ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยพ่อหลวง (ท่าตอน-อ่างขาง)  (อ่าน 14830 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
ตามรอยพ่อหลวง (ท่าตอน-อ่างขาง)
« เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 02:39:14 PM »
 
  สวัสดีค่ะเพื่อนๆชาว Tour on Thai ค่ะ
    ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะคะ
 
ชื่อ พัชสนันท์  จีนะนัทธ์ ค่ะ หรือ เรียกสั้นๆว่า พัช ก็ได้นะคะ
กำลังศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 1 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ค่ะ
และความภาคภูมิใจล่าสุด คือ เป็น
1 ใน 5 ผู้เข้ารอบสุดท้ายการประกวด
'ทีมประชาสัมพันธ์พิเศษโครงการหลวง' ค่ะ
 
เพื่อนๆหลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร
การประกวดครั้งนี้ คือ การประกวดเพื่อค้นหาทีมประชาสัมพันธ์พิเศษเพื่อเผยแพร่และแบ่งปันประสบการณ์
จากการไปเที่ยวโครงการหลวงมาค่ะ
รับรองว่า ถ้าเพื่อนๆได้อ่านเรื่องราวจากบทความและรูปถ่ายที่พัชได้มีโอกาสไปสัมผัสด้วยตัวเองมาแล้ว
คงอยากไปกันอย่างแน่นอน เพราะธรรมชาติที่นั่นสวยงามมาก และมีสิ่งมหัศจรรย์ที่พวกเราไม่เคยรู้มาก่อนด้วย
 
แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ถ้าเพื่อนๆไปเที่ยวกับพัชต้องเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองให้เป็นอย่างดีค่ะ
เพราะสำหรับพัช การไปเที่ยวโครงการหลวงจะต้อง
เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
และที่สำคัญต้องเปิดประสาทสัมผัสทางใจ เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆด้วยค่ะ
เพราะการไปเที่ยวโครงการหลวงครั้งนี้เพื่อนๆจะได้ใช้ประสาทสัมผัสครบอย่างแน่นอน
 
ถ้าพร้อมแล้ว อย่ารอช้าค่ะ...ยินดีต้องรับเข้าสู่

โครงการหลวง อัศจรรย์ความสุขสุดขอบฟ้า
 ;)


ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
ล่องแม่น้ำกก...เรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทลื้อ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 02:45:03 PM »
สวัสดีเจ้า...
                เมื่อเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว กิจกรรมแรกในการ ‘ตามรอยพ่อหลวง’  ณ จังหวัดเชียงใหม่นี้ คือ การเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนชาวไทลื้อ พวกเขาจะอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกก  เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทยโดยมีต้นกำเนิดมาจากภูเขา ตอนเหนือของเมืองกก จังหวัดเชียงตุงภายในอาณาเขตของรัฐฉานในพม่าไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องแม่ น้ำกก อ.แม่อาย ไหลมาเรื่อยๆจนผ่านตัวอ. เมือง เชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสบรวก อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาว 130 กิโลเมตร 
                การเดินทางไปยังจุดหมายนั้นจะให้เดินทางด้วยรถก็คงจะซึมซับบรรยากาศได้ไม่ เต็มที่ และพาหนะที่จะนำเราไป ก็คือ เรือหางยาว เราไปขึ้นเรือกันที่ท่าเรือสาธารณะบ้านท่าตอน ตลอดสองฝั่งแม่น้ำกกนั้น เต็มไปด้วยทัศนียภาพของ ธรรมชาติ บ้างก็เป็นพืชผลของชาวไทลื้อ  บ้างก็เป็นบ้านเรือนของพวกเขา  โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาขึ้นสลับซับซ้อน ระหว่างการเดินทางนั้นก็มีเด็กๆกระโดดเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานเพื่อคลายร้อน และก็มีพวกชาวบ้านต่างพากันช้อนหินที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมา สำหรับการเดินทางด้วยเรือหางยาวนี้ค่อนข้างจะตื่นเต้นเสียหน่อย เนื่องจากว่าลักษณะเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยว มีโขดหินขึ้นอยู่ กลางแม่น้ำเป็นจำนวนมาก และกระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยว  จึงทำให้บางครั้งก็อดที่จะร้องตกใจด้วยความตื่นเต้นกลัวว่าเรือจะล่มไม่ได้  แต่ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่สนุกสนานมาก  เมื่อเดินทางมาได้สักพักหนึ่งก็เห็น วัดใหม่ อ.หมอกจ๋าม เป็นวัดประจำของชุมชนไทใหญ่ มีความสวยงามเป็นอย่างมากตามแบบศิลปะของไทใหญ่ เมื่อผ่านวัดใหม่มาแล้วก็ถึงท่าเรือบ้านวังไผ่ ชุมชนไทลื้อจุดหมายปลายทาง ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่น มีต้นไม้ต้นใหญ่คอยให้ร่มเงาอยู่ ชุมชนชาวไทลื้อเป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่กันแบบครอบครัว เมื่อขึ้นจากเรือมาก็มีน้องๆชาวไทลื้อแต่งกายตามประเพณีออกมาต้อนรับ  พร้อมกับเสียงดนตรีพื้นเมืองบรรเลงต้อนรับ
                การมาเยือนชุมชนชาวไทลื้อ นอกจากจะเดินทางมาเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาแล้ว พวกเรายังมีโอกาสได้รับประทานอาหารพื้นเมืองที่นี่ด้วย  ได้แก่  น้ำพริกคั่วทราย  ยำบุก  ไก่อุ๊บสิบสองปันนา ปลาอุ๊บ และผักจอ  ซึ่ง ชาวไทลื้อจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก  ระหว่างรับประทานอาหารไปด้วยก็ฟังเสียงบรรเลงดนตรีอันไพเราะไปด้วย  เมื่อฉันรับประทานอาหารจนอิ่มแล้ว ด้วยความอยากลองจึงขอคุณลุง ซึ่งพักการบรรเลงดนตรีสักครู่ไปลองเล่นดูบ้าง คุณลุงบอกว่าเครื่องดนตรีที่บรรเลงนั้น เรียกว่า ‘กอระสับ ซึง กลอง’ มีเครื่องดนตรีทั้งหมด 3 ชิ้นด้วยกัน  กอระสับ ไม่แน่ใจว่าเรียกผิดหรือไม่ จะมีลักษณะคล้ายระนาดเอกเหล็กของไทย ซึง เป็นดนตรีพื้นเมืองของชาวเหนือ ประเภทเครื่องสาย ซึ่งคิดว่าหลายๆคนคงจะรู้จักกันดี และกลอง ก็ใช้ตีประกอบจังหวะนั่นเอง  นอกจากนี้ทางชุมชนบ้านวังไผ่ยังจัดการแสดงฟ้อนรำให้พวกเราได้รับชมกันอีกด้วย
                หลังจากนั้นก็ไปดูวิธีการทำบุก  ขั้นตอนการทำบุก คือ จะนำหัวบุกมาหมักแล้วก็นำไปบดกับเครื่องบดเพื่อให้ออกมาเป็นเส้นเล็ก สีขาว เรียวยาว ซึ่งการบดนั้นจะต้องออกแรงโยกคันโยกเยอะเสียหน่อย โดยการปีนขึ้นไปนั่งบนคันโยกเพื่อกดเส้นบุกให้ออกมาสวยงาม เมื่อผ่านการบดก็จะลงสู่กระทะต้มที่รองรับไว้ด้านล่าง  และเมื่อเส้นบุกสุกแล้วก็จะนำไปแช่น้ำเย็นเพื่อให้เส้นพองออกมา ก็สามารถนำไปประกอบอาหารได้  นอกจากดูวิธีการทำเส้นบุกแล้ว ของที่ระลึกที่ได้จากที่นี่ คือ ข้าวเหนียวหัวควาย  ซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่ห่อคล้ายลักษณะหัวควาย
                สำหรับ ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวไทลื้อนั้นก็มีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คล้ายกับบ้านต่างจังหวัดทั่วๆไป  ที่นี่มีการห้ามเผาป่าทุกกรณีในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ – เมษายนด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากจะได้อนุรักษ์ป่าไม้แล้ว  ยังเป็นช่วงให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตอีกด้วย  เพราะการเผาป่าไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม นอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
                การมาเยี่ยมเยียนชาวไทลื้อในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทย-ภูเขาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม  ถึงแม้ว่าเส้นทางการเดินทางอาจจะอยู่ลึก หรือเดินทางลำบากเสียหน่อย แต่ก็คุ้มที่ได้มีโอกาสล่องแม่น้ำกก...และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทลื้อด้วย ตัวเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 27, 2011, 09:09:07 PM โดย Tommy »

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
กระตุกกี่...ทอผ้าไหมแบบฉบับชาวไทใหญ่
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 02:48:46 PM »
หลังจากเดินทางออกจากหมู่บ้านของชาวไทลื้อแล้ว
พวกเราก็เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านของชาวไทใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก
โดยเปิดประสบการณ์ครั้งนี้ คือ การเรียนรู้วิธีการทอผ้าตามแบบฉบับบชาวไทใหญ่ ค่ะ
 
