www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> ม่อนเสาหินพิศวง

ม่อนเสาหินพิศวง

 ม่อนเสาหินพิศวง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าม่อนหินกอง เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อประมาณ 5-6 ล้านปีก่อน เกิดการปะทุของภูเขาไฟ พาเอาหินหนืดจากใต้เปลือกโลกไหลปะทุขึ้นมาเป็นลาวา (lava) ของหินบะซอลต์ ปกคลุมพื้นที่บริเวณนี้แล้วเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว มีผลให้ส่วนของหินบะซอลต์ที่อยู่ตอนบนเกิดแรงดึงทุกทิศทาง การหดตัวในขณะที่เย็นตัวลงทำให้เกิดรอยแตกรอยแยกที่ตั้งฉากกับพื้นผิว จึงได้ลักษณะหินแตกเป็นหลายๆ เหลี่ยม คล้ายเสาตั้งตรงหรือล้มระเนระนาดอยู่ในบริเวณนี้นั่นเอง ลักษณะของเสาหินจำนวนมากมายบนเขาเตี้ยๆ แห่งนี้ พบได้เพียงไม่กี่แห่งในโลก

การเดินทาง มายังม่อนเสาหินพิศวงจากตัวเมืองแพร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 เด่นชัย - ลำปาง ประมาณ 40 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าอำเภอวังชิ้น ทางหลวงหมายเลข 1023 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ขับเลยอำเภอวังชิ้นไปตามทางหลวงหมายเลข 1125 ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร มีปั๊มบางจากสหกรณ์อยู่ซ้ายมือ เลยไปอีก 500 เมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าหมู่บ้าน จากนั้นจะมีแยกขวามือไปม่อนเสาหินพิศวงเป็นทางลูกรังสลับลาดยางบางช่วง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

 หรือใช้เส้นทางหมายเลข 101 จากอำเภอศรีสัชนาลัย จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าตำบลนาพูน ทางหลวงหมายเลข 1177

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 11774

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เส้นทางสู่ม่อนหินพิศวง

เส้นทางสู่ม่อนหินพิศวง เล่าเรื่องการเดินทางย้อนไปก่อนที่จะมาม่อนเสาหินพิศวงสักนิด การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองแพร่ มาที่อำเภอลอง เที่ยวแก่งหลวง กับถ้ำเอราวัณ แล้วมาที่ทางหลวงหมายเลข 11 เด่นชัย - ลำปาง ถนนข้ามภูเขามาโผล่ที่ทางหลวงหมายเลข 11 ห่างจากเด่นชัยประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงทางแยกวังชั้นเลี้ยวซ้ายมาอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ระยะทางจากทางแยก 13 กิโลเมตร ตลอดทางจะมีป้ายบอกทางไปม่อนเสาหินพิศวง ระยะทางเริ่มจากสี่แยก 62 กิโลเมตร หักลบแล้วห่างจากอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยตั้ง เกือบ 50 กิโลเมตร ตลอดทางที่ขับเข้ามาก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะไปม่อนเสาหินนี้ดีหรือเปล่า จะมีอะไรน่าสนใจสำหรับผู้ชมเว็บหรือเปล่า สุดท้ายจนมาถึงแยกเข้าอุทยานแห่งชาติ ก็ยังคิดไม่ตกด้วยระยะทางที่ไกลถึง 50 กิโลเมตร พอจะกลับออกมาอีกก็ต้องเป็น 100 กิโลเมตร ถ้าเกิดไปแล้วมันไม่สวยไม่น่าสนใจก็คงจะแย่

