Notice: Undefined index: ses_user in /home/touronth/domains/touronthai.com/public_html/roadtrips/tripview.php on line 5
ตามตำนานผีตาโขน ฉบับถึงแก่นเส้นทางขับรถเที่ยวเอง ทัวร์ออนไทยดอทคอม

www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เส้นทางขับรถเที่ยว >> ตามตำนานผีตาโขน ฉบับถึงแก่น

ตามตำนานผีตาโขน ฉบับถึงแก่น

งานผีตาโขน หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน มีความเป็นมาอันยาวนานจนยากจะนับอายุของประเพณีนี้แล้ว ทุกวันนี้คนที่รู้จักงานผีตาโขนก็คงจะรู้เพียงว่า ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม จะมีการแห่ขบวนผีตาโขนใส่หน้ากากสีสันสวยงาม แต่งตัวด้วยผ้าหลากหลายสีเดินตามกันเป็นแถวยาวๆ ดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจแล้วก็มาเที่ยวชมถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนานกันไป หลายปีก่อนทัวร์ออนไทยเองก็เดินทางไปอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลยเพื่อถ่ายรูปผีตาโขนเหมือนกัน จวบจนวันนี้ ความสงสัยเกิดขึ้นในใจจนอยากจะหาคำตอบเต็มทีแล้ว ว่าแท้จริงแล้ว ผีตาโขนเป็นมายังไง มีขั้นตอนอย่างไร แต่งตัวมาแห่อย่างเดียวกระนั้นหรือ

    จึงบังเกิดเป็นทริปเส้นทางขับรถเที่ยวงานผีตาโขนฉบับถึงแก่น ทริปนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะตามดูกระบวนการความเป็นมาเป็นไปและพิธีกรรมต่างๆ จนมาเป็นขบวนแห่ผีตาโขนให้เราได้เห็นกัน

    เริ่มต้นทริป ออกเดินทางจาก กทม. สู่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย วันที่ 5 กรกฎาคม เป็นวันเดินทางของเรา เส้นทางสายนี้ยาวนัก วันแรกวางแผนไว้เลยว่าต้องเดินทางอย่างเดียว เก็บตกข้างทางได้ไม่มาก เข้าถึงที่พักซึ่งแน่นอนว่าหาที่พักในด่านซ้ายไม่ได้เอาซะเลย เลยต้องนอนที่ภูเรือ รีสอร์ทเปิดใหม่ไม่นานนี้ ชื่อ ภูเรือแซงจูรี ทำเลดีห้องพักเยี่ยมพร้อมสระว่ายน้ำ แล้วยังไม่ไกลจากด่านซ้ายมากเกินไป ระหว่างทางจากกรุงเทพฯ แวะเติมพลังงานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารเมืองหล่ม 

ที่นี่อาหารหลายอย่างมากมายให้เราเลือกตามชอบ แต่เด็ดๆ เด่นๆ เห็นทีว่าไม่สั่งไม่ได้คือ ไก่คั่วงา กับขาหมู ต้องลองนะครับ

    อิ่มสบายท้องกันแล้วเดินทางต่อได้ จากเพชรบูรณ์มุ่งหน้าจังหวัดเลยเป็นเส้นทางที่เหมาะสุดแล้วถ้าเราเดินทางจากกรุงเทพฯ ระยะทางกำลังพอดีๆ ให้เราแวะกินข้าวเที่ยงได้อย่างพอเหมาะ พอจะเข้าเขตจังหวัดเลย อำเภอด่านซ้าย เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มากๆ อยู่บนเขาช่วงป้ายที่เขียนว่าวัดเครือหงษ์ เลยเลี้ยวเลาะตามเส้นทางที่น่าจะใช่ขึ้นไปบนเขาเตี้ยๆ ในที่สุดก็มาถึง พระเจ้าใหญ่อัมรินทร์นิรมิตพิชิตมาร (ในกูเกิลแมพเขียนว่า อุทยานชินราชสมเด็จองค์ปฐมรัชกาลที่ ๙ เป็นอันว่าน่าจะมีหลายชื่อก่อนที่จะมาลงตัวที่ชื่อปัจจุบัน) 

    สักการะองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่บนเขาแล้วเราก็เดินทางต่อ ขอพรพระท่านรักษาให้เดินทางไปโดยสวัสดิภาพ

    จากนั้นเข้าเขตที่ใกล้จะถึงตัวเมืองด่านซ้ายแวะเก็บภาพผีตาโขนที่จุดชมวิวด่านซ้ายตามธรรมเนียมของนักเดินทาง

ถึงด่านซ้ายแล้วมุ่งหน้ามาวัดโพนชัยกันหน่อย ที่นี่กำลังเตรียมความพร้อมของงานผีตาโขนที่จะจัดกันในวันพรุ่งนี้ ในวัดมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือเรียกกันว่าพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนให้เราเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของผีตาโขนได้ด้วย

    วันต่อมาของงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เวลาประมาณเกือบๆ ตี 4 จะมีพิธีกรรมที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายไม่รู้ เริ่มขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 6 กรกฎาคม นับเป็นวันที่สองของการจัดงานบุญหลวงฯ เราออกจากที่พักที่ภูเรือแซงจูรี ตั้งแต่ตี 3 ครึ่ง มาถึงวัดโพนชัย เจ้าพ่อกวนมอบให้คณะพ่อแสนมาบวช พราหมณ์ ชีพราหมณ์ รับศีลแปด แล้วแห่จากวัดโพนชัยไปแม่น้ำหมันบริเวณตรงจุดที่บรรจบกันระหว่างแม่น้ำอุ่นกับแม่น้ำศอก เรียกกันว่าปากน้ำศอก (อยู่ช่วงรอยต่อบ้านเดิ่นกับบ้านเหนือ) จะมีพิธีการนำพระครุฑ (พระอุปคุต) ขึ้นมาจากน้ำ ช่วงเวลานี้เกิดฝนตกลงมา แต่พิธีกรรมยังคงดำเนินต่อเนื่อง ชาวบ้านและคณะพ่อแสนยังคงเดินจากวัดไปยังลำน้ำ พ่อแสนเมืองจันทร์ งมลงไปในน้ำ 3 ครั้ง จึงได้พระครุฑ (ในพิธีการใช้หินจำลองสมมติว่าเป็นพระอุปคุต) งมขึ้นมาริมฝั่งแล้วเชิญเจ้าแสนเมืองตามมาด้วย พ่อแสน และชาวบ้านแห่มาที่วัดโพนชัย ทำพิธีเชิญพระอุปคุตขึ้น 4 ทิศ รอบๆ โบสถ์ 

    เสร็จแล้วทำพิธีการแห่พระอุปคุตรอบโบสถ์ 3 รอบ ก่อนที่จะอัญเชิญเข้าไปในโบสถ์ รวมเวลาในการประกอบพิธีการนี้ร่วมๆ 2 ชั่วโมง

    การแห่พระอุปคุตนั้นด้วยความเชื่อว่า พระอุปคุตเป็นพระโสดาบันมีอิทธิฤทธิ์ ในการปราบเหล่ามารที่มักจะเข้ามาขัดขวางพิธีการในศาสนา การบำเพ็ญกุศลต่างๆ เมื่อมีการอัญเชิญพระอุปคุตให้ร่วมในพิธีการมงคลกุศลบุญใหญ่แล้ว การประกอบบุญกุศลนั้นก็จะสำเร็จลุล่วงลงไปตามเป้าประสงค์ด้วยดีไม่มีอุปสรรคใดๆ ขัดขวางนั่นเอง

    เสร็จสิ้นพิธีการแห่พระอุปคุต จะมีการจัดงานพิธีอีกอย่างหนึ่งที่บ้านเจ้าพ่อกวน

    เวลาประมาณ 09.00 น. เป็นพิธีการบายศรีสู่ขวัญ และการผูกข้อมือหรือเรียกกันว่าผูกแขนเจ้าพ่อกวน ชาวบ้านทั้งหลายมารวมกันที่บ้านเจ้าพ่อกวน ร่วมพิธีสำคัญในวันนี้ เสร็จสิ้นพิธีการบายศรีสู่ขวัญผูกแขนแล้ว ชาวบ้านและผีตาโขนส่วนหนึ่งจะร้องรำทำเพลงอยู่ด้านล่างหน้าบ้านเจ้าพ่อกวน รอจนได้เวลาจะเคลื่อนขบวนแห่จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปที่วัดโพนชัย เพื่อทำพิธีต่อที่วัด ส่วนบนเวทีการจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนจะมีการเปิดงานก่อน และพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันแห่อีกครั้งหนึ่ง

    แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่ฝนฟ้าไม่เป็นใจ (สำหรับบรรดาช่างภาพและนักท่องเที่ยว เพราะฝนที่ตกลงมาตามความเชื่อแล้วเมื่อมีการจัดงานผีตาโขนควรจะมีฝนตกเพราะเป็นประเพณีที่ขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเพื่อการทำนาทำไร่ของชาวบ้าน) ทั้งผีตาโขนและชาวบ้านที่มาร่วมในงานบ้านเจ้าพ่อกวน ร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานตามประสาของงานประเพณีของชาวอีสาน ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาไม่หยุดก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ที่จะทำให้เลื่อนหรือยกเลิกงานประเพณีนี้ลงไปได้เลย

    ขบวนแห่ผีตาโขนโบราณของเจ้าพ่อกวนเดินทางถึงวัดโพนชัย พิธีเปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน 2559 เริ่มขึ้นที่นี่โดยมี คุณน้ำผึ้ง-ม.ล.สราลี กิติยากร เป็นประธานเปิดงาน (รายการเที่ยวละไมไทยแลนด์เวิลด์ ถ่ายทำตลอดงาน) 

    เสร็จสิ้นพิธีการเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็หิวละครับ มาด่านซ้ายก็ต้องหาอาหารอีสานกินมันถึงจะใช่ ความแซ่บของอาหารอีสานหรือที่ชาวท้องถิ่นใช้คำว่า นัว หรือรวมกันว่าแซ่บนัว นี้แหละหนาที่เราต้องการ แนะนำร้านนี้เลยครับคร้วเจ้น้อยส้มตำ เมนูหมูย่าง ไก่ย่างและส้มตำ โดยเฉพาะส้มตำที่เป็นอาหารถิ่นของที่นี่ไม่ควรจะพลาด คือส้มตำน้ำผักสะทอน เป็นผักชนิดหนึ่งขึ้นตามป่าเอาใบมาสกัดเอาแต่น้ำนำมาปรุงอาหารได้ทุกชนิด หากินที่อื่นได้ยากต้องมาที่นี่เท่านั้น

เจ้น้อยส้มตำ

    อิ่มอร่อยกันไปครับ แล้วก็ออกเดินทางกันต่อไป ช่วงบ่ายของวันนี้แทบจะไม่มีอะไรแล้ว ทุกคนกลับเข้าที่พักเพื่อพักผ่อนชดเชยกับการตื่นตี 3 ตอนเช้ามืด นอนตลอดช่วงบ่ายพอฟื้นคืนชีพได้แล้วทุกคนก็พร้อมที่จะออกมาสังเกตุการณ์ที่งานผีตาโขนในช่วงหัวค่ำ ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากเหล่าบรรดาผีๆ จะออกมารวมตัวกันที่เวทีใหญ่เต้นรำกันสนุกสนานเหมือนเป็นการเรียกแขก คนที่นี่ก็ออกมาสนุกกับผีตาโขนด้วย นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมงานนี้จากแดนไกลก็จะได้มีกิจกรรมสนุกๆ ทำไปด้วย

