www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กาฬสินธุ์ >> พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

 ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปอีก 1 กิโลเมตร บริเวณภูกุ้มข้าว ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดสักกะวัน เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก รวมทั้งโครงกระดูกไดโนเสาร์ทั้งตัวที่สมบูรณ์ที่ฝังอยู่ในพื้นดินและได้รับการขุดแต่งโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี

 พิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า "พิพิธภัณฑ์สิริธร" การจัดแสดงภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การกำเนิดโลก ส่วนที่ 2 การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ส่วนที่ 3 เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ปัจจุบันกำลังจัดแสดงนิทรรศการ "ซากดึกดำบรรพ์ปลาภูน้ำจั้น" ซึ่งเป็นซากปลาน้ำจืดโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีชื่อว่า "เลปิโดเทส" มีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตรอยู่ในยุคมีโซโซอิก หรือ 65 ล้านปีที่แล้ว ช่วงเดียวกับไดโนเสาร์

 พิพิธภัณฑ์สิรินธร กำหนดเปิดให้บริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ ปิดทุกวันจันทร์ เว้นแต่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์จะเปิดให้บริการตามปกติ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 4387 1014, 0 4387 1613 - 4
 นอกจากนี้ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดสักกะวัน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล (หลวงพ่อบ้านด่าน) พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

พิพิธภัณฑ์สิรินธร ได้รับรางวัลอุทสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือยอดเยี่ยม

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. ขอนแก่น โทร. 0 4322 7714-5
http://www.tourismthailand.org/khonkaen

แก้ไขล่าสุด 2017-06-16 01:26:59 ผู้ชม 44029

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ภูกุ้มข้าว

ภูกุ้มข้าว สิ่งแรกที่มองเห็นได้แต่ไกลบนทางหลวงหมายเลข 227 กาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ ภาพนี้ถ่ายไว้หลายปีแล้วเป็นช่วงหน้าแล้ง ถ้ามาหน้าฝนเราจะเห็นต้นไม้บนเขาแตกกิ่งก้านสาขา เขียวขจีจนมองไม่ค่อยเห็นตัวหนังสือแบบฮอลลีวู๊ด ว่าอุทยานไดโนเสาร์ ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ก็มีคนมาซื้อไปแล้วก็ถมที่กำลังสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา

ซุ้มประตูวัดสักกะวัน

ซุ้มประตูวัดสักกะวัน นี่คือทางเลี้ยวที่จะนำไปสู่อุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เลี้ยวขวาไปพิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ถ้าตรงไปจะเป็นถนนเข้าวัด เดิมทีเดียวเนินเขาเตี้ยๆ ลูกนี้ทั้งหมดเป็นที่ดินของวัด เมื่อมีการขุดเจอฟอสซิลจึงต้องนำมาเป็นพื้นที่ของหน่วยงานธรณีวิทยา เดี๋ยวเราเลี้ยวไปพิพิธภัณฑ์กันก่อนแล้วจะพาย้อนมาดูว่ารอบวัดสักกะวันมีอะไรบ้าง

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร ไม่ไกลจากทางแยกเท่าไหร่ เราก็จะมาถึงอาคารพิพิธภัณฑ์ มีลานจอดรถกว้างขวางหน้าอาคารมีรูปปั้นไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธ์ให้เลือกถ่ายรูปกันเต็มที่

สยามโมไทรรันนัส อีสานเอนซิส

สยามโมไทรรันนัส อีสานเอนซิส (อังกฤษ: Siamotyrannus isanensis) เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอด ลำตัวยาวประมาณ 6.5 เมตร พบกระดูกเป็นครั้งแรกที่หลุมขุดค้นที่ 9 ที่ภูประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น โดยนายสมชัย เตรียมวิชานนท์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ. 2536 พบอยู่ในเนื้อหินทรายเนื้อแน่นหมวดหินเสาขัว ยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือ 130 ล้านปีมาแล้ว
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/สยามโมไทรรันนัส

