www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรปราการ >> วัดทรงธรรมวรวิหาร

วัดทรงธรรมวรวิหาร

 วัดทรงธรรมวรวิหาร อำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการตั้งอยู่ถนนทรงธรรม เลยจากวัดโปรดเกศเชษฐาราม ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพร้อมกับการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ทั้งนี้คงมีพระประสงค์ให้เป็นวัดรามัญ สำหรับชาวรามัญที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครอบครัวจากจังหวัดปทุมธานี มาอยู่ที่นี่ แต่เดิมที่ทรงสร้างขึ้นนั้น เป็นกุฏิสร้างด้วยไม้พระอุโบสถก็เป็นเครื่องไม้ฝากระดาน

 สถานที่ตั้งวัดเดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกประมาณ 2 เส้น (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนอำนวยวิทย์) หลังจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2360 แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นแม่กองมาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติม ในครั้งนั้นได้ทรงสร้างป้อมขึ้นใหม่อีกป้อมหนึ่งคือ "ป้อมเพชรหึง" โดยใช้อาณาบริเวณวัดทรงธรรมจากนั้นจึงโปรดให้ย้ายวัดทรงธรรมมาอยู่ในกำแพงป้อม บัดนี้กำแพงป้อมส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของสถานสงเคราะห์คนทุพพลภาพและโรงเรียนอำนวยวิทย์ การย้ายวัดเข้ามาอยู่ในที่แห่งใหม่นี้ ทำให้ได้กุฏิเป็น 3 คณะ คือบริเวณวิหารปัจจุบัน 1 คณะ ข้างพระอุโบสถ 1 คณะ และต่อจากคณะที่ 2 อีก 1 คณะ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดพระกฐิน ทรงทอดพระเนตรเห็นวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงรับสั่งให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้นเป็นหัวหน้าทำการปฏิสังขรณ์ การปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น ได้รื้อกุฏิทั้งสามคณะมาสร้างรวมกันเป็นหมู่เดียว

มรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏ
1. พระอุโบสถ พระยาดำรงราชพลขันธ์ ได้รื้อสร้างใหม่ ก่ออิฐ ฉาบปูน เสาพระอุโบสถมีลักษณะกลมเป็นคู่ๆ เพื่อรับปีกในส่วนที่เป็นชานพระอุโบสถ มีเสาทั้งหมด 56 ต้น สร้างศาลาพัก 2 หลังที่ด้านหน้าพระอุโบสถ ในสมัยที่พระประแดงยังมีฐานะเป็นจังหวัดอยู่นั้น พระอุโบสถหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการทุกแผนก ลักษณะของโบสถ์มีความงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก

2. พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย) เป็นหัวหน้า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2455 - 2456 พระวิหารนี้มีความงามทางด้านสถาปัตยกรรมเช่นกัน

3. พระเจดีย์องค์ใหญ่ อยู่ใกล้กับพระวิหารเป็นเจดีย์แบบรามัญ มีเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง 1 องค์ มีเจดีย์องค์เล็กอยู่ที่ฐานมุม 4 องค์ เจดีย์องค์นี้กว้าง 10 วา 2 ศอก สูงถึงยอดฉัตร 11 วา 3 ศอก เจดีย์องค์เล็ก กว้าง 5 ศอก สูง 3 วา 1 ศอก พระเจดีย์องค์นี้เดิมหม่อมเกษมฯ เป็นผู้ริเริ่มสร้างแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาท่านพระครูปิฎกธระ (แทน จันทรังสี) ได้สร้างและปฏิสังขรณ์จนสำเร็จ และในสมัยที่พระราชธรรมวิสารทะ (สุก พุทธรังสี) ได้ทำการซ่อมและฉาบปูนรอบฐานพระเจดีย์ กับได้บรรจุพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ไว้อีกด้วย

4. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อัญเชิญมาไว้ มีลักษณะงดงามมาก ประเพณีการทำสังฆกรรมและสวดมนต์ ทางวัดได้ใช้ภาษารามัญเป็นพื้น แต่ในปัจจุบันได้อนุโลมตามความเหมาะสม คือมีการสวดมนต์เป็นภาษามคธบ้างในโอกาสอันสมควร แต่ในพิธีกฐินพระราชทาน จะสวดเป็นภาษารามัญเท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานฉะเชิงเทรา โทร.038 514 009
https://www.facebook.com/TAT-Chachoengsao-175554016247495/

แก้ไขล่าสุด 2017-06-11 11:55:39 ผู้ชม 32658

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
สรงน้ำพระมหาธาตุรามัญเจดีย์

สรงน้ำพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ การเดินทางมายังวัดทรงธรรม เส้นทางหลักน่าจะใช้ถนนสุขสวัสดิ์เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอพระประแดงด้วยถนนนครเขื่อนขันธ์ข้ามสะพานเลยวัดพระยาปราบปัจจามิตรไปอีกหน่อยจะมีซอยให้เลี้ยวซ้ายมาบรรจบถนนทรงธรรม เลี้ยวขวาอีกไม่ไกลก็จะถึงซุ้มประตูเข้าวัดทรงธรรมวรวิหาร สำหรับทริปนี้เราเดินทางในวันประเพณีสงกรานต์พระประแดงซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากวันสงกรานต์ไทยประมาณ 1 สัปดาห์ ในช่วงประเพณีสงกรานต์พระประแดงวัดทรงธรรมวรวิหารจะเปิดให้ประชาชนสรงน้ำองค์พระมหาธาตุรามัญเจดีย์ เราก็เลยเริ่มจากจุดนี้เป็นจุดแรกกันเลยครับ ทุกๆ ปีจะมีน้ำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อสรงองค์พระมหาธาตุเจดีย์ อัญเชิญโดยผู้แทนพระองค์มายังวัดทรงธรรมวรวิหารด้วยครับ

สรงน้ำพระมหาธาตุรามัญเจดีย์วัดทรงธรรม

สรงน้ำพระมหาธาตุรามัญเจดีย์วัดทรงธรรม ทางวัดจัดแจงทำระบบรอกเพื่อชักถังน้ำไปสรงที่ส่วนยอดขององค์เจดีย์ สำหรับเราเข้าไปในวัดก็ทำบุญมีน้ำอยู่ในโอ่งใช้ขันตักน้ำมาใส่ในถังแล้วก็สาวเชือกให้ถังถูกดึงขึ้นไปตามรอก เมื่อถึงยอดแล้วจะถึงเชือกอีกเส้นหนึ่งเพื่อให้ถังน้ำเอียงไปทางองค์เจดีย์ปล่อยให้น้ำค่อยๆ ไหลลงเป็นการสรงน้ำพระเจดีย์ที่เหมือนกันสำหรับทุกวัด

ธงตะขาบ

ธงตะขาบ เป็นสิ่งที่เราได้เห็นและเกิดความสงสัยถึงที่มาของธงขนาดมหึมานี้ที่ตั้งอยู่ตรงด้านข้างใกล้กับพระอุโบสถวัดทรงธรรมวรวิหารจึงได้ลองค้นคว้าหาข้อมูลดูปรากฏว่ามีที่มาดังนี้ครับ
คติความเชื่อเรื่องธงตะขาบนั้น เป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการตอบแทนคุณ และการอุทิศผลบุญแก่ผู้มีคุณซึ่งล่วงลับไปแล้ว ตามหลักของพระพุทธศาสนาของชาวมอญโดยทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีหลักฐานให้ได้เห็นอยู่ ในพิธีกรรมการเก็บอัฐิ และการทำบุญบังสุกุลในเทศกาลสงกรานต์ให้แก่ผู้มีพระคุณซึ่งล่วงลับไปแล้ว วัสดุที่จะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ ธง ผู้ที่เป็นลูกหลานญาติพี่น้องจะนำธงไปปักบริเวณที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของตน เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงบุญคุณ และอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน
ที่มา http://pirun.kps.ku.ac.th ยังมีประวัติความเป็นมาของธงตะขาบที่ละเอียดและยาวกว่านี้มากลองคลิกเข้าไปอ่านดูครับ

