www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุตรดิตถ์ >> อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

 มีพื้นที่ 149,375 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อปี 2537 ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงตามแนวชายแดนไทย - ลาว มียอดภูสอยดาวสูงที่สุด 2,102 เมตร จากระดับทะเล สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงที่ป่าปกคลุม เป็นป่าดิบเขาสลับทุ่งหญ้าและป่าสน เช่น ป่าสนสามใบ อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีดอกไม้ป่าพันธุ์ต่างๆ เช่น ดอกหงอนนาค ดอกไม้ดินต่างๆ ขึ้นอยู่กลางป่าสน ภูสอยดาวสามารถจะมาท่องเที่ยวได้ทั้งปี แต่ถ้าหากอยากดูดอกไม้สีสวยๆ ที่มักจะขึ้นเพื่อรับความชุ่มชื้นในช่วงหน้าฝน ควรจะมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว

สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่

น้ำตกภูสอยดาว อยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มี 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี แต่จะมีน้ำมากในช่วงหน้าฝน

ลานสน การเดินทางสู่ยอดลานสนต้องขึ้นเขาลาดชันเกือบตลอดเส้นทาง และผ่านเนินต่าง ๆ ที่มีชื่อบอกถึงความยากลำบากในการเดินผ่านแต่ละเนิน เช่น เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ ที่มีความสูงชันมากที่สุด แต่เส้นทางที่เดินขึ้นไปนั้นไม่ยุ่งยากเพราะจะเดินไต่เขาขึ้นไปตามสันเขาไม่มีทางแยกไปไหน ระยะทางเดินเท้าประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง บนลานสนจะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นสนสองใบ สนสามใบ ต้นหงอนนาค ที่มีสีม่วงตัดกับดอกสร้อยสุวรรณาที่มีสีเหลือง ออกดอกให้ดูสวยงาม และดอกไม้อีกนานาชนิดที่ขึ้นอวดความสวยงามและสร้างความสดขื่นสดใสให้กับลานสน บนลานสนเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามด้วย บนลานสนไม่มีบ้านพักและอาหาร หากต้องการจะขึ้นไปพักค้างแรมต้องเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง และหากนักท่องเที่ยวต้องการลูกหาบช่วยขนสัมภาระก็มีบริการ การจะขึ้นบนลานสนต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง และอุทยานฯ จะอนุญาตให้ขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 08.00–13.00 น.

น้ำตกสายทิพย์ เป็นน้ำตกอยู่บนลานสน มี 7 ชั้น ทางไปน้ำตกเป็นหุบเขา ค่อนข้างลาดชัน

 อุทยานฯ มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว และสามารถกางเต็นท์ได้บนยอดลานสน สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 055-436793 , 055-436001 , 055-436002 หรือที่ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ 53110

การเดินทาง
 จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1045 ผ่านเขื่อนสิริกิติ์ สู่อำเภอน้ำปาด ระยะทาง 68 กิโลเมตร ต่อจากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 1239 ไปทางบ้านห้วยมุ่นอีกประมาณ 47 กิโลเมตร และจากบ้านห้วยมุ่นใช้เส้นทางหมายเลข 1268 อีก 18 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกภูสอยดาว ซึ่งเป็นจุดเริ่มเดินเท้าขึ้นสู่ยอดลานสน

 สำหรับรถโดยสารประจำทาง จากอุตรดิตถ์จะมีรถโดยสารปรับอากาศออกจากตลาดอำเภอเมือง (ตลาดต้นโพธิ์) ไปอำเภอน้ำปาดทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00–17.00 น. (แต่รถเที่ยวแรกจะเข้ามาที่สถานีขนส่ง เวลา 05.00 น.) ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง จากนั้นลงรถที่หน้าโรงพยาบาลอำเภอน้ำปาด จะมีท่ารถสองแถว ต้องเหมารถไปภูสอยดาวประมาณ 300 บาท ใช้เวลาเดินทางอีก 3 ชั่วโมง

 สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางกลับทางอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ต้องเหมารถไป ราคาประมาณ 500 บาท ใช้เวลา 2 ชั่วโมง และต่อรถโดยสารไม่ปรับอากาศที่อำเภอชาติตระการ สายชาติตระการ-นครไทย-พิษณุโลก มีรถบริการระหว่างเวลา 05.00–17.30 น. ช่วงนี้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 43 บาท รถโดยสารจากพิษณุโลก กลับกรุงเทพฯ ควรจะไปซื้อตั๋วที่บริษัทในตลาดโดยตรงมากกว่าที่จะมาที่สถานีขนส่ง เนื่องจากมีโควต้าขายตั๋วน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานแพร่ 0 5452 1118-9, 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-08-12 06:20:04 ผู้ชม 89830