สังเกตุตรงที่หางของมันจะเห็นว่ามันชี้ไปตรงทางเข้าห้องน้ำพอดี ก่อนที่เราจะเดินเข้าไปตามทางเดินอีกไกล เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

มาตราธรณีกาล

มาตราธรณีกาล เข้ามาด้านในพิพิธภัณฑ์จะเริ่มด้วยเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาก่อนเสมอ อย่างน้อยให้เราเข้าใจว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าไดโนเสาร์เหล่านี้มีอายุเท่าไหร่ ความลึกของการทับถมกันของดินแต่ละชั้นนั่นเองจะบอกว่าเป็นยุคกี่ล้านปีมาแล้วและแต่ละยุคเราเจอฟอสซิลแบบไหนบ้าง แล้วยังมียุคที่เก่ากว่าที่เราขุดเจอกันหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและทำการศึกษากันต่อไป เรื่องราวของเปลือกโลกที่เคลื่อนที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมจึงพบไดโนเสาร์อยู่กระจายกันไปห่างกันถึงคนละซีกโลก เราเชื่อว่าก่อนหน้านี้ผืนแผ่นดินอยู่ติดกันหมดไม่มีการแบ่งแยกทวีปมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่หลายล้านตัว ก่อนที่แผ่นดินจะแยกออกจากกันนั่นเอง

ห้องแสดงฟอสซิล

ห้องแสดงฟอสซิล ในห้องนี้เราจะได้เห็นซากฟอสซิลที่เราพบในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่เป็นแบบจำลอง ส่วนของจริงก็จะเก็บไว้ที่แต่ละประเทศที่ค้นพบ

ฟอสซิล ไทรโลไบต์ พาราดอกไซเดส

ฟอสซิล ไทรโลไบต์ พาราดอกไซเดส เป็นฟอสซิลที่พบในประเทศโทร็อกโก มีสภาพที่สมบูรณ์มากอย่างที่เห็น ความรู้เกี่ยวกับการเกิดฟอสซิล เราประมาณกันว่าไดโนเสาร์ 1 ล้านตัว จะมีเพียง 1 ตัวเท่านั้นที่ถูกธรรมชาติเก็บรักษาโครงกระดูกเอาไว้ในสภาพฟอสซิล การพบฟอสซิล 1 ชิ้น จึงบอกได้ว่าเคยมีไดโนเสาร์แบบนี้อยู่ 1 ล้านตัว นั่นเอง

โครงกระดูกไดโนเสาร์ไทย

โครงกระดูกไดโนเสาร์ไทย พอเราเดินตามทางเดินเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงโถงใหญ่กลางอาคาร เราจะเห็นโครงกระดูกไดโนเสาร์จำลองที่สร้างด้วยการจำลองของจริงขึ้นมา การค้นพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกของไทยที่ภูเวียงนั้นค้นพบเพียงบางชิ้นส่วนเท่านั้น จากนั้นก็มีการค้นพบอีกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ภูกุ้มข้าวแห่งนี้ ในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งตัว พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ของกาฬสินธุ์จึงได้สร้างให้ใหญ่และทันสมัยกว่า

แชมป์โซซอรัส

แชมป์โซซอรัส Champsosaurus เป็นไดโนเสาร์เลื้อยคลานยุคแรกๆ ตัวนี้ไม่ได้พบในเมืองไทยแต่พบที่ออสเตรเลีย หน้าตาเหมือนจรเข้มาก มีขนาดยาว 1.8 เมตร Champsosaurus เป็นลูกผสมของ gharial และคล้าย gharial ตรงที่มันจะล่าในแม่น้ำและหนองน้ำจับปลาด้วยขากรรไกรที่ยาวและฟันที่เรียงเป็นแถวยาว มันจะว่ายน้ำด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายไปด้านข้างหุบแขนขาของมันไว้ข้างตัวเพื่อเพิ่มความคล่องตัว เช่นเดียวกับจระเข้และมารีนอีกัวน่า กะโหลกของ Champsosaurus หลังตาจะกว้างมากเป็นที่ที่กล้ามเนื้อขากรรไกรที่ทรงพลังติดอยู่

