www.touronthai.com

หน้าหลัก >> มหาสารคาม >> สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

 สะพานไม้ ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทอดจากชายฝั่งหนองแกดำด้านวัดดาวดึงษ์แกดำ ไปยังหมู่บ้านหัวขัว คำว่า ขัว ภาษาอีสาน แปลว่า สะพาน บ้านหัวขัว คือบ้านหัวสะพาน ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งมานี้น่าจะเป็นไปได้ว่า สะพานและหมู่บ้านสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กันก็เป็นได้ สอบถามชาวบ้านที่หาปลาอยู่ในหนองแกดำ แกเล่าว่า เกิดมาก็เห็นสะพานอยู่แบบนี้มานานแล้ว คนแก่คนเฒ่าที่รู้จักในหมู่บ้านอายุ 80 กว่าปี ก็บอกว่าเกิดมาก็เห็นสะพานอยู่อย่างนี้แล้วเหมือนกัน แต่ถ้าถามถึงคนผู้สร้างสะพานล้วนล้มหายตายจากไปหมดแล้ว จึงประมาณอายุของสะพานได้น่าจะ 100 ปี สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการไปมาหาสู่กันระหว่างคน 2 ฟากฝั่งหนอง

 หนองแกดำ หรือหนองน้ำอื่นๆ ในภาคอีสาน มีสภาพกว้างใหญ่ ลึกบ้างตื้นบ้างเป็นช่วงๆ เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรที่สำคัญ และเป็นแหล่งในการหาปลาเพื่อเป็นอาหารและนำไปขาย สะพานไม้ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ ปักเสาลงไปในโคลนใต้น้ำจนถึงชั้นดิน ปูด้วยแผ่นไม้ที่พอจะหามาได้ คงจะแข็งแรงมั่นคงได้แค่ชั่วระยะเวลาไม่นาน ตอนนี้ถ้าลองไปเดินบนสะพานจะรู้สึกว่ามันโยกเยกเอาการน่าหวาดเสียว แต่ชาวบ้านก็ใช้สะพานนี้อยู่เป็นประจำ มีการซ่อมแซมบ้างเป็นครั้งคราวตามสภาพ เคยมีโครงการรื้อถอนเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตจากทางจังหวัด เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรที่แข็งแรง และวางท่อประปาไปตามแนวสะพาน แต่ชาวบ้านอยากให้อนุรักษ์สะพานนี้ไว้ตามเดิม ตอนนี้มีคนรู้จักสะพานนี้กันมากขึ้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของมหาสารคาม ก็คงจะต้องคงสภาพสะพานไม้นี้ไว้ต่อไป

การเดินทางไปสะพานไม้แกดำ
 สะพานไม้แห่งนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักได้ไม่นาน แน่นอนว่าต้องมีสื่อท่องเที่ยวมากมายเดินทางไปเก็บภาพ ก็ลองค้นหาว่าจะมีรายละเอียดการเดินทางหรือเปล่า ปรากฏว่าหายากมาก พอเราไปมาแล้วก็เลยอยากเขียนให้มันชัดๆ เจาะลงไปเลย คนอื่นๆ จะได้ไปได้ง่ายขึ้น

 สะพานไม้แกดำ อยู่ด้านหลังวัดดาวดึงษ์แกดำ เวลาค้นใน Google Maps เจอแต่วัดดาวดึง แต่ก็คือที่เดียวกัน ในอำเภอแกดำ

มาจากขอนแก่น ใช้ถนนมิตรภาพไปทางโคราช มาถึงตำบลท่าพระประมาณ 10 กิโลเมตร จากตัวเมืองขอนแก่น มีสามแยกให้เลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข 208 ป้ายจะเขียนว่าไปโกสุมพิสัย ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของมหาสารคาม เลยโกสุมพิสัยไปเรื่อยๆ ก่อนถึงตัวเมืองมหาสารคามจะมีสี่แยกบายพาส หรือเลี่ยงเมือง ด้านขวาจะมีสถานีวิทยุอาสารักษาดินแดน นี่แหละเป็นทางแยกที่เราจะเลี้ยวขวา จากต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น มาบายพาสมหาสารคาม 56 กิโลเมตร

 พอเลี้ยวที่บายพาสแล้วขับไปอีก 7 กิโลเมตร สี่แยกไฟแดงที่ 2 เลี้ยวขวา ทางหลวงหมายเลข 2040 ขับไป 8.6 กิโล เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2380 ขับไปอีก 13 กิโลเมตร จนเจอป้ายวัดดาวดึงษ์แกดำ เลี้ยวซ้ายแล้วไปจนถึงหนองน้ำ