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
น้ำตกภูสอยดาว

น้ำตกภูสอยดาว เปรียบเสมือนห้องรับแขกของอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ที่บริเวณรอบๆ น้ำตกมีลานจอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ ร้านอาหารตามสั่งหลายร้าน สำหรับลานจอดรถนั้นไม่ได้กว้างขวางมากนัก เท่าที่เห็นในวันเดินทาง 20 คันก็เต็มรวมทั้งจอดริมถนนในอุทยานฯ ด้วย การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวจากข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่ไปมาแล้ว รวมทั้งประสพการณ์จริงของเรา ต้องแวะซื้อเสบียงบางส่วนเพิ่มเติมที่ตลาดชาติตระการ อำเภอชาติตระการ ก่อนเดินทางมายังอุทยาน เพราะการซื้อทุกอย่างมาจากกรุงเทพฯ นั้นจะทำให้รถบรรทุกของหนักเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ ปกติมักจะประมาณเวลาให้มาถึงตลาดเวลาประมาณ ตี 5 (ขับจากกรุงเทพฯ ประมาณ 7 ชั่วโมง) สิ่งแรกที่จะต้องทำเมื่อเดินทางมาถึงภูสอยดาวคือการลงทะเบียนเข้าชมอุทยาน โดยเขียนชื่อ-นามสกุล ระยะเวลาในการเข้าชมกี่วัน จ่ายค่ามัดจำขยะ 100 บาทซึ่งจะได้คืนเมื่อนำขยะกลับลงมาจากยอดภูสอยดาว จากนั้นนำสัมภาระทำการติดแทกหมายเลข ค่าลูกหาบ 20 บาท/กก. เมื่อวันที่เดินทางกลับลงมาจะทำการชั่งน้ำหนักเพื่อคิดค่าลูกหาบที่จุดเริ่มต้น ระหว่างนี้ก็สั่งอาหารที่ร้านอาหารของอุทยานฯ เป็นอาหารเช้าก่อนเริ่มต้นเดินทาง

ทางเดินช่วงเริ่มต้นเลียบน้ำตกภูสอยดาว

ทางเดินช่วงเริ่มต้นเลียบน้ำตกภูสอยดาว เมื่อกินข้าวเก็บภาพรอบๆ บริเวณน้ำตกเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินตามเส้นทางที่สังเกตุเห็นได้ง่ายไม่ต้องมีผู้นำทาง เส้นทางนี้จะนำไปสู่ยอดดอยภูสอยดาว แค่ช่วงเริ่มต้นก็มีบันไดสูงมารอรับพวกเรากันแล้ว ระยะทางจากจุดเริ่มต้นถึงยอดดอยภูสอยดาวคือ 6.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางขึ้นเขาสูงตลอดช่วง มีการแบ่งเนินต่างๆ ดังนี้ เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ มีระยะห่างกันพอสมควร เนินที่ชันมากหน่อยก็ได้แก่ เนินส่งญาติ เนินปราบเซียนและเนินมรณะ ซึ่งชันที่สุด

น้ำตกภูสอยดาว

น้ำตกภูสอยดาว ในระหว่างการเดินช่วงแรกยังเป็นการเดินเลียบน้ำตกภูสอยดาว บรรยากาศแม้มีแดดแต่ด้วยต้นไม้ใหญ่จำนวนมากของป่าผืนนี้ที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มากทำให้ไม่รู้สึกร้อนมากนัก การเตรียมการระหว่างเดินมีเทคนิคการเดินป่าหลากหลายไอเดียเท่าที่ฟังมา ได้แก่ การดื่มน้ำ ระหว่างทางหากกระหายน้ำให้ดื่มแบบจิบเอา ไปเรื่อยๆ ตลอดทาง การดื่มน้ำจำนวนมากเพราะความเหนื่อยอาจจะทำให้จุกได้ การนั่งพัก ทางที่ดีไม่ควรพักด้วยการนั่ง (ข้อมูลจากลูกหาบ) ควรยืนพักแทน หรือหากจะนั่งจริงๆ ควรหาหินหรือขอนไม้ใหญ่นั่งเวลาลุกจะได้ไม่ปวดขา ระยะห่างในการก้าวเดิน ให้เดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ การเร่งเกินไปจะทำให้เหนื่อยเร็ว ฯลฯ

สามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่

สามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ ระหว่างการเดินทางจะผ่านต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้กัน เรียกว่าสามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่โดยมีที่มาดังนี้ ในพื้นที่โล่งจะมีไม้อยู่กลุ่มหนึ่งเข้ายึดครองพื้นที่ก่อนพืชชนิดอื่นๆ เรียกกันว่าไม้เบิกนำ (pioneer species) มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามาระขึ้นในที่ที่มีแสงมากและทนความแห้งแล้งได้ดี เมื่อเข้ามาจะค่อยๆ แผ่ร่มเงานำความชุ่มชื้นมายังพื้นที่ พืชชนิดอื่นๆ จึงสามารถเติบโตขึ้นได้จนกระทั่งเป็นป่าใหญ่ กระบวนการนี้เป็นกลไกตามธรรมชาติ ต้นไม้ที่ท่านกำลังยืนอาศัยร่มเงาอยู่นี้คือสามสหายนักบุกเบิก อันประกอบไปด้วย ไทร ตะแบกแดง และลำพูนป่า ขอยกย่องทั้งสามเป็น สามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ อยู่คู่ภูสอยดาวตราบนานเท่านาน

ลูกหาบภูสอยดาว

ลูกหาบภูสอยดาว ผู้ที่ทำอาชีพ ลูกหาบนั้น ทีแรกคิดว่าจะมีแต่ผู้ชาย เพราะเราเองไม่ถือของหนักยังจะขึ้นกันไม่ไหว ลูกหาบผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้หาบของน้อยกว่าผู้ชายสักเท่าไหร่เลยด้วย ส่วนมากจะเริ่มต้นกันที่ 20 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย ลูกหาบคนไหนที่ขนของเราขึ้นไป จะเป็นผู้ขนของเรากลับลงมาด้วย ตามวันที่เรากำหนด ท่าทางการเดินสวนกันบนสะพานอย่างทะมัดทะแมง วันที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวที่ภูสอยดาวจะเห็นลูกหาบจำนวนมากเดินแซงหน้าเราไปอยู่ตลอดทาง