การทอผ้าของชาวไทใหญ่นั้นพวกเขาก็ยังคงใช้เครื่องทอผ้าทั่วไป
โดยกลุ่มคนที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้าน แต่ละคนนั้นจะมีการออกแบบลายผ้าด้วยตัวเอง
ซึ่งลายผ้าของแต่ละคนนั้นเปรียบเสมือน ลายเซ็น ของคนๆนั้น Cool
เพื่อเป็นการยืนยันว่าผ้าที่ทอออกมานั้นเป็นของเรา
คุณป้าบอกว่า ถึงแม้ว่าจะเอาผ้ามากองรวมๆกัน แต่ถึงอย่างไรก็จำของตัวเองได้อยู่ดี
ลายผ้าส่วนใหญ่นั้นไม่เฉพาะแต่ความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มแม่บ้านเท่านั้น
ทางโครงการหลวงก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือ และดูแลขั้นตอนการผลิตด้วย
รวมถึงนำผลผลิตที่ได้ออกจำหน่ายให้อีกทางหนึ่ง
ราคาของผ้านั้นเริ่มตั้งแต่ 400 - 600 บาท ซึ่งราคาจะสูงขึ้นตามจำนวนและขนาดของลายผ้า
กล่าวคือ ยิ่งผ้าผืนใดมีลายผ้าสวย และเป็นลายผ้าเกือบตลอดผืน ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น
คุณป้าบอกว่า ราคาสูงสุดที่เคยจำหน่ายนั้นอยู่ที่ 1,200 บาทค่ะ
โดยระยะเวลาการทอผ้านั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลายผ้าแล้ว
ยังขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของผ้าด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผ้าประมาณ 1 หลา ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์
หากเป็นผ้าที่ต้องทอทั้งผืนจะใช้เวลาประมาณ 2 -3 อาทิตย์ด้วยกัน หรืออาจจะเป็นเดือนๆก็มีค่ะ

นอกจากนี้แล้วทางกลุ่มแม่บ้านชาวไทใหญ่ยังผลิตเสื้อจากผ้าไหม
และปักลายเสื้อเองด้วย ซึ่งลายเสื้อของที่นี่นั้นจะแตกต่างจากที่อื่น คือ การปักไปบนตะเข็บ
ต้องใ้ช้ความประณีต และความใจเย็นอย่างมาก เพื่อะได้เสื้อสักตัวที่มีลายผ้าสวยงาม
สำหรับการเปิดประสบการณ์ครั้งนี้ ฉันก็ไม่พลาดที่จะลองทอผ้าเช่นกัน

ต้องบอกตามตรงว่ามันค่อนข้างยาก และต้องออกแรงเยอะมาก
เพื่อให้ลายผ้าที่ออกมานั้นมีเส้นด้ายเรียงชิดกันสวยงาม ซึ่งสนุกมากๆค่ะ
ด้วยความที่ทำไม่เป็นและเพิ่งเคยลองเป็นครั้งแรกก็ดูเงอะงะไม่สักนิดนึงก็ตาม

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
ทัวร์แปลงเกษตรสาธิต...ชมผลิตผลโครงการหลวง
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 02:52:40 PM »
เมื่อออกเดินทางต่อ เราเดินทางไปยังแปลงเกษตรสาธิตของโครงการหลวง
บนพื้นที่อันกว้างใหญ่มีภูเขาเป็นฉากหลัง
เกษตรกรกำลังขุดดินกันอยู่กลางแดดที่แผดเผาลงมาก่อนจะตกดิน
ไร่มันสำปะหลัง ไร่ฟักทอง ไร่ถั่วเหลือง
ล้วนเป็นพื้นที่ของชาวบ้านกว่า 300 ไร่!!

ไร่ฟักทองที่พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมนั้นมีหลายแปลงด้วยกัน
ซึ่งผลที่ยังไม่สุกดีจะเป็นสีเขียว แต่ผลที่สุกแล้วจะเป็นสีส้ม
ฟักทองพวกนี้เมื่อถึงเวลาจะต้องห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อป้องกันแมลง
โดยส่วนใหญ่แล้วไม่เฉพาะแต่ผลฟักทองเท่านั้น
รวมถึงพืชชนิดอื่นๆจะได้รับการดูแลด้วยหลัก 4 อ. ได้แก่

1.อารมณ์ - ชาวสวนจะต้องมีอารมณ์แจ่มใส เพราะเขาเชื่อว่าอารมณ์ของคนปลูกจะสื่อถึงพวกพืชพันธุ์ธัญญาหาร
หากคนปลูกมีอารมณ์แจ่มใส เช่น ร้องเพลง เจ้าต้นฟักทองพวกนี้ก็จะยิ่งเจริญเติบโตดี
2.อาหาร - การให้ปุ๋ยที่มีประโยชน์ รดน้ำพรวนดินอย่างดีี เพื่อให้มันเจริญเติบโตเต็มที่
3.ออกกำลังกาย - คนปลูกจะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะที่นี่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ หากดูแลไม่ทั่วถึงก็จะทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ
4.อนามัย - การทำให้สิ่งเเวดล้อมน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค สิ่งเเวดล้อม บรรยากาศรอบข้าง ล้วนส่งผลต่อผลิตผลอย่างมาก
 
ซึ่งหลัก 4 อ.นี้เป็นหลักที่ถูกนำมาใช้ในการดูแลผลิตผลให้เจริญเติบโตสมบูรณ์
จนพร้อมส่งออกจำหน่ายได้
โดยชาวบ้านจะส่งฟักทองให้โครงการหลวง 30 - 45 ตัน ต่อเดือน!!
เฉลี่ยตันละ 1,000 บาท รวมแล้ว 1 เดือนคิดเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท
ตกปีึหนึ่งๆรายได้อยู่ที่ 360,000 บาท!!!

