×

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
สมุทรปราการ
เมื่อใกล้จะถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านโดยทั่วไปเฉพาะชาวรามัญ – ไทย แต่ละครอบครัวต่างก็จะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของตนก่อนวันสงกรานต์ 2 – 3 วัน แต่ละบ้านก็ช่วยกันกวนขนมที่เรียกว่า “กาละแม” บางบ้านก็ทำขนมข้าวเหนียวแดง เพื่อจะได้นำไปทำบุญในวันสงกรานต์ และแจกจ่ายญาติมิตรสหาย เพื่อไมตรีจิตซึ่งกันและกัน

บ้านใดกะการหุงข้าวสงกรานต์ หรือข้าวแช่ ก็จะเชิญสาว ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันหุงต้มอาหารเพื่อการทำบุญ คือในเวลาเช้าสาวที่รับเชิญจะนำอาหารและข้าวสงกรานต์นั้นไปส่งตามวัดต่าง ๆ เมื่อขากลับจะมีการพรมน้ำรดกันเพื่อความสวัสดีศิริมงคล แต่เป็นการรดน้ำอย่างมีวัฒนธรรมมิใช่สาดน้ำ เมื่อสาวกลับถึงบ้านเจ้าบ้านที่จัดทำข้าวสงกรานต์ก็จะเลี้ยงดูสาว ๆ และญาติมิตรสหายเป็นการรื่นเริงและไมตรีจิตต่อกัน

ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะเห็นศาลเพียงตาปลูกเตรียมไว้ เจ้าบ้านจะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาลพร้อมด้วยข้าวแช่ เป็นการสักการะพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์นั้น จะทำได้ 3 วัน คือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายน นอกจากส่งข้าวสงกรานต์แล้ว ตามวัดต่าง ๆ มีผู้ไปทำบุญกันอย่างมากมาย ในเวลากลางคืนมีบ่อนสะบ้าตามหมู่บ้านเป็นที่สนุกสนานยิ่งนักบางบ่อนมีถึง 7 วัน ทั้งนี้ มิใช่เป็นการพนันเอาทรัพย์สินอย่างใด เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งตามพื้นเมืองตามบ่อนสะบ้ามีผู้ชมมากมาย และแต่ละคนต่างก็รักษามารยาทและวัฒนธรรม แต่ละบ่อนจะมีขนม “กวันฮะกอ” หรือ “กาละแม” เตรียมไว้ให้รับประทานด้วย และมีการร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) ในวันท้ายของสงกรานต์พระประแดง (ถัดจากวันที่ 13 เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์)ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์นำขบวนนางสงกรานต์ ขบวนสาวรามัญ – หนุ่มลอยชาย จากหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อแห่นก – แห่ปลา ไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม และคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน

สงกรานต์พระประแดง จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลดังนี้

1. ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์
การส่งข้าวสงกรานต์เป็นประเพณีที่คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากตำนานสงกรานต์ เมื่อตอนที่ท่านเศรษฐีนำเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทรเพื่อขอบุตร ข้าวสงกรานต์นั้นเป็นการหุงข้าวแล้วแช่ลงในน้ำดอกมะลิบรรจุลงในหม้อดิน ส่วนกับข้าวนั้นก็จะเป็นอาหารเค็ม เช่นไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ของหวาน ได้แก่ถั่วดำต้มน้ำตาล กล้วยหักมุก แตงโม จัดวางใส่ถาดให้เท่ากับวัดที่จะไป สาวๆ ในหมู่บ้านก็จะรับข้าวสงกรานต์ไปส่งตามวัดต่าง ๆ ขากลับจะมีหนุ่ม ๆ มาคอยดักรดน้ำและเกี้ยวพาราสีตามวิสัยหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไป

2. ประเพณีสรงน้ำพระ - รดน้ำขอพรผู้ใหญ่และเล่นน้ำสงกรานต์
ในช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวมอญในพระประแดง จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป วัดที่มีพระพุทธรูปมากมายและสวยงามคือ วัดโปรดเกศเชษฐาราม ในตอนเย็นหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปสรงน้ำพระพุทธรูปรอบวัด เมื่อเสร็จสิ้นจากการสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วหนุ่มสาวก็จะพากันนำน้ำอบไปรดน้ำของพรผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกริยาท่าทีที่สุภาพ รดแต่พองามและคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน แต่ในปัจจุบันประเพณีนี้ก็ค่อย ๆ หายไปหลังจากที่พระประแดงมีการสัญจรคับคั่งไปด้วยรถยนต์

3. ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ
หงส์นั้นเปรียบเทียบเสมือนสัญญลักณ์ของเมืองหงสาวดีอันเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ วันหนึ่งทรงมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงเห็นเนินดินกลางทะเลมีหงส์คู่หนึ่งเล่นน้ำกันอยู่ พระองค์จึงทำนายว่าในกาลสืบไปข้างหน้า เนินดินที่หงส์ทองเล่นน้ำจะกลายเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ หลังจากเสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้วได้ 100 ปี ทะเลใหญ่นั้นก็เกิดตื้นเขินจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ เมืองหงสาวดีจึงได้กำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองเล่นน้ำอยู่นั้น ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญญลักณ์ของประเทศตั้งแต่นั้นมา

ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาว มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษสามารถต่อสู้กับศัตรูที่จะมารุกรานได้ เปรียบเหมือนชาวมอญที่ไม่เคยหวาดหวั่นศัตรู ทุกอวัยะในตัวตะขาบนั้น ชาวมอญจะตีความออกมาเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น หนวด 2 เส้น หมายถึง สติ สัมปชัญญะ หาง 2 หาง หมายถึง ขันติ โสรัจจะ เขี้ยว 2 เขี้ยว หมายถึง หิริ โอตัปปะ ตา 2 ข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญูกตเวที ลำตัว 22 ปล้อง หมายถึง สติปัฎฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 อิทธิบาท 4 นั่นหมายความว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลประชาราษฎร์ของตนได้เหมือนตะขาบแล้วไซร้ รามัญประเทศก็จะเจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นไปอีกนานแสนนาน

4. ประเพณีแห่นก – แห่ปลา
ประเพณีแห่นก – แห่ปลา เกิดจากความเชื่อของชาวมอญที่ว่าการปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเองทำให้มีอายุยืนยาว และเป็นประเพณีหนึ่งในเทศกาลสงกรานต์ที่จัดพร้อมกับขบวนแห่นางสงกรานต์ในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์พระประแดง (การแห่นกนั้นได้นำมาผนวกเข้าในภายหลังด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน) ซึ่งชาวมอญยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีแห่นก – แห่ปลาในที่สุดเทศบาลเมืองพระประแดงพิจารณาเห็นว่าประเพณีแห่นก – แห่ปลา เป็นประเพณีที่ดีงามสมควรอนุรักษ์ไว้ จึงได้รับเป็นผู้สืบสานประเพณีนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่นก – แห่ปลา ในขบวนแห่นางสงกรานต์ทุกปีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

5. ประเพณีแห่นางสงกรานต์
ในวันท้ายวันสงกรานต์จะมีขบวนแห่นก - แห่ปลา แต่ละหมู่บ้านจะเชิญสาวเข้าร่วมขบวนแห่ โดยมอบให้ผู้ที่เป็นคนกว้างขวางรู้จักคนมาก นำหมากพลูจีบใส่พานไปเชิญสาวตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วแต่จะกำหนดว่าหมู่บ้านใดจะเชิญสาวกี่คน ก็เตรียมหมากพลูไปเท่ากับจำนวนสาวที่ต้องการ สาวใดเมื่อได้รับหมากพลูไปแล้วเขาก็จะมาร่วมเข้าขบวน ส่วนการแต่งกายนั้นแล้วแต่จะสะดวก เมื่อสาวมาพร้อมกันแล้วผู้ที่มีหน้าที่คัดเลือกสาวงาม ก็พิจารณาดูว่าผู้ใดสวยที่สุดก็ให้เป็นนางสงกรานต์ในปีนั้น ต่อมาภายหลังได้มอบให้ผู้มีหน้าที่คัดเลือกสาวได้มองหาสาวที่สวยๆ ไว้แต่เนิ่นๆ ก่อน เมื่อใกล้วันสงกรานต์จะเชิญสาวที่หมายตาไว้นั้นให้เป็นนางสงกรานต์ส่วนคนอื่นๆ ก็ให้เป็นนางประจำปี หรือ นางฟ้าตามลำดับไป ซึ่งวิธีการนี้จะได้สาวงามซึ่งเป็นชาวพระประแดงที่แท้จริง ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้จัดให้มีการประกวดนางสงกรานต์ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ทำการประกวดติดต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์