ลำธารน้ำตกภูสอยดาว

ลำธารน้ำตกภูสอยดาว เป็นสะพานสุดท้ายก่อนที่จะเข้าป่าลึกและมีเพียงบันไดกับทางเดินเท้าลาดชันเท่านั้นที่รออยู่ ลำธารสายนี้เป็นสายน้ำที่ไหลไปยังน้ำตกภูสอยดาวที่จะลงเล่นน้ำได้ เป็นที่นิยมหลังจากเดินทางลงจากภูสอยดาวแล้ว

ดอกไม้ป่าชนิดต่างๆ ที่ภูสอยดาว

ดอกไม้ป่าชนิดต่างๆ ที่ภูสอยดาว เขาลูกนี้ไม่เชิงจะเป็นภูเขาที่มีดอกไม้ป่ามากมายส่วนมากจะเห็นเห็ดหลายชนิด ส่วนดอกไม้ป่าจะมีน้อยและนานๆ ที

จุดพักของลูกหาบในช่วงแรก

จุดพักของลูกหาบในช่วงแรก ลูกหาบจะมีระบบการพักตามจุดต่างๆ ที่แน่นอน เวลาในการพักแต่ละจุดขึ้นอยู่กับความชัน โดยมากจะพักกันเนินละครั้ง สำหรับช่วงแรกที่ยังไม่ถึงเนินส่งญาติจะพักกันตรงนี้

สายน้ำใสเย็นของน้ำตกภูสอยดาว

สายน้ำใสเย็นของน้ำตกภูสอยดาว นี่จะเป็นช่วงสุดท้ายที่จะได้เห็นลำธารสายนี้ก่อนที่จะเดินทางสู่เนินส่งญาติ เส้นทางเดินป่าบนภูสอยดาวนับว่าเป็นป่าที่ค่อนข้างดิบ มีผู้คนมาเที่ยวแต่น้อยส่วนมากมากันเดือนสิงหาคมเดือนเดียวเพื่อดูดอกหงอนนาค อีก 11 เดือนที่เหลือไม่ค่อยได้ต้อนรับผู้คน บางช่วงจะมีต้นงิ้วใหญ่ล้มขวางทางเดินอยู่มีหนามแหลมเต็มต้นและกิ่งก้านนักผจญภัยก็ต้องข้ามสิ่งเหล่านี้ไป เรียกว่าได้รสชาติของการเดินป่ามากกว่าภูกระดึงเยอะเลย

เนินส่งญาติ

เนินส่งญาติ มีลักษณะเป็นทางเดินขึ้นเขาชันพอสมควร มีบันไดเหล็ก บันไดไม้ และไม่มีบันได จุดเริ่มต้นเนินส่งญาติอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นประมาณ 1,600 เมตร ความยาวของเนินส่งญาติ 650 เมตร ความลำบากน่าจะเป็นลำดับที่ 3 รองจากเนินมรณะ และเนินปราบเซียน ตามลำดับ

เนินส่งญาติ (ต่อ)

เนินส่งญาติ (ต่อ) หลังจากสุดเนินส่งญาติ จะมีจุดนั่งพัก มีศาลา และหินขนาดใหญ่ขึ้นไปนั่งได้หลายคน เป็นจุดพักของลูกหาบด้วย จากจุดพักเดินทางราบไป 500 เมตร จะถึงจุดเริ่มต้นเนินปราบเซียน

เนินปราบเซียน

เนินปราบเซียน อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้น 2,300 เมตร ระยะทางของเนินปราบเซียนคือ 780 เมตร

จุดพักสุดเนินปราบเซียน

จุดพักสุดเนินปราบเซียน เป็นจุดพักที่เป็นที่นิยมที่สุด เพราะมีระยะจากจุดเริ่มต้นประมาณ 3,000 เมตร หรือเกือบครึ่งทางของทางเดินทั้งหมด จุดนี้สร้างศาลานั่งพักไว้ให้ ปกติหากเริ่มเดินกัน 9-10 โมงเช้า จะมาถึงช่วงนี้ประมาณเที่ยงพอดี เป็นที่กินข้าวกลางวันของนักเดินทางและลูกหาบ โดยมากการพักที่จุดนี้จะใช้เวลานานเพราะ 2 เนินที่ผ่านมาทำเอาเหนื่อยมากแล้ว

จุดพักก่อนขึ้นเนินป่าก่อ

จุดพักก่อนขึ้นเนินป่าก่อ จากจุดพักก่อนหน้านี้เดินมายังจุดนี้ระยะทาง 200 เมตร รวมเป็น 3,200 เมตรมีก้อนหินขนาดใหญ่เรียบและกว้างพอที่จะนั่งพัก จากจุดนี้ไปไม่ไกลก็เป็นจุดเริ่มต้นของเนินป่าก่อ ลูกหาบที่เห็นเป็นหญิงในภาพรับน้ำหนัก 26 กิโลกรัมครับ ไม่เบาเลย สำหรับกลุ่มเราเราพักกินข้าวกันที่จุดเริ่มต้นเนินป่าก่อ แต่จะกินกันคนละ 2-3 คำ เท่านั้นกันจุกท้อง