นับว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมากที่ชาวบ้านจะได้รับ
แต่ก็ถือว่าคุ้มสำหรับผู้บริโภคเพราะนอกจากจะได้รับประทานผักผลไม้ที่อร่อย และมีประโยชน์แล้ว
ยังเป็นการช่วยอุดหนุนชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
 
หลังจากนั้นพวกเราก็เดินทางต่อไปยังศูนย์วิจัยโครงการหลวง
เป็นสถานที่ีที่อยู่ไ่กลจากแปลงเกษตรสาธิตมากนัก
ที่นี่จะเป็นสถานที่ที่จะนำผลผลิตที่ได้มาวิจัยก่อนส่งออกไปจำหน่าย
เพื่อตรวจหาสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือเป็นการสกรีนผลผลิตก่อนก็ว่าได้
 
จะเห็นได้ว่าผลผลิตของโครงการหลวงนั้นมาจากความตั้งใจของชาวบ้านและโครงการหลวง
ที่จะพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ เพราะผลผลิตที่ออกจากโครงการหลวงไปแล้ว
นอกจากจะีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยังปลอดภัยจากสารพิษอีกด้วยค่ะ

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
เช้าวันใหม่ ณ ดอยอ่างขาง
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 02:59:18 PM »
สวัสดีเจ้า...ต้อนรับเข้าสู่เช้าวันใหม่ ณ ดอยอ่างขาง

                อากาศอันหนาวเหน็บถึงขั้วหัวใจ  สำหรับเช้าวันใหม่ ณ ดอยอ่างขางวันนี้ อุณหภูมิอยู่ที่ 7.5 องศาเซลเซียส  หลายๆคนคงจะนอนหลับใหลท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา  และคงนอนฝันหวานอยู่ใต้ผ้าห่มอย่างมีความสุข  สำหรับ ฉันแล้วการได้มาเที่ยวดอยอ่างขางเป็นครั้งแรกในชีวิตนั้นทำให้ฉันรู้สึก ตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นที่ดอยอ่างขางแห่งนี้เป็นครั้ง แรก

                ฉันตั้งใจที่จะตื่นแต่เช้า  เพื่อออกไปชมพระอาทิตย์ขึ้น และสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ชุ่มปอด  เมื่อพร้อมแล้วก็ไม่ลืมที่จะสะพายกล้องไปถ่ายรูปด้วย  เมื่อฉันเดินออกมาจากห้องพักแล้ว สิ่งแรกที่ฉันสัมผัสได้ คือ สายลมพัดความเย็นมาปะทะผิวกายอย่างไม่ขาดสาย  จนต้องรีบซุกมือเพื่อหาไออุ่นจากระเป๋ากางเกงทันที  เมื่อเดินลงมาจากตัวโฮมสเตย์แล้ว  นักท่องเที่ยวเริ่มออกเดินทางไปเที่ยวกันต่อ  แต่สำหรับเวลาหกโมงเช้าที่ดอยอ่างขาง ยังคงเห็นดวงตาสวรรค์ส่องแสงระยิบระยับบนผืนนภาสีครึ้ม  เสียงนกร้องและไก่ขัน เริ่มดังเป็นระลอกเพื่อทำหน้าที่ปลุกทุกคนให้ตื่นและเริ่มทำหน้าที่ตามวีถี ชีวิตของตนเอง 
                ฉันเดินไปยังตลาดนัดประจำดอยอ่างขาง  เป็นซอยเล็กๆ ตลอดสองข้างทางมีบ้านพักโฮมสเตย์ และร้านค้าจำนวนมาก  ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีนยูนนานที่เดินทางมาตั้งรกราก และจำหน่ายสินค้า  ดังนั้น บริเวณหน้าร้านจึงมีโคมแดงแขวนอยู่เกือบตลอดทั้งซอย เพื่อความเป็นสิริมงคล และโชคลาภจากการค้าขายตามความเชื่อของชาวจีน  แต่บรรยากาศ ณ เวลานั้นมีร้านขายเครื่องดื่ม และปาท่องโก๋เริ่มตั้งร้าน  รวมไปถึงร้านขายของโชห่วยเพียงเท่านั้น  ฉันจึงถือโอกาสเดินสำรวจตามจุดต่างๆแทน

