www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครพนม >> พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

 บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นหมู่บ้านที่ยึดอาชีพการผลิตและจำหน่ายเครื่องดนตรีอีสาน ได้แก่ พิณ แคน โหวด โปงลาง เป็นต้น นอกเหนือจากการทำนา การผลิตเครื่องดนตรีนับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนมาก เราจึงเห็นทุกหลังคาเรือนสามารถทำเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง และทุกๆ วันนอกฤดูการทำนา ทุกคนในบ้านจะช่วยกันทำเครื่องดนตรีเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำเครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด ปี่ ฯลฯ ส่วนพิณ นั้นจะมีจำนวนน้อยเพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนใช้ฝีมือทางด้านแกะสลัก ตามประวัติเล่าว่า การทำเครื่องดนตรีเริ่มจากการทำแคน เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2450 มีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแคน ซึ่งได้มาจากบ้านพนอม อ.ท่าอุเทน และบ้านโนนตูม อ.นาแก คือ

 - นายโลน แสนสุริยวงค์
 - นายไกล แมดมิ่งเหง้า
 - นายลอง แมดมิ่งเหง้า

 ทั้งสามท่านได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในเรื่องการทำแคนให้ลูกหลานสืบทอดมา จนแพร่หลายเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา จนถึงทุกวันนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครพนม (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) 0 4251 3490-1
http://www.tourismthailand.org/nakhonphanom

แก้ไขล่าสุด 2017-06-25 20:13:02 ผู้ชม 14053

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยว

ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยว พื้นที่ตำบลท่าเรือ อ.นาหว้า ก็เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคอีสาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก ทุ่งนากว้างเต็มพื้นที่ที่รถผ่าน ถนนราดยางบางๆ ตามสไตล์บ้านนอกพาเราเข้ามาถึงเขตหมู่บ้านแห่งนี้ด้วยเส้นทางเดียวกันกับทางไป วัดพระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุประจำวันเกิดสำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี แต่เลยไปอีกหน่อย

บ้านเรือนชาวท่าเรือ

บ้านเรือนชาวท่าเรือ พอเข้าเขตหมู่บ้าน ที่นี่ผังเมืองถือว่าค่อนข้างดี รู้สึกว่าเป็นตารางหมากรุกบ้านเรือนอยู่ 2 ข้างทาง แต่ละหลังคาเรือนจะมีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเราอยู่ทุกหลัง นั่นก็คือปอ สมัยเด็กๆ เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่บอกว่าปอเอามาทำเชือก ทีแรกก็ไม่เอะใจ แต่พอเห็นมีปอกันเกือบทุกหลัง ก็เลยสงสัยว่าจะทำเชือกกันไปทำไมมากมาย พอไปถามชาวบ้านถึงได้รู้ว่า ปอเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรี ได้แก่ โหวด และปี่