เนินป่าก่อ ราชาแห่งป่าดิบเขา

เนินป่าก่อ ราชาแห่งป่าดิบเขา เป็นช่วงทางเดินหนึ่งที่ไม่ชันมากเท่ากับ 2 เนินที่ผ่านมาข้อมูลของป่าก่อที่เขียนไว้ให้ศึกษากัน ดังนี้ "ท่านได้เดินมาถึงเนินป่าก่อแล้ว หากมองไปรอบๆ จะเห็นว่าบริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นก่อ หรือต้นโอ๊ก ในภาษาต่างประเทศ และนี่ก็คือที่มาของชื่อเนินแห่งนี้ มีสัตว์มากมายใช่ก่อเป็นอาหาร เช่น นก หนู กระรอก แม้แต่มนุษย์เองกินลูกก่อบางชนิดด้วย เหตุนี้จึงขอยกย่องให้ก่อเป็นเสมือนราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้ความเอื้ออาทร ให้อาหาร ที่พักอาศัย แก่สรรพชีวิตน้อยใหญ่ในอาณาจักรแห่งป่าดิบเขา"

สิ้นสุดเนินป่าก่อ-เริ่มเนินเสือโคร่ง

สิ้นสุดเนินป่าก่อ-เริ่มเนินเสือโคร่ง สำหรับทางเดินระหว่างเนินป่าก่อไปยังเนินเสือโคร่งมีระยะทางประมาณ 1,500 เมตร แต่ความชันน้อยเลยใช้เวลาไม่มาก เมื่อถึงเนินเสือโคร่งจะมีระยะทางเพียง 200 เมตรก็จะเป็นจุดเริ่มต้นเนินมรณะ ในภาพที่เห็นมีต้นไม้สูงๆ ก่อนจะเป็นยอดเขาแหลมๆ ก็คือเนินเสือโคร่ง ที่มาของชื่อเนินเสือโคร่งคือ "เนื่องจากบริเวณนี้มีต้นกำลังเสือโคร่ง หรือต้นกำลังพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นจึงเป็นที่มาของ เนินเสือโคร่งหาได้มาจากการที่มีเสือออกมาเดินเพ่นพ่านแต่อย่างใด เปลือกของต้นกำลังเสือโคร่งซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ชาวบ้านมักนำไปต้มน้ำเป็นยาสมุนไพร บำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยสรรพคุณนี้เองทำให้ต้นกำลังเสือโคร่งถูกถากเปลือกจนเหลือแต่แก่น และยืนต้นตายในที่สุด"

เนินมรณะ

เนินมรณะ เป็นช่วงสุดท้ายของทางเดินก่อนถึงลานสน เนินมรณะแห่งนี้นับว่าเป็นช่วงที่ชันที่สุดของเส้นทางภูสอยดาว ระยะทาง 1,410 เมตร ประกอบด้วยขั้นบันไดจำนวนมากจากจุดเริ่มต้นเนินมรณะซึ่งมีต้นไม้ใหญ่พอให้ร่มเงาสำหรับพักผ่อนเตรียมตัวเตรียมใจกับการเดินช่วงสุดท้าย สามารถมองเห็นนักเดินทางที่มาถึงก่อนเป็นจุดเล็กๆ ค่อยๆ ขยับตามกันขึ้นไปตามบันไดทีละขั้นอย่างช้าๆ ขั้นบันไดยังโค้งไปโค้งมา ส่วนใหญ่คนที่ขึ้นไปจะรู้สึกว่าทำไมบันไดถึงยังไม่หมดซะทีด้วยความเหนื่อย เส้นทางบนเนินมรณะนอกจากจะชันแล้วยังมีเพียงหญ้าสูงไม่มากไม่พอเป็นร่มเงาให้ได้พัก

จุดพักจุดสุดท้ายก่อนเนินมรณะ

จุดพักจุดสุดท้ายก่อนเนินมรณะ ตรงนี้เองที่เรานั่งพักกันหลายนาทีก่อนที่จะเริ่มเดินทางต่อไปเมื่อก้าวเท้าออกจากเงาของต้นไม้ต้นนี้แล้วก็จะไม่มีต้นไม้ให้อาศัยร่มเงาได้อีกจนพ้นเนินมรณะไปแล้วเท่านั้น

วิวทิวทัศน์บนภูสอยดาวตรงเนินมรณะ

วิวทิวทัศน์บนภูสอยดาวตรงเนินมรณะ เนื่องจากเนินมรณะเป็นเส้นทางชันตรงขึ้นไปตามสันเขา จึงสามารถมองเห็นวิวได้กว้าง 180 องศา รอบๆ บริเวณมีเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงามใช้เป็นกำลังใจในระหว่างการเดินได้เป็นอย่างดี การหยุดเดินเพื่อถ่ายรูปเหล่านี้ก็จะทำให้หายเหนื่อยลงได้บ้าง (ถ้ามือไม่สั่นเกินไป)

วิวทิวทัศน์บนภูสอยดาวตรงเนินมรณะ

วิวทิวทัศน์บนภูสอยดาวตรงเนินมรณะ ภาพสวยๆ อีกภาพระหว่างการเดินทางขึ้นเนินมรณะ

บันไดช่วงหนึ่งของเนินมรณะ

บันไดช่วงหนึ่งของเนินมรณะ

ดอกลิลลี่

ดอกลิลลี่ เป็นดอกไม้ที่สวยงามมากในยามเหนื่อยล้าแบบนี้ พบอยู่ริมทางเดินจากเนินมรณะไปยังลานสน ซึ่งยังมีระยะทางอีกหลายร้อยเมตรรอเราอยู่ เมื่อพ้นเนินมรณะหลายคนเข้าใจว่าคงจะถึงลานสนและลานกางเต็นท์แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะยังต้องไปอีกนับกิโลเมตรเลยทีเดียว จังหวะของเราดีมากสำหรับทริปนี้ที่ได้เห็นลิลลี่บานพอดี เสมือนเป็นกำลังใจให้นักเดินทางอย่างเรา