ฟอสซิลของมันถูกพบในทวีปอเมริกาเหนือ (อัลเบอร์ต้าซัสแคต, มอนแทนา, นิวเม็กซิโก, เท็กซัส และไวโอมิง) และยุโรป (ประเทศเบลเยียมและฝรั่งเศส) ประมาณยุคครีเทเซียสตอนปลายไปถึงกลางยุค Eocene ชื่อของมันหมายถึง "จระเข้จิ้งจก"; "Champso-" มาจากนักเขียนกรีกโบราณที่เขียนว่า "ชาวอียิปต์เรียกจระเข้ว่า χαμψαι [champsae]".

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร ถึงทางเข้าพิพิธภัณฑ์สิรินธร ก็ยังมีพนักงานต้อนรับเป็นไดโนเสาร์ในสวนหย่อม

อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ

อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เป็นไดโนเสาร์ที่ค้นพบในไทยเป็นที่แรก โดยชื่อ อรรถวิภัชน์ชิ เป็นการให้เกียรติอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ที่ให้การสนับสนุนการศึกษาไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่อง ไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นซอโรพอต คอยาว หางยาว เดิน 4 ขา กินพืช มีขนาด 13-15 เมตร เชื่อว่าเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่าเป็นรุ่นปู่ของ ที-เร็กซ์ ที่อยู่ในหนังเรื่องจูราสสิคพาร์คก็ว่าได้

สยามโมไทรรันนัส อีสานเอนซิส

สยามโมไทรรันนัส อีสานเอนซิส นี่คือโครงกระดูกอีกโครงหนึ่งของไดโนเสาร์ที่ค้นพบในอีสาน และพบสายพันธุ์นี้ที่บ้านเราเป็นครั้งแรก แถมยังมีอายุรุ่นเก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย การค้นพบไดโนเสาร์นี้ทำให้เรารู้ว่า ไทรันโนซอริเด กำเนิดที่ทวีปเอเซียแล้วเดินทางแพร่กระจายไปทางเหนือแล้วสูญพันธุ์ที่อเมริกา ขนาดประมาณ 6.5 เมตร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

นอกจากนี้ยังมีกระดูกไดโนเสาร์อีกมากมายหลายชิ้นที่ให้ข้อมูลความรู้กับผู้ที่เข้ามาชมได้เป็นอย่างดี ที่น่าภาคภูมิใจคือการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้พบที่บ้านเราเป็นที่แรกของโลก แถมยังเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย นอกเหนือจากไดโนเสาร์ที่พบในสยาม ก็ยังมีไดโนเสาร์อีกหลายสายพันธุ์ที่พบที่ประเทศอื่นๆ เอามาจำลองให้ชมกัน ไดโนเสาร์มีปีกหรือ เทราโนดอน ก็มีให้ชมกัน 2 สายพันธุ์ แต่รู้มั้ยว่า ไดโนเสาร์มีปีกไม่ใช่บรรพบุรุษของนก แล้วบรรพบุรุษของนกคือไดโนเสาร์พันธุ์ไหนกัน จะได้ดูกันที่นี่แหละ

ความเป็นมาของแผ่นดินอีสาน

ความเป็นมาของแผ่นดินอีสาน เดินมาถึงตรงนี้จะมีข้อมูลความรู้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานที่ค้นพบไดโนเสาร์ให้เราได้ศึกษากัน ความเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกนั้นยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดจริงๆ ใครจะรู้บ้างละว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีแม่น้ำนับร้อยสายไหลมาจากเวียดนาม ลาว กัมพูชา มารวมกัน แล้วครั้งหนึ่งก็เคยเป็นทะเลที่มีน้ำเค็มจัด เคยเป็นทะเลทรายอีกด้วย แล้วต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นมนุษย์คงไม่สามารถที่จะจัดการอะไรได้