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

ชาวบ้านที่นี่หลังฤดูทำนาทุกคนจะออกมานั่งทำเครื่องดนตรีตามร่มไม้ชายคาหน้าบ้าน ไม่ว่าหญิงหรือชาย วัยรุ่นจนถึงวัยชรา ก็ทำเครื่องดนตรีกันทุกบ้าน นับเป็นเรื่องที่แปลกมากสำหรับพวกเรา เพราะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นเครื่องดนตรีทำมือหรือแฮนด์เมด และขายดีถึงขนาดที่มีคนนั่งทำกันทั้งหมู่บ้านได้ขนาดนี้ ผู้หญิงส่วนมากจะทำปี่ และโหวดเป็นหลัก ส่วนผู้ชายจะเห็นนั่งทำแคน และพิณ วัสดุอีกอย่างที่หมู่บ้านนี้จะขาดไม่ได้นอกจากไม้ปอแล้วก็คือไม่ไผ่ทำแคน สอบถามว่าเป็นไผ่พันธุ์อะไรยังไง ชาวบ้านไม่รู้รู้แต่ว่าเค้าเรียกว่า ไผ่ทำแคน เป็นปล้องค่อนข้างบางและยาว ให้เสียงก้องกังวาลเมื่อมีลมผ่านเข้าออกสำหรับโหวดเสียงควบคุมด้วยความยาวของปล้องไผ่ที่ไม่เท่ากัน เอามาติดแกนกลางล้อมเป็นวงกลมด้วยกาวลาเทกซ์ ขอย้ำว่ากาวลาเทกซ์ธรรมดาๆ ยี่ห้อ TOA นี่แหละติดกาวแล้วเอายางมัดไว้ก่อน จากนั้นเอาวัสดุเหนียวๆ ที่ผสมกันขึ้นมาจากขี้ซี (ยางไม้ชนิดหนึ่ง) กวนให้เหนียว ปั้นเป็นลูกมะนาวผ่าครึ่งแปะไว้ตรงกลาง แล้วรนไฟให้อ่อนเอามาคลึงให้เนียน

ส่วนปี่ดูเหมือนจะง่ายกว่า ตัดไผ่ทำแคนยาวประมาณคืบ ทำจุกอุดด้านบนด้วยลำปอ จุกนี้ต้องบากเป็นช่องสำหรับเป่า ส่วนไผ่ทำแคนให้บากอีกช่องให้ลมออกใช้ปออีกชิ้นหนึ่งปักกับไม่ไผ่เหลาเหมือนไม้เสียบลูกชิ้น สอดเข้าจากด้านล่างอุดด้วยปอมีรูปกลมๆ ตรงกลางไม่ให้มันหล่นออกไปได้ ไม้เสียบลูกชิ้นนี้ใช้ชักขึ้นลงเสียงปี่ก็จะเปลี่ยนไป

แต่ละคนจะทำโหวดได้ประมาณวันละ 10 ตัว ส่วนปี่ทำได้เยอะมาก ราคาก็แตกต่างกันตามความยากง่าย แต่ละเดือนจะมีรถเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อซื้อเหมาเอาไปขายทำกำไร แต่ละคนจะมีรายได้จากการทำเครื่องดนตรีประมาณ 10,000-15,000 บาท ถ้าทำ 2 คน ผัวเมีย ชาวบ้านว่าได้เดือนละ 25,000 ก็เคยมี นับเป็นรายได้ที่ดีทีเดียวสำหรับยามว่างที่ท้องนาปลูกข้าวไม่ได้

ขั้นตอนการทำแคน

ขั้นตอนการทำแคน หลังจากเดินดูการทำโหวดและปี่แล้ว ตอนนี้จะพามาดูการทำแคน หลังบ้านที่แม่บ้านนั่งทำโหวด เป็นห้องทำงานของผู้ชายพ่อบ้านที่กำลังจะทำลิ้นแคน ที่เห็นเหมือนเส้นลวดบางๆ ยาวๆ นี้เรียกว่าลิ้นของแคนได้มาจากการเอาเหรียญสตางค์แดงที่มีรูตรงกลางรนไฟให้ร้อนแล้วเอามาเข้าเครื่องเหมือนที่บดปลาหมึกให้บางและยาวออก ที่เลือกใช้เหรียญสตางค์เพราะเนื้อทองแดงค่อนข้างบริสุทธิ์เหนียวดึงให้ยาวได้มากและบางมากแต่ละเหรียญจะทำลิ้นแคนได้หลายชิ้น เหรียญสตางค์แดงต้องซื้อมาราคาเหรียญละ 30 บาท เมื่อเหรียญสตางค์แดงหมดคงต้องหาวัสดุอื่น ฟังดูก็น่าเสียดายเหรียญอยู่เหมือนกัน แต่มันเป็นวัสดุที่ดีที่สุด