ลานสน-ภูสอยดาว

ลานสน-ภูสอยดาว ในที่สุดการเดินทางสู่ลานสนก็สิ้นสุดลง การได้นั่งข้างป้ายผู้พิชิตลานสนนี้เป็นเป้าหมายของใครหลายคน แต่นี่ก็ยังไม่สิ้นสุดเส้นทางการเดินทาง เพราะยังต้องเดินไปยังลานกางเต็นท์ 800 เมตร แม้จะเป็นทางราบแต่ก็เหนื่อยเมื่อยขาเอาการ

ดอกหงอนนาค

ดอกหงอนนาค เป็นดอกไม้ที่ขึ้นอยู่บนดินทราย ต้องการความชุ่มชื้นสูง บนภูสอยดาวเป็นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งที่มีทุ่งดอกหงอนนาคขึ้นหนาแน่น เป็นวัตถุประสงค์ของใครหลายๆ คนที่ต้องการได้ชมดอกหงอนนาคนี้บนภูสอยดาว ดอกหงอนนาคนี้ก็มีฤดูที่เหมาะสมที่จะบานสะพรั่งพร้อมกันในช่วงปลายฝนต้นหนาว สำหรับปี 2553 นี้ ก็สามารถชมได้ตั้งแต่ปลายสิงหาคม-กันยายน ปกติในเวลาเช้าดอกหงอนนาคจะหุบ และบานช่วงที่เริ่มมีแดด ด้านตะวันออกของภูสอยดาวมียอดเขาสูงทำให้เห็นแสงพระอาทิตย์ได้ช้า บางวันดอกหงอนนาคจะเริ่มบานช่วง 9 โมงเช้า แต่ช่วงเช้าจะมีหยดน้ำเกาะที่ดอกหงอนนาคเป็นภาพที่สวยงามมาก หากต้องการถ่ายภาพสวยๆ ควรมีเลนส์มาโครติดไปด้วย

ทุ่งดอกหงอนนาค

ทุ่งดอกหงอนนาค เป็นภาพที่สวยงามระหว่างทางเดินลานสนไปยังลานกางเต็นท์ จนถึงลานกางเต็นท์ก็ยังมีดอกหงอนนาคขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ รวมทั้งเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจากลานกางเต็นท์ไปยังหลักเขตประเทศไทย-ลาว ก็มีหงอนนาคอยู่เต็มพื้นที่

ทางเดินช่วงสุดท้ายสู่ลานกางเต็นท์

ทางเดินช่วงสุดท้ายสู่ลานกางเต็นท์ ทั้งลูกหาบทั้งนักท่องเที่ยวทยอยกันเดินทางมาถึงลานสนในเวลาเย็น หลายคนที่มีร่างกายแข็งแรงและมุ่งหน้าเดินอย่างเดียวอาจใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ตามปกติเดินบ้างพักบ้าง ถ่ายรูปบ้าง ก็ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางมาที่นี่ควรมีการซ้อมร่างกายช่วงขามาก่อนบ้าง อย่างกิจกรรมปั่นจักรยาน หรือเดินเร็วๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น

ทุ่งดอกหงอนนาค

ทุ่งดอกหงอนนาค หัวใจหลักที่ทำให้หลายๆ คนเดินทางดั้นด้นขึ้นมาบนภูสอยดาวหน้าฝน ลำบากลำบนเปียกปอนกันไปตามๆ กัน ทั้งทางเดินก็ลื่น ก็เป็นเพราะว่าในหน้าฝนเท่านั้นที่เราจะเห็นดอกหงอนนาคบานสะพรั่งเต็มทุ่งกว้างกลางป่าสนบนภูสอยดาว ยิ่งเดินใกล้ถึงลานกางเต็นท์ก็ยิ่งมีเยอะ 

    ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับดอกหงอนนาค มีอีกหลายชื่อเรียกไม่เหมือนกันในแต่ละจังหวัด บางที่เรียกว่าน้ำค้างกลางเที่ยง, บางที่เรียกว่าหญ้าหงอนเงือก ชื่อวิทยาศาสตร์ : Merdannia gigantea ( Vahl ) G.Brückn วงศ์ : COMMELINACEAE ชื่อสามัญ : ชื่ออื่น : น้ำค้างกลางเที่ยง (สุราษฎร์ธานี) ว่านมูก (หนองคาย) หงอนพญานาค ไส้เอียน (อุบลราชธานี) หญ้าหงอนเงือก (เลย) ปกติจะเห็นมี ดอกสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน แต่ความจริงมีอีก 2 สี คือสีขาว และสีชมพู แต่หายาก ตอนเช้าจะหุบดอก จะบานเมื่อมีแดด ออกดอกมากในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะขึ้นบริเวณลานดินทรายที่มีน้ำขังหรือทุ่งหญ้าป่าสนบนภูเขาสูงๆ ที่ชุ่มชื้น ภูสอยดาวเป็นจุดที่มีหงอนนาคทุ่งใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากนี้ก็มีที่ เขาสมอปูน ทุ่งโนนสน เขาใหญ่ และอีกหลายที่ 

