Notice: Undefined index: ses_user in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/roadtrips/tripview.php on line 5
สโลว์ไลฟ์ สไตล์โลว์คาร์บอน ด่านซ้าย-ภูเรือ-เชียงคานเส้นทางขับรถเที่ยวเอง ทัวร์ออนไทยดอทคอม

www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เส้นทางขับรถเที่ยว >> สโลว์ไลฟ์ สไตล์โลว์คาร์บอน ด่านซ้าย-ภูเรือ-เชียงคาน

สโลว์ไลฟ์ สไตล์โลว์คาร์บอน ด่านซ้าย-ภูเรือ-เชียงคาน

ทริปการเดินทางในจังหวัดเลยของเรายังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่เราได้เล่าไปแล้วว่าวันแรกของเราทำอะไรไปบ้าง ในเรื่อง เที่ยวเลยให้ถึงเลย เสบยไม่เหมือนใคร การเดินทางเที่ยวอำเภอหนองหิน ภูป่าเปาะ มาจนถึงด่านซ้าย เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเลยได้มากโข และเริ่มทำให้เราติดใจในการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน คือการเที่ยวแบบรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันกับการเดินทางไปยังที่ต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ตอนนี้เราเหมือนผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวสไตล์คนไม่เอาถ่านไปอีกคนหนึ่งแล้ว เมื่อวานนี้ที่บ้านเจ้าแม่นางเทียมเราได้ไปทำต้นผึ้งและดอกผึ้งความศรัทธาที่สืบทอดมายาวนานของชาวด่านซ้ายที่จะปฏิบัติเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน 6 และเดือน 7 วัสดุทุกอย่างทำมาจากธรรมชาติล้วนๆ เพื่อประดิษฐ์ต้นผึ้งที่สวยงามใช้ถวายพระธาตุศรีสองรักที่สุดแห่งศรัทธาของทั้งคนไทยและชาวลาวริมฝั่งโขง เช้าวันนี้เราได้เอาต้นผึ้งของพวกเราเดินทางมาถวายที่พระธาตุศรีสองรัก แต่อยู่ๆ จะเอาต้นผึ้งไปวางเฉยๆ ก็คงจะไม่ใช่มันต้องมีการทำพิธีการถวายด้วย พ่อแสน เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นผู้นำในด้านพิธีกรรมต่างๆ ในอำเภอด่านซ้ายจะพาเรากล่าวคำถวายต้นผึ้งและพิธีนี้จะต้องเสร็จก่อนเวลาเพลหลังจากนั้นไม่มีใครจะถวายต้นผึ้งและพ่อแสนก็จะกลับไปทำหน้าที่อื่นๆ ต่อ

    บุญเดือน 7 ของชาวด่านซ้ายเป็นงานสืบต่อเนื่องจากเดือน 6 คือการนมัสการพระธาตุมีการล้างพระธาตุ พอมาเดือน 7 เป็นบุญเลี้ยงหอจะแห่เอาของเซ่นไหว้ต่างๆ ไปที่หอหลวงโดยมีเจ้าพ่อกวนเป็นคนผู้นำขบวนแห่พร้อมอาวุธประจำกายที่มีมาหลายชั่วอายุคนไปด้วย ในพิธีการเลี้ยงหอคนนอกจะไม่ได้เข้าไปดูภายในแต่ถ้าจะเข้าไปร่วมพิธีต้องอยู่ร่วมจนพิธีเสร็จสิ้นลง เราคงไม่สามารถจะอยู่ได้นานขนาดนั้นเลยมาร่วมขบวนแห่แค่สั้นๆ แล้วเราก็ต้องเดินทางกันต่อไป

    สถานีต่อมาของเราคือภูเรือ เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่น่าเที่ยวมากคนทั่วไปรู้จักกันเยอะไม่แพ้เชียงคานเลยที่หนึ่งที่บอกเลยว่าไม่ควรพลาดคือสวนลุงวุฒิ ไม่ว่าจะมาหน้าไหนสวนลุงวุฒิก็มีดอกไม้สวยๆ แคคตัสแจ่มๆ ให้เราได้ดู เปิดสวนให้เดินเที่ยวตามสบายไม่ซื้อก็ไม่ว่าอะไรด้วย ถ้าชอบต้นไหนอยากจะซื้อเราก็จะได้ราคาพิเศษถูกกว่าไปเดินหาซื้อจากข้านอก นอกจากแคคตัสแล้วสับปะรดสีของสวนนี้ไม่บอกก็รู้ว่าดังขนาดไหนตอนนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว

    จากสวนลุงวุฒิเดินทางไปอีกหน่อยเดียวเราก็จะมาถึงที่เที่ยวสำหรับปลดปล่อยชีวิตชาวเมืองมาสโลว์ไลฟ์ได้อย่างเต็มที่ ที่นี่คือภูเรือเรือนไม้รีสอร์ท เวลาเราได้ยินชื่อนี้อาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกว่ามา ดีมีนาคาเฟ่ ทุกคนเป็นร้องอ๋อทั้งคันรถ ที่นี่บริการทั้งที่พัก อาหาร และเครื่องดื่ม ร้านดีมีนาคาเฟ่เป็นของลูกสาว แต่กลับดังกว่าภูเรือเรือนไม้ที่เป็นต้นตำรับ เพราะโซเชียลมันไวมากยุคของ Gen Y เค้า สร้างการตลาดผ่านเฟสบุ๊คแป๊บเดียวรู้จักกันทั่ว ความสโลว์ไลฟ์ที่นี่เริ่มต้นจากอาหารการกิน เค้าใช้ภาชนะปิ่นโตเป็นที่ใส่ข้าวแล้วก็พวกกับข้าวเสริฟมาเป็นเถาๆ ละโต๊ะ ในปิ่นโตเถามีอาหารหลายอย่าง โดนทุกชั้นตั้งแต่ชั้นที่มีข้าว 5 สี หรือข้าวเบญรงค์ ใช้ข้าวมาหุงจัดใส่ให้ได้ 5 สี สวยๆ โดนๆ รองลงมาเป็นกับข้าวทำจากผักที่หาได้ในที่ของตัวเอง มั่นใจในเรื่องปลอดสารพิษไม่ต้องมีเรื่องน้ำมันในการขนส่งมาจากที่ไหนๆ ลดการใช้คาร์บอนลงไปได้เยอะถ้าทุกๆ ที่เริ่มคิดที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราก็จะมีธรรมชาติที่ดีๆ ให้เที่ยวอยู่ต่อไปอีกนานขึ้นแน่นอน

    หลังจากอิ่มหมีพีมันกันแล้วที่ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ทหรือดีมีนาคาเฟ่นั่นแหละ เค้ามีกิจกรรมฟินๆ ให้เราร่วมสนุกแต่ได้ประโยชน์อีกด้วยนะแปลงนาด้านหลังของรีสอร์ทไม่ได้มีไว้โชว์วิวสวยอย่างเดียว เค้าแบ่งไว้แปลงนึงให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือทำนาด้วยคนที่มาในช่วงการดำนาต้นฤดูฝนเค้าจะมีกิจกรรมดำนาโยนให้เราลองไปทำ นาโยนเป็นการดำนาชนิดหนึ่งที่มีใช้มานานแล้วแต่ไม่ค่อยแพร่หลายเป็นวิธีที่ใช้แรงงานน้อยกว่าดำนาปกติและเร็วกว่าด้วย ผลผลิตข้าวได้ดีกว่านาหว่านและเกือบเทียบเท่ากับนาดำปกติการดำนาโยนเลยเป็นวิธีการดำนาที่น่าสนใจสำหรับชาวนารุ่นใหม่ ต้นกล้าข้าวเพาะลงในหลุมถึงเวลาก็เอามาโยนลงไปในนา คนไม่เคยโยนมาโยนไม่กี่ทีก็พอจะกะได้แล้วว่าโยนยังไงข้าวจะไปตกที่ไหนต้นข้าวก็จะค่อยๆ เป็นระเบียบมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความรู้ติดตัวไปเลย แรกๆ โยนไปมั่วๆ พอจับทิศจับทางได้หน่อยข้าว 1 ถาดก็หมดไปอย่างรวดเร็วแถมมีการแข่งโยนไกล โยนเข้าเป้ากันอย่างสนุก จบจากการดำนาโยนก็มาเรียนรู้กันทำขนมเป็นขนมของอีสานทำง่ายเรียกกันว่า ข้าวแดกงา ไม่ใช่หมายความว่าข้าวมันกินงาเข้าไป แต่ข้าวแดกงาเป็นคำกริยาในการออกแรงค่อยๆ กดข้าวเหนียวให้เข้ากับงา น้ำตาล และเกลือ เหมือนกับการกดปลาใส่ลงในไหเป็นที่มาของคำว่า ปลาแดก คำว่าแดกหาใช่คำหยาบคายที่ไหนเป็นคำกริยาของชาวอีสานคำหนึ่ง ส่วนการเอามาใช้เป็นสแลงให้เหมือนกินอย่างตะกละมูมมามเป็นเรื่องที่เราเอาใช้กันเองในตอนหลัง ภูมิปัญญาของการเอาของที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นของว่างกินเล่นๆ อย่างข้าวแดกงานี้เองก็เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กลมกลืนกับธรรมชาติหนึ่งในวิถีโลว์คาร์บอน สนใจจะลองทำกิจกรรมแบบนี้ ติดต่อไปได้เลยที่ โทรศัพท์ 042 812 895 หรือ 081-954-2915