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

หลังจากได้เส้นทองแดงบางๆ แล้วยังบางไม่พอต้องรีดไปเรื่อยๆ ความบางนั้นประมาณใบมีดโกนเลยทีเดียว ตัดให้กว้างประมาณครึ่งเซนต์ ยาวเซนต์กว่าๆ ตรงกลางต้องตัดให้เป็นรูปสีเหลี่ยมยาวๆ และต้องสามารถกระพือได้เมื่อมีลมผ่านถ้าความบางยังบางไม่พอเสียงแคนจะไม่ค่อยดัง การขัดต้องขัดละเอียดมากๆ ใช้ไม้ขัดแผ่นทองแดงให้ค่อยๆ บางลง ไม้นี้ชาวบ้านเรียกว่าไม้เหี้ย กว่าจะได้ลิ้นแคนที่ดีต้องใช้เวลานานมากแคนแต่ละเต้าจะมีไผ่ทำแคน 8 คู่ เรียกว่า 8 ลูก แต่ละลูกใช้ลิ้นแคน 1 ชิ้น ก็ต้องทำ 16 ชิ้นสำหรับแคน 1 เต้า นี่คือศาสตร์แห่งความปราณีตขนานแท้ แต่ละเดือนจึงทำแคนได้ไม่มาก ไม่เหมือนโหวดและปี่ ความรู้เรื่องการทำแคนถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ นับถึงวันนี้ก็ 107 ปี แล้ว คนทำแคนทุกคนต้องมีครู ไม่ใช่ใครมาทำก็ได้

การใส่ลิ้นแคน

การใส่ลิ้นแคน เมื่อได้ลิ้นแคนที่ดีแล้วก็เอามาใส่ไผ่ทำแคนที่มีความยาวไม่เท่ากัน ด้วยการเสียบลิ้นเล็กๆ เข้าไปในเนื้อไผ่ที่เจาะช่องไว้พอดีกับขนาดของลิ้น ลิ้นแคนยังแบ่งราคาของแคนออกเป็น 2 ระดับ เรียกว่า แคนลิ้นทองแเดง ราคา 2500 บาท ส่วนอีกระดับหนึ่งคือ แคนลิ้นเงิน ราคาจะสูงและต้องสั่งทำเท่านั้น แคนลิ้นเงินรับประกัน 1 ปี ส่วนแคนลิ้นทองแดงไม่มีการรับประกัน

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

ไผ่ทำแคนตัดความยาวได้ตามต้องการ 8 คู่ เอามาเรียงกันไว้เป็นชุดๆ ใส่ลิ้นลงไปให้เรียบร้อย หลังจากใส่ลิ้นแล้วต้องมีการลองเสียง ลูกเอกคือลูกที่ยาวสุดจะต้องทำการเทียบเสียงกับมาตรฐาน แล้วเสียงของลูกอื่นๆ ก็ไล่ลำดับตัวโน๊ต แคนลูกไหนเป่าแล้วเสียงไม่ค่อยดีจะต้องทำการขัดลิ้นเพิ่มเติม

การเทียบเสียงแคน

การเทียบเสียงแคน เฉพาะลูกแรกเท่านั้นที่จะทำการเทียบเสียง แต่ต้องเทียบเสียงลูกแรกของแคนทุกเต้า เพื่อให้เสียงออกมาได้ตัวโน๊ตมาตรฐานของแคน

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

เมื่อใส่ลิ้นเทียบเสียงแล้วก็ต้องทำการประสานให้ลิ้นแคนติดคงทนนาน ตัวประสานลิ้นแคนก่อนหน้านี้เคยลองใช้กาวและปูน แต่เสียงไม่เพราะเท่ากับเปลือกหอย เอาเปลือกหอยมาฝนกับหินให้เป็นผงใส่น้ำลงไปฝนจนกว่าจะเหนียวแล้วเอามาประสานลิ้นแคน นี่ก็คือความยากอีกขั้นตอนหนึ่งกว่าจะได้แคน 1 เต้า

