Notice: Undefined index: ses_user in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/roadtrips/tripview.php on line 5
ชมเกษตรอินทรีย์เส้นทางขับรถเที่ยวเอง ทัวร์ออนไทยดอทคอม

www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เส้นทางขับรถเที่ยว >> ชมเกษตรอินทรีย์

ชมเกษตรอินทรีย์

ทริปท่องเที่ยวที่เราจะมาเล่าสู่กันฟังทริปนี้ เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนที่แสดงให้รู้ว่า เมืองไทยเป็นแผ่นดินที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตมากกว่าแผ่นดินอีกหลายๆ ประเทศ คำว่าดินแดนอารยธรรมโบราณเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่คนไทยควรจะได้มาเรียนรู้ นั่นก็เพราะว่าหลายประเทศในโลกไม่มีร่องรอยอารยธรรมที่ยาวนานเหมือนอย่างที่บ้านเรามี หลักฐานต่างๆ ที่พบในบ้านเราแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินนี้น่าอยู่และมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเมื่อนานมาแล้วย้อนกลับไปนับพันปี ในขณะที่อีกหลายๆ ประเทศไม่พบหลักฐานโบราณเก่าแก่อะไรเลยสิ่งที่พบเก่าที่สุดมีอายุแค่ 200 ปีเท่านั้นเอง

    พื้นที่นี้เรียกว่าบ่อสวก ตั้งอยู่ในจังหวัดน่าน เดิมทีเดียวคำว่าบ่อสวก สะกด บ่สวก ไม่มี อ.อ่าง แปลว่า ไม่ดุ พอช่วงหลังที่จะทำการบันทึกชื่อหมู่บ้านเป็นทางการกลับมีการใส่ อ.อ่าง เข้าไป ความหมายเลยเปลี่ยนเป็น บ่อน้ำดุ ถ้าผ่านเข้ามาในหมู่บ้านนี้อย่างผิวเผินไม่มีใครบอกอะไรเรามาก่อนจะรู้สึกเหมือนเป็นหมู่บ้านทั่วไปไม่มีอะไรพิเศษ แต่ใครจะรู้ละว่าแผ่นดินใต้หมู่บ้านนี้มีวัตถุโบราณคือเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาซ่อนอยู่จำนวนมาก ทำให้เราได้รู้ว่า ณ ที่แห่งนี้มีคนเคยอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่และผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 หรือประมาณ 700 ปีก่อน 
    เรื่องราวความเป็นมาของบ้านบ่อสวกและเตาเผาโบราณเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก ถ้าจะมาเที่ยวกันเองคงแทบไม่ได้อะไรกลับไปแน่ๆ เราจึงต้องอาศัยไกด์ชุมชมที่จะพาเราไปที่ต่างๆ และคอยอธิบายเรื่องพวกนี้ให้เราฟัง บ้านบ่อสวกพร้อมแล้วที่จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาด้วยระบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพียงแค่ติดต่อมาก่อนทุกอย่างก็เรียบร้อยราบรื่น ติดต่อได้ที่
เฟสบุ๊ค อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน
https://www.facebook.com/dastananthailand/
โทร. 054-771-077

    พอเดินทางมาถึงน่านจะแบ่งเวลากันแบบไหนตามสะดวกของแต่ละคน การไปเที่ยวที่บ้านบ่อสวกใช้เวลาวันเดียวเที่ยวได้ทุกจุดที่เรากำลังจะเล่า แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนเป็น 2 วัน 1 คืน ก็ได้เหมือนกันเพราะที่บ้านบ่อสวกมีโฮมสเตย์ให้บริการด้วย เมื่อ อพท. ประสานงานกับชุมชนบ่อสวกเรียบร้อยแล้วจากนั้นเราก็แค่นัดหมายเจอกันที่จุดนัด บ้านบ่อสวกอยู่ห่างจากตัวเมืองน่านไม่มากใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเราก็มาถึงพี่พงศ์เป็นผู้อาสาที่จะพาเราเที่ยวบ้านบ่อสวกในวันนี้ และจุดแรกที่เราจะต้องไปก็คือ ศาลปู่ฮ่อ พี่พงศ์เล่าว่าคนที่นี่นับถือปู่ฮ่อมากๆ เป็นชาวจีนฮ่อที่มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่และทำเครื่องปั้นดินเผาในยุคแรกๆ รอบๆ ศาลปู่ฮ่อมีลักษณะเหมือนป่าเรียกกันว่าดงปู่ฮ่อเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครกล้าเข้ามาใช้ประโยชน์ ที่นี่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาโบราณและเตาโบราณเยอะมาก รอบๆ บริเวณบ้านบ่อสวกมีเตาและเศษเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ประมาณ 2000 ไร่ เป็นหลักฐานให้เห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่มากๆ แห่งหนึ่งของโลกในยุคนั้นก็ว่าได้หลังจากที่ไหว้ศาลปู่ฮ่อกันแล้วพวกเราก็เดินดูเตาเผาโบราณที่อยู่ใกล้ๆ แล้วก็เข้าพิพิธภัณฑ์เฟื้องหม้อเป็นที่เก็บรวบรวมเครื่องใช้โบราณที่ขุดพบที่นี่เอาไว้