หลังจากที่เที่ยวอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เก็บภาพทั้งหมดแล้วก็ขับรถออกมาจนถึงทางแยก ท้ายที่สุดผมก็ตัดสินใจเลี้ยวขวามาตามทางหลวงหมายเลข 1023 มุ่งหน้าไปวังชิ้นใช้เวลาไม่มากก็ถึงตัวอำเภอวังชิ้นแล้วขับเลยมาเรื่อยๆ ทีนี้เป็นทางหลวงหมายเลข 1125 ขับตามถนนไปเรื่อยๆ ระยะทาง 30 กิโลเมตร กว่าๆ เรียกว่าขับกันเพลินเลยทีเดียว ถ้าไม่ใจรักจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหรือเปล่า แต่ผมบอกไว้ก่อนเลยว่า ถ้าคูณเป็นคนชอบศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมา และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราอยู่อาศัย ชอบของแปลกที่หาดูที่อื่นได้ยาก ม่อนเสาหินพิศวง เหมาะกับคุณมากๆ เลยละ
พอขับจากอำเภอวังชิ้นมา 30 กิโลเมตรแล้ว จะมีปั๊มน้ำมันบางจาก เป็นปั๊มของสหกรณ์ ขับรถมาตั้งนานแวะพักในปั๊มกันสักหน่อย มีร้านมาร์ทของสหกรณ์เล็กๆ แล้วจากนั้นขับตรงมาตามถนนเรื่อยๆ อีกสักประมาณ ครึ่งกิโล ก็จะมีป้ายบอกทางเข้าม่อนเสาหินพิศวง เป็นทางแยกซ้ายมือผ่านหมู่บ้านคน ถนนหนทางไม่ค่อยดีเพราะพื้นที่ตำบลนาพูน เป็นตำบลที่ห่างจากตัวเมืองแพร่มากเกือบจะที่สุดในทางทิศใต้ อีกไม่กี่กิโลเมตรก็จะข้ามเขตไปอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยแล้ว

เข้ามาในหมู่บ้านสักพักจะมีทางแยกขวามืออีก มีป้ายบอกทางไปม่อนเสาหินพิศวงอยู่เป็นระยะๆ ปากทางแยกเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กพอจะเดาได้ว่าทางนี้ไม่ผิดแน่ที่จะไปแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอ แต่พอเลี้ยวไปได้สัก 200 เมตร ทางคอนกรีตก็สุดแค่นั้นที่เหลือเป็นทางลูกรัง ถนนที่ตัดขึ้นมาด้วยการบดอัดดินให้แน่น เพื่อเป็นเส้นทางของชาวบ้านที่มีอาชีพทำสวนทำไร่ 2 ข้างทางจะเป็นอ้อยเสียส่วนใหญ่ ถนนลูกรังสีแดงสายนี้ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงจะถึงม่อนเสาหินพิศวง เราชับรถไปพอมีรถชาวบ้านที่เป็นอีแต๋นสวนมาก็รับฝุ่นจากรถเราไปเต็มๆ น่าสงสารเหมือนกันครับ เค้าต้องเอาผ้าปิดปากปิดจมูกกันใหญ่

ม่อนเสาหินพิศวง

ในที่สุดก็มาถึงม่อนเสาหินพิศวงกันสักที ในกรณีที่เรามาที่นี่เป็นครั้งแรก เราก็ไม่รู้หรอกว่าม่อนเสาหินนี้มันหน้าตาเป็นยังไง พอมาเห็นศาลาที่สร้างไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวตรงเชิงเขาก็เข้าท่าดีนะ ดูแล้วคงจะมีคนมาเที่ยวอยู่เรื่อยๆ ไม่งั้นก็คงไม่ปรับปรุงพัฒนากันมากมาย แต่ถนนที่เข้ามาเป็นทางลูกรัง สิ่งนี้แหละที่น่าจะได้รับการปรับปรุง แต่ในเมื่อมีรถที่ใช้งานทางการเกษตรวิ่งไปวิ่งมาทุกวัน บางทีถ้าทำเป็นถนนลาดยางก็คงต้องซ่อมกันไม่เว้นแต่ละปี บรรยากาศที่ม่อนเสาหินพิศวงในวันธรรมดาดูวังเวงมาก ระยะทางจากหมู่บ้านมาถึงที่นี่อย่างน้อยก็เกือบ 6 กิโลเมตร เรามาเที่ยวก็เที่ยวได้อย่างไม่สนิทใจ ยอมรับเลยว่ามันน่ากลัวมากครับ แต่ถ้ามากันเป็นกลุ่มคงจะอุ่นใจได้มาก

แอ่งน้ำเชิงเขา

แอ่งน้ำเชิงเขา เป็นเรื่องไม่ค่อยมีสาระเกี่ยวกับม่อนเสาหินพิศวงเท่าไหร่หรอกครับ พอดีจะขับรถขึ้นไปบนเขาตามถนนที่เห็นต่อจากศาลา เห็นมีสระน้ำเล็กๆ ตรงนี้ บรรยากาศร่มรื่นน่านอนพักสักตื่นเหมือนกัน