ช่องปรับระดับเสียง

ช่องปรับระดับเสียง ด้านตรงข้ามของลิ้น เห็นเป็นช่องๆ สูงบ้างต่ำบ้าง ช่องนี้คือช่องสำหรับแก้เสียงให้ตรงโน๊ต ถ้าเจาะสูงเสียงก็จะสูงขึ้น ถ้าสูงไปก็เจาะให้ต่ำลงมา เมื่อประกบไผ่ทำแคนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเราก็จะมองไม่เห็นช่องปรับเสียงนี้

คำขวัญบ้านท่าเรือ

คำขวัญบ้านท่าเรือ เมื่อชมการทำโหวด ปี่ แคน ไปแล้ว เราก็ต้องเดินเสาะหาบ้านที่ทำเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเจอทางแยกของหมู่บ้าน ป้ายคำขวัญ น่าสนใจมาก

แคน พิณ โหวดหลากหลาย
ผ้าไหม สวยงาม
ถิ่นโบราณมากล้ำ
แหล่งน้ำสมบูรณ์

ป้ายบอกทางในหมู่บ้านยังมีชื่อ หนองแต้ อยู่ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอดีต พ.ศ.2443 ที่มีการย้ายเข้ามาทำกินในพื้นที่ มีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหนองแต้ เพราะนอกจากมีหนองน้ำใหญ่แล้วก็ยังมีต้นหมากแต้ขึ้นอยู่มากมาย จนเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นก็มีการขยายออกเป็นหลายหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนชื่อจากบ้านหนองแต้ มาเป็นบ้านท่าเรือ ต.นาหว้า ต่อมาก็กลายเป็นตำบลท่าเรือ แต่เดิมยังเป็นกิ่งอำเภอนาหว้า นอกจากการทำพิณ แคน โหวด ก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมด้วย

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

ระหว่างเดินชมรอบหมุ่บ้านก็จะเห็นทุกหลังคาเรือนนั่งทำเครื่องดนตรีอยู่ในบ้าน เป็นภาพที่จะเห็นได้เฉพาะบ้านท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนมเท่านั้น

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

กลางหมู่บ้านมีวัดประจำหมู่บ้าน ที่วัดแห่งนี้เราจะเห็นแคนและโปงลางขนาดใหญ่อยู่หัวมุมสี่แยก แสดงถึงเอกลักษณ์ของหมู่บ้านว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีอีสานใหญ่ที่สุดในประเทศ

ศาลบิดาแคน

ศาลบิดาแคน เป็นศาลเล็กๆ อยู่ในวัดใกล้ๆ กับแคนและโปงลางใหญ่กลางหมู่บ้าน บิดาแคนแหล่านี้เกิดไล่เลี่ยกันคือ ปี พ.ศ. 2451, 2452. 2453, 2454 ตามลำดับ ประกอบด้วย
นายโลน แสนสุริยวงศ์ 2451
นายลอง แมดมิ่งเหง้า 2452
นายไกร แมดมิ่งเหง้า 2453
นายไคร้ แมดมิ่งเหง้า 2454

นายโลนเป็นผู้แรกที่ประดิษฐ์แคน ได้สวยงาม เสียงไพเราะ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อใหม่ว่า ฟ้าคำโลน ในศาลแห่งนี้ก็จะมีมีดทำแคนอยู่ด้วย ชาวบ้านจะมาไหว้ครูที่ศาลแห่งนี้กันเป็นประจำ

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

บ้านทำพิณ

บ้านทำพิณ ตอนนี้เราก็เดินทางมายังบ้านแห่งหนึ่ง ชื่อ สวรรค์การดนตรี บ้านหลังนี้เป็นกลุ่มทำพิณ ซึ่งความจริงก็สามารถทำเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ด้วย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำเครื่องดนตรีอื่นได้หมด ที่บ้านหลังนี้เราจึงเห็นการทำพิณ มากกว่าเครื่องดนตรีอื่น