    เรียนรู้เรื่องราวชีวิตอีสานกันได้มากโขสำหรับวันนี้ แต่ก็ยังไม่หมดคอรส์ทริปนี้เราวางแผนทริปเที่ยวแนวโลว์คาร์บอนกันมาอย่างดีเราเที่ยวภูเรือกันครึ่งวันกว่าๆ แล้ว กินข้าวเที่ยงแบบสโลว์ไลฟ์จริงๆ ใช้เวลาอยู่กับการหัดดำนา คิดว่าที่นอนคืนนี้ของเราควรจะเป็นที่ที่พิเศษที่คนฮิตๆ กันสักหน่อย ในจังหวัดเลยหลายคนคงคิดถึงเชียงคานเป็นแน่ แล้วในฐานะที่วันนี้เป็นวันเสาร์ที่เชียงคานจะมีถนนคนเดินให้เราเดินเล่นชิลๆ ได้ด้วย ว่าแล้วก็ออกเดินทางไปเชียงคานกันเลย

    จากภูเรือไปเชียงคานเส้นทางนี้จะผ่านวัดลาดปู่ทรงธรรมแวะไหว้พระธาตุสัจจะกันสักหน่อยพระธาตุสัจจะเป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นมาเพื่อสืบชะตาพระธาตุพนมรูปร่างเหมือนกันเป๊ะช่วงปี 2518 พระธาตุพนมหักพังลงมาเนื่องจากฟ้าผ่า พระธาตุสัจจะสร้างขึ้นในช่วงนั้นถึงจะไม่ได้เป็นพระธาตุที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศแต่ชาวท่าลี่ จังหวัดเลยศรัทธาพระธาตุสัจจะเป็นที่สุด

    เย้!!!! ขับไม่นานเท่าไหร่เราก็มาถึงเชียงคาน เร็วกว่าที่คิดไว้เยอะแฮะ เริ่มต้นวิถีชีวิตชาวเชียงคานที่บ้านต้นโขง ที่นี่มีพิธีการสะเดาะเคราะห์ที่ไม่เหมือนใครแต่จะว่าไปก็คล้ายกับที่ด่านซ้ายเค้าเรียกว่า ผาสาด เป็นการลอยเคราะห์ เหมือนเอาต้นผึ้งมาผสมกับลอยกระทง พิธีผาสาดลอยเคราะห์ทำกันมานานตั้งแต่มีเมืองเชียงคาน ก่อนที่จะย้ายมาตั้งรกรากถิ่นฐานที่เชียงคานก็มีการทำมาก่อนแล้วด้วย จึงเป็นพิธีกรรมที่อยู่คู่กับชาวเชียงคานโดยแท้ ผาสาดลอยเคราะห์หรือผาสาดผึ้งเป็นการสะเดาะเคราะห์เสริมชะตาราศี ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ใหญ่ อย่างการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเจียนตายจะมีพิธีใหญ่เรียกว่าผาสาดสะเดาะเคราะห์ แต่ไม่ว่าผาสาดจะแบบเล็กหรือแบบใหญ่ทุกอย่างที่ใช้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะมันมาจากของที่หาได้ตามธรรมชาติล้วนๆ นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้ง ไม้กลัด ใบตอง กาบกล้วย มะละกอ วิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กับธรรมชาติมายาวนานรุ่นเราหลายคนก็ลืมมันไป หลายคนก็กำลังสนใจที่จะได้ลองสัมผัสกับของเก่าๆ ดั้งเดิม เหมือนเรากำลังโหยหาอดีตที่ผ่านไปแล้วมันเป็นกระแสของการท่องเที่ยวในรุ่นของเรา และชุมชนเหล่านี้ก็ยังเปิดต้อนรับพวกเราอยู่อยู่ที่ว่าเรารู้จักหากันแค่ไหน