6. การละเล่นพื้นเมืองการละเล่นสะบ้า (มอญ) (ว่อน – ฮะ – นิ)
ในช่วงเวลาวันสงกรานต์ทุกปี ตามหมู่บ้านจะมีการแสดงสะบ้า หรือการละเล่นสะบ้าของหนุ่มสาว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยรามัญ การละเล่นสะบ้ามีประมาณ 30 กว่าบท เป็นลีลาการแสดงพื้นเมือง การละเล่นสะบ้ามิใช่การเล่นพนันขันต่อแต่อย่างใด มีการเล่นในเวลากลางคืน บ่อนหนึ่ง ๆ จะมีสาวงามประจำบ่อนอย่างน้อย 7 คู่ อย่างมาก 10 คู่ บ่อนใช้ใต้ถุนเรือนหรือที่ว่างพอที่จะตกแต่งเป็นบ่อนสะบ้าได้ บ่อนจะต้องทุบดินให้เรียบแต่งบ่อนด้วยกระดาษสีต่าง ๆ มีแสงสว่างมากพอปัจจุบันได้ใช้ไฟฟ้า (สมัยก่อนเราใช้ไฟตะเกียง หรือไฟใต้) ลูกสะบ้านั้นกลึงเป็นลูกกลมแบนเรียบ ทำด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาวัว เขาควาย เงิน ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ กาละเล่นสะบ้ามีหนุ่มฝ่ายหนึ่ง และสาวฝ่ายหนึ่งแสดงสลับกันไปตามลีลาของวิธีเล่นสะบ้าพื้นเมือง ซึ่งมีประมาณ 15 ถึง 30 ท่า เช่น ทิ่นเติง จั้งฮะยู อีมายยับ ตองเก้ม อะลอง เดิง เป็นต้น (โปรดชมการแสดง จะทราบวิธีดีขึ้น หรืออาจจะลงบ่อนแสดงด้วยตนเองก็ได้) การละเล่นสะบ้ายังคงเหลือยู่ที่พระประแดงเท่านั้น

7. การละเล่นพื้นเมืองทะแยมอญ
มอญเป็นชนชาติหนึ่งที่มีวัฒนธรรมทางดนตรีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อประมาณ 20 ปีล่วงมาแล้ว ในเทศกาลสงกรานต์จะได้ยินเสียงเพลงทะแยมอญเสมอ โดยเฉพาะตามบ่อนสะบ้า แต่น่าเสียดายว่าไม่มีการบันทึกหรือถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอด ปัจจุบันวัฒนธรรมดังกล่าวจึงค่อย ๆ หายไปจากเมืองพระประแดง

การเล่นทะแยมอญ คล้ายเพลงฉ่อยหรือลำตัดเป็นร้อยกรองชนิดหนึ่งคล้ายกับกลอนร่ายของไทยประเภทเพลง เนื้อร้องใช้ภาษามอญ เป็นบทไหว้ครู ชมนกชมไม้ เกี้ยวพาราสี ให้ศีลให้พรสำหรับผู้ใหญ่ ฝ่ายชายใช้เพลงเจื้อกมั่ว ฝ่ายหญิงใช้เพลงโป้ดแซ่ เครื่องดนตรีประกอบการแสดงมี 5 ชนิด คือ ซอสามสาย (มอญ) จะเข้ ขลุ่ย เปิงบาง ฉิ่ง การแต่งกายชุดรามัญ (ชายชุดลอยชาย หญิงชุดมอญ)

ทะแยมอญ ใช้ร้องในโอกาสอันเป็นมงคล เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายรามัญที่อาศัยอยู่ในเมืองพระประแดง(ชาวปากลัด) การเล่นทะแยมอญกล่อมบ่อนสะบ้าในเทศกาลสงกรานต์ เป็นการร้องโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสีระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง โดยมีการรำประกอบ การเคลื่อนไหวของผู้รำเน้นหนักที่มือ และในวันท้ายวันสงกรานต์ก็จะมีการแสดงทะแยมอญร่วมในขบวนแห่นก – แห่ปลา เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันได้เลือนหายไปเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