พระอุโบสถวัดทรงธรรมวรวิหาร

พระอุโบสถวัดทรงธรรมวรวิหาร จากธงตะขาบผืนใหญ่ เดินตรงเข้ามาที่แนวกำแพงแก้วที่ล้อมรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางของกำแพงแต่ละด้าน ลวดลายดอกบัวแบบเรียบๆ เหนือซุ้มประตู ผ่านซุ้มเข้ามาจะได้เห็นพระอุโบสถหลังใหญ่ของวัดทรงธรรม พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้อัญเชิญมาไว้ มีลักษณะงดงามมาก แต่ในวันสงกรานต์ที่เราเดินทางมาทางวัดไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะองค์พระประธานในพระอุโบสถ เปิดแต่พระวิหาร

พระมหาธาตุรามัญเจดีย์วัดทรงธรรม

พระมหาธาตุรามัญเจดีย์วัดทรงธรรม จากพระอุโบสถเดินไปทางด้านขวามือ ทางเดินตรงไปยังองค์พระเจดีย์อยู่ใกล้กับพระวิหารเป็นเจดีย์แบบรามัญ มีเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง 1 องค์ มีเจดีย์องค์เล็กอยู่ที่ฐานมุม 4 องค์ เจดีย์องค์นี้กว้าง 10 วา 2 ศอก สูงถึงยอดฉัตร 11 วา 3 ศอก เจดีย์องค์เล็ก กว้าง 5 ศอก สูง 3 วา 1 ศอก มีบันไดเดินขึ้นไปลานประทักษินชั้นบนได้ ทั้ง 4 ด้าน รอบฐานพระเจดีย์องค์ประธานมีพระพุทธรูปประดิษฐานโดยรอบ

พระประธานพระวิหาร

พระประธานพระวิหาร จากพระเจดีย์เดินไปด้านหน้าของพระวิหาร พอก้าวขึ้นไปและเข้าประตูพระวิหาร จะได้เห็นพระประธานพร้อมกับพระพุทธรูปหลายองค์ประดิษฐานอยู่รอบๆ เบื้องหน้าองค์พระประธานมีรอยพระพุทธบาท จุดเด่นที่เห็นตั้งแต่แว่บแรกในพระวิหารคือซุ้มที่อยู่ด้านหลังองค์พระประธานเป็นงานที่ทำจากโลหะ มีลวดลายสวยงามปราณีต ผนังภายในพระวิหารเป็นผนังแบบเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งมากนัก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์พระประแดงจะมีประชาชนเดินทางมาสักการะองค์พระในพระวิหารแห่งนี้ตลอดวัน พระภิกษุที่ดูแลพระวิหาร นอกเหนือจากจะกระทำพิธีถวายสังฆทาน คือรับสังฆทานจากเราแล้ว ยังคอยให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับวัดทรงธรรมเป็นอย่างดี แม้ประวัติของวัดที่ไม่ได้จัดพิมพ์แจก ท่านก็ยังอุตส่าห์ไปค้นหนังสือเก่าๆ มาให้ทีมงาน นอกเหนือไปกว่านั้นท่านยังเมตตาหาน้ำดื่มเย็นๆ มาให้คนที่ไปไหว้พระครบทุกคนอีกด้วย (แบบนี้ไม่เคยเจอครับ)

พระประธานพระวิหารวัดทรงธรรม

พระประธานพระวิหารวัดทรงธรรม ด้วยความประทับใจในความงดงามของซุ้มหลังองค์พระเลยเก็บภาพนี้เน้นที่ซุ้มมาให้ชมกันอีกภาพ