                บรรยากาศยามเช้าเช่นนี้ ได้ฟังเสียงไก่ขัน ช่างเป็นสิ่งที่หายากในวิถีชีวิตของคนกรุง  นานแล้วที่ฉันไม่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับธรรมชาติ  ไม่ได้มีโอกาสมาสูดอากาศบริสุทธิ์เช่นนี้  ฉันมีความสุขมากจริงๆ  นักท่องเที่ยวที่ตื่นแต่เช้าต่างพากันออกมานั่งผิงไฟจากเตาถ่านเพื่อหาไอ อุ่น พร้อมกับจิบกาแฟร้อนๆไปด้วย  เมื่อพระอาทิตย์เริ่มทอแสง ฉันจึงเดินกลับลงไปยังตลาดนัดอีกครั้ง  นัก ท่องเที่ยวเริ่มเดินหาอาหารลองท้อง พ่อค้าแม่ค้าเริ่มออกมาตั้งร้านกันมากขึ้น ร้านค้าส่วนใหญ่นั้นจะจำหน่ายพวกหมวกไหมพรม เสื้อกันหนาว ถุงมือ และถุงเท้า หากเป็นอาหารก็จะเป็นพวกผลไม้แช่อิ่ม ผงชา กาแฟ และกาน้ำชา ถ้วยชาที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาวจีนยูนนาน รวมถึงชาวไทย-ภูเขาที่นำผลผลิตของตนมาวางขายด้วย  เช่น  สตรอเบอรี่สด น้ำผึ้ง ผักสดหลากชนิด อย่างเบบี้แครอท บร็อคโคโลนี่  เผือกเผา เป็นต้น  แต่ ที่น่าสังเกต คือ ภาชนะที่เขาบรรจุสินค้ามานั้น คือ หาบ ซึ่งเป็นกระบุงขนาดกะทัดรัดสองอัน และมีไม้ขนาดใหญ่ท่อนหนึ่งวางพาดไว้สำหรับแบกขึ้นบ่า  ฉันจึงขอแม่ค้ายกหาบบ้าง ซึ่งมันหนักมาก  ฉันไม่สามารถที่จะยกมันขึ้นจากพื้นได้  แล้วพวกเขายกได้อย่างไรกัน
                 นอกจากนี้ชาวไทย – ภูเขายังนำสร้อยข้อมือ สร้อยคอ พวงกุญแจ หรือสินค้าที่พวกเขาจะสามารถขายได้มาวางขายอีกด้วย ราคาไม่แพงมากนัก  ฉันจึงช่วยอุดหนุนกำไลเงิน 20 อัน ราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น

                ฉันเดินถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศไว้เสียจนจุใจ  ระหว่างถ่ายรูปก็ซื้อไมโล กับปาท่องโก๋รับประทานไปด้วย รวมถึงยังได้ชิมซาลาเปายักษ์ทอด อร่อยสุดๆ  และที่ขาดไม่ได้ คือการถ่ายรูปร่วมกับพี่ๆทีมประชาสัมพันธ์อีก 4 คน ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน  และที่สำคัญพวกเราไม่ลืมที่จะถ่ายรูปกับป้าย ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง’ ถ้าไม่ได้ถ่ายกับป้ายนี้ก็เท่ากับว่า มาไม่ถึงดอยอ่างขาง

                สำหรับ เช้านี้ฉันมีความสุขมากที่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ แต่การเดินทางสำหรับวันนี้ยังคงอีกยาวไกล ณ ดอยอ่างขางแห่งนี้ยังมีเรื่องสนุก และสิ่งที่ไม่น่าเชื่ออีกมากมายที่รอให้คุณได้สัมผัสค่ะ :D
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 26, 2011, 03:11:49 PM โดย Tamroyporluang »

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
ณ ที่แห่งนี้ก็มีแพะอยู่
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 03:02:06 PM »
   กิจกรรม แรกของวันนี้ คือ การสาธิตการรีดนมแพะ  ป้อนนมแพะ และได้สัมผัสแพะตัวเป็นๆ  หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ‘ดอยอ่างขางมีแพะด้วยเหรอ’ ‘แพะเลี้ยงในประเทศไทยได้เหรอ’ และ ‘นมแพะกินได้เหรอ’ สำหรับฉันเองก็เคยสงสัยเช่นกัน  แต่เมื่อได้มีโอกาสมาถึงดอยอ่างขางแล้ว กิจกรรมเกี่ยวกับแพะไม่ควรพลาดเลยค่ะ

                เนื่องจากโรงเรือนแพะตั้งอยู่บนดอย  เมื่อ นั่งรถตู้มาถึงก็ต้องเปลี่ยนเป็นรถกระบะเข้าไปหาแพะแทน เพราะว่าเส้นทางเป็นภูเขา และมีความลาดชันมาก จึงไม่สะดวกหากต้องเดินทางด้วยรถตู้  ถึงแม้ว่าเส้น ทางจะขรุขระและมีความลาดชันมากพอสมควร แต่การได้เห็นธรรมชาติอันสวยงาม ได้เห็นวิวทิวทัศน์บนเนินสูงก็ถือว่าคุ้มค่ากับการนั่งท้ายกระบะค่ะ  เมื่อ มาถึงแล้วสิ่งที่ได้ยินนั้น คือ เสียงการต้อนรับของแพะจำนวนมากที่กำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ฉันรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่าง เพราะเคยเห็นแพะแต่ในจอทีวีเท่านั้น รู้สึกว่าอยากเข้าไปสัมผัสมันใกล้ๆ  แต่ก่อนที่จะได้สัมผัสมันนั้นเราก็ควรที่จะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแพะกันก่อน ค่ะ