มาจากร้อยเอ็ด มีหลายเส้นทาง ทางแรก ใช้ทางหลวง 2045 ร้อยเอ็ด-วาปีปทุม ขับมา 25 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2380 ขับไปอีก 15.8 กม. เลี้ยวซ้ายไปเจอวัดโพธิ์ศรีแกดำ เลี้ยวซ้าย เป็นถนนเลียบหนองแกดำเลี้ยวไปทางขวา จนถึงศาลาท่าน้ำวัดดาวดึงษ์แกดำ

 อีกทางใช้ทางหลวงหมายเลข 23 ร้อยเอ็ด-สารคาม ก่อนถึงตัวเมืองมีแยกบายพาสให้เลี้ยวซ้าย ไปเจอสี่แยกทางหลวงหมายเลข 2040 ก็เลี้ยวซ้ายอีกทีต่อจากนั้นก็ขับเหมือนกับเส้นทางมาจากขอนแก่น แต่ทางนี้ค่อนข้างอ้อม มีทางลัดกว่านี้แต่ไม่อยากแนะนำ เพราะดูจากแผนที่แล้วมันงงมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. ขอนแก่น โทร. 0 4322 7714-5
http://www.tourismthailand.org/khonkaen

แก้ไขล่าสุด 2017-06-09 01:24:35 ผู้ชม 40543

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ถึงแล้วสะพานไม้แกดำ

ถึงแล้วสะพานไม้แกดำ หลังจากที่พยายามจะหาตามอินเตอร์เน็ดว่าสะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ไหน แต่ก้ยังไม่เจอข้อมูลที่เขียนการเดินทางละเอียดจนไปตามได้ซะที ระหว่างที่รถเราก็เคลื่อนที่ออกจาก วัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด เส้นทางที่เขียนบรรยายเอาไว้ 2-3 ทางตั้งแต่แรก บอกเลยว่าไม่ใช่ทางที่เราใช้ เพราะตจากวัดป่ากุงมีเส้นทางตัดเข้ามาที่อำเภอแกดำได้ แต่ต้องละเลาะพอสมควร พอเข้าเขตอำเภอแกดำ เลี้ยวเข้าตามป้ายที่เขียนว่า อ.แกดำ ตรงเข้ามาไม่นานก็เจอวัดโพธิ์ศรี ทีแรกก็คิดว่าน่าจะใช่วัดที่อยู่ตรงท้ายสะพาน แต่มองเข้าไปแล้วไม่ใช่ เลยตรงเข้าไปอีกหน่อยมีอีกวัดชื่อวัดดาวดึงษ์แกดำ แต่ใน Google Maps จะเห็นเป็นชื่อวัด ดาวดึง ไม่มี ษ์ ซึ่งก็คือวัดเดียวกัน จากหน้าวัดขับเลาะข้างวัดเข้าไปก็จะถึงหนองน้ำ และนี่แหละที่ตั้งของสะพานไม้ที่ยาวถึง 1 กิโลเมตร กว่าๆ ชื่อ สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

สภาพของสะพานไม้ที่เราเห็น บอกเลยว่าไม่ค่อยจะกล้าเดินไปเท่าไหร่ เพราะมันดูเก่ามากๆ เราต้องถือกล้องไปด้วย ถ้าสะพานพังลงระหว่างทางคงจะแย่ แต่มียายคนนึงบอกว่าเพิ่งเดินข้ามมาจากฝั่งนู้น ก็เลยกล้าลองเดินไปดู

สะพานไม้แกดำ

เสาไม้เท่าที่ชาวบ้านจะหามาได้ในสมัยนั้น ปักลงไปในโคลนจนถึงดินก้นหนอง ซึ่งมันก็ไม่ได้ลึกมาก หนองน้ำในอีสานก็จะเป็นคล้ายๆ กันแบบนี้คือกว้างใหญ่แต่ไม่ลึก เวลาหน้าแล้งถึงได้แล้งสุดๆ เราก็มาหน้าแล้ง เลยไม่เห็นว่าเวลาน้ำเต็มจะเป็นแบบไหน 200-300 เมตรแรก เราแทบมองไม่เห็นน้ำ เพราะมีหญ้า กก และบัว ขึ้นจนเต็มแน่น ลมพัดเข้ามาตลอดเวลา ช่วงเย็นๆ น่ามานั่งเล่นรับลมดับร้อนหลังจากการทำนาไร่กันมานาน เมื่อก่อนคนมองว่าเป็นสะพานเก่าๆ ธรรมดาๆ แต่พอมีภาพกระจายออกไปเรื่อยๆ สะพานแห่งนี้ก็มีคนมาเยี่ยมเยียนกันมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเย็นๆ