    ทำผาสาดลอยเคราะห์เป็นอะไรที่ง่ายมาก กาบกล้วยไม่กี่ชิ้น ใบตอง ไม้กลัดสั้นๆ กับไม้กลัดยาวๆ ประกอบเข้าด้วยกัน ติดดอกผึ้งเข้าไปรูปร่างคล้ายกับต้นผึ้งจิ๋วใช้เวลาไม่กี่นาที จากนั้นทำพิธีเสร็จแล้วก็เอาไปลอยที่แม่น้ำโขงหลังจากอธิษฐานปล่อยผาสาดลงแม่น้ำแล้วอย่าหันไปมองผาสาดของเราอีกให้เดินย้อนกลับขึ้นฝั่งเป็นอันเสร็จพิธี นี่เป็นการลอยเคราะห์ออกจากตัวไปเอาสิ่งไม่ดีออกไป หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่มีเคราะห์การได้มาทำผาสาดลอยเคราะห์ก็เหมือนการต่อชะตาเพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ตัวไปด้วย เสร็จจากการลอยเคราะห์จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อรับขวัญของเราหลังจากที่ได้ลอยสิ่งไม่ดีออกจากตัวไปแล้ว การได้ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือถือได้ว่าเราได้มาถึงอีสานแล้วก็ว่าได้ สนใจกิจกรรมแบบนี้ติดต่อไปได้เลย คนที่ทำผาสาด ชื่อป้าโก๋ บ้านอยู่ซอย 5 บน เบอร์โทร 084-896-8329 

    หลังจากนั้นพวกเราก็ใช้เวลาช่วงที่เหลือเสพความฟินที่ริมแม่น้ำโขง ที่เชียงคานเป็นจุดที่จะได้เห็นวิวทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกสวยไม่แพ้จุดไหนๆ และเป็นเรื่องที่แปลกมากทุกครั้งที่เรามาเชียงคานพระอาทิตย์จะตกสวยเสมอถึงจะเป็นหน้าฝนที่เมฆเยอะไปหน่อยก็เถอะ ในเมืองเก่าแก่อายุเป็น 100 ปี ของเชียงคานถึงแม้จะมีหลายอย่างเปลี่ยนไปตามกระแสของการท่องเที่ยวแต่หลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ไม่ได้หายไปไหน มีบ้านไม้ที่อนุรักษ์ไว้มากกว่า 200 หลัง (ไม่เชื่อละสิ เพราะเราเองก็ไม่เชื่อเดินๆ ดูเหมือนจะมีตึกใหม่ๆ ขึ้นตั้งเยอะแยะจนแทบมองไม่เห็นบ้านเก่า แต่พอดูอย่างละเอียดไม่มองผ่านๆ เราจะเห็นว่าบ้านเก่าๆ ยังเหลืออยู่เยอะจริงๆ) อีกอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเชียงคานก็คือผ้าห่มนวมผ้าฝ้ายยัดนุ่นแบบทำมือ หลายๆ คนที่มาที่นี่ยังคงอยากได้ของแท้จากเชียงคานกลับไปใช้ที่บ้านเพราะคุณภาพเล่าต่อกันมานานมาก

     อีกสิ่งหนึ่งของการมานอนเชียงคานถ้าได้ตื่นแต่เช้ามาตักบาตร เราก็จะยังคงเห็นชาวเชียงคานมาใส่บาตรแต่เช้าเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนพระจะเดินบิณฑบาตรเป็นช่วงสั้นๆ มีเส้นทางของแต่ละวัดถึงซอยที่ต้องเลี้ยวกลับวัดก็จะเดินเลี้ยวไปเป็นแบบนี้ทุกวันคนไม่เคยมารอใส่บาตรพระที่นี่อาจจะงงๆ นิดหน่อย สำหรับคนที่อยากจะถ่ายรูปคุณยายนั่งใส่บาตรบนถนนโล่งๆ อาจจะต้องใช้ความพยายามกันมากหน่อย เมื่อก่อนจะไปรอถ่ายตรงไหนก็ได้ เพราะจะมีคุณย่าคุณยายออกมารอใส่บาตรกันหลายจุด แต่ทุกวันนี้คนมาเที่ยวเยอะมากก็จะไปรอใส่บาตรใกล้ๆ คุณยายคนอยากได้รูปสวยๆ ก็ต้องลำบากมากขึ้นแหละนะ แต่ถ้าไม่ใช่สายช่างภาพก็จัดไปนั่งตรงไหนถ่ายรูปตรงไหนก็ได้

