www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรปราการ >> เมืองโบราณ Ancient City

เมืองโบราณ Ancient City

เมืองโบราณ หรือ Ancient City เป็นสถานที่ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นที่รวบรวมสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ ของไทย มากมายหลายแห่ง มาสร้างจำลองไว้ในพื้นที่เดียวกัน คล้ายเมืองจำลองที่พัทยาแต่ต่างกันที่ขนาด หรืออาจกล่าวได้ว่า เที่ยวเมืองโบราณที่เดียวเหมือนได้เดินทางท่องเที่ยวทั่วไทย การสร้างจำลองสถาปัตยกรรมต่างๆ ของไทย ซึ่งอาจจะจำลองให้ขนาดเล็กลงบ้าง หรือเท่าจริงบ้าง ทำให้ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก การเที่ยวเมืองโบราณ ด้วยวิธีที่นิยมมากอย่างหนึ่งก็คือการปั่นจักรยาน ซึ่งมีบริการอยู่ที่ทางเข้าเมืองโบราณ อีกวิธีหนึ่งคือรถบริการนำเที่ยวของเมืองโบราณซึ่งจุผู้โดยสารได้หลายคน เพราะถ้าหากใช้วิธีการเดิน แล้วยังต้องการชมสถานที่ต่างๆ อย่างละเอียดทุกๆ สถานที่อาจจะไม่หมดภายในเวลา 1 วัน



    เมืองโบราณ สมุทรปราการตั้งอยู่ในเขตตำบลบางปูใหม่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 33 ถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ห่างจากตัวจังหวัด 8 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่รวบรวมสถานที่สำคัญ ๆ ในประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 800 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2506 ปูชนียสถานที่สำคัญๆ เช่น เขาพระวิหาร ปราสาทหินพนมรุ้ง วัดมหาธาตุสุโขทัย พระพุทธบาทสระบุรี พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระบรมธาตุไชยา ฯลฯ โดยสร้างให้มีขนาดเล็กลง บางแห่งเท่าแบบจริงการสร้าง ฝีมือประณีต นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่นับวันจะสูญหายไปจากสังคมยุคใหม่ ผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของประเทศไทยจะศึกษาได้จากเมืองโบราณแห่งนี้ นอกเหนือจากสถานที่ดังที่กล่าวมาแล้ว เมืองโบราณยังมีตลาดเก่า ซึ่งสร้างจำลองบรรยากาศของตลาดในอดีต มีทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่นิยมจะใช้เป็นที่พักในช่วงกลางวัน



    สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

    บริษัทเมืองโบราณ จำกัด โทร. 0 2323 9253, 0 2709 1644 สำนักงานกรุงเทพฯ มุมอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โทร. 0 2224 1057, 0 2226 1936-7 หรือที่เว็บไซต์ www.Ancientcity.com



    การเดินทาง

    ใช้เส้นทางด่วน ปลายทางที่สำโรง-สมุทรปราการ ถึงสามแยกสมุทรปราการให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสุขุมวิทสายเก่า (ไปทางบางปู) เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือ รถโดยสารไปลงตลาดปากน้ำ แล้วต่อรถสองแถวผ่านเมืองโบราณ



    อัตราค่าเข้าชมเมืองโบราณ

    ค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป (คนไทย)

    บัตรคุ้มสยามผู้ใหญ่ (คนไทย) *** เที่ยวชม (ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.)

บัตรคุ้มสยาม (ผู้ใหญ่) ท่านละ ๓๕๐ บาท (ราคานี้รวมรถราง จักรยาน และนั่งเรือ)

    บัตรคุ้มสยามเด็ก (คนไทย) *** เที่ยวชม(ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.)

บัตรคุ้มสยาม (เด็ก) ท่านละ ๑๗๕ บาท (ราคานี้รวมรถราง จักรยาน และนั่งเรือ)



    บัตรท้องถิ่น/ผู้สูงอายุ

แสดงบัตรประชาชนสมุทรปราการ

สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี โปรดแสดงบัตรประชาชน

ท่านละ ๒๕๐ บาท (ราคานี้รวมรถราง จักรยาน และนั่งเรือ)



    ค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไป (ชาวต่างประเทศ) 

ผู้ใหญ่ ท่านละ ๗๐๐ บาท (ราคานี้รวมรถราง จักรยาน และนั่งเรือ)

เด็ก ท่านละ ๓๕๐ บาท (ราคานี้รวมรถราง จักรยาน และนั่งเรือ)



    นำรถยนต์ส่วนบุคคล/รถตู้ เข้าไป (ไม่รวมคนขับ) คันละ ๓๐๐ บาท

เวลาเปิด-ปิด:09:00 - 19:00

โทร:02 709 1644

ค่าเข้า:ผู้ใหญ่ 350 บาท เด็ก(6-14ปี) 175 บาท หลัง 16.00 ลด 50%

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานฉะเชิงเทรา โทร.038 514 009
https://www.facebook.com/TAT-Chachoengsao-175554016247495/

แก้ไขล่าสุด 2016-04-21 16:33:01 ผู้ชม 105026

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เริ่มต้นการเดินทางเที่ยวชมเมืองโบราณ

