www.touronthai.com

หน้าหลัก >> มุกดาหาร >> อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

 เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทยมีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล(ทางหลวงหมายเลข 2034) แยกเข้าทางขวามืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถจากกรุงเทพฯไปลงที่สถานีขนส่งมุกดาหาร และต่อรถสองแถว (สีเหลือง) ค่าโดยสารประมาณ 5 บาทไปลงที่ตลาดพรเพชร แล้วต่อรถสองแถวสายมุกดาหาร – ดอนตาล ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท ลงที่ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบหรือบอกให้คนขับรถเข้าไปส่งที่อุทยานฯก็ได้

 ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกัน แบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานฯประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเสและยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครพนม (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) 0 4251 3490-1
http://www.tourismthailand.org/nakhonphanom

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 19867

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ยินดีต้อนรับสู่ภูผาเทิบ

ยินดีต้อนรับสู่ภูผาเทิบ กลุ่มหินที่มีรูปร่างแปลกประหลาดอันเกิดขึ้นตามธรรมชาติถูกขนานนามว่า "ภูผาเทิบ" หรือหินเทิบ จะมีให้เห็นได้ตั้งแต่แรกเมื่อเราเข้ามาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ในเวลาต่อมา อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบมีพื้นที่อยู่ในจังหวัดมุกดาหาร จึงอาจจะเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่าอุทยานแห่งชาติมุกดาหารในเวลานั้น จะอย่างไรก็ตาม ภูผาเทิบนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่คนรู้จักกันเป็นอย่างดีของจังหวัดมุกดาหาร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะรูปแบบการเกิดขึ้นของหินรูปร่างแปลกๆ เหล่านี้นับเป็น Unseen Thailand สิ่งมหัศจรรย์ที่สวยงามอย่างหนึ่งของไทย

ภูผาเทิบ Unseen Thailand

ภูผาเทิบ Unseen Thailand หลังจากจอดรถที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอันเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่มากสร้างขึ้นให้เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมสิ่งมหัศจรรย์นี้อย่างมากมายในช่วงวันหยุดต่างๆ โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงที่จะชมความสวยงามในบริเวณภูผาเทิบได้ดีที่สุดเพราะมีดอกไม้ป่านานาชนิดบานสะพรั่งบนลานหินขนาดใหญ่ เรียกกันว่าลานมุจลินท์ แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องเริ่มต้นเดินทางจากจุดแรกของเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูผาเทิบ จุดนี้เรียกว่ากลุ่มหินเทิบ ระยะทาง 20 เมตรจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เข้ามาจะพบกับไฮไลท์ของหินเทิบ เป็นหินที่มีรูปร่างแปลกและสวยงามที่สุดอยู่ด้านหน้าสุดของบริเวณนี้

กลุ่มหินเทิบรูปต่างๆ

กลุ่มหินเทิบรูปต่างๆ นอกเหนือจากหินชุดแรกที่เราเห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นแล้ว พอเดินเข้ามาเรื่อยๆ จะพบว่ามีหินในลักษณะเดียวกันแตกต่างกันที่รูปร่างของหิน อยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณ แต่ละก้อนจะมีขนาดใหญ่จนไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่บนเสามานานแสนนาน ประมาณ 95-120 ล้านปีจนถึงปัจจุบัน หินเหล่านี้เป็นหินทรายที่เกิดจากกระบวนการกัดเซาะโดยธรรมชาติ มีรูปร่างต่างๆ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้เข้าชม แต่ที่เห็นเป็นรูปร่างค่อนข้างชัดเจนและพูดตรงกันหลายคนก็คือ หินรูปเครื่องบิน แมวน้ำ หัวจระเข้ ดอกเห็ด เก๋งจีน ฯลฯ