    ต่อจากนั้นเราก็มาต่อที่บ้านจ่ามนัส หรือดาบตำรวจมนัส ติคำ ที่อยู่ไม่ไกลจากดงปู่ฮ่อเท่าไหร่ บ้านจ่ามนัสมีพื้นที่กว้างพอสมควรที่พิเศษที่สุดคือในบริเวณรั้วบ้านขุดพบเตาเผาโบราณ 3 เตา และที่ยังไม่ได้ขุดอีก 4 เตา จ่ามนัสเล่าว่า เตาที่ยังไม่ได้ขุดอีก 4 เตาจะปล่อยไว้ใต้ดินเพื่อไม่ให้มีปัญหาผุพังสึกกร่อนไปตามกาลเวลา คิดว่าถ้าปล่อยให้อยู่ใต้ดินไปเรื่อยๆ เตาพวกนั้นจะยังอยู่ได้อีกนาน ส่วนที่ขุดขึ้นมา 3 เตาก็พอแล้วสำหรับการศึกษาเรียนรู้ ที่บ้านจ่ามนัสเป็นบริเวณที่พบเตาเผาโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดจ่ามนัสตัดสินใจที่จะดูแลรักษาเตาโบราณในบ้านเอาไว้และเปิดให้เข้าชมฟรีๆ ไม่คิดเงิน ทุกๆ ปีจ่ามนัสจะทำการเคลือบเตาโบราณนี้ด้วยกาวลาเทกซ์เป็นวิธีการเดียวที่คิดออกเพื่อรักษาสภาพของเตาเอาไว้ให้นานที่สุด บ้านที่จ่ามนัสอาศัยอยู่ก็เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่นเก็บรักษาของเก่าหายากรวมทั้งเศษเครื่องปั้นดินเผาที่พบในบริเวณบ้านและมีหลายชิ้นที่มีลวดลายบ่อสวกให้เห็นชัดเจนลวดลายนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาของบ่อสวกเพราะมีเพียงที่นี่ที่เดียวที่ใช้ลายนี้

    ความภาคภูมิใจของจ่ามนัสที่เก็บรักษาเตาโบราณและเปิดให้ชมกันแบบฟรีๆ ก็นำมาซึ่งความปิติที่สุดในชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทัศนศึกษาที่นี่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทัศนศึกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 และทรงลงพระภิไธยบนไหดินเผา พระราชทานให้ตั้งแสดงอยู่ ที่พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น

    ทฤษฏีและประวัติศาสตร์สำหรับหนุ่มๆ สาวๆ อย่างพวกเราปกติช่างเป็นเรื่องน่าเบื่อ พอมาฟังเรื่องราวของเตาเผาโบราณที่นี่รู้สึกเพลินดีไม่น่าเบื่อเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่เคยไป เพราะจ่ามนัสใช้ภาษาง่ายๆ ในการบรรยายเรื่องราวยาวๆ ของเตาและเศษกระเบื้องทีละชิ้นๆ เราก็ฟังไปเรื่อยๆ เดินดูของใช้เก่าๆ ที่หาดูยากแสนยากขึ้นทุกวันๆ จนทั่วบ้าน สมควรแก่เวลาเราก็ร่ำลาจ่ามนัสไปที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาชุมชนบ่อสวก ณ จุดนี้มีแม่ๆ หลายคนรอต้อนรับเราอยู่แล้วพร้อมด้วยขนมเปียกปูนกะทิสด ขนมกล้วย และน้ำอัญชันเย็นๆ พวกเราพอเห็นขนมก็เป็นอันปรี่เข้าใส่โดยไม่ต้องบอก คนที่มาเป็นคู่ๆ ก็ป้อนขนมกันจนน่าอิจฉา