เริ่มต้นการเดินทางเที่ยวชมเมืองโบราณ เดินทางมาตามเส้นทางบางปู เห็นป้ายเมืองโบราณ Ancient City ขนาดใหญ่อยู่กลางสะพานข้ามคลองด้านซ้ายมือ เลี้ยวรถข้ามสะพานมาแล้วหาที่จอดรถจากนั้นเข้าไปติดต่อบัตรเข้าชมเมืองโบราณ ซึ่งจากนี้ไปสามารถเลือกวิธีเดินทางได้หลายแบบ ได้แก่ การเช่าจักรยาน การนำรถเข้าไป หรือการใช้รถบริการของเมืองโบราณ ซึ่งมีรถกอล์ฟสำหรับกลุ่มเล็ก หรือมีรถรางขบวนยาวๆ สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ วิธีที่กล่าวมานี้ก็เลือกกันตามอัธยาศัย ค่าใช้จ่ายของพาหนะหรือค่าเช่าก็ต่างกันไป หรืออยากจะเอารถเราเข้าไปก็อีกราคาหนึ่ง สำหรับพวกเราแล้วหากว่าฝนฟ้าอากาศเป็นใจ ไม่ครึ้มเหมืนฝนกำลังจะตก หรืออากาศไม่ร้อนจนเกินไป เอาจักรยานไปน่าจะเหมาะกว่าเพราะมีความคล่องตัวสำหรับการจอดถ่ายรูป การแวะเข้าไปเดินในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย ได้แก่ตลาดโบราณ และตลาดน้ำ เมื่อเลือกจักรยานที่เหมาะกับแต่ละคนได้แล้วก็ออกเดินทาง เข้าไปในช่วงแรกๆ จะเป็นปูชนียสถานจำลอง อย่างเช่นพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจำลองจากของจริงและย่อขนาดลง แต่ก็ยังคงสูงใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของคน
ภาพขวาสุดคือ พระพุทธรูปปัลลวะ พังงา เทวรูปพระวิษณุ พระศิวะ พระลักษมี ทำด้วยศิลา ประติมากรรมทั้ง 3 นี้เป็นฝีมือของช่างปัลลวะ ในอินเดียใต้ (พุทธศตวรรษที่ 13-14) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงยศเป็นมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรเทวรูปทั้ง 3 องค์ ซึ่งมีส่วนพระพักตร์และส่วนพระอุระโผล่ขึ้นมาจากโคนต้นตะแบก ไม่มีผู้ใดทราบว่า เริ่มแรกเดิมทีเทวรูปเหล่านี้อยู่ที่ใดมาก่อน หรือถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่ใดที่หนึ่ง จึงถูกต้นตะแบกหุ้มไว้เช่นนี้ ลักษณะทรงผมและผ้านุ่งแสดงแบบอย่างศิลปะอินเดียชัดเจน ปัจจุบันเทวรูปทั้ง 3 องค์นี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

ส่วนแรกของเมืองโบราณ

ส่วนแรกของเมืองโบราณ ต่อจากปูชนียสถานที่ได้เห็นไปแล้วปั่นจักรยานเข้ามาอีกหน่อยก็จะได้เห็น พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี (ภาพซ้าย) ซึ่งใครๆ ที่ได้เห็นภาพนี้และเคยได้ไปที่ วัดพระบรมธาตุไชยาสถานที่จริงมาแล้วคงบอกว่าไม่เห็นเหมือนกันเลย ดูแปลกตาไปมาก หรือถ้าใครยังไม่เคยไปสถานที่จริงลองคลิกเข้าไปดูที่ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ซึ่งที่มาของความแตกต่างที่เราเห็นก็คือ พระบรมธาตุไชยาที่เห็นอยู่ในเมืองจำลองนี้ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ จันทิปานะในชวา อันเป็นต้นแบบของการสร้างพระบรมธาตุไชยาของสุราษฎร์ธานี องค์พระบรมธาตุสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สร้างด้วยอิฐปั้นสำเร็จรูปไม่สอปูน มีเจดีย์จำลองที่มุมทั้งสี่ ยอดแหลมเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่พักตร์ (พระแม่กวนอิม) ตามคติพุทธศาสนามหายาน ตามมุมบนที่องค์พระธาตุมีเกียรติมุขประดับองค์ระฆังตามคติที่นิยมกันในชวา หน้าบันด้านทิศเหนือ และตะวันออกเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับนั่งห้อยพระบาท ทางทิศใต้เป็นรูปนางดาราประทับนั่งขัดสมาธิ ทางทิศตะวันตกเป็นรูปพระโพธิสัตว์ศรีอาริยดมตไตรยประทับนั่งขัดสมาธิยกพระหัตถ์ ปางเทศนา

ภาพกลาง หอพระไตรปิฎกและหอระฆัง ในรูปเห็นเพียงหอระฆังเท่านั้น ซึ่งจำลองมาจากวัดใหญ่ อำเภอบางคนที สมุทรสงคราม เป็นหอระฆังที่มีรูปแบบเฉพาะถิ่นต่างไปจากท้องถิ่นอื่น ส่วนหอพระไตรปิฎกเป็นแบบโบราณซึ่งนิยมสร้างเป็นหอสูงอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันมดและปลวก น่าจะเป็นการเลียนแบบมาจากสมัยอยุธยา ที่ผนังด้านนอกมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวปิดทอง ซึ่งได้ลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว

ภาพขวา พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายาน พุทธศตวรรษที่ 15 -18 แต่มีการบูรณะซ่อมแซมและสร้างเพิ่มเติมในสมัยหลัง เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในคูหาปรางค์ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น รูปปั้นและลวดลายประดับส่วนบนของปรางค์มีฝีมือช่างสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

นี่เป็นเพียงส่วนแรกของเมืองโบราณที่นับว่าเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็แสดงให้เห็นความตั้งใจในการสร้างสถานที่สำคัญจำลองของประเทศไทยไว้ให้ได้ศึกษาในที่เดียวกันได้เป็นอย่างดี รายละเอียดต่างๆ ของแต่ละสถานที่ได้แสดงไว้ให้อ่านหาความรู้กันได้เป็นอย่างดี นับจากทางเข้าพระบรมธาตุเมืองนคร พระพุทธรูปปัลลวะ มาถึงพระบรมธาตุไชยา จะอยู่ก่อนถึงตลาดโบราณ ส่วน หอพระไตรปิฎก กับ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะอยู่ถัดจากตลาดโบราณ หรือถ้าหากไม่อยากเข้าไปในตลาดโบราณจะมีถนนอีกทางหนึ่งเลี่ยงไปทางซ้ายมือ ภาพเหล่านี้เอามาเรียงต่อกันเพื่อความเหมาะสมของขนาดภาพ ต่อไปจะพาเข้าไปชมตลาดโบราณกันครับ

ตลาดโบราณ

ตลาดโบราณ เริ่มเข้ามาในตลาดบรรยากาศการจำลองสภาพของตลาดในอดีตซึ่งเป็นตลาดบก คงไว้ซึ่งอาคารบ้านเรือนแบบโบราณทั้งหมด มีสินค้ามากมายหลายอย่างในแต่ละร้านค่อนข้างเป็นตลาดร่วมสมัยเพราะสินค้ามากมายก็เป็นของสมัยใหม่ (คงจะไม่สามารถเอาของเก่าๆ มาวางขายจำนวนมากๆ ได้เพราะของเหล่านั้นล้วนแล้วแต่หายากในปัจจุบันนี้) ตลาดโบราณของเมืองโบราณนั้นได้จำลองแบบมาจากถนนสายเก่าในจังหวัดตากผสมผสานกับบ้านเรือนร้านค้าในเมืองกำแพงเพชร โดยนำเอาอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ในกรุงเทพฯ แถบยานนาวามาปลูกขึ้น จึงเป็นการจำลองตลาดโบราณได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ตลาดโบราณ เมืองโบราณ

ตลาดโบราณ เมืองโบราณ สินค้าต่างๆ ที่วางขายในตลาดโบราณก็มีมากมายหลายแบบ โดยมากก็จะเป็นสินค้าที่ระลึก เพื่อนำไปฝากญาติมิตร มีของกินเล่น นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าอันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและจำลองวิถีขีวิตของคนในชุมชนออกมาได้เป็นอย่างดี

บริการและมหรสพในตลาดโบราณ

บริการและมหรสพในตลาดโบราณ นอกจากสินค้า ของกิน ของฝาก ฯลฯ ในตลาดโบราณที่เมืองโบราณได้จำลองออกมาให้เราได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งเก่าๆ ที่กำลังลดน้อยลงไปทุกที ยังมีร้านบริการตัดผมซึ่งใช้เก้าอี้ตัดผมแบบเก่าๆ ที่หาดูได้ยากยิ่ง สลับกับหุ่นกระบอก หัวโขน เครื่องดนตรีไทย โรงมหรสพหนังใหญ่ และอื่นๆ อีกมากมายที่จะหาดูได้ในที่เดียวกัน

ปราสาทสัจธรรมต้นแบบ

ปราสาทสัจธรรมต้นแบบ แสดงอยู่ไม่ไกลจากตลาดโบราณ ที่เห็นอยู่นี้เป็นปราสาทสัจธรรมต้นแบบ ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างปราณีตพิถีพิถันละเอียดทุกขั้นตอน แต่ละชิ้นส่วนจะถูกถอดแบบไปขยายเท่าขนาดจริงเพื่อสร้างปราสาทสัจธรรมที่ชลบุรี ปราสาทสัจธรรมที่อยู่ที่เมืองโบราณจึงไม่ใช่แบบจำลองแต่เป็นต้นแบบที่สร้างขึ้นก่อนปราสาทสัจธรรมของจริง พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ทำงานของช่างแกะสลักไม้ ซึ่งทุกๆ วันจะทำหน้าที่ประดิษฐ์ชิ้นงานแกะสลักซึ่งมีการสั่งมาจากสถานที่อื่นๆ รวมทั้งเป็นการสร้างชิ้นงานขึ้นเพื่อทดแทนชิ้นส่วนที่ชำรุดในเมืองโบราณอีกด้วย