ขึ้นเขาม่อนหินกอง

ขึ้นเขาม่อนหินกอง ตรงบริเวณศาลาเห็นมีถนนคอนกรีตอย่างดี ทีแรกดีใจมากว่าทางขึ้นเขาจะเป็นคอนกรีตทั้งหมด พอเอาเข้าจริงกลายเป็นทางแบบนี้แทน ไม่แน่ใจว่าจะเอารถเก๋งขึ้นได้หรือเปล่าได้แต่ลองวัดดวงดูถ้าขึ้นไม่ได้ก็คงต้องลงเดินเอา ถนนขึ้นเขามันไม่สูงมากนัก เพราะจากเชิงเขาก็เห็นยอดเนินเขามีศาลาอยู่ข้างบน นั่นคงจะเป็นที่ชมเสาหินอย่างแน่นอน แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ร่องของล้อ ดูเหมือนว่ารถกระบะจะมากันเยอะ ร่องมันก็มีตื้นบ้างลึกบ้าง พอช่วงที่ร่องมันลึกท้องรถก็ขูดกับดิน แต่ก็พอทน ทางสายนี้แคบน่าดูคงจะเป็นวันเวย์แต่ไม่มีป้ายบอก คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าบังเอิญมีรถอยู่ข้างบนแล้วขับสวนทางลงมาจะหลบกันยังไง

ม่อนเสาหินพิศวง

ในที่สุดทางขึ้นเนินเขาก็มาสุดอยู่ที่นี่ ระยะทางจากเชิงเขาไม่น่าจะถึง 300 เมตร บริเวณนี้เป็นพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่บนเนิน มีศาลาพักผ่อนหลายหลัง มีร่องรอยว่าจะเป็นร้านค้า แต่ในวันที่ผมไปไม่มีใครอยู่บนเนินแห่งนี้ ไม่มีร้านค้าเปิด มีเพียงห้องน้ำ แม้ว่าผมไม่เคยมาที่นี่มาก่อนก็พอจะรู้ได้ว่านักท่องเที่ยวผ่านมาเที่ยวแถวนี้น้อยมาก จนร้านค้าอยู่ไม่ได้ ศาลาหลายหลังก็ถูกปล่อยให้ค่อยๆ พังลงตามเวลา ถ้าจะเดินเข้าไปต้องระวังไม้ผุจะทำให้ตกดอยได้ เรื่องคนมากคนน้อยผมว่าไม่เกี่ยว เรามาเที่ยวหาของแปลกเราก็เดินกันต่อไป ด้านหน้าทางเข้าม่อนเสาหินพิศวงมีป้ายใหญ่ๆ มีดอกไม้สวยๆ ให้ชมกันเยอะอย่างน้อยก็ถ่ายรูปเล่นกันไปก่อน

ศาลาพักผ่อน

ศาลาพักผ่อน นี่เป็นตัวอย่างของศาลา ถ่ายรูปมาให้ดูกันหลังเดียว ภายในกว้างมาก หลังคายังดูดีอยู่แต่ถ้าจะเดินเข้าไปให้ระวังเวลาก้าวลงไปบนพื้นไม้ มันผุมากแล้วครับ

ม่อนเจ้าแสนจู้

ม่อนเจ้าแสนจู้ หลายคนคงคิดว่ามัวแต่เอารุปอะไรมาให้ดูอยู่ได้เมื่อไหร่จะเป็นรูปของเสาหินพิศวงซะที อยากจะเห็นแล้ว ก็เลยเริ่มเลยละกันครับ พอเราเดินผ่านซุ้มประตูตรงป้ายทางเข้า เราจะเห็นกองหินขนาดใหญ่ หินเหล่านี้มันอยู่บนยอดเนินเขาที่ไม่สูงเท่าไหร่ และเป็นหินที่เกิดจากภูเขาไฟ ตอนที่หินมันเย็นตัวลงมันหดตัวอย่างรวดเร็วแล้วก็มีรอยแตกตั้งฉากกับผิว อันนี้ออกจะวิชาการไปหน่อย แต่พออ่านดูแล้วผมสรุปได้ว่า หินเหล่านี้ก็เคยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ แต่ตอนที่มันเกิดขึ้นมามันยังหนืดๆ เหลวๆ ด้วยความร้อนที่สูงมาก พอมันเย็นลงแล้วมันแตก แต่มันพิเศษตรงที่รอยแตกของมันจะแตกจากผิวลึกเข้าไปในเนื้อหิน เป็นเส้นตรงเข้าไปหลายๆ เส้น ก็เลยกลายเป็นหินที่มีรูปร่างเหมือนแท่งเสา มีหลายเหลี่ยมเป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็น สมัยก่อนตอนที่พบหินนี้ใหม่ๆ ถึงขั้นมีคนเก็บเอาไปบูชาที่บ้าน เชื่อว่าเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางคนเอามะพร้าวเอาดอกไม้มาไหว้ จนต้องมีป้ายให้ข้อมูลความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเกิดเสาหินเป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้ชาวบ้านมาขนเอาหินไปบูชาที่บ้าน หรือใช้ประโยชน์อื่น แต่ก็ยังคงมีชาวบ้านนำดอกไม้และมะพร้าวอ่อนมาไหว้เสาหินเหล่านี้กันเยอะจนทุกวันนี้ ส่วนผมเองถ้าไม่ได้เห็นข้อมูลการศึกษาความเป็นมาทางธรณีวิทยา ผมก็คงไม่รู้เหมือนกันว่าหินพวกนี้จะเกิดขึ้นมาได้ยังไง ดูเหมือนเป็นเสาหินที่ถูกขนมารวมกันไว้บนเขายังไงยังงั้น