ภูผาเทิบ Unseen Thailand

ภูผาเทิบ Unseen Thailand เป็นชุดหินเทิบอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะชอบมากเป็นพิเศษเพราะหินทั้งสองแผ่นที่วางอยู่บนเสาคนละต้นนั้นมันดูเหมือนเป็นแผ่นหินที่ติดกันหรือค้ำกันอยู่ แต่ความจริงแล้วเราจะเห็นช่องว่างประมาณ 2 นิ้ว ระหว่างแผ่นหินที่วางอยู่บนเสา เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจว่ามันสามารถคงอยู่ในลักษณะนั้นได้ และผ่านล่วงเลยเวลามานานแสนนาน

ศาลาหินเทิบ

ศาลาหินเทิบ หินแผ่นใหญ่ตรงกลางในรูปนี้มีขนาดใหญ่มากๆ เหมือนเป็นเพิงยื่นออกมา ขนาดของมันใหญ่จนสามารถให้คนนับสิบคนเข้าไปอยู่ใต้เพิงนั้นได้ แต่ส่วนที่ติดอยู่บนฐานกลับมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มันก็น่าสนใจที่เพิงที่ว่านี้ไม่คว่ำลงมา

ลานมุจลินท์

ลานมุจลินท์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจสิ่งหนึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ลานมุจลินท์แห่งนี้เต็มไปด้วยดอกไม้ป่านานาชนิดบานสะพรั่งสวยงามมาก ได้แก่ ดุสิตา สร้อยสุวรรณ ทิพเกสร มณีเทวา สรัสจันทร ทิพย์จันทร์ เป็นต้น แต่ในฤดูแล้งจะพบเพียงแต่ลานหินกว้างเวิ้งว้างมีทุ่งหญ้าสีทองกับต้นไม้ที่ทิ้งใบไปจนหมดกระจัดกระจายบนพื้นที่ของลานหิน อันเป็นเส้นทางเดินไปยังสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ได้แก่ผาอูฐ ผางอย ผามะนาว น้ำตกถ้ำพระ ฯลฯ
ลานมุจลินท์มีขนาดประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร รอบๆ เป็นป่าเต็งรังแคระช่วงที่เหมาะต่อการท่องเที่ยวชมดอกไม้ป่าคือ ตุลาคม-พฤศจิกายน

เส้นทางบนลานหิน

เส้นทางบนลานหิน จากลานมุจลินท์เดินตามลานหินไปเรื่อยๆ สู่ผาอูฐ ผางอย น้ำตกถ้ำพระ ผาไทร ผามะนาว ระยะทางสู่ผาอูฐอันเป็นสถานที่แรกก็ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทิวทัศน์เทือกเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 170-420 เมตร ในบรรดาเขาเหล่านี้มีภูจอมศรีเป็นยอดสูงสุด หากมาเที่ยวกันในฤดูแล้ง อากาศระหว่างการเดินเท้าผ่านเส้นทางนี้จะร้อนมาก ควรมีร่มหรือหมวก และเตรียมน้ำดื่มมาด้วย ระหว่างทางเดินมีศาลาเป็นจุดพักหลบแสงแดดเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณ 500 เมตร ตามเส้นทางเดินจะเห็นขอบปูนสีขาวเป็นแนวยาวๆ สร้างไว้เป็นเส้นสำหรับห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเหยียบย่ำเข้าไปในพื้นที่ที่เห็นเป็นทุ่งหญ้าเหลืองๆ เพราะบริเวณนี้เป็นดอกไม้ป่าหลายชนิดที่จะผลิดอกและเปลี่ยนใบเป็นสีเขียวได้อีกครั้งในฤดูฝน มีป้ายบอกเป็นระยะๆ ว่าห้ามเหยียบย่ำพื้นที่เปราะบาง