ภาพจำหลักไม้สักพุทธประวัติ

ภาพจำหลักไม้สักพุทธประวัติ เป็นภาพจำหลักไม้ที่อยู่เบื้องหลังพระศรีมิ่งเมืองศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี จำลอง ในเมืองโบราณ ภาพจำหลักที่เห็นอยู่นี้เป็นภาพเรื่องราวในพระพุทธประวัติ มีขนาดใหญ่มาก มีรายละเอียดซับซ้อนเพราะเป็นภาพพระพุทธประวัติมากถึง 61 ภาพ (เรื่อง) ด้วยกัน โดยเมื่อแบ่งภาพจำหลักไม้เหล่านี้ออกเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนละ 1 ภาพ จะมีภาพพระพุทธประวัติ 6 แถว แถวละประมาณ 10 ภาพ หากเอามารวมกันสร้างเป็นชิ้นใหญ่ชิ้นเดียวแล้วมองด้วยตาคงยากที่จะแบ่งแยกภาพเหล่านี้ออกจากกันได้ เมืองโบราณมีแผนผังแสดงการแบ่งภาพไม้จำหลักชิ้นนี้ออกเป็นภาพเล็กๆ ซึ่งแต่ละภาพเป็นพระพุทธประวัติ 1 เรื่อง และข้อมูลบรรยายแต่ละภาพอย่างละเอียด
ภาพจำหลักไม้สักพุทธประวัตินี้เริ่มต้นจาก ภาพมุมบนซ้าย เหล่าเทวดาทูลเชิญให้สันดุสิต เทวราชโพธิสัตว์ลงมาจุติในโลกมนุษย์ จนถึงภาพล่างขวา ตอนถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
ภาพจำหลักไม้สักพระพุทธประวัติปางสำคัญโดยสมบูรณ์นี้ เดิมตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 2 เมตร หนา 12.7 เซนติเมตร แกะสลักลึก 7 ชั้น ผู้แกะไม่ปรารถนาให้มีชื่อปรากฏผู้นี้เป็นประติมากรสลักไม้ที่มีฝีมือละเอียดปราณีตอย่างยิ่ง ได้ลงมือแกะสลักงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ใช้เวลาแกะทั้งหมด 10 ปี (พ.ศ.2500-2510) และเป็นผู้แกะแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ช่างแกะผู้ซึ่งควรแก่การยกย่องว่าเป็นประติมากรชั้นครูผู้นี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อต้นปี พ.ศ. 2515 จึงเป็นการยากที่จะหาผู้ใดมาสร้างงานศิลป์ให้ได้เสมอเหมือนงานชิ้นนี้ได้อีก

เมื่อกล่าวตามลำดับของการเข้าชมเมืองโบราณ เมื่อลงมาจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จำลอง แล้วก็ปั่นจักรยานกันต่อ ระหว่างนี้จะผ่านหอระฆังและหอพระไตรปิฎกซึ่งอธิบายไปแล้ว และก็ผ่านสวนขวา ท้องพระโรงกรุงธนบุรี พระพุทธรูปทวารวดี

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังจากปั่นจักรยานจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จากนั้นไม่นานก็จะเห็นเรือนทับขวัญ (เรือนทวารวดี)

สำหรับเรือนทับขวัญนี้ก็ได้เข้าไปชมภายในได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมายบนนั้นเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ใช้เวลาชมกันนานพอสมควร เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชื่นชอบการถ่ายรูปกับอาคารที่มีลักษณะเรือนไทย ต่อจากนั้นจะมีทางแยก โดยตรงข้ามสะพานมาจะถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จำลอง และเรือนต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเรือนต้นภายในพระราชวังดุสิตกรุงเทพฯ ลักษณะเป็นเรือนไทยฝาปะกนแบบเรือนหมู่มีนอกชานปูแล่นถึงกันโดยตลอด จากการที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ไปตามต่างจังหวัด โดยแต่งองค์เป็นราษฎรสามัญ เพื่อจะได้ทรงตรวจตราความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ชิด เรียกว่าประพาสต้น ระหว่างที่เสด็จประพาสต้น เครื่องใช้ส่วนพระองค์และผู้ที่พระองค์ท่านรู้จักโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อแล้วตามด้วยคำว่าต้น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนแบบสามัญที่ราษฎรอยู่กันเรียกว่าเรือนต้น ส่วนอีกทางก็แยกกันไปอีกด้านหนึ่งถึงตลาดน้ำ แต่ตอนนี้มาว่ากันเรื่องพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทกันก่อน
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์สำคัญใช้เป็นท้องพระโรงว่าราชการ ที่ประทับ และที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2349 เป็นปราสาททรงจตุรมุข สูงใหญ่เท่ากับพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ครั้งพระนครศรีอยุธยาโดยสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอินทราภิเษกเดิม ซึ่งต้องอสุนียบาตไฟไหม้ทั้งหลัง นัยเป็นปราสาททรงไทยแท้ที่เหลือยู่สมบูรณ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นอกจากการจำลองพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทให้เหมือนจากภายนอกแล้ว เมืองโบราณยังได้จำลองภายในออกมาได้อย่างดีเยี่ยม การสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในเมืองโบราณ ได้จากการรวบรวมข้อมูลค้นคว้าหลักฐานจากรูปภาพ จดหมายเหตุ พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ภายในพระที่นั่งที่ฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพเขียนเรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน เพื่อให้ผู้ชมได้รู้ถึงพระราชพิธีต่างๆ อันเนื่องในการปกครอง ศาสนา และความเป็นอยู่ของเมืองไทยสมัยก่อน และที่ฝาผนังเหนือช่องหน้าต่าง เป็นภาพเขียนเกียวกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๑ ในด้านต่างๆ