ในช่วงต้นของมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นช่วงเวลาของยุคไทรแอสซิก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เคยเป็นทะเลมาก่อนได้ยกตัวขึ้นเป็นภูเขา และมีภูเขาไฟเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ก็มีหลายพื้นที่ทรุดตัวลงกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เกิดทะเลสาบที่อุดมสมบูรณ์หลายแห่งซึ่งมีสาหร่าย ปลา เต่า และสัตว์เลี้อยคลานอาศัยอยู่มากมาย ไดโนเสาร์พวกแรกที่เริ่มปรากฏในประเทศไทยคือ โปรซอโรพอตและซอโรพอต ซึ่งซอโรพอตที่เก่าแก่ที่สุดของโลกคือ อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ

ต่อมาในยุคจูแรสซิก อากาศเริ่มร้อนและแห้งแล้ง แต่หลายพื้นที่ของภาคอีสานยังคงสภาพเป็นบึง หรือที่ราบลุ่มน้ำท่วม มีหอยสองฝา ปลา เลปิโตเทส พุทธบุตรเอนซิส และจระเข้ ซูโนซูคัส ไทยแลนดิคัส อาศัยอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ที่เริ่มพัฒนาและขยายพันธุ์มากขึ้น เช่น ซอโรพอต คาร์โนซอร์ ฮิปซิโลโฟตอน และสเตโกซอร์

ปลายยุคจูแรสซิก ต่อยุคครีเทเซียสตอนต้น บริเวณภาคอีสานกลายสภาพเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล มีแม่น้ำนับร้อยสายไหลมาจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา มารวมกันตอนกลางของพื้นที่แล้วไหลไปลงทะเลทางทิศตะวันตก เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน , สยามโมซอรัส สุธีธรนี , สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส , คอมพ์ซอกเนธัส , กินรีมิมัส เป็นต้น แล้วเริ่มพัฒนาไปเป็นไดโนเสาร์ อิกัวโนดอน และ ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ

ในช่วงปลายยุคครีเทเซียสตอนต้น เทือกเขาดงพญาเย็นเริ่มยกตัวขึ้น เกิดแอ่งที่ถูกปิดกั้นรอบด้านขึ้นมา 2 แอ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือ แอ่งนครไทย และแอ่งมหาสารคาม ซึ่งมีสภาพเป็นทะเลสาบที่มีน้ำเค็มจัดจนเกิดการสะสมตัวของเกลือหินและแร่โพแทซ ต่อมาทะเลสาบเหือดแห้งไปกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง บางแห่งกลายเป็นทะเลทราย ไดโนเสาร์ในบริเวณนี้อาจจะสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ช่วงที่พื้นที่กลายเป็นทะเลสาบน้ำเค็มจัดหรือช่วงที่เป็นทะเลทราย ก่อนหน้าที่ไดโนเสาร์ทั่วโลกจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคครีเทเซียสและมหายุคมีโซโซอิก

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

เลปิโตเทส พุทธบุตรเอนซิส

เลปิโตเทส พุทธบุตรเอนซิส เป็นไดโนเสาร์ปลา ซากฟอสซิลที่เจอในภาคอีสานของเรามีจำนวนมากมายกว่า 150 ชิ้น แสดงให้เห็นว่าภาคอีสานของเราเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มากมาก่อน ปลาในยุคหลายล้านปีที่ผ่านมามีเกล็ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นปลาที่มีเกล็ดโค้ง ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธรจะมี เลปิโตเทส พุทธบุตรเอนซิส ให้ชมทั้งตัวผู้และตัวเมีย