                  การเลี้ยงแพะบนดอยอ่างขางนั้นเกิดจากการเล็งเห็นว่าคนไทยนั้นดื่มนมน้อย และนมส่วนใหญ่ก็เป็นนมวัว ซึ่งบางคนอาจจะเกิดอาการท้องอืด หรือแพ้นมวัว และที่สำคัญนมวัวมีราคาค่อนข้างสูง แต่นมแพะนั้นมีข้อได้เปรียบมากกว่านมวัว คือ ย่อยง่าย เพราะโมเลกุลของนมแพะเล็กกว่าโมเลกุลของนมวัว  จึงเกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประสานงานโครงการหลวง กับ โครงการไฮเฟอร์ ที่ส่งแพะพันธุ์’ซาเนน’ มีลักษณะสีขาวทั้งตัว หูเล็ก หน้าตรง และให้น้ำนมมาก สามารถให้น้ำนมได้ 1 – 2 กิโลกรัมต่อนมสองเต้า เข้ามาเพื่อทดสอบการดำรงชีวิต การขยายพันธุ์ และ การให้นม ซึ่งแพะพันธุ์ซาเนนนั้นสามารถอยู่ได้ทั้งที่ลุ่มและที่ราบสูง อีกทั้งเมื่อทดลองเลี้ยงแพะไปแล้วนั้นปรากฏว่าแพะมีการขยายพันธุ์ที่ดี และพบว่าแพะชอบกินผักโครงการหลวง เพราะเป็นผักสด และปลอดสารพิษ ส่งผลให้มีน้ำนมที่ได้มาตรฐานอีกด้วย คือ มีสีขาว อร่อย หอม และรสชาติดี 
                 เมื่อ มาถึงโรงเรือนแพะทั้งที ฉันจึงไม่พลาดที่จะเข้าไปทดลองรีดนมแพะ บางคนอาจจะบอกว่าง่าย แต่สำหรับฉันแล้วมันไม่ง่ายเลย วิธีการนั้นคล้ายกับการรีดนมวัว คือ  ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วโป้งจับไปที่นมแพะ ลักษณะการล็อคเอาไว้ แล้วค่อยๆบีบไล่ลงมา เพียงเท่านี้นมแพะก็จะไหลออกมา แต่ด้วยความที่ฉันกลัวว่ามันจะเจ็บจึงไม่กล้าบีบแรง ลองอยู่หลายครั้งกว่านมจะออกมาได้  ฉันดีใจมากที่สามารถรีดนมแพะด้วยตัวฉันเอง :D
เจ้า หน้าที่ศูนย์บอกว่า เราจะสังเกตว่ารีดนมแพะได้หมดจากเต้าแล้ว ให้สังเกตที่ท้องของมันที่ใช้เก็บนม เมื่อรีดใกล้หมดท้องจะค่อยๆแฟบลงไปเอง และเจ้าแพะยังมีการโชว์เอาหัวชนกันด้วย ไม่ใช่เพราะว่ามันต่อสู้กันรุนแรงแต่เป็นการแสดงถึงความเป็นเพศผู้ให้ตัว เมียเห็น หรือเป็นการเล่นกันของแพะด้วย นับว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานและได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆอีกอย่างหนึ่ง
                นอก จากจะได้รีดนมแพะแล้ว เวลาที่ฉันรอคอยก็มาถึง คือการได้อุ้มลูกแพะ และป้อนนมแพะ เจ้าหน้าที่นำลังที่ใส่เจ้าแพะตัวน้อยๆออกมาจากโรงเรือน วินาทีแรกที่เห็นมันออกมาจากลัง ฉันรู้สึกว่ามันเหมือนลูกหมาตัวน้อยๆ น่ารักมาก ขนของมันดูขาวสะอาดตา ส่งเสียงเล็ก น่ารักออกมา มันวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน และไม่กลัวคนเลย ความน่ารักของมันทำให้ฉันอดใจไม่ไหวจึงเข้าไปขอเขาอุ้มบ้าง ฉันรู้สึกเหมือนได้อุ้มเด็กตัวเล็กๆน่ารัก มีความสุขที่สุดเลย!!  และ ยังได้ป้อนนมแพะอีกด้วย แต่กว่าจะป้อนนมแพะได้นั้นก็ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากแพะบางตัวอาจจะอิ่มแล้ว เจ้าหน้าที่จึงบอกว่าวิธีการให้แพะดื่มนม คือ การเอานิ้วของเราเข้าไปในปากให้มันดูดก่อน แล้วจึงค่อยใส่จุกนมตามเข้าไป  ฉันจึงลองทำตามคำแนะนำ มันก็เป็นอย่างที่เจ้าหน้าที่บอกไว้
              กิจกรรม แรกกับเจ้าแพะนั้นทำให้ฉันมีความสุขมาก นอกจากจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ความรู้ใหม่ๆแล้ว ยังทำให้ฉันอยากจะเลี้ยงแพะไว้ที่บ้านบ้างเสียแล้ว แพะน่ารักขนาดนี้ คุณเองก็อยากจะมาสัมผัสมันบ้างใช่ไหมคะ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 26, 2011, 03:11:12 PM โดย Tamroyporluang »