หอพระแก้ว

หอพระแก้ว เมื่อชมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว มีถนนเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่อไปอีกหลายที่ ได้แก่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท มณฑปพระพุทธบาท สระบุรี เป็นต้น แต่เราเลือกที่จะย้อนกลับมายังเรือนทับขวัญ แล้วมุ่งหน้าไปอีกเส้นทางหนึ่ง ผ่านอีกหลายๆ สถานที่ เช่นอนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถี คุ้มขุนแผนซึ่งมีสะพานข้ามไปถึงพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทได้ อนุสรณ์สถานกรมพระราชวัง บวรมหาสุรสิงหนาท จนในที่สุดก็มาถึงหอพระแก้วซึ่งมีสะพานข้ามไปยังศูนย์บริการอาหารและห้องน้ำ แต่ตอนนี้ชมหอพระแก้วกันก่อน

หอพระแก้ว

หอพระแก้ว ย้อนไปเมื่อครั้งที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีอำนาจแผ่ไพศาล สามารถปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ได้มากมาย และได้นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องบรรณาการจากต่างแดนต่างถิ่นมารวมไว้ให้คนได้เคารพบูชา ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์รวมความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หอพระแก้วที่สร้างขึ้นในเมืองโบราณ มีลักษณะรูปทรงเป็นหอแปดเหลี่ยม ซึ่งเมืองโบราณได้แบบอย่างมาจากภาพสลักประตูตู้พระธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ดูแล้วสอดคล้องกับภาพอาคารทรงสูงสมัยอยุธยาที่ชาวต่างประเทศได้บันทึกไว้ ภายในอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระแก้ว และพระพุทธรูปสลักไม้ขนาดใหญ่รวมทั้งมีการประดับประดาตกแต่งที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติ ชาดกไตรภูมิพระร่วง ตลอดจนศิลปกรรมอีกหลายแขนง เช่นงานจำหลักไม้ งานประดับมุก ฯลฯ หอพระแก้วแห่งนี้ คือสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาแห่งราชธานีศรีอยุธยาในอดีตนั่นเอง

สะพานไปศูนย์เครื่องดื่ม

สะพานไปศูนย์เครื่องดื่ม หลังจากชมหอพระแก้วกันแล้วก็เกิดกระหายน้ำขึ้นมา ซึ่งโดยปกติแล้วหากชมสถานที่ต่างๆ ในเมืองโบราณเพียงอย่างเดียว คงจะใช้เวลากันไม่มากนักจากทางเข้ามายังหอพระแก้ว แต่ถ้าหากเป็นคนชอบถ่ายรูปและเข้าชมภายในอาคารต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างละเอียด คงใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงไปแล้วอย่างแน่นอน ความกว้างใหญ่ไพศาลของเมืองโบราณ อีกทั้งฝีมือการสร้างสรรค์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม อื่นๆ เพื่อสร้างสถานที่จำลองของสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่ยังอยู่และได้ชำรุดสูญหายไปแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเวลาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครั้งหนึ่งเคยมาโดยกำหนดเวลาว่า 1 ชั่วโมง ก็จะมาถึงหอพระแก้วนี้ แล้วต้องวกกลับไปทางมณฑปพระพุทธบาท ผ่านพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท แล้วก็กลับแถมยังเกิน 1 ชั่วโมงที่กำหนดไว้อีกด้วย

มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี

มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี เป็นอีกสถาปัตยกรรมหนึ่งที่เมืองโบราณสร้างจำลองขึ้นมาได้อย่างปราณีต รายละเอียดต่างๆ ถูกจัดวางลงในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่เพียงมณฑปเท่านั้น แต่ยังมีบันไดนาคซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมณฑปพระพุทธบาทแห่งนี้อีกด้วย

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อาคารจำลองอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่มายังเมืองโบราณ ด้วยรูปทรงของอาคาร ศิลปสถาปัตยกรรมที่สร้างออกมาได้อย่างปราณีต เหมือนของจริงตั้งแต่ด้านนอก และการประดับตกแต่งภายในที่ละเอียดด้วยข้อมูลเช่นเดียวกันกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพียงแต่สถานที่จริงนั้นได้ถูกเผาทำลายลงเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า (เสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310) ทางเมืองโบราณจึงได้รวบรวมเอาแบบอย่างสถาปัตยกรรมจากสถานที่อื่นๆ อันเป็นจุดเด่นของแต่ละส่วนมารวมกันอย่างลงตัวในอาคารหลังเดียวกัน ตัวอย่างเช่น โครงสร้างเครื่องยอดหลังคา ได้รูปแบบจากเครื่องยอดหลังคาของสังเค็ดไม้ในวิหารวัดพระพุทธชินราช พิษณุโลก หลังคาดีบุก ได้แบบจากหลังคาพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเครื่องยอดทุกส่วนล้วนหุ้มด้วยดีบุกทั้งสิ้น ช่อฟ้า และ ใบระกา ได้แบบมาจากวัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ทวยได้แบบมาจากวัดศาลาปูนอยุธยา ซุ้มประตูหน้าต่างบันแถลงและองค์มณฑป ได้แบบมาจากวัดเขาบันไดอิฐเพชรบุรี และวิหารหลวง วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช เป็นต้น พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ พระที่นั่งจอมทอง วิหารพระศรีสรรเพชญ อยุธยา