    ขนมเปียกปูนกะทิสดที่เอาให้เรากินรองท้องก่อนที่จะได้เรียนรู้และลงมือปั้นหม้อปั้นไหนี่มันอร่อยเสียนี่กระไร หลายคนเลยใช้เวลาอยู่กับขนมแล้วยังขอเพิ่มกิจกรรมบ้านบ่อสวกเป็นการทำขนมเปียกปูนกะทิสดอีก 1 รายการซะงั้น ไม่แน่ว่าใครที่มาคราวหน้าอาจจะมีกิจกรรมทำขนมให้เลือกด้วยก็เป็นได้กินไปไม่ต่ำกว่าคนละสองกระทงนะถ้าจำไม่ผิดเพราะดูเหมือนไม่มีใครไม่ขอเบิ้ลเลยนี่ อิ่มแล้วก็ได้เวลาที่เราจะลงมือปั้นหม้อแต่ไม่ได้รอผัวนะเพราะผัวมาด้วยกันทุกคน 555 แม่ๆ จะสอนวิธีการปั้นด้วยการทำให้ดูก่อน จากนั้นจะแจกดินคนละก้อนแล้วก็ลงมือปฏิบัติ ตอนแรกๆ นั่งดูก็เหมือนจะง่ายเอานิ้วจิ้มลงไปดินมันก็ค่อยๆ สูงขึ้นมาเอง แต่พอทำจริงๆ บอกเลยว่าไม่ใช่อย่างงั้นกว่าจะควบคุมมันได้ใช้เวลานานทีเดียวสุดท้ายบางคนก็สำเร็จส่วนบางคนก็พัง ดินที่พังระหว่างการปั้นจะเอามาปั้นไม่ได้แล้วต้องทิ้งให้แห้งเอาไปบดไปโม่ผสมมาใหม่เลยเพราะงั้นถ้าพลาดก็ถือว่าพลาดได้แค่หนเดียว

    หลังจากที่การปั้นประสบความสำเร็จก็ถึงขั้นตอนการติดลายบ่อสวกเข้าไป ลายบ่อสวกก็ได้จากการเอาดินไปกดลงแม่พิมพ์ออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ ติดเข้าไปใช้การประสานด้วยน้ำแต่การติดต้องทำก่อนที่ดินทั้ง 2 มันจะแห้งถือว่าเป็นงานปราณีตและต้องใจเย็นมากเพราะช่วงนั้นดินมันยังนิ่มมากจับหนักมือไปหน่อยก็เป็นอันบิดเสียทรงได้เลย

    กว่าจะปั้นหม้อปั้นไหกันได้ใบเล็กๆ ใช้เวลากันนานเอาเรื่องอยู่ จนมาถึงช่วงเวลาของมื้อกลางวัน ออกเดินทางจากศูนย์เรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาไปที่บ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านไม้หลังใหญ่เก่าแก่ที่สุดในหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกบ้านหลังนี้ว่า เฮือนสองผี ก็แปลตรงตัวว่าบ้านสองผี เออน่ารักดี เอ๊ยย ไม่ใช่ น่ากลัวมากต่างหาก ไหงบ้านหลังนี้ต้องชื่อแบบนี้กันด้วยละ ทุกคนไม่เข้าใจความหมายที่มาของชื่อบ้านแต่ก็เดินขึ้นบ้านตามคำเชิญของเจ้าของบ้านแต่โดยดี ขึ้นไปเสร็จหาที่นั่งแล้วโตกมื้อกลางวันก็ค่อยๆ ทยอยมาวางจัดเป็นกลุ่มก้อนโตกละ 4-5 คน กับข้าวเรียบง่ายสไตล์ชุมชนแต่อร่อยนะขอบอกไว้ก่อน ก่อนที่เราจะลงมือจัดการอาหารสาวน้อยวัย 19 ปี ทายาทเจ้าของบ้านรุ่นล่าสุด ณ เวลานี้ มาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ว่า เดิมทีเดียวบ้านนั้นมีหลังใหญ่หลังเดียวต่อมาสามีพบว่าภรรยาตนเองเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำรักษาไม่หายขาด ชาวบ่อสวกและหลายพื้นที่ในจังหวัดน่านที่นับถือพุทธและผีจึงได้ทำพิธีการที่เรียกว่าการเข้าทรง ได้วิธีการรักษาภรรยาจากร่างทรงบอกไว้ว่าให้สร้างบ้านอีกหลังหนึ่งขึ้นมาเหมือนเป็นบ้านแฝดกับหลังที่มีอยู่ ณ เวลานั้น สามีก็สร้างบ้านแฝดหน้าตาเหมือนกันขนาดเท่ากันหันหน้ามาต่อกันเป็นเรือนแฝดจากนั้นภรรยาก็หายจากอาการเจ็บป่วยอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือที่มาของเฮือนสองผี