สะพานไม้แกดำ

ระหว่างการเดินบนสะพานเรารู้ว่าสะพานมันโยกน่ากลัวอยู่ เลยไม่ค่อยกล้าเดินพร้อมๆ กันหลายคน ค่อยๆ ไปเว้นระยะการเดินให้ห่างหน่อยจะดีกว่า แต่ชาวบ้านที่นี่ที่ยังใช้สะพานไม้แห่งนี้ในการไปมาหาสู่กัน ก็เดินกันเป็นกลุ่มๆ ให้เห็น ปรากฏว่าไม่พัง แต่มันโยกๆ จนน่ากลัวเท่านั้น ร่องรอยการซ่อม ไม้บางแผ่นมีสีใหม่กว่าเพื่อน เป็นเพราะระยะเวลาที่ผ่านมา มีการซ่อมสะพานแห่งนี้หลายครั้ง ด้วยการเอาไม้แผ่นใหม่มาปะ มาเปลี่ยนแทนแผ่นเก่าๆ แต่ยังคงโครงสร้างเดิมเอาไว้ทั้งหมด ไม่น่าเชื่อว่ามีอายุเป็นร้อยปีแล้ว

สะพานไม้แกดำ

ความกว้างของหนองแกดำ อาจจะไม่ถึง 1 กิโลเมตร แต่ที่สะพานไม้แกดำ ยาวถึง 1 กิโลเมตรก็เพราะว่า เค้าไม่ได้สร้างสะพานตัดตรงจากฝั่งหนึ่งไปฝั่งหนึ่ง แต่เค้าสร้างเป็นทางโค้งรูปตัว S เป็นสะพานที่สวยมาก มีมุมให้ถ่ายรูปได้หลายมุม 2 ด้านของสะพานต่างกันอย่างลิบลับ ด้านซ้ายเหมือนเป็นป่ากกและหญ้า ส่วนด้านขวาเป็นบัวสลับกับหญ้า

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

เดินมีถึงช่วงกลางสะพานถึงจะเป็นผืนน้ำกว้างใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมาหาปลา ด้วยหลากหลายวิธี มีทั้งเบ็ด ทั้งแห ทั้งลอบ ไซ ตาข่าย หลายๆ จุดในหนองน้ำนี้คนลงไปเดินได้ น้ำลึกแค่อก แต่บางช่วงที่มีการขุดลงไปน้ำจะลึกมากระดับท่วมหัว ชาวบ้านที่หาปลาบอกเล่าเรื่องราวของสะพาน 100 ปี ให้เราฟัง ปู่ย่า รุ่นที่สร้างสะพานได้ล้มหายตายจากไป ไม่มีใครรู้อายุสะพานที่แน่นอน แต่ประมาณเอาจากอายุของคนแก่ในหมู่บ้าน ย้อนหลังไปอีกรุ่น สะพานนี้น่าจะมีอายุ 100 ปี หนองแกดำเป็นหนองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านที่หาปลาส่วนใหญ่ได้ปลาบู่ และตัวใหญ่มาก ส่วนปลาอื่นๆ ก็มีแต่อาจจะไม่ชุมเท่าปลาบู่

ปลานิล หนองแกดำ

ปลานิล หนองแกดำ ปลาตัวนี้แปลกมาก อยู่ใกล้ๆ กับสะพานไม้ และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีหญ้า หรือจอกแหนบัง มองเห็นตัวมันได้สบายๆ เป็นปลานิลตัวใหญ่น่าจะหนักกว่า 7 ขีด ว่ายไปว่ายมาเหมือนไม่สนใจคนที่เดินอยู่บนสะพานเลย ยกกล้องมาถ่ายรูปมันก็ว่ายมาให้ถ่ายชัดๆ อีกต่างหาก เห็นขนาดปลาตัวนี้แล้ว บอกเลยว่าในหนองแกดำนี้อุดมสมบูรณ์มากขนาดไหน น้ำก็ตื้นมากด้วย ทางการเคยมีโครงการขุดลอกและรื้อสะพานไม้แกดำ สร้างสะพานคอนกรีต แต่ชาวบ้านยังคงอยากให้รักษาของเดิมเอาไว้ เราก็ได้แต่รอดูว่าจะเป็นยังไงต่อไป