พื้นที่ของม่อนเสาหินพิศวง กินพื้นที่กว้างมาก แต่ละกลุ่มจะมีลักษณะการเรียงตัวของเสาหินแตกต่างกันไป ชาวบ้านจะเรียกกลุ่มของหินที่ต่างกันมีชื่อต่างกัน จะเรียกว่าเป็นม่อนทั้งหมด อย่างเช่น ม่อนปู่หมอเฒ่า ม่อนเจ้าอาจญา ม่อนเจ้าแสนจู้ ฯลฯ แต่ละชื่อมีที่มามีความหมาย มีตำนานความเชื่อต่างๆ กันด้วย ที่เราเห็นในภาพข้างบน เรียกว่าม่อนเจ้าแสนจู้ ไม่ใช่ม่อนแรกของที่นี่ แต่ม่อนแรกคือม่อนปู่หมอเฒ่า ผมเห็นหินมันเหมือนกันก็เลยข้ามมาที่ม่อนเจ้าแสนจู้เลย

ลักษณะของเสาหินม่อนเจ้าแสนจู้เป็นเสาหินเหลี่ยมมีทั้งตั้งตรงและล้มกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป คล้ายกับเสาหินเหลี่ยมในเขตอุทยานแห่งชาติแชนันโด รัฐเวอร์จิเนีย อเมริกา (เห็นมั้ยครับว่าเสาหินของเราไม่ธรรมดา เทียบเคียงกับส่งมหัศจรรย์ของโลกเลยทีเดียว) ชื่อม่อนเจ้าแสนจู้ ตั้งตามความเชื่อประเพณีนับถือผีของชาวบ้าน ในอดีตหากมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผี ก็ต้องไปหาหมอผี หรือร่างทรงเพื่อค้นหาสาเหตุและการรักษา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันสงกรานต์ ก็จะนำของต่างๆ อย่างหมู ไก่ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวแดงไบูชาผีที่นับถือ

ม่อนเจ้าอาจญา

ม่อนเจ้าอาจญา ลักษณะเป็นแท่งยาวตั้งเรียงมุม 45 องศา คล้ายกับเมืองแองการ่า ประเทศตุรกี ชื่อมาจากชื่อของผีหรือร่างทรงประจำตระกูลใหญ่กว่าบรรดาผีทั้งหมดในตำบล หรือที่เรียกกันว่าพี่คนโตในบรรดาผีทั้งตำบลนาพูนที่นับถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

ม่อนปู่หมื่นลอง

ม่อนปู่หมื่นลอง ลักษณะของม่อนนี้เสาหินจะเรียงนอนขนานกับพื้น เรียงรายเป็นจำนวนมาก คล้ายกับการเรียงตัวของเสาหินบนเกาะเมกิจิม่า ประเทศญี่ปุ่น สำหรับชื่อม่อนปู่หมื่นลองนั้น มาจากความเชื่อประเพณีนับถือผีประจำตระกูล กล่าวกันว่าสมัยก่อนเด็กเล็กร้องไห้ในคืนวันพระ เพราะ "ผีแม่เกิดมาซื้อ" มาทักท้วง ก็จะนำกล้วย ข้าว หมากพลู อย่างละ 3 ชิ้น มาวนรอบเด็ก (เรียกว่ากวาด)