    เมื่อเข้าใจความหมายประวัติของบ้านหลังนี้กันแล้วก็ได้เวลาอาหารของเราซะที เด็กๆ ในหมู่บ้านมารวมตัวกันเพื่อที่จะทำการแสดงให้เราชมระหว่างกินข้าว เรียกการแสดงนี้ว่า ฟ้อนแง้น หรือฟ้อนแหงน นั่นเอง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมแสดงให้แขกบ้านแขกเมืองได้ชม ท่าทางในการฟ้อนคือการทำท่าเหมือนสะพานโค้ง แต่ที่มันยากกว่าสะพานโค้งธรรมดามันอยู่ตรงที่ระหว่างทำตัวอ่อนโค้งมาข้างหลังเรื่อยๆ ต้องรำไปด้วยไม่ใช่โค้งลงมาแล้วจบกัน เหนือไปกว่านั้นตอนขึ้นต้องค่อยๆ รำแล้วกลับขึ้นไปตัวตรงตามปกติอย่างช้าๆ เด็กๆ ที่นี่จะได้เรียนการฟ้อนแง้นตั้งแต่ยังเด็ก วันนี้เราได้เห็นคนอายุน้อยที่สุดที่ฟ้อนท่านี้ได้เพิ่งจะอายุ 7 ขวบเอง น่ารักมากและบอกเลยว่าสุดยอดจริงๆ ดูภาพนิ่งคงไม่เข้าใจความรู้สึกตรงนั้นเหมือนตาเห็นแน่ๆ
    เราพูดคุยกับเจ้าของบ้าน แม่อุ้ยดี อายุ 86 ปี ยังพูดคุยได้อยู่ แต่ถ้าถามอายุบางทีแกตอบไม่ค่อยมั่นใจ ขึ้นๆ ลงๆ เพราะความจำไม่ค่อยดีแล้วนั่นเอง บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นก่อนมีอายุ 90 ปีแล้ว ที่นี่นอกจากเป็นที่ที่เหมาะจะมากินข้าวเที่ยงแล้วยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ด้วยนะ (ในกรณีที่อยากจะลองพักดูอะนะ เวลาเช็คอินบอกด้วยว่าอยู่บ้านสองผี อิอิ เพื่อนจะได้อยากมามั่ง เจออะไรก็มาบอกกันบ้างละ 555)
    อิ่มหนำสำราญแล้วนี่ได้เวลาที่จะเดินทางกันต่อแล้วละ เจ้าของบ้านและเด็กๆ ที่มาแสดงวันนี้เดินลงมาส่งที่บันไดบ้านถ่ายรูปหมู่กันจากนั้นเราก็ต้องลาไปที่อื่นกันต่อ

    สถานที่ที่เราจะมาชมกันที่แรกของช่วงบ่ายวันนี้ก็คือ กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง เป็นอาคารหลังใหญ่แล้วก็มีหลังเล็กๆ แยกไปเป็นโชว์รูม ในอาคารหลังใหญ่ที่ว่าเหมือนเป็นโรงงานทอผ้าแบบทอมือมีกี่เรียงเป็นแถวเต็มไปหมดคนที่ว่างจากการทำนาทำสวนจะมาทอผ้าเป็นรายได้เสริมที่นี่ ผ้าที่นี่เป็นผ้าฝ้ายเราก็จะได้เห็นขั้นตอนต่างๆ กว่าจะสำเร็จมาเป็นผ้าฝ้ายสักผืนอย่าให้เล่าละเอียดเลยเนาะมาดูเองเหอะแล้วลองคิดดูว่าถ้าเรานั่งทอแบบนี้เราจะขายผืนละเท่าไหร่ แต่ละผืนช่างใช้เวลานานซะเหลือเกิน