ภูผาเทิบยามแล้ง

ภูผาเทิบยามแล้ง ลักษณะของภูเขาอันมีแต่ลานหินกว้างๆ เป็นทางยาวไปตามสันเขา มีพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแบบนี้ได้ ที่นี่เราจะเห็นป่าเต็งรัง ซึ่งต้นไม้จะทิ้งใบไปจนหมดเหลือแต่กิ่งก้านท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเหลืองล้อมรอบ ซึ่งเมื่อมีฝนตกสิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นทุ่งหญ้าจะมีดอกออกมาให้ชมสวยงามทั่วบริเวณ ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูผาเทิบไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกจากพื้นที่โล่งกว้าง ในระหว่างทางเดินยาวเป็นกิโลเมตรเราก็จะมีเวลาเก็บภาพวิวสวยๆ รอบๆ ตัวเราไปเรื่อยๆ แล้วค่อยหาจุดที่พอจะมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่เข้าไปหลบแดดเป็นระยะๆ จนกว่าจะเดินถึงศาลาหลังต่อไป แต่ถ้ามันเป็นทุ่งดอกไม้ป่าเราก็จะเพลินอยู่กับการเก็บภาพดอกไม้เหล่านั้นได้นานทีเดียว

ดอกรัง

ดอกรัง รังเป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี ทิ้งใบในฤดูแล้งจนเหลือแต่กิ่งก้าน เมื่อมาขึ้นอยู่ในพื้นที่ภูผาเทิบอันเป็นภูมิประเทศแบบภูเขาหินต้นรังจึงมีลักษณะแคระ ดอกรังเป็นดอกไม้ป่าเพียงอย่างเดียวที่เราพบเห็นในระหว่างการเดินศึกษาธรรมชาติที่ภูผาเทิบ ปกติรังจะขึ้นอยู่เป็นกลุ่มและจะมีต้นเต็งขึ้นในพื้นที่เดียวกันด้วย ถ้ามีต้นเต็งต้นรังมากเป็นจุดเด่นของพื้นที่นั้นๆ เราจะเรียกพื้นที่นั้นว่าป่าเต็งรัง ต้นเต็งและต้นรังก็ขึ้นอยู่ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณด้วย ในป่าบางพื้นที่เมื่อมองจากจุดชมวิวบนเขาสูงหากเห็นพื้นที่ๆ มีต้นไม้อยู่เป็นกลุ่มๆ ไม่มีใบท่ามกลางป่าที่มีใบเขียวขจีเราจะรู้ได้ทันทีว่าพื้นที่ส่วนนั้นเป็นต้นเต็งและต้นรังขึ้นอยู่มาก

ข้ามฝายสู่ผาอูฐ

ข้ามฝายสู่ผาอูฐ เมื่อเดินเลยศาลามาหลายร้อยเมตร จะเป็นช่วงทางแยกที่เราสามารถเลือกเดินได้ คือจะข้ามฝายนี้ไปยังผาอูฐ หรือจะตรงไปยังผางอยเลยก็ได้ การเดินตรงไปยังผางอยจะทำให้เส้นทางสั้นลงได้มากกว่าการเดินไปผาอุฐก่อน แต่ในเมื่อเรามาเที่ยวชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติภูผาเทิบจะข้ามผาอูฐตรงไปผางอยก็คงจะไม่ดีแน่ ไหนๆ ก็มาแล้วไปผาอูฐดีกว่า พ้นฝายนี้ไปไม่ไกลจะมีต้นไผ่ขึ้นเป็นกลุ่มๆ พอให้หลบแดดได้

จุดชมวิวผาอูฐ

จุดชมวิวผาอูฐ หน้าผาอันมีป้ายชื่อผาอูฐตั้งอยู่นี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เหมาะสำหรับชมวิวสวยๆ ของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ นั่งรับลมเย็นๆ กันสักพักก่อนค่อยไปกันต่อครับ

เส้นทางสู่ผางอย

เส้นทางสู่ผางอย จากผาอูฐเราก็จะเห็นป้ายปักบอกทางไว้เป็นเส้นทางเดินไปยังผางอย ระยะห่างระหว่างผาอูฐกับผางอยประมาณ 200 เมตร ระหว่างทางจะได้เห็นประติมากรรมธรรมชาติหินรูปอูฐตั้งอยู่ เป็นที่มาของชื่อผาอูฐแห่งนี้

