอกตลอดวันนี้มาเกาะบนใบไม้จนดูคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง ทำเอานักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนที่ได้เห็นต้องหยุดเดินแล้วเอากล้องมาจ่อกันเป็นแถว

ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์

ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ บริเวณที่ยืนอยู่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสังคมพืชที่เดินผ่านมา ทุ่งหญ้าที่เห็นเบื้องหน้าเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งมักปกคลุมสันเข้าและยอดเขา บริเวณที่สูงกว่า 2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะของพื้นที่เป็นที่โล่ง ดินค่อนข้างตื้นและมีหินโผล่ มีหญ้าปกคลุมสลับกับพุ่มไม้และพืชล้มลุกที่พบในเขตอบอุ่นสันนิษฐานว่าการเกิดสังคมพืชเช่นนี้เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี และมีการแปรปรวนของแรงลมสูง จึงทำให้ไม้ใหญ่ของสังคมพืชป่าดิบเขาระดับสูงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ พันธุ์ไม้หลายชนิดที่พบได้แก่ บัวทอง มะแหลบ ต่างไก่ป่า กูดดอย เป็นต้น ในบริเวณนี้อาจจะเจอร่องรอยของหมูป่า เนื่องจากทุ่งหญ้าบริเวณนี้และราวป่าข้างเคียงเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของหมูป่า และเมื่อเดินต่อไปจนถึงบริเวณจุดชมวิว อาจโชคดีมองเห็นเลียงผาอยู่บนผาทางขวามือเบื้องหน้า

 ปกติที่ความสูงกว่า 4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลในเขตหนาว จะมีเฉพาะไม้ล้มลุกเรียกว่าทุ่งอัลไพน์ แต่ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ เป็นปรากฏการณ์พิเศษ เกิดขึ้นบนดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก และดอยเชียงดาว เป็นยอดเขาสูง 2,000-2,500 เมตร ซึ่งหนาวเย็นเพียงพอให้ไม้ล้มลุกปะปนไม้พุ่มขนาดเล็กจากเทือกเขาหิมาลัยมาเจริญงอกงาม จึงเรียกพงไม้นี้ว่า "ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์"

กูดเกี๊ยะ เฟิร์นทนไฟ

กูดเกี๊ยะ เฟิร์นทนไฟ ต่อจากทุ่งหญ้าโล่งๆ เดินตรงมาอีกหน่อยจะพบกับกูดจำนวนมาก ลักษณะของกูดนี้คล้ายผักกูดที่นำมาปรุงอาหารแต่กูดที่เห็นนี้ไม่ใช่กูดที่เอามากินได้

 ธรรมชาติเป็นนักจัดสวนดอกไม้ให้สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความงาม บริเวณลาดต่ำสุดดินหนาชุ่มชื้น มีไม้เมืองหนาวดอกสวยปะปนด้วยต้นสาบหมาที่สามารถทนไฟ กลางเนินมีดินและน้ำดี ปลูกไม้ล้มลุกทนหนาวดอกสดใสหลากหลายชนิด บนยอดเนินดินแห้ง ปลูกต้นเฟิร์นกูดเกี๊ยะ ใบหนาแข็งลดการคายน้ำ ซ่อนลำต้นไว้ใต้ดินเพื่อหนีความร้อนจากไฟป่า พี่ยะเล่าว่า กูดเกี๊ยนี้เป็นพืชที่มีความพิเศษคือทนไฟ ทนความร้อน หากเกิดไฟป่าขึ้นแล้วชั้นใต้ดินลึกลงไป 15 เซนติเมตร มีอุณหภูมิต่ำกว่า 150 องศาเซลเซียส กูดเกี๊ยะนี้จะสามารถงอกงามขึ้นมาใหม่ได้

จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน

จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน ต่อจากดงกูดเกี๊ยะมาอีกเพียงเล็กน้อยก็จะได้เห็นจุดชมวิวที่สวยงาม ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้สร้างระเบียงไว้ให้ได้ชมวิวสวยๆ ของกิ่วแม่ปานได้อย่างกว้างไกล ผาหินด้านขวามือมีโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่โชคดีได้พบเห็นสัตว์ป่าอย่างเลียงผาได้ในบางวัน

สันกิ่วแม่ปาน

สันกิ่วแม่ปาน ธรณีสัณฐานกิ่วแม่ปาน "กิ่ว" คือลักษณะของภูมิประเทศแบบสันเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยบนสันนั้นจะแคบและมีไหล่เขาสองข้างลาดชันสูงมาก ช่วงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินบนสันเขา

 หินสองแท่งที่ยืนอยู่คู่กันบนไหล่เขาด้านขวามือ ชาวบ้านท้องถิ่นแรียกว่า "แง่มน้อย" แง่ม เป็นภาษาท้องถิ่นของทางภาคเหนือมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ง่าม หินสองแท่งนี้เป็นหินแกรนิตที่เกิดจากหินหลอมเหลวใต้ผิวโลกดันตัวขึ้นมา และผิวโลกมีการยกตัวขึ้นเป็นภูเขาเมื่อประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว ส่วนประกอบของหินที่อ่อน ง่านต่อการผุผังกัดกร่อนก็จะสลายตัวไปในที่สุดเหลือเพียงส่วนที่คงทน เช่น ส่วนของแง่มน้อยทั้งสองแท่งนี้ แท้จริงแล้วในอดีตแง่มน้อยนี้เคยเป็นหินก้อนเดียวกันกับสันเขาที่เรายืนอยู่นั่นเอง

แง่มน้อย

แง่มน้อย แท่งหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่เดิมเป็นก้อนเดียวกัน อยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับภูเขา เมื่อมีการดันตัวขึ้นมามีการกัดกร่อนผุพังลงไปตามกาลเวลาเหลือเพียงแท่งหิน 2 แท่ง มีความเชื่อกันว่าเป็นหินผู้หญิงกับหินผู้ชายยืนคู่กันบนผา โดยมีหินแผ่นเล็กๆ วางอยู่ตรงกลางมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ เป็นสัญลักษณ์ของกิ่วแม่ปาน

แง่มน้อย

แง่มน้อย ภาพขยายให้ชมกันชัดๆ ว่าหิน 2 แท่งนี้เหมือนหญิงชายที่ยืนเคียงคู่กันและมีแผ่นหินบางๆ มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจเอามากๆ มีความเชื่อว่าคนที่ยังไม่มีคู่มาขอคู่ที่นี่มักจะสมหวัง มีชาวต่างชาติรู้เรื่องความเชื่อนี้ก็มาขอคู่ พอได้พบคู่และแต่งงานกันแล้วได้เดินทางมาที่นี่ ด้วยความเชื่อว่าการขอคู่ทำให้เขาได้สมหวัง

ป่าสองมุมบนสันเขา

ป่าสองมุมบนสันเขา ถัดจากแง่มน้อยเดินต่อไปเรื่อยๆ จะพบว่าเราเดินอยู่ระหว่างกลางของสันเขาโดยมีด้านซ้ายและด้านขวามีป่าที่มีโครงสร้างต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 กิ่วแม่ปานเป็นสันบนเขาส่วนที่แคบที่สุด ลาดเขาสองด้านด่างกัน ด้านนอกถูกแดดส่องร้อนตลอดวัน ปะทะลมแรงจนตัดยอดไม้ให้เตี้ยลง ฤดูแล้งไฟป่าจากไร่ชาวบ้านลามขึ้นมาเผา ทำให้ป่าต้องซ่อมตัวเองตลอดเวลา จึงมีแต่ไม้บุกเบิกขนาดเล็ก เมื่อฝนตกต้านนอก น้ำไหลแรงชะหน้าดินลงถมห้วยให้ตื้นเขิน ผิดกับด้านในป่าชุ่มชื้นด้วยพันธุ์ไม้ดั้งเดิม น้ำฝนปะทะใบไม้ไหลตามลำต้น แล้วซิมลงดินไหลลงลำห้วย

ลักษณะป่าบนสันกิ่วแม่ปาน

ลักษณะป่าบนสันกิ่วแม่ปาน ด้านขวามือจะมีต้นช้ามะยมดอย ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นผืนใหญ่ตามลาดเข้า ข้ามะยมดอยเป็นไม้พุ่มในวงศ์กุหลาบดอย (Ericaceae) ให้ผลมีรสอร่อย นอกจากช้ามะยมดอยแล้ว จะพบไม้พุ่มและไม้ล้มลุกอีกหลายชนิดระหว่างทางที่มีดอกสวยงามเช่น ต่างไก่ป่า และผักปราบดอย เป็นต้น แต่อย่าสับสนว่าพุ่มไม้ที่อยู่ด้านซ้ายมือเป็นไม้พุ่มเตี้ย แท้จริงแล้วเป็นเรือนยอดของไม้ใหญ่สูงถึง 30 เมตรที่ขึ้นอยู่ในหุบข้างล่าง