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
4 เมนูเด็ดจากปลายลิ้นสู่ปลายปากกา
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 03:09:00 PM »
หลังจากที่ไปเยี่ยมแพะกันแล้วก็เดินขึ้นเขากันต่อ ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงเรือนของแพะสักเท่าไหร่  ถึงแม้ว่ามันจะค่อนข้างชันเสียหน่อย  แต่หากได้พบสิ่งแปลกใหม่ฉันก็พร้อมเสมอ

          เมื่อเดินขึ้นเขามาได้สักพักหนึ่ง  หากมองไปรอบๆก็จะพบแปลงปลูกผักกาดของชาวเขาขึ้นเรียงรายเต็มไปหมด  รวมถึงไร่ชาของชาวเขาอีกด้วย  โดยลักษณะการปลูกนั้นจะปลูกแบบขั้นบันได  เพื่อรักษาหน้าดิน  ลดความลาดเทของพื้นที่ ลดการไหลบ่าของน้ำบริเวณผิวดิน  และป้องกันไม่ให้ดินพังทลายลงมาอีกด้วย  หากมองลงไปบริเวณด้านล่างจะเห็นโรงเรือนที่เลี้ยงแพะ  และหากมองไปรอบๆจะเห็นภูเขาขึ้นสลับเรียงรายโอบล้อมเราอยู่ มีแสงพระอาทิตย์ส่องแสงขึ้นเป็นฉากหลัง นับเป็นภาพความประทับใจอีกภาพหนึ่งที่ฉันต้องถ่ายรูปเก็บไว้ และสิ่งที่ฉันประทับใจอีกอย่างหนึ่ง  คือ บนภูเขามีร่มที่มุงด้วยจากคล้ายร่มชายหาดวางเรียงรายอยู่  พร้อมกับมีตอไม้ที่ทำขึ้นไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักอีกด้วย  และสิ่งที่ฉันรอคอยกไม่ทำให้ฉันผิดหวัง หลังจากต้องใช้พลังขาอันแข็งแกร่งเดินขึ้นภูเขามา  ก็พบกับซุ้มอาหารซึ่งเป็นผลิตผลจากโครงการหลวงให้ฉันได้ลิ้มลอง  มีทั้งหมด 4 เมนู  ได้แก่  ชาเขียวร้อน  ไข่ต้มชา กาแฟร้อน และสลัดผัก

             ชาเขียวร้อน เป็นชาเขียวที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของชาวไทย-ภูเขาที่ช่วยกันปลูก และดูแลจนสามารถนำออกมาขายได้  เมื่อถึงเวลาเก็บใบชา  เขาก็จะนำมาตากแห้ง และคั่วบนกระทะจนสามารถนำมาต้มกินได้  ฉันเคยได้ยินมาว่าก่อนที่เราจะจิบชาหรือกาแฟควรดมกลิ่นของมันก่อน เมื่อกลิ่นของมันแตะปลายจมูก ฉันรู้สึกว่ามันแตกต่างจากชาทั่วไปที่เคยดม  เพราะชาเขียวที่นี่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่ส่งกลิ่นฉุนจนแสบจมูกเหมือนชาที่อื่น และกลิ่นของมันทำให้ฉันรู้สึกสดชื่น  ไอร้อนที่ได้จากการดมทำให้ร่างกายได้รับความอบอุ่น ถึงแม้ว่าจะไม่มากเท่ากับการผิงไฟ  แต่ก็ทำให้ฉันรู้สึกดีอย่างมาก  สีของมันไม่ได้เขียวจนน่าตกใจ หรือสีน้ำตาลเข้มจนน่ากลัว กลับเป็นสีเขียวอ่อนใสตามธรรมชาติ เมื่อได้จิบชาเขียวแล้ว รสชาติของมันค่อนข้างหวานกลมกล่อมได้รสชาติ  ไม่ขมเหมือนชาที่เคยจิบมา ทำให้ฉันต้องขอจิบเพิ่มอีกถ้วยหนึ่งเลย