อีสานอิกทริช พาลัสทริซ

อีสานอิกทริช พาลัสทริซ ฟอสซิลที่อยู่ด้านซ้ายมือลำตัวยาวๆ เป็นปลากินเนื้อ มันสามารถจำศีลอยู่ในดินได้ในช่วงฤดูแล้ง รอจนกว่าจะมีฝนตกลงมาอีกครั้งจึงออกมาหากิน ในช่วงที่ปลาเหล่านี้ตาย พบว่าปลาพวกนี้น่าจะตายไปพร้อมๆ กันทั้งหมด น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่แหล่งน้ำแห้งเหือดไปนั่นเอง หลักฐานเหล่านี้ให้ความชัดเจนของความเป็นมาของโลก ก่อนที่จะกำเนิดมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

ห้องวิจัย

ห้องวิจัย เป็นห้องแลปสำหรับนักธรณีวิทยามาทำงานกันที่นี่กับชิ้นส่วนมากมายนับไม่ถ้วนที่สงสัยว่าน่าจะเป็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ ถูกส่งมาจากหลายที่ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ปกติเราจะได้เห็นนักธรณีวิทยานั่งทำงานกันอยู่ในห้องนี้ แต่วันนี้ไม่มีใครอยู่ ห้องนี้จะเป็นห้องกระจกใสมองจากด้านนอกไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าไป

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

โครงกระดูกที่คล้ายมนุษย์ที่สุด

โครงกระดูกที่คล้ายมนุษย์ที่สุด ผลงานชิ้นหนึ่งที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สิรินธรก็คือโครงกระดูชิ้นนี้มีอายุเก่าแก่และคล้ายมนุษย์มากที่สุดเท่าที่เคยพบ

ขับรถรอบภูกุ้มข้าว

ขับรถรอบภูกุ้มข้าว ออกจากพิพิธภัณฑ์กันมาแล้ว ลองกลับมาที่ตรงซุ้มประตูวัดสักกะวัน แล้วตรงเข้าไปทางไปวัดดูว่ามีอะไรกันบ้างดีกว่า อย่างที่เล่าไปตอนแรกแล้วว่าที่ดินรอบเนินเขาเป็นของวัดทั้งหมด หลังจากค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ที่ดินเหล่านี้ก็กลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทรัพยากรธรณีตามกฎหมาย แต่รอบๆ บริเวณภูกุ้มข้าว ก็ทำเป็นรูปปั้นไดโนเสาร์ยืนอยู่ตามจุดต่างๆ ถ้าไม่รีบร้อนไปไหนลองมาขับรถวนรอบเขาสักรอบใช้เวลาไม่นานครับ

มณฑปวัดสักกะวัน

มณฑปวัดสักกะวัน เข้ามาแป๊บเดียวก็ถึงโบสถ์ แล้วก็มณฑป แต่เราจะไม่เข้าไปเราจะขับวนรอบเขากัน

ภูกุ้มข้าว

ภูกุ้มข้าว เลยมาทางด้านหลังวัดพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่่ค้นพบฟอสซิล และขุดออกไปจนหมดแล้ว

อุโมงค์ไดโนเสาร์

อุโมงค์ไดโนเสาร์ ตอนท้ายๆ ของเส้นทางนี้ก่อนจะกลับไปที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์สิรินธรมีรูปปั้นไดโนเสาร์ให้ถ่ายรูป มีหัวไดโนเสาร์โผล่ออกมาจากอุโมงค์เล็กๆ

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

จบการนำเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร เพียงเท่านี้ครับ ถ้ามีอะไรอัพเดตจะมาเพิ่มเติมให้ในโอกาสต่อไป

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กาฬสินธุ์
เตชิต ฮิลล์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
Techit Hill. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุณหนวด การ์เดน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบลูเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
โพนทอง การ์เดน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชดา วิว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  42.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
Tong Tin Tat Residence View เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมคิวบิส กาฬสินธุ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
วันใหม่ กาฬสินธุ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  45.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไดโน่ สตูดิโอ ลักชัวรี่ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  45.85 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com