ดอกไม้กิ่วแม่ปาน

ดอกไม้กิ่วแม่ปาน ดอกไม้ที่จะมีให้ชมได้บนกิ่วแม่ปานก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ที่พบเห็นได้เป็นประจำก็ได้แก่ บัวทอง ส่วนกุหลาบหินนั้นต้องไปให้ตรงกับฤดูกาลจะเห็นได้มากหน่อย หากสังเกตุให้ดีก็จะมีกล้วยไม้ที่บางครั้งแอบซุ่มอยู่ ต้องเสาะหาสายตาดีจะพบได้ตามระหว่างทางเดินบนกิ่วแม่ปาน

กุหลาบพันปี

กุหลาบพันปี เดินตามเส้นทางเดินเล็กๆ บนสันกิ่วแม่ปานมาเรื่อยๆ จะได้พบกับต้นกุหลาบพันปีที่มีอยู่มากมายในบริเวณนี้ สภาพอากาศที่เห็นในภาพนี้จะต่างกับภาพก่อนหน้าอย่างมาก ช่วงแรกที่เดินมาถึงแง่มน้อย ท้องฟ้าเปิดสดใสมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกล พอเดินมาอีกไม่นานนักอากาศก็เปลี่ยนเป็นปกคลุมด้วยหมอกอีกครั้ง ลักษณะแบบนี้จึงเป็นที่มาของโครงสร้างสังคมพืชที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของกิ่วแม่ปาน และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ดอกไม้กิ่วแม่ปาน

ดอกไม้กิ่วแม่ปาน เป็นภาพชุดรวมพืชที่ได้พบบนกิ่วแม่ปาน จัดมาให้ชมบางส่วนเท่านั้น อย่างภาพบนซ้ายเป็นกล้วยไม้ที่หลบอยู่ข้างทาง คนตาดีก็จะมองเห็น ส่วนภาพบนขวาเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่งของคนในพื้นที่ ใช้สำหรับปรุงรสในลาบของชาวเหนือ ภาพล่างซ้ายเป็นช้ามะยมดอย มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ บรรยายไม่ถูก แต่คล้ายๆ กับมะยม นิดๆ กินได้ หายเหนื่อย ภาพล่างขวาแน่นอนว่าต้องเป็นกุหลาบพันปี จุดเด่นของป่าที่นี่อีกอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวคาดหวังว่าจะได้เห็น ต้นกุหลาบพันปีมีอยู่มากมายก็จริงที่บริเวณนี้แต่ก็มีดอกไม้พร้อมกันซะทีเดียว หากโชคดีมาเอาตรงช่วงที่กุหลาบพันปีบานพร้อมกันก็จะสวยมาก

 กุหลาบพันปี ไม้ยืนต้นที่มีดอกแดงพราวไปทั้งต้นในช่วงต้นฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไปคือ กุหลาบพันปี หรือ คำแดง ความประทับใจต่อกุหลาบพันปีไม่ได้อยู่ที่ดอกสีแดงบอบบางเท่านั้น แต่ลักษณะลำต้นที่คดงอและแคระแกรนด้วยแรงลมปะทะหน้าผา พร้อมด้วยไลเคนส์ ที่เกาะตามกิ่งก้านของกุหลาบพันปีที่ขึ้นเป็นดง เป็นที่น่าทึ่งและหาชมได้ยาก กุหลาบพันปีเป็นไม้สกุล โรโดเดนดรอน (Rhododendron) ในวงศ์ กุหลาบดอย (Ericaceae) เป็นวงศ์เดียวกันกับช้ามะยมดอยที่ผ่านมา ไม้ประเภทนี้ชอบขึ้นในดินที่เป็นกรดและตามลาดเขาที่มีดินตื้น กุหลาบพันปีในบ้านเรายังมีอีกหลายชนิดทั้งดอกสีแดงและดอกสีขาว ทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้พุ่ม และไม้อิงอาศัย มักขึ้นในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ความสูง 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป กุหลาบตัดดอก (rose) ที่เราพบทั่วไปอยู่ในสกุล Rosa วงศ์ Rosaceae ดอกและใบของกุหลาบพันปีจึงแตกต่างจากกุหลาบตัดดอกอย่างมาก