พระอาทิตย์ตกบนภูสอยดาว

พระอาทิตย์ตกบนภูสอยดาว พอเดินมาถึงลานกางเต็นท์ เพื่อนๆ ที่มาทริปเดียวกันมาถึงก่อน ได้สัมภาระคือเต็นท์จากลูกหาบก็จัดแจงกางไว้เสร็จเรียบร้อย ส่วนเราพอมาถึงก็หมดเรี่ยวแรงไปต่อไม่ไหว ล้มตัวลงนอนแล้วกินพารา 2 เม็ด หลับไปเลย บนภูสอยดาวมีจุดชมวิวด้านทิศตะวันตก เป็นภาพพระอาทิตย์ตกกับแนวเทือกเขาสลับซับซ้อน หากอากาศพอเหมาะจะมีทะเลหมอกให้ได้ชม แต่โอกาสได้เห็นพระอาทิตย์ตกสวยๆ บนภูสอยดาวมีน้อย เพราะอากาศส่วนมากจะมีเมฆหมอกอยู่ตลอดเวลา บางทีถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกจากลานกางเต็นท์เห็นป่าสนสามใบและดอกหงอนนาคอีกหน่อยก็สวยไปอีกแบบ หลายๆ คนที่เดินไปจุดชมวิวอาจจะไม่ได้ภาพสวยเหมือนที่เราถ่ายจากเต็นท์ก็เป็นได้ เรามานอนบนภูสอยดาว 2 คืนเพราะวันแรกแทบจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าเช้ามาต้องลงเลยเห็นทีจะไม่ได้ภาพไม่ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติสมกับความเหน็ดเหนื่อยที่ดั้นด้นมาเป็นแน่ 2 วันที่อยู่บนภูสอยดาวก็ไม่เจอพระอาทิตย์ตกสวยๆ เลยสักครั้ง

ลานกางเต็นท์กลางสายหมอก

ลานกางเต็นท์กลางสายหมอก เช้าวันต่อมาหลังจากผ่านพ้นคืนที่ฝนตกมาได้อย่างปลอดภัย โชคดีที่เรามาไม่เจอลมฝนที่หนักเกินไป ไม่งั้นเต็นท์เราคงเอาไม่อยู่ บางคนเล่าว่าเอาเต็นท์มากางบนภูสอยดาวหน้าฝน พอฝนตกก็ไม่ได้นอนเต็นท์ต้องหอบข้าวของไปอยู่ที่กระท่อมของเจ้าหน้าที่ เต็นท์บางหลังล้ม บางหลังก็น้ำท่วมเพราะไม่ได้ขุดร่องน้ำรอบเต็นท์ สภาพอากาศบนยอดภูสอยดาวในหน้าฝนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเช่นภาพนี้ซึ่งมีหมอกลงจัด และภาพถัดไปที่ฟ้าใสสว่าง

ลานกางเต็นท์ยามฟ้าใส

ลานกางเต็นท์ยามฟ้าใส

ดอกหงอนนาค ยามเช้า

ดอกหงอนนาค ยามเช้า ตื่นเช้าท่ามกลางอากาศเย็นสบาย แม้ว่าภูสอยดาวจะมีฝนตกสลับแดดออกเกือบทั้งวันแต่ความหนาวเย็นไม่หนาวมากเหมือนนอนบนดอยที่เชียงใหม่ ช่วงเช้าๆ ดอกหงอนนาคจะหุบตามธรรมชาติ ลองเดินหาดอกสวยๆ มีหยดน้ำค้างเกาะหามุมที่แดดส่องแล้วเป็นแฉกก็เอากล้องถ่ายมุมนั้น ก็จะได้ภาพหงอนนาคสวยๆ ตอนหุบ ในการวางแผนเที่ยวภูสอยดาวหากเป็นไปได้ควรค้างบนภูสอยดาว 2 คืน วันแรกเดินทางอย่างเดียวแล้วนอน รุ่งขึ้นเดินชมธรรมชาติในยามเช้า ดอกหงอนนาคกับหยดน้ำค้าง สายหน่อยเดินทางไปน้ำตกสายทิพย์ ค้างคืนที่สอง แล้วรุ่งขึ้นค่อยเดินทางกลับลงจากเขา แบบนี้จะเที่ยวได้เยอะและไม่เหนื่อยมาก 

น้ำตกสายทิพย์

น้ำตกสายทิพย์ เส้นทางเดินเที่ยวน้ำตกสายทิพย์มีทางลงอยู่ระหว่างลานกางเต็นท์กับลานสน ต้องเดินย้อนเส้นทางตอนขามาไปประมาณ 300 เมตรจะมีป้ายบอกทางลงน้ำตก ทางเดินไปน้ำตกสายทิพย์จากลานสนนั้นเป็นทางเดินลงจะถึงน้ำตกชั้นบนสุดก่อนที่จะเดินตามน้ำตกลงไปเรื่อยๆ ทีละชั้น ทางเดินตามน้ำตกเป็นหินทรายที่ลื่นบางช่วงชันมาก เท่าที่เจ้าหน้าที่แนะนำเราจะได้เห็นน้ำตกสายทิพย์บนภูสอยดาว 7 ชั้น แต่ทั้งหมดมีกี่ชั้นไม่มีใครรู้ต้องเดินตามน้ำตกลงไปเรื่อยๆ สายน้ำจะพาเรามาถึงน้ำตกภูสอยดาวที่อยู่ข้างที่ทำการอุทยาน แต่ไม่แนะนำให้เดินเพราะถ้าไม่เก่งจริงหลงป่าแน่นอนครับเสี่ยงกับสัตว์ป่าด้วย ภาพของน้ำตกสายทิพย์ทั้ง 7 ชั้น ขอแยกไปเขียนเป็นอีกเรื่องเพราะมันจะทำให้เรื่องภูสอยดาวดูยาวเกินไป สนใจคลิกไปดูได้เลย น้ำตกสายทิตย์ภูสอยดาว