วิหารบุรพาจารย์

วิหารบุรพาจารย์ วิหารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 บนวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนพระบุรพาจารย์อดีตเจ้าอาวาสวัดทรงธรรมวรวิหารหลายรูป และมีหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในวิหารแล้วจึงมีรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสเรียงลำดับต่อจากหลวงพ่อทันใจ ลักษณะของวิหารสร้างคล้ายๆ วัดท่าซุงหรือวัดจันทาราม จังหวัดอุทัยธานี คือตกแต่งด้วยกระจกเล็กๆ ทั้งหลัง

วิหารบุรพาจารย์วัดทรงธรรม

วิหารบุรพาจารย์วัดทรงธรรม ลำดับพระบุรพาจารย์จากขวาไปซ้าย ท่านพระครูสมุทรวราภรณ์ (หลวงพ่อมหาวารี) , ท่านเจ้าพระคุณราชวิสารทะ (หลวงปู่เจิน) , ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมวิสารท (หลวงปู่สุก) , ท่านเจ้าพระคุณอุดมวิจารณ์ (หลวงปู่กลั่น) , ท่านเจ้าคุณพระอุดมญาณ (หลวงปู่แหล่ว)

หลวงพ่อทันใจวัดทรงธรรม

หลวงพ่อทันใจวัดทรงธรรม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีขั้นตอนการสร้างที่รวบรวมจากศรัทธาของประชาชนในพื้นที่และชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ผู้มีจิตศรัทธาจากต่างถิ่นร่วมกันสร้าง การสร้างหลวงพ่อทันใจนั้น จะต้องสร้างให้สำเร็จลงภายในเวลา ราตรีเดียว หรือ 1 คืน เราจึงได้เห็นหลวงพ่อทันใจประดิษฐานอยู่ในวัดต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

พระเศรษฐีนวโกฏิ

พระเศรษฐีนวโกฏิ ข้อมูลเกี่ยวกับพระเศรษฐีนวโกฏิ จาก http://th.wikipedia.org/wiki/พระเศรษฐีนวโกฏิ มีดังนี้ครับ
พระเศรษฐีนวโกฏิเป็นรูปเคารพแทนมหาเศรษฐีทั้ง 9 ท่านในสมัยพุทธกาล ท่านเหล่านี้เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์อเนกอนันต์ให้แก่พระพุทธศาสนา มีความมั่งคั่งในโภคทรัพย์อยู่ในระดับเดียวกับกษัตริย์ ทั้งยังเป็นสัมมาทิฏฐิ และยังเป็นพุทธอุปฐากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงยกย่องว่า ท่านเหล่านี้เป็นผู้เลิศในการทำทาน และเป็นยอดของมหาเศรษฐีทั้งปวง เศรษฐีทั้ง 9 นี้ได้แก่ 1.ธนัญชัยเศรษฐี 2.ท่านสุมะนะเศรษฐี 3. ท่านชะฏิละเศรษฐี 4. ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี 5.ท่านเมณฑะกะเศรษฐี 6.ท่านโชติกะเศรษฐี 7.ท่านสุมังคะละเศรษฐี 8.ท่านวิสาขามหาอุบาสิกา (ไม่มีชื่อในคาถานี้) 9.พระเจ้ามันธาตุราช และในบทคาถานี้ มีพระเวสสันดรด้วย จึงรวมเป็น10 ผู้รู้ได้ถือเอาคตินี้มาสร้างเป็นพระนวโกฏิให้มีพระพักตร์ทั้งหมด 9 พระพักตร์ แทนใบหน้าของนวเศรษฐีทั้งเก้าในสมัยพุทธกาล เชื่อว่ามีคุณทางโชคลาภ อำนวยลาภสักการะ และความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้เลื่อมใสบูชา
ประวัติ มหาเศรษฐีทั้ง 9 ท่านนี้ ล้วนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ทั้งที่ดำรงเพศฆราวาสอยู่ ตามตำนานของชาวล้านนา สมัยหนึ่งเกิดทุกข์เข็ญ ทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อน บังเกิดความอดอยากขึ้น จึงมีพระภิกษุผู้เป็นอริยะรูปหนึ่ง ได้แนะนำให้สร้างพระเศรษฐีนวโกฏิขึ้น เพื่อทำการสักการบูชาแก้เคล็ดในความทุกข์ยากทั้งหลาย และเมื่อสร้างและทำการฉลองสำเร็จ ก็ปรากฏมีเหตุการณ์ปรากฏขึ้นเป็นอัศจรรย์คือ ความทุกข์ยากอดอยากทั้งหลาย ได้บรรเทาลงและสงบระงับในที่สุด จึงเป็นคติที่เชื่อถือของชาวล้านนาว่า ถ้าผู้ใดได้บูชาพระเศรษฐีนวโกฏิแล้ว จะมีสิริมงคล ทำมาค้าขึ้น ประสบแต่โชคลาภ อยู่เย็นเป็นสุข ด้วยอานิสงส์แห่งบารมีธรรมของเศรษฐีทั้ง 9 ท่าน
พระเศรษฐีนวโกฏิ นี้อยู่ในมณฑปทรงจตุรมุข ไม่ไกลจากวิหารบุรพาจารย์ รอบๆ มณฑปตรงใต้ฐานที่สร้างเป็นแบบยกสูง มีบ่อปลาเล็กๆ มีปลาและเต่าอยู่ในบ่อสามารถให้อาหารปลาได้