การตั้งชื่อม่อนต่างๆ ของม่อนเสาหินพิศวง ต่างก็ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ผีประจำตระกูล ไม่ว่าจะเป็นม่อนปู่หมอเฒ่า ม่อนเจ้าแสนจู้ ม่อนเจ้าอาจญา ม่อนปู่หมื่นลอง ที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดเป็นเนินเล็กๆ มีหินกองกระจายบ้าง เรียงกันมุมเอียงบ้าง เรียงกันแนวนอนบ้าง ผมไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูทุกๆ ม่อน แต่ก็จะเก็บรูปของหินที่เรียงตัวกันแบบต่างๆ ที่เป็นลักษณะเด่นของม่อนแห่งนี้ หินแต่ละกองอยู่ใกล้กันมาก ทางเดินจากม่อนหนึ่งไปอีกม่อนหนึ่งเรียกว่าไม่กี่ก้าวก็ถึง การที่มีหินเรียงตัวไม่เหมือนกันเลยนี้ก็เป็นความแปลกมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง

ทางเดินในม่อนเสาหินพิศวง

ทางเดินในม่อนเสาหินพิศวง พอมาถึงม่อนปู่หมื่นลองแล้วก็คือเดินมาได้ครึ้งทางแล้ว ก็เลยว่าจะถ่ายรูปตรงทางเดินมาให้ดูกันซะหน่อย ทางเดินในบริเวณนี้เกิดจากการนำเอาหินเหลี่ยมมาเรียงกันเป็นทางยาว ลักษณะเหมือนกับที่ปอมเปอี ประเทศอิตาลี เพื่อให้เกิดความสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติของกองหินขนาดใหญ่

ม่อนเสาหินพิศวง

สุดท้ายพอเดินตามทางมาเรื่อยๆ เส้นทางก็สุดลงบริเวณนี้ มีทางเดินขึ้นไปบนกองหิน แล้ววกกลับไปยังทางออก เรียกว่าการเดินแบบวงกลมพอดี ถ้าเดินตามเส้นทางนี้แล้วจะได้ชมกองหินที่มีลักษณะต่างๆ ไปอีกหลายม่อน ส่วนชื่อที่เรียก ม่อนเสาหินพิศวงนั้น มันหมายถึงม่อนที่อยู่ท้ายสุดของทางเดินนี่เอง

ม่อนเสาหินพิศวง

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่มนุษย์ยากจะเลียนแบบก็คือม่อนเสาหินพิศวงแห่งนี้ เป็นม่อนที่อยู่ท้ายสุดของทางเดิน แล้งจากจุดนี้ทางเดินจะพาเราวกกลับไปยังจุดเริ่มต้น ระยะทางเดินชมม่อนเสาหินทั้งหมดประมาณ 100 เมตร เสาหินที่ม่องเสาหินพิศวง จะแตกต่างกับม่อนอื่นๆ ที่ผ่านมา ตรงที่มันตั้งตรงขึ้นในแนวดิ่ง เรียงกันแน่นเหมือนเป็นหินก้อนเดียวกัน หรือเหมือนกับมีคนมาก่อกำแพงเอาไว้ ความสูงของเสาหินสูงตระหง่าน เกือบๆ 3 เมตร เรียงกันเหมือนกำแพงโค้งครึ่งวงกลม ความพิศดารของการเกิดหินที่ผิดไปจากธรรมชาติที่เราเคยเห็นทำให้มีคนมากราบไหว้ จนมีบาตรมาตั้ง อีกจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับม่อนเสาหินพิศวงเรียกกันว่าม่อนสะเดาะเคราะห์

หลังจากเดินชมม่อนเสาหินเหล่านี้ก็ถึงเวลาเดินทางกลับ ทางลงจากเขาที่เป็นวันเวย์ เป็นเส้นทางที่มีร่องของล้อรถลึกกว่าขาขึ้น ขนาดรถผมสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปก็ยังไม่รอด คิดว่าถ้าเอารถเก๋งขึ้นมาท้องรถอาจจะค้างอยู่บนสันร่องจนลงไม่ได้ก็ได้

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ม่อนเสาหินพิศวง แพร่
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 4 ตร.ม. – เด่นชัย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  47.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสามขาโฮมสเตย์
  53.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชานาลัย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  55.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
JUTHAMANSION HAPPINESS เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  61.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมมาลาดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  62.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
Good Room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  63.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนี บูทีก โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  63.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
O.U.M.HOTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  63.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฟรายเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  64.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไลท์เฮาท์รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  64.14 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com