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (ด้านหน้า)

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (ด้านหน้า) อีกภาพหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอาคารจำลองซึ่งปัจจุบันไม่มีสถานที่จริงให้เห็น หลงเหลืออยู่เพียงซากปรักหักพังส่วนฐานเท่านั้น จากตรงนี้เราก็จะเดินเข้าไปชมภายในว่าเมืองโบราณสร้างพระที่นั่งนี้อย่างไร

ภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

ภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ความละเอียดปราณีตในการสร้างสรรค์ผลงานจนมารวมกันเป็นเมืองโบราณแห่งนี้ ส่วนหนึ่งชมได้จากภายในของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนหนึ่งดูกันที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ซึ่งความเป็นจริงการสร้างงานที่ไม่มีของจริงให้ดูนั้นนับว่าเป็นงานที่ยากยิ่ง แม้จะไม่มีหลักฐานว่าอาคารที่เราได้เห็นอยู่ในเมืองโบราณขณะนี้มีความคล้ายคลึง เหมือน หรือต่างกันมากน้อยเพียงไร แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมา ณ วันนี้ ก็แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า เมืองโบราณเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริงที่จะรวบรวมหลายสิ่งหลายอย่างทั้งที่ยังมีอยู่และสูญหายไปแล้ว กลับคืนมาให้ได้ศึกษาเรียนรู้กันต่อไป

เพดานพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

เพดานพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ให้ออกมาเป็นอาคารสมัยอยุธยา สถายปัตยกรรมภายนอก รวมไปถึงการประดับตกแต่งภายในจึงรวบรวมเอกลักษณ์ของอาคารต่างๆ ที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยามาเป็นต้นแบบทั้งสิ้น ดาวเพดาน ได้แบบอย่างมาจากวัดมหาธาตุเชลียงสุโขทัยและวัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

การแสดงปราสาทหินพิมาย

การแสดงปราสาทหินพิมาย หลังจากที่เราได้ใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมง ตอนนี้เราก็เดินทางด้วยจักรยานคันเดิมข้ามมายังสถานที่สำคัญๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอิสาน สรุปรวมได้ว่าเฉพาะภาคกลางเราก็ใช้เวลาไปชั่วโมงกว่าแล้ว และที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นยังไม่ครบทุกสถานที่ของโซนภาคกลางในเมืองโบราณด้วยซ้ำไป เมื่อเรามาถึงปราสาทหินพิมาย ได้เห็นการแสดงของคณะแสดงด้านหน้าวิหาร ซึ่งจะมีการแสดงให้ชมเป็นรอบๆ แต่ละรอบจะตรงกับรถนำเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ ซึ่งจังหวะบังเอิญมาตรงกับเวลาที่เราเดินทางมาถึง เมื่อแรกเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าปราสาทหินพิมายในเมืองโบราณนี้มีขนาดเล็กกว่าของจริงอยู่มาก แต่ก็จำลองส่วนสำคัญต่างๆ มาได้อย่างละเอียดโดยเฉพาะลวดลายการสลักบนหินขององค์ปรางค์ประธาน

บรรยากาศการปั่นจักรยานรอบเมืองโบราณ

บรรยากาศการปั่นจักรยานรอบเมืองโบราณ ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ไม่ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดระหว่างการปั่นจักรยานของเราซึ่งรู้ดีว่าหากจะจอดถ่ายรูปทุกสถานที่มาอย่างละเอียดคงหมดเวลาของวันนี้ไปซะก่อน เราจึงต้องเลือกสถานที่เด่นๆ และน่าสนใจอย่างมาก หากเลือกวันเดินทางได้ดี อากาศจะไม่ร้อนมาก แม้จะมีเมฆครึ้มในบางช่วงของวันถ้าฝนไม่ตกก็จะได้ภาพสวยๆ มากันเยอะทีเดียว เสมือนเที่ยวทั่วประเทศไทยจริงๆ

ทางขึ้นเข้าพระวิหาร

ทางขึ้นเข้าพระวิหาร ในที่สุดเราก็มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งจะไม่ไปก็ไม่ได้ นั่นก็คือเขาพระวิหารจำลองของเมืองโบราณ จะว่าไปแล้วเขาพระวิหารจำลองอยู่สุดเขตเมืองโบราณพอดี เมื่อขึ้นไปแล้วจะเห็นวิวท้องทุ่งนาและอาคารบ้านเรือนในเมืองที่อยู่ไกลออกไป นอกจากการจำลองปราสาทเขาพระวิหารแล้ว ยังสร้างให้อยู่บนภูเขาย่อมๆ จำลองความรู้สึกการเดินขึ้นไปชมเขาพระวิหารได้เป็นอย่างดี ในระหว่างเกิดความขัดแย้งขึ้นที่ปราสาทเขาพระวิหารจริง เราก็คงต้องพึ่งการมาชมปราสาทเขาพระวิหารจำลองที่เมืองโบราณแห่งนี้เท่านั้น