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูสอยดาว

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูสอยดาว หลังจากเดินชมน้ำตกสายทิพย์เสร็จก็กลับมายังลานกางเต็นท์ นี่คือศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำ มีผ้าห่มนวมและถุงนอนให้เช่า ผ้าห่มคืนละ 50 บาท ถุงนอนคืนละ 30 บาท แต่ห้ามทำเปียกเพราะหาที่ตากได้ยาก การเปียกนั้นอาจจะเกิดจากผ้าห่มไปโดนขอบเต็นท์ในเวลากลางคืน ความชื้นซึมเข้าทีละน้อยจนเปียกได้ สำหรับเศษอาหารที่ทานไม่หมดทางอุทยานอนุญาตให้ฝังดินได้มีจอบให้ยืม แต่ห้ามฝังขยะจำพวกพลาสติก ตอนลงจากเขาจะได้ไม่หนักมาก ถังสำหรับบรรจุน้ำฝนจากถังเก็บน้ำฝนมายังแคมป์มีให้เช่าที่นี่ ถังน้ำในห้องน้ำเป็นของส่วนรวม ในห้องน้ำไม่มีท่อน้ำและก๊อกให้ ต้องตักจากลำธารมาใช้เอง นี่คือที่สุดของชีวิตการเดินป่าสำหรับนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติจริงๆ เท่านั้น แต่ถ้าชอบธรรมชาติสุดๆ หนักกว่าภูสอยดาวก็มีนะ อย่างน้อยก็ที่ดอยหลวงเชียงดาว อีกแห่งหนึ่งแหละ

กล้วยไม้เอื้องแซะภูกระดึง

กล้วยไม้เอื้องแซะภูกระดึง  บริเวณลานกางเต็นท์จะมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยาว 2 กิโลเมตรเศษเป็นการใช้เวลาชื่นชมดอกหงอนนาค โดยสามารถเลือกเดินได้ทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวาแล้วแต่ เช่นถ้าเวียนซ้ายเดินทะลุศูนย์บริการนักท่องเที่ยวข้ามลำธารไปตามเส้นทางจะพบ บริเวณที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมพระสหายได้ทรงกิจกรรมคืนกล้วยไม้สู่ป่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2552 ทรงปล่อยกล้วยไม้เอื้องแซะภูกระดึง

ภูสอยดาวหน้าฝน

ภูสอยดาวหน้าฝน วิวสวยๆ ของภูสอยดาวยามนี้ไม่ได้มีแต่ทุ่งหงอนนาคอย่างเดียว เฉพาะวิวของทิวป่าสนสามใบ ท่ามกลางสายหมอกสีขาว ที่จะจางหายไปกลายเป็นท้องฟ้าสีคราม และเกิดเป็นสายหมอกขึ้นใหม่หลายครั้งในวันเดียวกันเป็นสภาพอากาศปกติของที่นี่แต่เป็นภาพแปลกใหม่ของคนที่มาเที่ยว จุดเด่นของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติภูสอยดาวมีสนสามใบอยู่หนาแน่นโดยที่พื้นมีทุ่งหงอนนาคอยู่จำนวนมาก ทางอุทยานฯ ขอความร่วมมือในการไม่เดินออกนอกเส้นทางเพื่อรักษาดอกหงอนนาคให้สมบูรณ์คงอยู่ตลอดไปเป็นภาพสวยๆ ที่หาได้ในป่าอุดมสมบูรณ์ 

หลักเขตประเทศไทย-ลาว

หลักเขตประเทศไทย-ลาว ไฮไลท์อีกจุดหนึ่งที่ทุกคนควรจะมา เป็นจุดแบ่งเขตสองแผ่นดิน ตรงนี้เป็นสันเขาแบ่งเขตแดนเชื่อมต่อระหว่างไทยกับลาวอยู่บริเวณนี้ ถ้าเดินเลยหลักนี้ไปแล้วก็จะออกนอกประเทศไทย ถ้าไม่มาภูสอยดาวและเดินมาตรงนี้ก็ยังไม่คิดว่าอุตรดิตถ์ดิตกับลาวเลยนะ

ชมวิวภูสอยดาว

ชมวิวภูสอยดาว เดินไปจนถึงหลักแบ่งเขตไทย-ลาว ดูๆ ไปแล้วถ้าเดินต่อไปก็คงไม่มีอะไรแล้วเลยเดินวกกลับมาที่จุดชมวิว เป็นจุดชมวิวจุดเดียวที่มีอยู่บนภูสอยดาว หันไปทางตะวันตกแต่ไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ตกสวยๆ บนนี้เลยสักครั้ง ในช่วงกลางวันก็จะพอเห็นเมฆหมอกลอยไปลอยมาอยู่ตามแนวเขาฝั่งตรงข้าม แต่ทะเลหมอกสวยๆ ก็ยังไม่เคยได้เห็นเลยเหมือนกัน

