www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ร้อยเอ็ด >> กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์

 กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ กู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ขณะนี้สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะให้เห็นสภาพชัดเจนสวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

    ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์

    การเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ

    ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร

    หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานขอนแก่น โทร. 0 4322 7714-5
http://www.tourismthailand.org/khonkaen

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 12403

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์ เท่าที่เคยไปเที่ยวโบราณสถานมาหลายแห่งในเมืองไทย กู่กาสิงห์นี่น่าจะเป็นที่แรกที่มีพื้นที่อาณาบริเวณอยู่ในวัด มีวัดเป็นผู้ดูแลร่วมกับนักวิชาการและชาวบ้าน และเป็นสถานที่ที่ 2 ที่เราได้เห็นว่ากำลังทำการบูรณะอยู่ โดยได้มีการเอาหินที่หักพังลงมาจากฐานปราสาท ออกมาวางเรียงไว้ตามลำดับความน่าจะเป็น นักโบราณคดีจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะให้เป็นไปตามหลักวิชาการเพื่อให้ปราสาทกลับมามีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ตอนนี้ถึงแม้ว่าจะเหลือแต่เพียงส่วนฐานและผนัง แต่กู่กาสิงห์ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นปราสาทขนาดใหญ่พอสมควรทีเดียว

โบสถ์วัดกู่กาสิงห์

โบสถ์วัดกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่เยื้องๆ กับปราสาทหิน อีกด้านหนึ่งจะมีห้องน้ำของวัด ทำให้การมาเที่ยวปราสาทหินที่นี่ไม่ต้องกังวลเรื่องห้องน้ำ

ดร.อำคา แสงงาม บรรยายประวัติกู่กาสิงห์

ดร.อำคา แสงงาม บรรยายประวัติกู่กาสิงห์ นอกเหนือจากเป็นนักวิชาการที่ทำการค้นคว้าเรื่องราวของเมืองโบราณกู่กาสิงห์ เป็นผู้ควบคุมดูแลการบูรณะปราสาทหิน และยังเป็นประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลกาสิงห์ เมื่อมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเรื่องราวของโบราณสถานนี้ อาจารย์จะทำหน้าที่บรรยายเองทั้งหมด สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.084-7897006

ชิ้นส่วนปราสาทกู่กาสิงห์

ชิ้นส่วนปราสาทกู่กาสิงห์ ปราสาทหินเมื่อมีการหักพังลงตามกาลเวลา ชิ้นส่วนจะไม่ไปไหนนอกจากว่าจะมีคนมาขนเอาไปทำประโยชน์ส่วนตัว หินชิ้นไหนหล่นลงมาทิศไหนนักวิชาการจะทำเครื่องหมายและแยกออกไว้ โดยสันนิษฐานว่ามันจะอยู่บนปราสาทด้านทิศที่มันหล่นลงมา เอามาเรียงกันให้เข้ารูปร่างมากที่สุด แล้วทำหินขึ้นมาทดแทนชิ้นที่ขาดหายไปเพื่อให้มันประกอบกลับเข้าที่เดิมได้ ฐานปราสาทที่เราเห็นอาจจะดูธรรมดาไปหน่อย แต่ถ้านำเอาชิ้นส่วนที่เรียงอยู่รอบๆ ไปประกอบกลับเข้าที่เดิมแล้ว น่าจะสวยพอๆ กับปราสาทสด๊กก๊อกธมที่สระแก้วเลยทีเดียว

    ชิ้นส่วนที่เราเห็นเรียงรายกันอยู่ข้างปราสาท เพิ่งจะถูกนำมาเรียงกันในเดือน กุมภาพันธ์ 2558 นี่เอง นับว่าเป็นปราสาทหินเพียงหลังเดียวที่เราได้มาเห็นการบูรณะตั้งแต่เริ่มแรก ข้อมูลชิ้นส่วนทุกชิ้นที่พบจะส่งให้กรมศิลปากร จากนั้นกรมศิลปากรจะส่งบุคลากรมาตรวจสอบและดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