หน้าต่างกุฏิสงฆ์

หน้าต่างกุฏิสงฆ์ หลังจากที่ได้ทำการรื้อถอนกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากและทำการสร้างขึ้นใหม่ตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ตามกาลเวลาต่อมา กุฏิสงฆ์ในวัดทรงธรรมก็มีรูปแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ส่วนชั้นบนเป็นผนังไม้ จุดที่โดดเด่นสะดุดตาคือหน้าต่างของกุฏิเหล่านี้ดูเป็นแบบเก่าเหมือนกันหมดทุกหลัง สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับวัดทรงธรรมวรวิหารเราก็ฝากไว้ให้ศึกษากันต่อไป และขอเชิญสักการะนมัสการองค์พระมหาธาตุรามัญเจดีย์ ชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ต้นกรุงรันตโกสินทร์ และศิลปะแบบรามัญกันที่วัดทรงธรรมวรวิหาร ร่วมกันสืบสานอนุรักษ์สิ่งดีๆ เหล่านี้ให้คงอยู่ตลอดไปครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดทรงธรรมวรวิหาร สมุทรปราการ
Comfy River Front Luxurious 1BR Studio Near BRT เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
Pool Side Big Living Room City Center เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
4star room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมริเวอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
Chaopraya riverview near sathorn/silom เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 30 ตร.ม. – สาทร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลุมพินีพาร์ค ริเวอร์ไซด์ คอนโดมีเนียม
  3.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
14 เรสซิเดนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
Premium 2Bedrooms Riverside#1 50mbpsWIFI*Netflix เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
Premium 2BedroomsRiverside#2*50MWIFI*Netflix*PS4 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดทรงธรรมวรวิหาร สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
  0.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลพระเสื้อเมือง สมุทรปราการ
  0.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
  0.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป้อมแผลงไฟฟ้า สมุทรปราการ
  1.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกลาง พระประแดง สมุทรปราการ
  1.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดโปรดเกศเชษฐาราม สมุทรปราการ
  1.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร สมุทรปราการ
  1.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดปริวาส
  2.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานภูมิพล (วงแหวนอุตสาหกรรม) สมุทรปราการ
  2.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดสุขสวัสดิ์ 39
  2.58 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com