สะพานไม้แกดำ

สะพานบ้านหัวขัว หนองแกดำที่กว้างใหญ่ไพศาล มีคันดินกั้นกลาง แบ่งเป็นหนองน้ำที่เล็กกว่าอีกหนองหนึ่ง หนองที่กั้นขึ้นมามีการขุดลอกให้มีความลึกมากขึ้น และอยู่ใกล้หมู่บ้าน ทำให้สะพานไม้แกดำมาสุดอยู่ที่คันดินกั้นระหว่างหนอง 2 แห่ง แล้วมีสะพานไม้ทอดอีกต่อหนึ่งข้ามหนองเล็กไปยังหมู่บ้าน การขุดลอกหนองแล้วกั้นด้วยคันดินเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทั้งในการเกษตรและการใช้ในบ้านเรือน ไม่มีพืชน้ำขึ้นในหนองเล็ก ก็เลยกลายเป้นที่เล่นน้ำของคนในหมู่บ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

จากบ้านหัวขัว หรือบ้านหัวสะพาน มองย้อนกลับไปตามสะพานไม้ที่เราเดินข้ามมา เราจะเห็นวัดดาวดึงษ์แกดำ เด่นตระหง่านอยู่อีกฟาก เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เรามองเห็นจากฝั่งนี้ บนสะพานไม้ก็มีทั้งคนมาเที่ยว แล้วก็ชาวบ้านเดินไปติดต่อธุระเยี่ยมญาติ หรือไปอำเภอ เรียกว่าเป็นสะพานที่ใช้งานอยู่จนทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีถนนราดยางอีกด้านหนึ่งของหนองแล้วก็ตาม ชาวบ้านยังคงชอบเดินข้ามสะพานไม้มากกว่าขี่รถไป

สะพานไม้แกดำ

สำหรับคนชอบถ่ายรูป ตอนมาถึงแล้วเจอเมฆดำก้อนใหญ่ขนาดนี้ ก็ต้องบอกว่าใจคอไม่ดี เพราะอยากได้ภาพฟ้าสดใสกันมากกว่า ภาพจะได้ดูสวยงาม แต่โชคดีที่วันนี้มีแสงแดดยามเย็นทะลุชั้นเมฆหนาลงมาเยอะมาก ก็เลยได้ภาพสวยไปอีกแบบหนึ่ง ปกติแล้ว สะพานไม้แกดำ หากมาถ่ายรูปเอาสวยก็น่าจะเป็นตอนเช้า เดินมาบนสะพานหามุมที่จะเห็นวัดเป็นฉากหลัง มีพระเดินบิณฑบาตร มีคนรอใส่บาตรอะไรทำนองนี้ ช่วงเช้าได้ภาพถ่ายตามแสง ก็น่าจะสวย แต่ทั้งนี้เราไม่เคยเห็นพระเดินบิณฑบาตรเพราะเรามาตอนเย็น ถ้าจะมาถ่ายรูปก็ไม่แน่ว่าจะเจอพระหรือเปล่านะ แต่ถ้ามาถ่ายวิวปกติ มาได้ทั้งวัน สวยแน่ๆ

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

สะพานไม้แกดำ

ปิดท้ายเรื่องราวของสะพานไม้แกดำ อายุ 100 ปี เอาไว้เท่านี้ ว่างๆ มาเที่ยวสารคาม แล้วจะหลงรักสารคามแบบหนังเรื่อง ฮักนะสารคาม เด้อ

ขอขอบคุณ กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มา ณ โอกาสนี้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ สะพานไม้แกดำ มหาสารคาม
โรงแรมเซนเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน กุลา มหาสารคาม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมโต้ง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไปรยนันท์ เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
Boxotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม ผกาวัลย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวนวรุณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  30.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมนิวพัฒนา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  31.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตักศิลา แกรนด์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  31.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพัฒนา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  31.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ สะพานไม้แกดำ มหาสารคาม
วัดบ้านหนองหูลิง มหาสารคราม
  14.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ร้อยเอ็ด
  19.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
กู่มหาธาตุ (ปรางค์กู่บ้านเขวา) มหาสารคาม
  24.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านปั้นหม้อ มหาสารคาม
  28.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย มหาสารคาม
  31.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด มหาสารคาม
  32.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
แก่งเลิงจาน มหาสารคาม
  33.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดป่าวังน้ำเย็น (วัดพุทธวนาราม)
  35.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาสารคาม
  36.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาสารคาม
  36.69 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com