ภาพสวยแห่งฤดูแล้ง

ภาพสวยแห่งฤดูแล้ง อากาศร้อนระอุบนทางเดินอันเป็นลานหินตลอดเส้นทางก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด การเที่ยวภูผาเทิบในฤดูแล้ง โดยเฉพาะฤดูหนาว (หากมาฤดูร้อนก็คงเดินไม่ไหวเป็นแน่) ทำให้เราได้เห็นทัศนียภาพของป่าในยามแล้วได้เป็นอย่างดี เราก็หามุมดีๆ ในการเก็บภาพความแห้งแล้งที่สวยงามเหล่านี้ได้มาก

ทางไปดูหินอูฐ

ทางไปดูหินอูฐ

หินรูปอูฐ

หินรูปอูฐ เป็นหินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อยู่ห่างจากหน้าผาอูฐประมาณ 50 เมตร หินอูฐหรือหินรูปอูฐนี้ยืนตระหง่านท้าทายแดดลมมานานแสนนาน รอบๆ หินอูฐมีเพียงลานหินกว้างล้อมรอบ

ผางอย

ผางอย เป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ อยู่ทิศตรงกันข้ามกับผาอูฐ ทัศนียภาพของผืนป่ากว้างใหญ่เบื้องล่างเขียวขจี จากผาอูฐเดินมายังผางอยทางไม่ค่อยชัดเจนให้สังเกตุป้ายบอกทางให้ดี จะมองเห็นกลุ่มหินอยู่ขอบผาเบื้องล่างสามารถเดินลงไปชมวิวบนหินได้ มีป้ายชื่อผางอยอยู่

แสงลอดช่องผางอย

แสงลอดช่องผางอย เป็นจังหวะเวลาที่พอเหมาะที่เราเดินมาถึงผางอยในยามบ่ายแก่ๆ เกือบ 4 โมงเย็น เมื่อเรายืนอยู่ที่ผางอย จะมองเห็นหินมีช่องเป็นวงกลม จะสามารถหามุมที่แสงพระอาทิตย์ลอดช่องของหินได้พอดีอย่างที่เห็น

เส้นทางสู่ผาไทร

เส้นทางสู่ผาไทร จากผางอยเดินย้อนกลับมายังเส้นทางหลักใกล้ๆ ผาอูฐจะมีเส้นทางไปต่อยังสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ผาไทร น้ำตกถ้ำพระ ผามะนาว เส้นทางที่เราเดินมาจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจนมาถึงป้ายบอกทางแห่งนี้เป็นทางค่อนข้างราบเดินสบายมีเพียงแสงแดดเป็นอุปสรรคในการเดิน แต่จากจุดนี้ไปเป็นเส้นทางลงเขาที่ชันและยาวพอสมควร เริ่มแรกจะมีบันไดสร้างไว้ให้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

เส้นทางสู่ผาไทร

เส้นทางสู่ผาไทร เส้นทางการเดินลงบันไดและทางชันที่ยาวอย่างต่อเนื่อง

เส้นทางสู่ผาไทร

เส้นทางสู่ผาไทร ต่อจากภาพที่แล้วทางเดินก็ยังคงดิ่งลงเบื้องล่างเรื่อยๆ เราพอมองเห็นเส้นทางเดินข้างหน้า แต่เวลาที่เราเหลืออยู่ในวันนี้ดูเหมือนจะไม่พอในการเดินไปยังผามะนาวและเดินกลับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเป็นแน่ แม้ว่าระยะทางจะเหลืออยู่เพียง 600 เมตรไปถึงน้ำตกถ้ำพระ และยังต้องเดินต่อไปยังผามะนาวอีก เราจึงหยุดการเดินทางศึกษาธรรมชาติภูผาเทิบไว้เพียงเท่านี้ โอกาสหน้าคงได้มาชมน้ำตกและทุ่งดอกไม้ป่าในลานมุจลินท์อีก สำหรับวันนี้เดินกลับก่อนก็แล้วกันนะครับอย่าลืมเข้ามาติดตามชมส่วนที่เหลือกันใหม่ช่วงปลายฝนต้นหนาว