อาหารบนภูสอยดาว

อาหารบนภูสอยดาว การท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติทุ่งหงอนนาคในป่าบนเขาสูง 1600 กว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล สิ่งหนึ่งที่ควรจะเตรียมก็คืออาหาร บนภูสอยดาวไม่เหมือนภูกระดึง บนนี้ไม่มีอาหารขาย แต่น้ำใจมีมากล้น ทุกคนทุกเต็นท์เอาอาหารขึ้นมาทำกินแต่ถ้าหากลืมอะไรหรืออะไรไม่พอก็พอจะเดินหาขอจากเต็นท์รอบๆ ได้ไม่ยาก มิตรภาพมีมากกว่าที่ไหนๆ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยหันมาเที่ยวแบบเดินป่ากันมากขึ้น  หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการเดินชมน้ำตก เดินศึกษาธรรมชาติแล้ว เราเตรียมโปรแกรมเมนูอาหารพิเศษสุดของทริปไว้ที่มื้อนี้เอง สำหรับรายละเอียดของเมนูอาหาร ทิปของการเตรียมตัวสู่ภูสอยดาว การเตรียมอุปกรณ์ให้พอดี ไม่มากเกินไป (จะเสียค่าลูกหาบมาก) ไม่น้อยเกินไปเข้าไปอ่านได้ที่เรื่องเล่าประสพการณ์ท่องเที่ยวทริปภูสอยดาว //www.touronthai.com/forum/index.php?topic=46.0

อำลาภูสอยดาว

อำลาภูสอยดาว ไม่ว่าจะสวยแค่ไหน ไม่ว่าจะประทับใจเพียงใด แต่การเดินทางย่อมต้องมาถึงเวลาสิ้นสุด 3 วันของพวกเราบนภูสอยดาวช่างมีความหมายสำหรับความทรงจำดีๆ หลายเรื่อง เช้าของวันที่ 3 เรามีเวลานิดหน่อยที่จะเดินไปหาจุดที่น่าจะมีแสงอาทิตย์ส่องในตอนเช้า แต่สภาพของป่าสนที่มียอดเขาภูสอยดาวที่สูงกว่าตั้ง 600 เมตรบังอยู่ จึงไม่มีใครเคยเห็นพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ นองจากแสงแรงๆ ตอนเกือบ 8 โมงแล้ว เราเดินเก็บภาพรอบสั้นๆ อีกรอบก่อนที่จะเก็บข้าวของเตรียมตัวลงจากภูสอยดาว

ชมวิวที่ลานสน

ชมวิวที่ลานสน จากลานกางเต็นท์ที่เราเก็บของเรียบร้อยส่งให้ลูกหาบ พวกเราก็เดินทางมาที่จุดผู้พิชิตลานสนที่มีป้ายให้เราถ่ายรูปกันตอนเดินพ้นเนินมรณะ จากจุดนี้มองลงไปที่ภูเขาอีกด้านแสงจะส่องลงมาพร้อมกับเมฆหมอกขาวๆ ลอยมาประกอบกับเทือกเขายาวๆ จนต้องแวะถ่ายรูปกันอีกรอบ ก่อนที่จะแยกย้ายลงเขาตามความสามารถของแต่ละคน บางคนเดินเก่ง 2 ชั่วโมงกว่าก็ถึง คนเดินช้าอย่างเราก็ 4 ชั่วโมง

ผีเสื้อเกาะมือ

ผีเสื้อเกาะมือ ระหว่างเดินลงก็มีหยุดพักบ้างถ่ายรูปบ้างมีผีเสื้อเกาะตามตัวเพราะเหงื่อเค็ม เป็นภาพน่าประทับใจภาพหนึ่ง การเดินลงจากภูสอยดาวทำให้มีเหงื่อชุ่มไปทั้งตัว เป็นอาหารของผีเสื้อตัวนี้

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว  เมื่อเดินลงมาถึงพื้นราบด้านล่างเป็นความดีใจ ประทับใจอย่างที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ และเป็นความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม เอาแทกติดสัมภาระตั้งแต่ตอนขึ้นไปไปติดต่อชำระค่าลูกหาบขาลง เอาขยะไปแสดงรับเงินมัดจำขยะ 100 บาทคืน เดินไปที่ห้องน้ำมีคนรอคิวอาบน้ำกันเต็มทั้งห้องน้ำชายและหญิง เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจะเดินทางกลับด้วยความเหนื่อยอ่อน

    ปิดท้ายกันด้วยการเตรียมตัวเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากภูสอยดาวมีอากาศเปลี่ยนแปลงหลายแบบ ทั้งฝน ทั้งหมอก ทั้งแดดจัดในวันเดียวกัน ควรมีเสื้อกันฝนไปด้วยสำหรับผู้ที่ชอบการถ่ายภาพอาจจะมีร่มคันเล็กๆ พกพาง่ายๆ ไปด้วย

    ส่วนยาสามัญต่างๆ โดยเฉพาะยาแก้ไข้ก็ควรมียาคลายกล้ามเนื้อ ครีมทาแก้ปวดเมื่อยต่างๆ ก็ช่วยได้มาก

    การแต่งกายควรเป็นกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว อย่างน้อยก็กันคุ่นกัดได้ ภูสอยดาวไม่มีทาก ทำให้เดินได้อย่างสบายใจ

    เส้นทางเดินตามน้ำตกสายทิพย์เป็นหินทราย มีโอกาสลื่นได้ง่าย

รีวิว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุตรดิตถ์


 "อัพเดตภาพทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวย จากภูสอยดาว 2560 ภาพจากเว็บ www.suriyaporntour.com "

Akkasid Tom Wisesklin
2017-08-12 06:20:04

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุตรดิตถ์


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุตรดิตถ์
ลานกางเต็นท์ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า
  17.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
Nahaeoresort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนนานาธานีฟาร์มสเตย์ เลย
  41.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
Na Phurua Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  75.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูเรือ แซงค์ฌัวรี รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  78.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
รุ่งทิวา รีสอร์ท ภูเรือ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  79.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 32 ตร.ม. – ด่านซ้าย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  79.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูดารา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  79.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
Phuruakeeree Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  80.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูผาน้ำ รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  80.31 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com