ปราสาทเขาพระวิหารเมืองโบราณ

ปราสาทเขาพระวิหารเมืองโบราณ ถัดจากบันไดทางขึ้นเมื่อได้มาอยู่ด้านหน้าของปราสาทแล้วจะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทเขาพระวิหารได้เป็นอย่างดี วิวรอบๆ ของเขาพระวิหารเท่านั้นที่ไม่อาจจะจำลองมาได้ ส่วนที่เหลือนั้นทำออกมาได้ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมาก ความคิดที่จะสร้างปราสาทจำลองนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีภูเขาจริงๆ ก็นับว่าเป็นงานยากแล้ว แต่เมืองโบราณได้สร้างความยากยิ่งกว่านั้น นั่นก็คือการสร้างภูเขาจำลองก่อนแล้วสร้างปราสาทบนนั้น

ทิวทัศน์รอบเขาพระวิหารจำลอง

ทิวทัศน์รอบเขาพระวิหารจำลอง ลวดลายบนหินที่นำมาสร้างปราสาทเขาพระวิหารก็ยังคงความสวยงามตามแบบต้นฉบับ แม้ว่าปราสาทจะเล็กกว่ามากก็ถอดแบบมาได้ครบ ด้านหนึ่งของยอดเขาย่อมๆ นี้มองเห็นบริเวณต่างๆ ของเมืองโบราณ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือศาลาแปดเหลี่ยม สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนั้นยังมองไกลได้ถึงตัวเมืองที่มีอาคารสูงๆ อยู่ลิบๆ อีกด้านหนึ่งมองเห็นทุ่งนาด้านนอกเขตเมืองโบราณ

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมืองโบราณได้จำลองส่วนหนึ่งของวัดมหาธาตุ ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมาให้ชมกัน ความสำคัญของวัดมหาธาตุแห่งนี้ก็คือเป็นที่ประดิษฐานเดิมของพระพุทธศรีศากยมุณี วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งได้ชลอมาในสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1)

ตลาดน้ำเมืองโบราณ

ตลาดน้ำเมืองโบราณ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองโบราณที่นอกเหนือจะจำลองสภาพวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ ซึ่งเดินทางด้วยทางเรือเป็นหลัก นอกจากนั้นตลาดก็อยู่ริมน้ำและพายเรือขายในแม่น้ำลำคลอง ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะพักหาข้าวกินในเมืองโบราณ

ตลาดน้ำเมืองโบราณมีขนาดกว้างขวางประกอบด้วยบ้านเรือนริมน้ำตลอดแนว ซึ่งมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนหลายแห่ง

ศาลาหยกหรือวิหารหยก

ศาลาหยกหรือวิหารหยก จุดเด่นจุดหนึ่งของตลาดน้ำที่สร้างอย่างกว้างขวางที่เราได้เห็นในวันนี้คือศาลาไม้กลางน้ำที่สร้างด้วยลวดลายสวยงามสีเขียวหยก ยกเว้นส่วนเสาที่ใช้สีแดง หลังศาลาหยกมีทางเดินชื่อมต่อไปถึงฝั่งได้ หรือบางทีหากปั่นจักรยานเที่ยวเมืองโบราณจะแวะตลาดน้ำ จอดจักรยานไว้หลังศาลานี้แล้วเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินตลาดน้ำ

ศาลาหยกหรือวิหารหยก

ศาลาหยกหรือวิหารหยก อีกด้านหนึ่งที่มีทางเดินเชื่อมต่อมายังฝั่ง

อนุสรณ์สถานชาวบ้านบางระจัน

อนุสรณ์สถานชาวบ้านบางระจัน

อนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถี

อนุสรณ์สถานสงครามยุทธหัตถี

ศาลาพระอรหันต์

ศาลาพระอรหันต์ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งอยู่ในส่วนรังสรรค์ ของเมืองโบราณ ส่วนรังสรรค์เป็นพื้นที่กว้างใหญ่อยู่ด้านซ้ายของเมืองโบราณหากมองจากแผนที่ทางอากาศ ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากมายหลายอย่าง ได้แก่ ศาลาทศชาติ สะพานรุ้ง ขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค เรือสำเภาไทย ฯลฯ

ศาลาพระอรหันต์

ศาลาพระอรหันต์ อีกด้านหนึ่งของศาลาพระอรหันต์ ภายในศาลาพระอรหันต์เป็นที่ประดิษฐานพระอรหันต์ต่างๆ หลายองค์ มีสะพานทางเดินทอดยาวไปเหนือน้ำ ระยะทางค่อนข้างไกล แต่ก็สร้างได้สวยงามตั้งแต่สะพานจนไปถึงอาคารทั้งหมด