    เช้าวันแห่ของงานผีตาโขน เป็นวันสำคัญที่สุดที่ทำให้ภาพผีตาโขนแพร่กระจายไปทั่วโลก เล่ามาตั้งนานนี่เพิ่งถึงไฮไลท์ของงาน เห็นแล้วสิว่ากว่าจะมาเป็นผีตาโขน นี่มันไม่ใช่ง่ายๆ แต่งตัวแล้วก็มาเดินๆ ให้เราถ่ายรูปอย่างเดียวเท่านั้นนะนี่ งานนี้มาจากความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานผ่านกาลเวลากันมาหลายชั่วอายุคน ก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย จากผีตาโขนที่แลดูโทรมๆ ก็กลายมาเป็นหน้ากากที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส เสื้อผ้าสวยงามละลานตา วันแห่จะมีพิธีการเปิดงานอย่างเป็นทางการ และการแสดงของเด็กๆ ที่น่ารักๆ ความสามารถเกินวัย แสดงเป็นแบบ 2 ภาษา จนผู้ใหญ่อึ้งในความเก่งของเด็ก จากนั้นจะเริ่มต้นการแห่ด้วยขบวนเจ้าพ่อกวนเดินทางมาจากบ้านแห่มาถึงบริเวณพิธี ต่อจากนั้นก็จะขึ้นม้านำขบวนแห่ผีตาโขนไปยังวัดโพนชัย บรรยากาศก่อนการแห่ ระหว่างการแห่ จนเสร็จสิ้นขบวนแห่ทั้งหมด ชาวบ้านทั้งจากใกล้และไกลเดินทางมาร่วมชมเบียดเสียดกันแน่นเป็นประจำทุกปี ปีนี้ฝนตกลงมาเกือบตลอดทั้งวันแต่ก็ไม่ทำให้คนน้อยลงไปเลยขบวนเหล่าผีๆ ก็ยังคงเต็มที่กับการร้องเล่นเต้นกระโดดให้เราได้เก็บภาพสุดประทับใจกลับบ้านกันถ้วนหน้า

    ขบวนต่างๆ เคลื่อนผ่านบริเวณเวทีไปอย่างช้าๆ มุ่งหน้าไปที่วัดโพนชัย การแสดงต่างๆ ของแต่ละขบวนก็ยังคงแสดงกันต่อไปกลางสายฝนที่ชุ่มฉ่ำ คนดูก็กางร่มบ้าง ใส่เสื้อกันฝนบ้าง ตากฝนบ้าง สมกับเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศจริงๆ

    จบจากงานแห่ ที่สวยงามประทับใจไปแล้ว เราก็ออกเดินทางไปเติมท้องมื้อเที่ยง มื้อนี้ยกให้ร้านป้าวัลย์ อาหารอีสานสไตล์แซ่บ มื้อนี้พิเศษหน่อยเพราะเรามีแขกสำคัญเพิ่มมาอีก 2 ที่ คือนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน Katie และ Lyncsay เดินทางมาชมงานผีตาโขนที่บ้านเราแต่ไม่รู้ว่าที่พักที่นี่จะหายากในช่วงวันงาน จองที่พักเอาไว้ก็ไกลรถจะไปส่งก็ไม่มี โชคดีที่มาเจอพวกเราเลยติดสอยห้อยตามกันมาจนจบทริป 

    หลังมื้อกลางวัน สำหรับงานผีตาโขนแล้วเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่จะว่างกันยาว สำหรับคนมาเที่ยวงานแห่ผีตาโขนนึกว่าจบงานไปแล้วก็เดินทางแยกย้ายกันไปเที่ยวที่อื่นๆ กันต่อ แต่สำหรับชาวด่านซ้าย ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนเพิ่งจะผ่านมาได้ครึ่งเดียว หลังจากนี้จะมีงานพิธีกันต่อที่วัดโพนชัย เวลาประมาณบ่าย 3 โมง จะมีการแห่พระหามมาบนแคร่ ปิดท้ายด้วยเจ้าพ่อกวนนั่งมาบนบั้งไฟจำนวนหลายบั้งเป็นภาพที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลย ไม่เคยรู้ด้วยว่านี่คือส่วนหนึ่งของงานผีตาโขน ก่อนจะถึงเวลานั้นเราก็ไปดูขั้นตอนการทำหน้ากากผีตาโขนที่บ้านช่างจุก ช่างจุกทำหน้ากากผีตาโขนเป็นอาชีพเสริมหลังๆ นอกจากทำหน้ากากขายก็มีการทำเป็นตุ๊กตาเต็มตัวเป็นของฝากของที่ระลึก หน้ากากขนาดใหญ่ก็ยังทำอยู่ แต่ส่วนมากผีตาโขนยุคหลังๆ จะไม่เปลี่ยนหน้ากากเลยไม่ได้ขายให้ผีใส่ คนมาเที่ยวซื้อกลับไปมากกว่า

