ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สุพรรณบุรี โทร.035 525 880
Facebook tat_suphanburi
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
ซุ้มประตูและป้ายหน้าวัด จากทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี เส้นทางสายหลักที่เราจะใช้เดินทางมายังจังหวัดสุพรรณบุรี จนมาถึงทางแยกเข้าถนนมาลัยแมน ที่เชื่อมต่อจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ทางด้านตะวันตก เข้ามาตามถนนไม่นานนักเราก็มาถึงวัดที่ถือว่าเป็นวัดประจำจังหวัดสุพรรณบุรีเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ก็ต้องกล่าวกันว่า ถ้ามาสุพรรณ ไม่แวะสักการะนมัสการหลวงพ่อโตปางป่าเลไลยก์ที่วัดนี้ ก็คงจะมาไม่ถึงสุพรรณบุรี
เมื่อมาถึงวัดแล้วก็หาที่จอดรถในลานกว้างๆ ของทางวัดที่จัดไว้ให้จากนั้นก็มุ่งหน้าตรงไปยังวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์
วิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ด้วยขนาดขององค์พระพุทธรูปที่ใหญ่โตมาก เมื่อมีการสร้างวิหารครอบก็ต้องเป็นวิหารที่มีขนาดสูงใหญ่ วิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงสูงเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้แต่ไกล
หน้าบันของวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้
ทำบุญสร้างพระอุโบสถ ตรงด้านหน้าระหว่างทางที่จะเดินไปยังวิหารหลวงพ่อโต จะมีอาคารอยู่ซ้ายมือ เป็นอาคารทรงไทย ตอนนั้นเปิดเป็นกองอำนวยการรับบริจาคสร้างพระอุโบสถหลายปีผ่านไปจนถึงวันนี้พระอุโบสถก็คงสร้างเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เมื่อมีโอกาสเราคงได้กลับไปติดตามข่าวและภาพอัพเดตมาฝากกันครับ
เจดีย์วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อยู่ตรงข้ามกับกองอำนวยการสร้างพระอุโบสถ หรืออีกนัยหนึ่ง เจดีย์สีขาวเด่นตระหง่านองค์นี้ตั้งอยู่ตรงกันกับวิหารหลวงพ่อโตพอดี ส่วนอีกด้านหนึ่งของทางเดินหน้าวิหารเป็นอาคารสำหรับบูชาวัตถุมงคลของวัดป่าเลไลยก์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีขุนแผนอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาขุนแผน จังหวัดสุพรรณบุรี เชื่อกันว่าจะมีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม ค้าขายง่าย มีคนชื่นชมมากมาย นั่นเอง
ไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ เข้ามาในเขตของวิหารไปบูชาธูปเทียนดอกไม้ จุดบูชาพระที่ด้านนอกหน้าวิหาร บรรยากาศการเดินทางมาไหว้พระหลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลยก์ก็อย่างที่เห็นในรูป แทบไม่ต้องบรรยายเลยว่ามีประชาชนทั้งใกล้และไกลเดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดต่างๆ
ขุนแผนและราหูหน้าวิหาร เมื่อจุดธูปเทียนไหว้พระหน้าวิหารแล้ว จะเช้าไปด้านในเพื่อสักการะนมัสการหลวงพ่อโตในวิหาร เราจะเห็นว่าด้านหน้า จะมีพระราหูอยู่ตรงกลาง ถัดไปเป็นรูปขุนแผนถือดาบนั่งอยู่ข้างประตูทางเข้า
การเดินทางมายังวัดป่าเลไลยก์แห่งนี้ ก็ควรจะได้ชมอนุสรณ์ของวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ที่ทางวัดสร้างขึ้นประกอบไปด้วย
อนุสาวรีย์ขุนแผน
อนุสาวรีย์นางพิมพิลาไลย
อนุสาวรีย์ขุนช้าง
บ้านขุนช้าง
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์หรือ ปางปาลิไลยก์ ปางปาลิไลยก์ (มักสะกดผิดเป็น ป่าเลไลย ป่าเลไลย์ ป่าเลไลยก์ ฯลฯ) เป็นพระพุทธรูปอยู่อิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มีรูปช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ และ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
ประวัติปางปาลิไลยก์
พระภิกษุในวัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้สอนยาก พระพุทธเจ้าทรงระอาพระทัยจึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้างปาลิเลยยกะคอยปรนนิบัติเมื่อลิงเห็นเข้าก็นำลวงผึ้งไปถวายบ้างแต่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าไม่รับเพราะว่าในลวงผึ้งมีตัวอ่อนอยู่เมื่อลิงรู้ดังนั้นก็ดึงตัวอ่อนออกจากลวงผึ้งแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าอีกครั้ง พระพุทธเจ้ารับลวงผึ้งที่ลิงนำมาถวาย ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร หลังจากพระพุทธองค์เสด็จกลับ พญาช้างเสียใจล้มลงขาดใจตาย บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายากเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/ปางปาลิไลยก์
ภาพจิตรกรรมพระระเบียงคด พระระเบียงคดรอบวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ลงสีสวยงามสะดุดตาผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาให้ได้หยุดชะงักชมความสวยงามของภาพที่มีฝีมือปราณีต วิจิตรบรรจง หลายภาพเรียงเป็นแนวยาวตามผนังของพระระเบียงคด
ประชาชนสนใจภาพจิตรกรรม ทุกครั้งที่เราไปวัดป่าเลไลยก์ หลังจากไหว้พระแล้วเดินออกมาที่ระเบียงคดด้านข้าง เพื่อเดินไปยังที่อื่นๆ ในวัด เราก็จะได้เห็นประชาชนจำนวนมากที่เดินชมความงามของภาพจิตรกรรมเหล่านี้อย่างช้าๆ เป็นกลุ่มใหญ่ เรียกว่าเป็นความงดงามที่ตรึงตาตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง
ประตูระเบียงคด ช่องประตูตกแต่งอย่างสวยงามทุกช่อง เป็นทางเดินผ่านทะลุไปยังพระอุโบสถ โดยปกติเราจะไม่ค่อยได้เข้าไปในพระอุโบสถวัดป่าเลไลยก์กันนัก เหมือนกับวัดอื่นๆ ที่เมื่อมีพระพุทธรูปในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด ทางวัดมักจะเปิดวิหารให้เข้าสักการะ และไม่เปิดอุโบสถ
พระอุโบสถวัดป่าเลไลยก์ เป็นภาพเมื่อหลายปีมาแล้วครับ ครั้งนั้นทางวัดยังคงขาดปัจจัยในการที่จะสร้างพระวิหารหลวงหลังใหญ่ ที่อยู่ข้างๆ พระอุโบสถ
คุ้มขุนช้างวัดป่าเลไลยก์ คุ้มขุนช้างหรือบ้านขุนช้าง เป็นสถานที่ที่ทางวัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์วรรณคดีขุนช้างขุนแผน (คุ้มขุนแผนอยู่ที่วัดแค ถนนสมภารคง) เป็นไม้สักทั้งหลังทรงไทย สร้างอย่างกว้างขวาง
บันไดบ้านขุนช้าง ตอนนี้เราก็จะพาขึ้นไปชมข้างบนกันครับว่ามีอะไรบ้าง บ้านขุนช้างหรือคุ้มขุนช้าง เป็นอาคารทรงไทยที่สร้างอย่างสวยงาม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปที่ระลึกกันจำนวนมากครับ
รูปที่ระลึกบ้านขุนช้าง เมื่อขึ้นมาบนบ้านที่กว้างใหญ่หลังนี้ หลายคนจะมุ่งไปยังภาพขุนช้างที่เจาะส่วนหน้าเอาไว้เป็นวงรี เพื่อเอาหน้าของตัวเองเข้าไปใส่ ดูเป็นภาพขุนช้างนั่งในท่าแสนสบาย
พระพุทธรูปบนคุ้มขุนช้าง บ้านทรงไทยไม้สักที่ใหญ่โตหลังนี้ ไม่เพียงแค่สร้างให้มีลักษณะเป็นเรือนทรงไทยไม้สัก แต่ยังมีการดูแลรักษาความสะอาด และความเงางามของพื้นไม้เป็นอย่างดี ไม่ต่างอะไรกับค่านิยมของบ้านเรือนในสมัยนั้น ที่พื้นบ้านจะต้องเงางามอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนในรูปนี้
ภาชนะโบราณบ้านขุนช้าง นอกจากการสร้างเรือนไทยหลังใหญ่ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์ตัวละครขุนช้างแล้ว ทางวัดยังได้เก็บภาชนะต่างๆ ถ้วยโถโอชาม ไว้ในตู้ไม้สักตั้งอยู่บนเรือน ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา นอกจากที่เห็นอยู่นอกผนังเรือนลูก ถ้ามองเข้าไปในช่อหน้าต่าง เราก็จะเห็นภาชนะและเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากมายเก็บไว้ในตู้อีกด้านหนึ่งของฝาผนัง
จบการนำไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ไว้เพียงเท่านี้ครับ สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ด้วยก็จะมีวัดอื่นๆ เลียบฝั่งแม่น้ำท่าจีนในตัวเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่
1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
2. วัดแค
3. วัดสารภี
4. วัดพระลอย
5. วัดหน่อพุทธางกูร
6. วัดพระนอน
7. วัดพิหารแดง
8. วัดชีสุขเกษม
9. วัดสว่างอารมณ์
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