ข้อมูลเพิ่มเติม: โทร. 0 5682 0122, 0 5682 0123
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
รถนำเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เข้ามาในเขตอุทยานฯ เจอลานจอดรถขนาดใหญ่ เราต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถแล้วเดินไปที่ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว จ่ายค่าเข้าชม 20 บาท แล้วขึ้นรถนำเที่ยวจากศูนย์บริการ เข้าไปที่โบราณสถาน หรือขับรถเข้าไปคิดค่านำรถเข้าอีก 50 บาท มอเตอร์ไซค์ 20 บาท
ในศูนย์บริการข้อมูล จะมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ สำหรับเก็บเทวรูป หรือรูปเคารพ ที่พบในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หลายๆ ชิ้นยังคงสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมกับนิทรรศการแสดงข้อมูลของโบราณสถานที่ละเอียด สำหรับหาความรู้
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์ จากนั้นก็ขึ้นรถนำเที่ยว รถก็จะพาเราเข้าไปด้านใน พร้อมด้วยคนขับที่จะบรรยายข้อมูลต่างๆ ให้
ปรางค์สองพี่น้อง จุดแรกที่รถนำเที่ยวพาเรามา เป็นจุดที่อยู่ลึกสุดของกลุ่มโบราณสถาน เรียกว่าปรางค์สองพี่น้องลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
ทับหลังปรางค์สองพี่น้อง เป็นทับหลังที่สมบูรณ์ที่สุดที่เราเห็นในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อยู่ที่ห้องเล็กๆ ด้านข้างของปรางค์องค์ใหญ่ ลวดลายแกะสลักหินทรายยังคงอ่อนช้อยสมบูรณ์
สระโบราณ ที่แปลกใจสำหรับที่นี่ก็คือสระน้ำ เป็นสระน้ำโบราณที่มีศิลาแลงอยู่รอบสระ พบว่ามีจำนวนหลายสระรอบๆ เมืองแห่งนี้ ถ้าเทียบกับโบราณสถานที่อื่นๆ จะพบสระน้ำบ้างก็จะมีเพียงสระเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่นี่มองไปทางไหนก็เจอสระน้ำ เล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่ใกล้บ้างไกลบ้าง เป็นเรื่องที่แปลกไม่เหมือนที่อื่น
เขาคลังใน ต่อจากปรางค์สองพี่น้อง สิ่งที่อยู่ตรงกลางก็คือโบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง" มีข้อสันนิษฐานว่า เขาคลังนี้อาจจะเป็นลักษณะสิ่งก่อสร้างเหมือนเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
หินแกะสลักรอบฐานเขาคลังใน เป็นสิ่งที่ยังคงหลงเหลือค่อนข้างสมบูรณ์รอบฐาน ที่เห็นลวดลายชัดเจนมีอยู่ 2 ด้าน มีการสร้างหลังคาคลุมเอาไว้เพื่อป้องกันแดดฝน ให้โบราณสถานรักษาสภาพไว้ให้นานที่สุด แต่ก็มีร่องรอยการเขยื้อนของหินหลายชิ้น เนื่องจากน้ำหนักของเขาคลังกดลงและมีดินไหลออกมาตามซอกหินมาทับเอาหินแกะสลักที่อยู่ชั้นล่างสุดจนเอนออกมา
ปรางค์ศรีเทพ สุดท้ายคือสถานที่แห่งนี้ ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยสันนิษฐานจากการค้นพบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย ระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย
ภาพสันนิษฐานปรางค์ศรีเทพ จากรูปร่างลักษณะของสิ่งที่เราเห็น สามารถที่จะวิเคราะห์สภาพของปรางค์ศรีเทพในอดีตว่าเป็นปรางค์ที่มีความสวยงามตามรูปที่เห็น สำหรับสิ่งก่อสร้างที่สร้างกันเมื่อพันปีก่อน นี่เป็นปรางค์ที่งดงามน่าทึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าสมัยนั้นคนจะสร้างสิ่งนี้ได้
ที่ปรางค์สองพี่น้องมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ แต่ที่ปรางค์ศรีเทพมีสระเล็กๆ อยู่บนทางเดินไปยังปรางค์ และที่มองเห็นอยู่รอบนอกของปรางค์ก็มีอีกหลายสระ จนเป็นที่น่าแปลกใจกว่าโบราณสถานอื่นๆ
เมื่อชมโบราณสถานครบ 3 จุด เราก็นั่งรถนำเที่ยวกลับไปที่ลานจอดรถ แต่ถ้าจะไปที่อื่นๆ ต่อ ก็ยังมีอีก แต่อยู่ห่างจากกลุ่มโบราณสถานนี้พอสมควร ได้แก่ หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ที่พบหลุมศพและข้าวของเครื่องใช้ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี เขาถมอรัตน์ เป็นต้น
จบการเดินทางสำหรับวันนี้ ขอขอบคุณ กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มา ณ โอกาสนี้ครับ
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