ศาลาอรหันต์เมืองโบราณ

ศาลาอรหันต์เมืองโบราณ เห็นภายนอกไกลๆ ก็ว่าสวยงามมากแล้วแต่พอเดินเข้ามาใกล้ๆ ยิ่งสวยงามมากยิ่งขึ้นไปอีก ในแต่ละส่วนของศาลาอรหันต์มีพระอรหันต์แกะสลักอยู่หลายองค์ ส่วนด้านหน้าสุดมีพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ เดี๋ยวจะเดินไปดูครับ

พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์

พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์

เมืองโบราณ Ancient City

ส่วนตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเทวโลก เมืองโบราณได้สร้างอุทยานเทวโลกอันงดงามเพื่อประดิษฐานประติมากรรมสำริดรูปเทพเจ้าต่างๆ ที่มีกำเนิดมาจากลัทธิฮินดูและคนไทยรู้จักดี ทั้งนี้เพราะเทพเจ้าเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับศาสนา และวรรณคดีของคนไทยมาแต่โบราณ เทพเจ้าเหล่านี้ประกอบด้วย

พระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังพญาอนันตนาคราช
พระพรหม 4 พักตร์ 8 กร (แต่นิยมปั้นเพียง 4 กรเท่านั้น)
พระศิวะหรือพระอิศวร
พระสุรัสวดี
สุริยเทพหรือพระอาทิตย์ ประทับรถเทียมม้า 7 ตัว
พระจันทร์ทรงม้า 10 ตัว
พระอังคาร ทรงกระบือ
พระพุธ ทรงช้าง
พระพฤหัสบดี เทพฤๅษีถือกระดานชนวนขี่บนหลังช้าง
พระศุกร์ ทรงโค
พระเสาร์ ทรงเสือ
พระราหู เทวดาพระเคราะห์ ตัวเป็นยักษ์ครึ่งท่อน คอยอมพระอาทิตย์และพระจันทร์

เมืองโบราณ Ancient City

เมืองโบราณ Ancient City

บรรยากาศสถานที่อื่นๆ ในเมืองโบราณระหว่างการเดินทางกลับมาตามเส้นทางออกจากเมืองโบราณเพราะใกล้ 5 โมงเย็นเวลาปิดของเมืองโบราณแล้วครับ

หอไตรเมืองโบราณ

หอไตรเมืองโบราณ การจำลองที่ยิ่งกว่าคำว่าจำลอง เพราะนอกจากจะสร้างให้มีลักษณะรูปทรงเหมือนของจริง ก็มีภาพจิตรกรรมด้านนอกที่วาดตามภาพเดิมอีกด้วย

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เมืองโบราณ

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เมืองโบราณ ในระหว่างทางจะกลับ ก็นึกอยากจะเก็บภาพเพิ่มเติมอีกสักหน่อย พอเห็นของสวยๆ งามๆ ถ่ายกี่รูปก็ไม่เบื้อครับ

ภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

ภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท นอกจาการก่อสร้างที่สวยงามจากด้านนอกแล้ว การตกแต่งภายในก็สวยงามสมกับเป็นการสร้างพระที่นั่งจำลองทุกตารางนิ้วครับ

เมืองโบราณ Ancient City

สุดท้ายจริงๆ จากเมืองโบราณ ภาพชุดนี้เป็นภาพตรงทางเข้านั่นเองครับ ก็จะมีเสาป้ายเมืองโบราณ สะพานข้ามคลองที่เชื่อมจากถนนสุขุมวิทเข้าไปยังลานจอดรถของเมืองโบราณ 2 ภาพล่าง คือประตูเมือง และศาลาหน้าเมือง อันเป็นแนวคิดที่ได้มาจากการสร้างเมืองจริงๆ ที่มักจะมีศาลาหน้าเมืองและประตูเมืองเสมอ เฮ้อ ที่เอามาให้ชมกันสวยๆ ทั้งหลายนี้ไม่ถึง 1 ใน 10 ของทั้งหมดจากเมืองโบราณ สมุทรปราการเลยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ เมืองโบราณ สมุทรปราการ
ริมขอบฟ้า เออร์เบิน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
MIAMI BANGPU 3202/15 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 144 ตร.ม. – บางปู เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
อู่ทอง แมนชั่น บางปู เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมซาซา บางปู เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
P2chilltime hostel Paknam เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
Very Sukhumvit 72 Residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรีแลกซ์ วิลลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
J.P.S Guest House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 31 ตร.ม. – เมือง ปากน้ำ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ เมืองโบราณ สมุทรปราการ
เทศกาลโคมไฟบางปู มูลนิธิธรรมกตัญญู เสียนหลอไต้เทียนกง
  0.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้ามูลนิธิธรรมกตัญญู (เสียนหลอไต้เทียนกง) สมุทรปราการ
  0.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดอโศการาม สมุทรปราการ
  3.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานตากอากาศบางปู สมุทรปราการ
  6.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สมุทรปราการ
  7.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป้อมพระจุลจอมเกล้า (ป้อมพระจุล) สมุทรปราการ
  7.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกลางวรวิหาร สมุทรปราการ
  10.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สมุทรปราการ
  10.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพิชัยสงคราม สมุทรปราการ
  10.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอชมเมืองสมุทรปราการ
  11.02 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com