    ที่กลุ่มทอผ้าเราสามารถไปทดลองทำได้ทุกขั้นตอนชาวบ้านที่นี่ยินดีที่จะสอนให้ให้เราลองไปทำด้วยตัวเอง กิจกรรมง่ายๆ อันหนึ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือการทำผ้ามัดย้อม เอาผ้าฝ้ายสีขาวมามัดเป็นรูปอะไรก็ว่ากันไปมัดให้แน่นแล้วก็เอาไปโยนลงในหม้อย้อมผ้ากว่าจะเสร็จใช้เวลา 2 ชั่วโมง เอาออกมาซักล้างสีที่ย้อมออกไปการซักก็ต้องหลายน้ำหน่อยไม่งั้นเอาไปบ้านซักรวมกับอย่างอื่นสีจะตก หรือใครอยากจะลองทอผ้าดูก็ได้นะจะมีคนคอยสอนแต่ดูเหมือนว่ากว่าจะทอได้สักทีจะกินเวลาไปเยอะเลยคงไม่เหมาะกับพวกเราเป็นแน่กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวงใช้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้ในการย้อมแต่ละสีอาจจะไม่สดใสเหมือนสีย้อมผ้าเคมีแต่ก็รักษาธรรมชาติไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

    ต่อจากการเรียนรู้เรื่องทอผ้าเรายังคงมีกิจกรรมอีกเยอะเรียกว่ามาเที่ยวทริปนี้มันสนุกคุ้มจริง เราเดินทางมาที่ศูนย์ประสานงานโฮมสเตย์ตำบลบ่อสวกที่นี่มีแม่อรุณรอต้อนรับเราอยู่ด้วยอุปกรณ์การทำอาหารหลายอย่างทีแรกไม่รู้เลยว่าเราจะมาทำอะไร จนแม่อรุณมาอธิบายเครื่องปรุงว่าจะทำเป็นไส้อั่ว แหม่ แจ่มเลย มาเที่ยวภาคเหนือไม่ว่าไปจังหวัดไหนก็เป็นอันจะได้กินไส้อั่วจะอร่อยมากอร่อยน้อยก็ว่ากันไปแต่อย่างน้อยต้องมีสักมื้อเพราะไส้อั่วเป็นอาหารประจำถิ่นของคนเหนือ เราก็กินกันมานานแสนนานไม่เคยรู้ว่ากระบวนการมันทำมายังไง วันนี้เราเลยสนุกเป็นพิเศษเพราะจะได้ทำไส้อั่วกินเอง เท่าที่เห็นเครื่องปรุงดูก็ไม่เห็นจะมีอะไรมากนี่มาหาซื้อทำเองที่บ้านเราก็น่าจะได้ เครื่องมือจริงๆ คือไม้สำหรับอัดหมูให้เข้าไปในใส้หมูมีขวดน้ำเอามาปาดทำกรวยให้มันใส่เข้าไปง่ายหน่อยแค่นั้นเอง ใช้เวลาไม่นานทุกคนก็มีไส้อั่วเป็นของตัวเอง ทีเด็ดของเมนูนี้คือเราได้เอาไส้อั่วที่ทำใหม่ๆ วางไปบนเตาติดไฟอ่อนๆ ย่างแล้วก็หั่นๆ กินเลย ปกติเวลาเราซื้อมากินจากตลาดก็ว่าอร่อยแล้ว ไม่เคยรู้จริงๆ เลยว่าไส้อั่วสดเสร็จใหม่ๆ มาย่างกินเลยแบบนี้มันอร่อยกว่าที่ตลาดซะอีกไม่เชื่อจะลองทำดูสักทีก็ได้นะแล้วมาบอกด้วยว่ามันต่างกันอย่างที่เล่ามั้ย