8. ประเพณีการกวนกาละแม (กวันฮะกอ) ของดีเมืองพระประแดง
เมื่อถึงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญปากลัด ชาวมอญจะทำความสะอาดบ้านเรือนแต่ เนิ่น ๆ และทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ขนมกวน” ประกอบด้วย ข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว กะทิ กวนให้เข้ากันจนเหนียว คนไทยเรียกว่า “กาละแม” คนมอญ ก็เรียก “กาละแม” ด้วย เมื่อถึงวันสงกรานต์ คนมอญจะนำอาหารไปทำบุญที่วัด ตอนเย็นจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ บรรดาสาว ๆ ตามหมู่บ้านจะนำขนมกาละแมไปส่งตามญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือในต่างตำบล และชอบที่จะไปส่งไกลบ้านตน (ซึ่งความจริงทุกบ้านก็กวนกาละแมถือว่าเป็นโอกาสได้เยี่ยมเยียน พบปะกัน) ตอนเย็นจะพากันไปสรงน้ำพระที่วัดโปรดเกศเชษฐาราม หนุ่มๆ ที่คอยสาวๆ อยู่จะพากันรดน้ำสาวๆ เป็นที่สนุกสนานเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะพบกันได้ในงานสำคัญนี้ พอตกกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามประเพณีตามหมู่บ้านของตนและการเล่นสะบ้านี้จะมีขนม “กวันฮะกอ” เตรียมไว้ให้รับประทานด้วยปัจจุบันนี้ประเพณียังคงมีอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ

วันสงกรานต์พระประแดง เป็นวันสงกรานต์ของชาวรามัญที่สนุกสนานมากและเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยทั่วไปทุกที่ จะมีผู้มาร่วมเล่นน้ำในวันสงกรานต์พระประแดงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจัดภายหลังจากสงกรานต์อื่นๆ (ถัดจากวันสงกรานต์ไทยไปหนึ่งอาทิตย์) จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ การมีขบวนแห่นางสงกรานต์ พร้อมด้วยขบวนแห่นก – แห่ปลา ที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตาที่หลายหน่วยงาน / หมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น สงกรานต์พระประแดงนั้น เป็นที่สนุกสนานยิ่งนักเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วประเทศ ถึงความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ–หนุ่มลอยชาย ที่ยังคงรักษาประเพณีเก่าๆ ไว้อย่างมั่นคงตลอดถึงเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย ซึ่งท่านผู้สนใจควรจะได้ไปชมด้วยตนเอง ซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้โดยเคร่งครัดตลอดมาจนถึงทุกวันนี้




พิกัด GPS ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ:
13.659228,100.533637
กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
0/0 จาก 0 รีวิว
ผู้ชม 3332 ครั้ง
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ

แผนที่ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการคลิกที่นี่

×

วิธีใช้งาน touronthai mini

  ดูข้อมูลของรูปภาพกดที่รูปภาพนั้น

  ใต้รูปภาพจะมีปุ่มอยู่ 6 ปุ่ม
  • ปุ่มแรก คือ ปุ่มวิธีใช้ที่คุณเพิ่งกด
  • ปุ่มที่ 2 คือ ปุ่มแสดงข้อมูลของสถานที่ที่คุณกำลังดู
  • ปุ่มที่ 3 คือ เส้นทางไปยังสถานที่ที่คุณกำลังดู
  • ปุ่มที่ 4 คือ ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ๆ สถานที่ที่คุณกำลังดู
  • ปุ่มที่ 5 คือ ที่เที่ยวที่อยู่ใกล้ๆ สถานที่ที่คุณกำลังดู
  • ปุ่มที่ 6 คือ โรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ สถานที่ที่คุณกำลังดู
ขอบคุณที่เข้ามาชม touronthai mini หวังว่าเว็บของเราจะมีประโยชน์กับคุณ
insert_emoticon

Log in

สอบถามการใช้งาน/แจ้งปัญหาการใช้งาน
@touronthai

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

10 ที่เที่ยวใกล้ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

ร้านอาหารใกล้ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง สมุทรปราการ

*อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล*
ร่วมส่งร้านโปรดของคุณให้ทุกคนรู้จักคลิก ..

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Access denied for user ''@'localhost' (using password: NO)