กู่กาสิงห์

ปราสาทประธานกู่กาสิงห์

ปราสาทประธานกู่กาสิงห์ ในปราสาทหินย่อมต้องมีปรางค์หรือปราสาทที่เป็นองค์ประธานตั้งอยู่ที่ตรงกลาง แล้วมีห้องอื่นๆ อยู่รอบๆ ล้อมด้วยกำแพงอีกชั้น เป็นภาพที่เราเห็นอยู่ในทุกๆ ปราสาทหิน และที่อยู่คู่กันคือ ทับหลัง ที่เป็นแผ่นหินแกะสลักแผ่นใหญ่เหนือซุ้มประตู ทับหลังของกู่กาสิงห์ ยังมีลวดลายชัดเจนสวยงามอย่างที่เห็น ในปราสาทประธานยังมีรูปปั้นสิงห์ และแท่นฐานโยนี จากประตูหน้าของปราสาทมองตรงเข้าไปจนถึงห้องประธานประตูทุกช่องตรงกันหมดเหมือนปราสาทหินทุกแห่ง เลยกลายเป็นจุดสำหรับถ่ายรูปที่คนชอบมาถ่ายในกรอบประตู

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์

จากปราสาทประธานมีทางเดินเชื่อมไปถึงห้องที่อยู่ปีกซ้ายและขวาของปราสาท ทับหลังซุ้มประตูห้องด้านซ้ายมือก็ยังมีลวดลายสวยงามสมบูรณ์ ชาวบ้านบางคนเอาดอกไม้มากราบไหว้อยู่เป็นประจำ

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์

พิพิธภัณฑ์บ้านกู่กาสิงห์

พิพิธภัณฑ์บ้านกู่กาสิงห์ เป็นอาคารหลังเล็กๆ แต่ปิดประตูแน่นหนา ข้างในเก็บชิ้นส่วนของปราสาทหินที่พังลงมาแต่มีสภาพสมบูรณ์มาก เพื่อป้องกันคนมาขโมย ชิ้นส่วนเหล่านี้จะนำไปประกอบกลับเข้าที่ตัวปราสาทหลังการบูรณะใกล้จะเสร็จสมบูรณ์

กู่กาสิงห์

มัคคุเทศก์น้อย กู่กาสิงห์

มัคคุเทศก์น้อย กู่กาสิงห์ เหล่ามัคคุเทศน์น้อยเรียนรู้เรื่องการร่ายรำ การแสดงในงานประเพณีและโอกาสพิเศษต่างๆ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ตามโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวกู่กาสิงห์ 

    กู่กาสิงห์ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจังด้วยโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวชุมชนกู่กาสิงห์ ของอาจารย์ ดร.อำคา แสงงาม ผู้เกิดและเติบโตในตำบลกู่กาสิงห์ โดยเริ่มขึ้นประมาณปี 2548 มีโครงการมัคคุเทศก์น้อย ในปี 2545 ได้รับการสนับสนุนปีละ 50,000 - 100,000 บาท ในสมัยนั้นการท่องเที่ยวกับชุมชนเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้รับความสำคัญและความร่วมมือจากชาวบ้านเท่าที่ควร อาจารย์อำคาได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ผศ.ดร. สินธุ์ สโรบล ให้ทำโครงการโดยยึดหลักของหัวใจอนุรักษ์เป็นหลัก ให้ชาวบ้านที่เต็มใจเข้ามาให้ความร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวโดยให้เรื่องผลตอบแทนเป็นเรื่องรอง จากนั้นมาการพัฒนาการท่องเที่ยวกู่กาสิงห์ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีชาวบ้านที่เห็นผลของการทำงานเข้ามาให้ความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น โครงการมัคคุเทศก์น้อยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเสมอมา มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมมือให้การสนับสนุน เช่นสายการบินแอร์เอเซีย ได้นำเรื่องราวของชุมชนกู่กาสิงห์และโบราณสถาน ไปจัดทำโปรแกรมทัวร์ นำคณะนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว มีโครงการอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวให้ชาวบ้าน เป็นเวลา 6 เดือน มีการจัดงานกินพาแลง พร้อมชมการแสดงจากนักศึกษานาฏศิลป์ร้อยเอ็ด

    การค้นคว้าวิจัยพบฐานความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวกู่กาสิงห์ ได้แก่ โบราณสถาน 3 แห่ง, ฐานความรู้ด้านการทอผ้าไหม, พิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญาที่วัดสว่างอารมณ์, ฐานความรู้ด้านวรรณกรรม ผลงานคุณเพชร ทุ่งกุลา ผู้แต่งเพลงให้นกน้อย อุไรพร, ฐานความรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน, ฐานการตัดกระดาษลายโบราณเป็นงานตัดกระดาษเพื่อเอ้บั้งไฟ หรือตกแต่งบั้งไฟ งานตัดกระดาษด้วยกรรไกรโดยไม่ต้องวาดลายเส้นก่อน ด้วยลายกบปิ้ง และลายตากบ เป็นต้น ระยะหลังชาวบ้านนิยมจ้างทำบั้งไฟสำเร็จมาแห่ ทำให้ความรู้ด้านการตัดกระดาษโบราณค่อยๆ เลือนหายไป