ก่อกองหิน

ก่อกองหิน ความเชื่อของชาวบ้านรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เที่ยวไปตามพื้นที่ภูเขาที่มีหินก้อนเล็กก้อนน้อยอยู่มาก จะเก็บเอาก้อนหินเหล่านั้นมากองเรียงกันให้สูงขึ้น เราจะพบเห็นกองหินแบบนี้ได้ทั่วไป ทางอุทยานแห่งชาติจึงได้มีป้ายคำสั่งห้ามก่อกองหินขึ้น เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ นอกจากนี้ก็จะมีป้ายห้ามนำไม้มาค้ำหินให้เห็นอยู่หลายแห่งด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันนี้

เขาหินลาวา

เขาหินลาวา พื้นผิวที่เราเดินอยู่ตลอดเส้นทางบนเขาภูผาเทิบ หากสังเกตุดีๆ จะเห็นความแตกต่างของผิวหิน ปกติภูเขาหินทั่วไปที่เราไปเดินกันมาหลายต่อหลายที่จะเป็นผิวหินที่เรียบ หากเป็นก้อนก็จะเป็นก้อนที่ดูโค้งมน แต่ผิวหินที่เราเดินอยู่ที่ภูผาเทิบดูเหมือนว่าหินเหล่านี้จะเคยเป็นของเหลวมาก่อนแล้วเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเห็นเป็นรอยคลื่นต่อเนื่องกันไปสุดสายตา

อาทิตย์อัสดงตรงลานมุจลินท์

อาทิตย์อัสดงตรงลานมุจลินท์ อีกเพียงไม่นานเราก็จะเดินกลับไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ บริเวณลานหินกว้างใหญ่ที่เราเดินผ่านไปตอนแรกก็เป็นเส้นทางเดียวที่เราต้องเดินกลับ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนพระอาทิตย์ลับหายไปบนยอดเขา ดีที่เราตัดสินใจไม่เดินไปผามะนาวในวันนี้ไม่อย่างนั้นขากลับคงลำบากกันน่าดู

ชมวิวพระอาทิตย์ตกภูผาเทิบ

ชมวิวพระอาทิตย์ตกภูผาเทิบ ภาพป่าฤดูแล้งที่แห้งที่ต้นไม้ทิ้งใบ กับสีของท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ลับหายไปจากขอบฟ้า ก็เป็นภาพสวยภาพหนึ่งที่เราเก็บมาได้ระหว่างการเดินทางกลับ

ชมวิวพระอาทิตย์ตกภูผาเทิบ

ชมวิวพระอาทิตย์ตกภูผาเทิบ ปิดท้ายการนำเที่ยวภูผาเทิบด้วยภาพหินรูปเครื่องบิน เป็นหินกลุ่มแรกๆ ที่เราจะได้เห็นตอนขากลับ รูปร่างของเครื่องบินที่เราจะมองเห็นแต่เส้นขอบตัดกับท้องฟ้าสีแดงของวันนี้เป็นมุมที่เราเลือกชมแสงสุดท้ายของวันที่ภูผาเทิบ จากนั้นอีกเพียงไม่นานก็เข้าสู่ความมืด พบกันใหม่ในโอกาสต่อไป เราต้องกลับมาเก็บภาพเพิ่มเติมให้ชมกันอีกอย่างแน่นอน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ มุกดาหาร
ซิกแซก รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ระเบียงแก้วมุกดา รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
มุกดาหาร เมเนอร์ บีแอนด์บี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุณเพียรรีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวรรค์สำราญ
  15.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเวียงโขง มุกดาหาร
  15.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ViengKhong Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชมกวาง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมมุกดา วิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสำราญชายโขง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ มุกดาหาร
วัดมโนรมย์ (ภูมโนรมย์) มุกดาหาร
  11.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก มุกดาหาร
  15.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้) มุกดาหาร
  17.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร
  18.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดศรีมงคลใต้ มุกดาหาร
  19.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง มุกดาหาร
  19.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง มุกดาหาร
  19.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
ห้าแยกชุมชนเวียดนาม มุกดาหาร
  19.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
แขวงสะหวันนะเขด
  24.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอยสมัยหิน มุกดาหาร
  25.79 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com