แกะสลักหัวพิณ

แกะสลักหัวพิณ พิณและโปงลาง เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ใช้ไม้ไผ่ทำแคน แต่การแกะสลักหัวพิณที่เราเห็นเป็นรูปหัวพญานาคก็ยังคงใช้มีดทำแคน แสดงให้เห็นว่า มีดทำแคนนั้นนับเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญของคนบ้านท่าเรือเอามากๆ การแกะสลักหัวพิณค่อนข้างใช้ฝีมือที่แตกต่างจากการทำแคน โหวด และปี่ วัยรุ่นส่วนใหญ่จะแกะสลักพิณ แต่ละคนแกะได้ประมาณ 10 หัว ในเวลา 3 วัน ราคาค่าแรงหัวละ 300 บาท แต่ละวันก็ได้ประมาณ 900 บาทถือว่าเป็นรายได้ที่ดีเอามากๆ

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

หัวพิณที่แกะสลักแล้วเอามาประกอบกับส่วนอื่นๆ ของพิณ จากนั้นก็จะทำการทาแลคเกอร์ แล้วเอาผึ่งลมให้แห้ง การทาแลคเกอร์ต้องทากันถึง 3 ชั้น กว่าจะได้พิณที่เงางามสดใสพร้อมใช้ พิณแต่ละตัวที่ทำสำเร็จแล้วเพียงใส่สายก็เล่นได้เลย จะมีราคา 500 บาทขึ้นไป ที่บ้านนี้ยังสามารถทำพิณไฟฟ้าได้ด้วย ราคาตามตกลงกัน

ลองเสียงพิณ

ลองเสียงพิณ พิณและเครื่องดนตรีทุกชนิดที่ผลิตในหมู่บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จะต้องมีการลองเสียงแบบ 100% เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นมีเสียงไพเราะและไม่เพี้ยนโน๊ต จึงจะออกจำหน่ายได้ การทำโหวดนอกจากลองเสียงให้ตรงโน๊ตแล้วยังมีการวัดความดังด้วยเครื่องวัดมาตรฐาน เป็นเดซิเบล อีกด้วย ราคาจำหน่ายก็ไม่แพง จึงทำให้มีรถเข้ามาเหมาเอาเครื่องดนตรีเหล่านี้ไปขายต่อเป็นประจำทุกเดือน สุดยอดการท่องเที่ยววิถีไทย หมู่บ้านดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง จริงๆ

พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ

จบการชมหมู่บ้าน พิณ แคน โหวด โปงลาง บ้านท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนมเพียงเท่านี้ เราต้องเดินทางกันต่อไป เพื่อไปชม งานแห่ดาวสกลนคร อันเป็นหนึ่งเดียวในโลกกันต่อ

ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ นครพนม
อาณาจักร รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ เนเจอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
หัวหิน ซันวิลลา คอนโดเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  53.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุ้มเทวา สกลนคร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  53.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกศราโฮม รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  55.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
นาคปุระ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  57.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมยู สไตล์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  58.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอื้องดิน สกลนคร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  59.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านอีสาน คันทรีเฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  59.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 28 ตร.ม. – ใจกลางเมืองสกลนคร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  60.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ พิณแคนโหวดบ้านท่าเรือ นครพนม
พระธาตุประสิทธิ์ นครพนม
  8.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระธาตุศรีเงินคำ นครพนม
  13.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
ผ้าย้อมคราม บ้านหนองครอง สกลนคร
  22.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย สกลนคร
  25.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดคำประมง สกลนคร
  27.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทองปนผ้าคราม​ บ้านคำประมง​ สกลนคร
  27.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร สกลนคร
  45.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
กลุ่มผ้าครามชุมชนบ้านโนนเรือ สกลนคร
  48.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร
  48.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีแห่ดาวท่าแร่สกลนคร
  51.82 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com