ขนุนดิน

ขนุนดิน พ้นจากสันกิ่วแม่ปาน จะเป็นเส้นทางเดินในป่าดิบเขา หรือป่าเมฆอีกครั้ง บนสันกิ่วแม่ปานทางเดินค่อนข้างราบไม่ลาดชันมากนักเดินกันสบายๆ หากแดดไม่ร้อน จากนั้นทางเดินจะลาดลงแล้วก็ขึ้น สลับกันไป 5 ครั้งก็จะถึงทางออก บริเวณนี้เป้นช่วงที่มีไผ่ขึ้นอยู่หนาแน่น พบเห็นขนุนดินอยู่ตามพื้นดิน ขนุนดินเป็นพืชที่อยู่บนดินมีขนุนเดินตัวผู้และขนุนดินตัวเมีย สิ่งที่จะบอกได้ว่าต้นไหนเป็นขนุนดินตัวเมียก็คือจะมีดอกสวยงาม ส่วนตัวผู้จะโผล่ขึ้นมาคล้ายเห็ดกลมๆ เท่านั้น

ท่ามกลางป่าใหญ่

ท่ามกลางป่าใหญ่ การเดินทางสายกิ่วแม่ปานนับแต่นี้ต่อไปจะเข้าสู่สังคมพืชป่าดิบเขาระดับสูงอีกครั้ง โครงสร้างของป่ามีเพียง 2 ระดับได้แก่ ระดับไม้พื้นล่างที่ขึ้นปกคลุมดิน และระดับเรือนยอดชั้นบน พื้นล่างของป่าที่มีพืชขึ้นปกคลุม มักพบบริเวณที่มีแสงรำไรตกถึงพื้นดินได้บ้าง พืชที่พบมากในบริเวณนี้คือ ต้นขาไก่ ลำต้นแตกเป็นข้อๆ เหมือนขาไก่ ต้นฮ่อม ใบบางเป็นหยัก ตามโคนต้นไม้ยังมีเห็ดหลายชนิด รวมทั้งเฟิร์น และ มอส ตามโครงสร้างอีกระดับชั้นหนึ่งของป่าแห่งนี้คือ ระดับชั้นบนที่เป็นเรือนยอดของไม้ใหญ่ที่มีความสูงถึง 15-20 เมตร และมีระดับเรือนยอดที่สูงไล่เรี่ยกัน ถ้ามองลงมาจากเครื่องบินจะมีลักษณะเหมือนดอกกะหล่ำแน่นทึบ

 การจัดชั้นเรือนยอดของหมู่ไม้ในป่าเป็นลักษณะทางโครงสร้างของสังคมพืชที่สำคัญมากด้านนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืชแต่ละระดับชั้น ไม้ชั้นบนย่อมมีความต้องการแสงมากกว่าไม้ที่อยู่พื้นล่างของป่า เมื่อต้นไม้ใหญ่ล้มตายลงตามอายุขัย ภัยธรรมชาติหรือด้วยน้ำมือของมนุษย์ จะทำให้เกิดช่องว่างที่แสงสามารถส่องผ่านสู่พื้นดินได้เต็มที่ ลูกไม้และไม้ที่ทนแดดได้ดีจะงอกงามเจริญเติบโตขึ้นทดแทนต่อไป ช่องของการทดแทนดังกล่าวจนกระทั่งกลายเป็นไม้ใหญ่อีกครั้งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 200 ปี สำหรับป่าดิบเขาทั่วๆ ไป กว่าจะกลายมาเป็นป่าแบบนี้ใช้เวลาหลายชั่วอายุขัยของมนุษย์เลยทีเดียว

ด้วงปีกม่วง

ด้วงปีกม่วง 

หนอนชาเขียวแห่งกิ่วแม่ปาน

หนอนชาเขียวแห่งกิ่วแม่ปาน รากไม้ต้นหนึ่งที่มีรูปร่างตลกแปลกตา พอเอาผลของต้นไม้ไปวาง 2 อัน ดูเหมือนหนอนชาเขียวขึ้นมาทันที

สุดทางกิ่วแม่ปาน

สุดทางกิ่วแม่ปาน ในที่สุดเราก็เดินมาจนถึงช่วงสุดท้ายของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์ จากจุดนี้ออกไปไม่ไกลก็เป็นอันจบเส้นทาง ระยะทางประมาณ 3,000 เมตร มีเรื่องราวธรรมชาติของป่าไม้ให้ศึกษาและชมความสวยงามได้จนลืมความเหนื่อย

 ฝากธรรมชาติอันสมบูรณ์แห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานของเราได้ศึกษา พักผ่อนสืบต่อไป ให้มาชมกันด้วยจิตอนุรักษ์ อย่าเด็ดใบไม้ดอกไม้ อย่าเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ...

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com