    ปกติกิจกรรมการทำไส้อั่วใช้เวลาไม่นานแต่พอได้ชิมทำให้เราติดอยู่ที่บ้านแม่อรุณนานกว่าที่กำหนดเวลาไว้ ก็มันอร่อยยยย อะ ต่อจากนั้นยังไม่หมดเราเดินทางต่อไปยังกิจกรรมสุดท้ายที่สวนเกษตรอินทรีย์ป๋านึก สวนเกษตรอินทรีย์ที่เกิดจากความมานะอุตสาหะโดยแท้ ป๋านึกใช้เวลานานกว่า 10 ปีในการเปลี่ยนสภาพดินที่เป็นสีขาวเพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ผลมาเป็นดินที่ดีจนมีสวนขนาดใหญ่สร้างรายได้อย่างงดงามอย่างทุกวันนี้ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และความอดทน ที่นี่มีมะนาวหลายต้น มีมะพร้าวมากมาย และผักสวนครัวหลายแปลงปลูกผักสำหรับจะกินเป็นอาหาร เป็นสวนผสมผสานขนานแท้ มะพร้าวที่นี่ต้นไม่สูงแต่ถ้ามองขึ้นไปจะเห็นว่ามีลูกมะพร้าวดกมากๆ พี่อุ้มเก็บมะพร้าวมาเปิดให้เรากินสดๆ จากสวนหวานชื่นใจ แล้วยังมีน้ำมะนาวให้เราชิมสูตรเปรี้ยว และหวานอมเปรี้ยว หายเหนื่อยกันเรียบร้อยต้อนนี้พี่อุ้มก็จะลงมือสอนการทำลูกประคบจากสมุนไพรไม่กี่อย่างที่ปลูกเองที่สวนผสมกับการบูรที่ซื้อมาจากตลาดมามัดรวมกันเป็นลูกประคบกลมๆ ปกติลูกประคบแค่เอาใส่ห่อผ้าแล้วมัดให้แน่นก็ใช้ประคบได้แต่ถ้าจะแสดงฝีมือและความประณีตของเจ้าของต้องมีกระบวนการมัดที่สวยงามเพราะลูกประคบพอทำเสร็จแล้วมันสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน นอกจากประโยชน์จะเอามาประคบให้คลายปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว สมุนไพรที่ประกอบอยู่ในลูกประคบเอามาวางในห้องนอนทำให้หลับสบายได้ด้วย จะเอามาทำเป็นรายได้เสริมก็สบายมาก
    เอาละนะ วันเดียวเที่ยวกันกระจายขนาดนี้ที่จริงก็เริ่มจะเพลียๆ กันแล้วละ ดีนะว่ามาจบที่การทำลูกประคบจะให้ดีอยากเอาลูกประคบที่มัดกับมือมาประคบให้ทั่วตัวซะจริงๆ แต่ก็เอาละได้ลูกประคบกลับบ้านกันเป็นฝีมือตัวเองแท้ๆ แล้วไว้ถึงบ้านค่อยหาคนมาช่วยประคบก็ยังได้

    คิดไม่ถึงเลยว่าวันเดียวชุมชนเดียวเราจะเที่ยวได้ขนาดนี้ มันส์กันทั้งวันสนุกจริงๆ บ้านบ่อสวก นี่มีเวลาวันเดียวนะถ้ามาอีกรอบคงหาบ้านโฮมสเตย์พักสักที่แล้วเที่ยวให้มากกว่านี้แน่ๆ สำหรับคนที่สนใจจะมาลองบ้างไม่ยากเลย โปรแกรมแต่ละอย่างที่เล่ามาเลือกตามใจชอบจะตัดจะเพิ่มอะไรตรงไหนได้หมดแต่อย่างที่บอกเลยว่าราคาเค้าตามโปรแกรม จะมามากมาน้อยลองโทร.มาคุยกันก่อนได้ ย้ำที่ติดต่ออีกครั้งหนึ่ง แล้วมาลองกันนะ เที่ยวชุมชนโดยคนในชุมชนแล้วจะติดใจ
เฟสบุ๊ค อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน
https://www.facebook.com/dastananthailand/
โทร. 054-771-077, กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ่อสวก โทร. 081-028-9051 (พี่พงศ์)

จำนวนผู้ชม 23407 คะแนน 9  ให้กำลังใจคนเขียนทริปนี้ คลิก...>>
กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ

แผนที่ขับรถเที่ยว ชมเกษตรอินทรีย์

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com