    ยามเช้าของเชียงคานผ่านไปอย่างช้าๆ ถ่ายรูป ใส่บาตรกันไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วก็ไปกินข้าวช้าวริมน้ำโขง ระหว่างการกินข้าวก็เป็นเวลาที่เราจะได้เอารูปมาอวดกันอย่างสนุกสนาน สุดท้ายเราก็ต้องขนของเตรียมตัวเดินทางกลับจากความฝัน ความมัน ความฟิน ความสโลว์ไลฟ์ต่างๆ ของเราก็กำลังจะจบลงเหมือนกับทริปอื่นๆ ที่เราเคยไปเที่ยวกันมา เราต้องเดินทางจากเชียงคานไปที่เมืองเลย เตรียมตัวที่จะเช็คอินไฟลท์บ่าย แต่ก่อนหน้านั้นมีช่องว่างเหลืออยู่นิดหน่อย เราเลยต้องคิดโปรแกรมเพิ่มเติมอีกนิดแต่ที่เที่ยวที่เราจะไปมันจะต้องอยู่ในตัวเมือง

    วัดศรีจันทร์แห่งบ้านนาอ้อ เป็นสถานที่ที่ได้รับคำแนะนำมาจากอพท.เลย ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติของชาวบ้าน ที่คนมาเที่ยวก็จะได้หัดทำผ้ามัดย้อมไปด้วย ขอแค่เราติดต่อไปล่วงหน้าเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมผ้ากับสีให้พร้อม การทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานช่วงหนึ่งผ้ามัดย้อมเกือบจะหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย แต่ด้วยการร่วมมือกันจากหลายฝ่ายผ้ามัดย้อมก็ถูกผลักดันออกสู่ตลาดและสายตาทั้งคนไทยและทั่วโลก คนไทยใส่ผ้าย้อมครามเราคิดว่าเชย แต่ที่ญี่ปุ่นใครใส่ผ้าย้อมครามกลับถูกมองว่าเป็นคนมีฐานะ เป็นตระกูลใหญ่ในอดีต ไปซะงั้น กลุ่มเราเป็นนักเดินทางตัวยงแต่ละคนเคยผ่านการทำผ้ามัดย้อมมาแล้วทั้งนั้นเลยใช้เวลาไม่นานผ้าของเราก็มัดเสร็จแล้วก็เอาไปล้างน้ำตากให้แห้ง เราก็จะได้ผ้าดีๆ กลับไปใช้แบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เสียดายถ้ามีเสื้อสีขาวสักตัวจะมัดย้อมไปซะเลย อิอิ ถ้าสนใจลองโทรไปถามดูนะ โทรศัพท์  084-785-5931

    สุดท้ายและท้ายสุด โปรแกรมสุดท้ายก่อนที่เครื่องบินจะออกจากสนามบินเลย เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงที่เรามีไปที่โรงแรมเลยพาวิลเลี่ยน งงมั้ยว่าทำไมมาโรงแรมทั้งๆ ที่จะต้องบินกลับกันแล้ว เราไม่ได้มาเช็คอินห้องพักแต่เรามาที่นี่เพื่อที่จะมาเรียนรู้เรื่องราวของเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อโรงแรมค่อนข้างอินเตอร์มากแต่ทำไมมีเศรษฐกิจพอเพียงได้หว่า ได้แต่คิดในใจจนได้มาเจอหมอเอิ้น เจ้าของโรงแรมความคิดแปลกแห่งนี้ 