    การพัฒนาสร้างพิพิธภัณฑ์อัตลักษณ์ร่วมทุ่งกุลาร้องไห้ เกิดจากความคิดที่จะรวบรวมเอาวิถีชีวิตชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ ต่างๆ ของชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ มาร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์ร่วมกัน เพราะแต่ละชุมชนมีพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำเอาความเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวทุ่งกุลาร้องไห้มารวมกันไว้ พิพิธภัณฑ์อัตลักษณ์ร่วมทุ่งกุลาร้องไห้สร้างขึ้นโดยชุมชนแต่ละชุมชน คิดกันเองว่าจะนำเอาอะไรมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่เน้นอัตลักษณ์ของชุมชน วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ประวัติศาสตร์ การโยกย้ายถิ่นฐาน บุคคลสำคัญ ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผี เพราะชาวทุ่งกุลาร้องไห้ใช้ชีวิตเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม การบูชาเซ่นไหว้ผีสางมาแต่โบราณ

    การค้นคว้าการพัฒนาการท่องเที่ยวกู่กาสิงห์ ยังทำให้อาจารย์ อำคา ร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูประเพณีโบราณที่เรียกว่า สรงกู่ เป็นงานประเพณีในช่วงใกล้วันสรงกรานต์ แต่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน การสรงกู่คือการนำเอาน้ำอบมาสรงโบราณสถาน ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นภูมิบ้านภูมิเมือง ตั้งแต่ครั้งที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ กู่ เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในสมัยนั้น ประเพณีสรงกู่ จัดขึ้นในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ในบางปีก็ตรงกับวันที่ 18 บ้าง 25 บ้าง ทางราชการเห็นว่าเป็นการจัดงานซ้ำซ้อนจึงยุบเอาประเพณีสรงกู่มารวมกับสรงกรานต์ อาจารย์ได้ประชุมกับชาวบ้านเมื่อปี 2550 เพื่อที่จะแยกการจัดงานสรงกู่ออกมาให้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตามเดิม

    เมื่อชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวกู่กาสิงห์อย่างเข้มแข็งเพราะไม่หวังผลเป็นตัวเงิน แต่มุ่งเน้นการอนุรักษ์โบราณสถานและความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นหลัก ทุกคนที่มาเที่ยวกู่กาสิงห์จึงได้เห็นภาพชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจ ให้บุตรหลานเข้าร่วมโครงการมัคคุเทศก์น้อยเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้กำลังฝึกฝนการร่ายรำเพื่อแสดงในงานต่างๆ ของกู่กาสิงห์

มัคคุเทศก์น้อย กู่กาสิงห์

มัคคุเทศก์น้อย กู่กาสิงห์ ทุกวันนี้มีนักเรียนในหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30 คนแล้ว มาเที่ยวกู่กาสิงห์ รับรองว่าได้เจอน้องๆ พวกนี้แน่นอนครับ

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์

มุมสวย กู่กาสิงห์

มุมสวย กู่กาสิงห์ จบเรื่องราวทางวิชาการหนักๆ มาพักกับการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเก๋ๆ กันบ้าง เดี๋ยวจะเครียดเกินไป ขอขอบคุณนางแบบ น้องพลอย และพี่ป้อม มากครับ

สุดท้าย ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น , กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ อาจารย์ ดร.อำคา แสงงาม มา ณ โอกาสนี้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ กู่กาสิงห์ ร้อยเอ็ด
โรงแรมบัลลังก์ รีสอร์ตแอนด์สวิมมิงพูล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thiptawan Guesthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมศรีทองกุล ริเวอร์ไซด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  46.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมโอเอซิส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  60.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
มณีรัตน์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  68.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
ก้านกล้วย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  72.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านกุลา ร้อยเอ็ด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  83.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ไนน์ โฮเต็ล ร้อยเอ็ด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  83.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิ แอมเบอร์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  83.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
111 Mansion Roiet เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  83.41 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com