ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครสวรรค์ โทร.056-221811
https://www.facebook.com/TAT-Nakhonsawan-103513930140126/
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
วัดทรงธรรม เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร มีข้อมูลว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 สถานที่สำคัญๆ ภายในวัดก็คือวิหารซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ชาวบ้านในละแวกนี้เชื่อกันว่า มีการเจิมของเทวดาในการสร้างพระพุทธรูปที่พระนลาฎ หรือหน้าผาก รอยสีขาวจะปรากฏขึ้นเมื่อเราเดินไปถึงช่องประตูทางเข้าวิหาร แต่เมื่อเดินเข้าไปข้างในใกล้องค์พระจะมองไม่เห็นจุดสีขาวนั้นอีก พระพุทธรูปและความเป็นมาของการสร้างวิหารนี้จะกล่าวรายละเอียดต่อไปครับ ตอนนี้เราจอดรถที่หน้าวิหารซึ่งมีลานกว้างๆ อยู่ จากนั้นก็จะเดินเข้าไปในวิหารกันครับ
พระพุทธเทวประชานาถบพิตร พระประธานในวิหาร ที่เลื่องลือกันในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และรอยเจิมที่พระนลาฎ (หน้าผาก) ก่อนที่จะก้าวเข้าไปภายในให้สังเกตุที่องค์พระจะเห็นรอยสีขาวอยู่ระหว่างพระขนง (คิ้ว) ภาพที่ถ่ายมาก็เห็นได้ชัดเจนแต่พอย่อลงก็ทำให้จุดสีขาวนั้นเล็กลงไปด้วยแต่ก็ยังพอจะมองเห็นได้ สำหรับพระพุทธรูป พระพุทธเทวประชานาถบพิตร นี้สร้างเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2534 โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ปธ.๙) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสสามพระยาเป็นประธานเททองหล่อพระพุทธรูปนี้ ที่วัดพุทธภาวนาราม จังหวัดสมุทรปราการ และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่แท่นชั่วคราว ณ วัดทรงธรรม อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2535 และท่านได้มาทำพิธีเบิกพระเนตรเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2535 ต่อมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสโร ปธ.๙) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าประดิษฐานไว้ในวิหาร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2540 และเป็นประธานในพิธีถวายพระพุทธรูปไว้ในบวรพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2541
นายจรัญ-นางกาญจนา บุรพรัตน์ และครอบครัว สร้างพระพุทธรูปนี้ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนาเพื่อบูชาพระคุณบิดามารดา นายทรงธรรม-นางจำรัส บุรพรัตน์ และเจริญรอยตามศรัทธาของท่านทั้งสองที่ได้อุทิศที่ดินสร้างวัดทรงธรรมและโรงเรียนบุรพรัตน์วิทยาคารเมื่อปี พ.ศ. 2477
พระพุทธเทวประชานาถบพิตร เมื่อเดินเข้ามาในวิหารใกล้ๆ องค์พระจุดสีขาวนั้นก็จะหายไป กลับกลายเป็นมองไม่เห็น ตามความเชื่อของชาวบ้านในละแวกนี้ที่ได้เล่าให้เราฟัง ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อครั้งที่สร้างขึ้นมาได้มีเทวดามาเจิมจุดสีขาวนี้ที่องค์พระพุทธรูป จึงทำให้มองเห็นได้จากหน้าประตูวิหาร แต่เมื่อเดินเข้าใกล้แล้วจะมองไม่เห็น
ช่องประตูวิหาร วิหารหลังนี้สร้างขึ้นหลังจากที่สร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว เป็นวิหารสีขาวทั้งหลังมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีน้ำเงิน ด้านหน้ามีประวัติของพระพุทธรูปและวิหารเขียนไว้
วิหารพระพุทธเทวประชานาถบพิตร วิหาร พระพุทธเทวประชานาถบพิตร ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ปธ.๙) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดสามพระยาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ทำพิธีถวายวิหารไว้ในบวรพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสโร ปธ.๙) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในพิธี
รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ รูปทรงของวิหารนี้เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือตอนล่าง นายจรัญ บุรพรัตน์ เป็นวิศกรโครงสร้าง
ศาลาไม้สัก อยู่ด้านหน้าของวิหารห่างกันไม่ไกลมาก ศาลาหลังนี้อยู่ข้างอุโบสถด้านหน้ามีเพียงสนามโล่งกว้าง ปกติไม่ได้เปิดให้เข้าชมภายในแต่เดินชมรอบๆ ศาลาได้
ศาลาไม้สัก เสาขนาดใหญ่หลายต้น เป็นจุดเด่นของศาลาหลังนี้
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