    ที่นี่ไม่ใช่ว่าจะมีสวนเกษตรผสมผสานอะไรให้เดินดูแล้วผ่านๆ ไป แต่ที่นี่ทำเกษตรผสมผสานแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ แบบจริงจังมาก เปิดโต๊ะรับแขกด้วยการทำแชมพูและสบู่เหลวและน้ำยาเอนกประสงค์ไว้ใช้เอง แถมถ้าอยากเรียนรู้การทำสบู่และอื่นๆ เพิ่มเติมมาลงทะเบียนเรียนเป็นคอร์สแบบจริงจังก็ได้ด้วย ทีแรกก็คิดว่าจะหมดเรื่องให้เราเข้าไปเที่ยวได้แค่นั้น แต่พอจบการสาธิตการทำน้ำยาเอนกประสงค์เค้าก็พาเราไปเดินเที่ยวสวนเพลินพอดี นี่แหละจุดที่ทำให้เราทึ่ง เพราะถ้าเราเปิดธุรกิจมีโรงแรมเป็นของตัวเองคงไม่มาทำสวนนู่นนี่นั่นแปลกๆ ไว้ในเขตโรงแรมของเราแน่ๆ แต่ที่นี่เค้าคิดเค้าลงมือทำและทำจริงจังเอาของในสวนมาใช้จริงๆ ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แค่ทำไว้โชว์แขก เค้าพาไปดูสวนที่เต็มไปด้วยพืชผักหลายอย่าง แถมยังมีหมูหลุมเลี้ยงหมูไว้ใกล้ๆ โรงแรมเลยแต่ไม่มีกลิ่นรบกวนเหมือนที่เราเคยเจอคอกหมูที่อื่นๆ แถมหมูหลุมที่เลี้ยงก็เป็นหมูป่าเพิ่งเคยเห็นว่าลูกหมูป่าจะมีลายเหมือนเปลือกแตงโมแตงไทย โตมาแล้วหมูป่าถึงจะเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งตัว เดินๆ ไปอีกหน่อยเจอควายอีก 2 ตัว โห นี่มันโรงแรมจริงรึนี่ ดีจังที่มีคนคิดแบบนี้ไม่ใช่เปิดโรงแรมขึ้นมาก็ทำธุรกิจสร้างกำไรอย่างเดียวแถมบางที่ปล่อยน้ำเสียลงทะเลหน้าตาเฉย บางที่บุกพื้นที่ป่าเอามาเป็นโรงแรม แต่ในสังคมไทยยังไม่ได้แย่ไปซะหมด โรงแรมแนวคิดดีแบบแหวกแนวสุดขั้วแบบนี้ก็มีเหมือนกัน หลังจากที่ได้มานั่งทบทวนกลับไปกลับมา เออนี่เราก็ทำสิ่งดีๆ ให้คืนกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วิถีชีวิตในชุมชนได้เหมือนกันนะ เปลี่ยนวิธีคิดสไตล์ในการท่องเที่ยวของเรานิดๆ หน่อยๆ แค่นี้เอง เราก็ทำสิ่งดีๆ ได้เยอะเลย ในขณะเดียวกันถ้าเราเที่ยวแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาตลอดก็เป็นการสร้างคาร์บอนทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วยังจะไม่ได้รู้ด้วยว่า คนไทยอีกมากมายที่มีวิถีชีวิตที่น่ารักแบบสโลว์ไลฟ์อยู่เงียบๆ ในบ้านเราคอยว่าจะมีใครที่จะทะลุกรอบความคิดเดิมๆ มาค้นพบอีกโลกหนึ่งที่อยู่กับเรานี่แหละแต่เรามองไม่เคยเห็น

    ใครได้อ่านบทความนี้เราขอให้คุณลองมาเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์วิถีชีวิตที่สวยงามให้คงอยู่ต่อไปกับเรา

ทั้งหมดทั้งมวล ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูลดีๆ ในการเดินทางทริปนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ โทรศัพท์  042 861 116 http://www.dasta.co.th
หรือที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย

ปล. ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านภาคแรกของเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ แนะนำให้คลิกอ่านภาคแรก ได้ที่ เที่ยวเลยให้ถึงเลย เสบยไม่เหมือนใคร

จำนวนผู้ชม 19729 คะแนน 6  ให้กำลังใจคนเขียนทริปนี้ คลิก...>>
กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ

แผนที่ขับรถเที่ยว สโลว์ไลฟ์ สไตล์โลว์คาร์บอน ด่านซ้าย-ภูเรือ-เชียงคาน

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com