    จากนั้นก็มาเดินเตร็ดเตร่หน้าวัดโพนชัยรอเวลาขบวนแห่เจ้าพ่อกวนจะเคลื่อนมาที่วัด

     ขบวนแห่ทั้งหมดเคลื่อนเข้าไปที่วัดโพนชัย จะมีการแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ ระหว่างการแห่ก็จะมีการเขย่าแคร่พระและบั้งไฟเจ้าพ่อกวน ไม่แตกต่างจากงานแห่นาคโหดที่ชัยภูมิ เป็นภาพที่เพิ่งจะเคยเห็นที่จังหวัดเลยคงมีงานนี้งานเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะเจ้าพ่อกวนที่อยู่บนบั้งไฟพอจะถึงจังหวะเขย่าก็จะต้องทำท่าเหมือนขี่ม้าเพื่อทรงตัวอยู่บนบั้งไฟให้ได้ ระหว่างการแห่เจ้าพ่อกวนจะทำการโปรยทานหว่านกัลปพฤกษ์ สร้างความสนุกสนานในหมู่คนที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะก่อนเข้าโบสถ์กัลปพฤกษ์ที่หว่านเป็นแบงค์ 1000 กับแบงค์ 500 ฮือฮากันสุดขีดการแย่งชิงกันไม่ต้องบอกก็คงนึกภาพออก

    เสร็จสิ้นพิธีการแห่รอบโบสถ์ ก็จะเข้าไปทำพิธีการสวดมนต์ในโบสถ์ นั่นก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดของประเพณีนี้ หลังจากที่เจ้าพ่อกวนและคณะเข้าไปในโบสถ์เพื่อสวดทำพิธี ส่วนหนึ่งจะเดินไปหลังวัดจะมีการจุดบั้งไฟ ใช้บั้งไฟที่แห่เจ้าพ่อกวนมาที่วัดนี่แหละมาจุด มีทั้งหมด 10 บั้งก็จุดหมดทั้ง 10 บั้ง 

    สุดท้ายและยังไม่ท้ายสุด ปิดงานประเพณีการละเล่นผีตาโขน เจ้าพ่อกวนนำคณะชุดผีตาโขนไปโยนทิ้งลงลำน้ำหมัน ที่วัดโพนชัย ผู้สวมใส่ชุดผีตาโขนจะนำชุดที่ตัวเองใส่มาโยนทิ้งน้ำเพื่อเป็นการลอยทุกข์ลอยโศกต่างๆ ให้เคราะห์ออกไปจากชีวิต ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีคนเอาชุดมาทิ้งเพราะต้องการเก็บเอาไว้ใช้ในคราวต่อไป ยังคงมีเพียงการทิ้งชุดผีตาโขนบางส่วนเพื่อให้ถูกต้องตามประเพณีดั้งเดิมให้เราได้เห็นเท่านั้น ทิ้งชุดผีตาโขนลงน้ำแล้ว พระจะทำการสวดมนต์เย็น รุ่งเช้าแต่เช้ามืดก็จะมีการสวดมนต์ต่อด้วยการเทศน์มหาชาติชาดก อันเป็นส่วนหนึ่งของบุญผเหวด (พระเวสสันดร) จบเสร็จสิ้นแล้วจึงจะเป็นอันเสร็จเสิ้นประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนอย่างสมบูรณ์ 

    โอ้ เป็นแบบนี้นี่เอง ประเพณีผีตาโขนที่เราๆ ท่านๆ เดินทางไปชมความอลังการและสนุกสนาน ความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงส่วนน้อยของประเพณีอันสำคัญยิ่งนี้ พอได้มาสัมผัสแบบเต็มๆ ก็ถึงได้เข้าใจเรื่องราวของผีตาโขนได้ชัดมากขึ้น 

    ขอปิดท้ายด้วยเกร็ดเล็กๆ ที่ว่า ทำไมงานนี้เรียก "ผีตาโขน" ตามตำนานเล่าว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองบรรดา ผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน

    ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย มา ณ โอกาสนี้ ครับ

จำนวนผู้ชม 4229 คะแนน 8  ให้กำลังใจคนเขียนทริปนี้ คลิก...>>
กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ

แผนที่ขับรถเที่ยว ตามตำนานผีตาโขน ฉบับถึงแก่น

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com