                สำหรับซุ้มถัดมาเป็น ไข่ต้มชา อาจจะรู้สึกแปลกสักหน่อย เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งจะเคยพบเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน  เคยรับประทานแต่ไข่ต้มธรรมดาเท่านั้น แต่สำหรับที่นี่ย่อมมีองแปลกใหม่เสมอ และสำหรับไข่ต้มชานั้น เป็นการต้มไข่ไก่ผสมใบชา  เมื่อปอกเปลือกไข่จนหมด สีที่ออกมาจึงเป็นสีน้ำตาลเข้มที่ได้จากใบชา  หากลองดม  กลิ่นที่ได้ก็จะมีกลิ่นของใบชาผสมอยู่ด้วย  ทำให้รู้สึกแปลกใจและ รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งใหม่นี้อยู่ไม่น้อย และก่อนจะรับประทานก็ต้องเหยาะแม็กกี้เสียหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่อย่างไรก็ตามก็อยากจะลองชิมไข่เปล่าๆดู รสชาติที่ได้นั้นก็มีกลิ่นของใบชาติดมาด้วยเช่นกัน  และเป็นเมนูที่ฉันจะลองกลับไปทำเมื่อถึงบ้านอย่างแน่นอน และไม่สงวนลิขสิทธิ์หากท่านผู้อ่านสนใจ  แต่หากจะได้บรรยากาศ และชิมไข่ต้มชาของแท้ก็ต้องที่ดอยอ่างขางที่เดียวเท่านั้นนะคะ

               มุมกาแฟร้อน ที่อยู่ถัดมานั้นก็ได้รับความสนใจ ไม่แพ้กัน เป็นกาแฟผลิตผลจากโครงการหลวง นอกจากชาวไทย – ภูเขาจะปลูกเองแล้ว ยังคั่วเองอีกด้วย  ส่งกลิ่นหอมกรุ่น  สีน้ำตาลอ่อนคล้ายสีคาราเมลน่าชิม พร้อมกับรสชาติ หวาน มัน อร่อย กลมกล่อม นอกจากจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นแล้ว ยังทำให้ร่างกายสดชื่นพร้อมที่จะเดินทางต่ออย่างไม่เหนื่อยอีกด้วย

               และซุ้มสุดท้าย สลัดผัก เป็นผักสดที่ชาวไทย –ภูเขาปลูกเองเช่นกัน  ซึ่งผักที่นี่จะสด กรอบ สีสวย น่ารับประทาน และมีความหวานกว่าผักที่อื่นหรือตามตลาดทั่วไป เพราะที่นี่ไม่ใช้สารเคมี จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างแน่นอน  พร้อมทั้งมีไข่ต้ม และน้ำสลัดไว้รับประทานคู่กับผักสดด้วย

                4 เมนูเด็ดสำหรับเช้านี้ นอกจากจะทำให้ฉันได้พบกับสิ่งแปลกใหม่ที่มีอยู่จริงบนโลกแล้ว ยังทำให้ฉันอิ่มท้องและอิ่มใจ  มีพลังที่จะเดินทางไปค้นหาความอัศจรรย์ของโครงการหลวงต่อ แต่ก่อนที่จะเดินทางต่อนั้น มีผู้หญิงชาวไทย – ภูเขาคนหนึ่งเดินผ่านมา  พี่ๆโครงการหลวงบอกว่า คุณป้าคนนี้เก่งมาก  มีอาชีพปลูกชา และผักสดทั่วไป  แต่สิ่งที่ทำให้ตกใจมาก คือ รายได้ของป้า 6 แสนบาทต่อปี!!! ซึ่งมากกว่าพนักงานกินเงินเดือนในออฟฟิศทั่วไปบางคนเสียอีก  ฉันจึงไม่พลาดที่จะถ่ายรูปคุณป้าไว้เป็นที่ระลึก  การมาเที่ยวครั้งนี้ทำให้ฉันเห็นแล้วว่า โครงการหลวงไม่เพียงแต่สร้างอาชีพให้ชาวเขาแล้ว  ยังสร้างรายได้มหาศาลให้แก่พวกเขาอีกด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของในหลวง และทำให้ฉันเล็งเห็นถึงอาชีพในอนาคตแล้วว่า ฉันควรจะยึดอาชีพอะไรต่อไปดี

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
          หลังจากลิ้มรสสุดยอด 4 เมนูสำหรับเช้านี้แล้ว ฉันก็เดินทางไปต่อสำหรับกิจกรรมที่รอคอยที่สุดในชีวิต คือ  การเก็บผลสตรอเบอรี่สดจากไร่ ณ หมู่บ้านนอแล

         เมื่อเดินทางมาถึงไร่สตรอเบอรี่ของชาวปะหล่อง หมู่บ้านนอแลแล้ว ภาพที่เห็นคือ ไร่สตรอเบอรี่อันกว้างใหญ่ ปลูกแบบขั้นบันได กว้างไกลออกไปบนเนื้อที่ประมาณ   ไร่  ปุ๋ยที่ใช้นั้นเป็นปุ๋ยคอกผสมกับผักสดหมักทิ้งไว้ ซึ่งมันช่วยให้ผลสตรอเบอรี่โตเร็ว รสชาติหวาน และมีสีแดงสดน่ารับประทาน เจ้าหน้าที่บอกว่าตัวช่วยที่ทำให้สตรอเบอรี่มีรสชาติหวานยิ่งขึ้นนั้น คือ เพลี๊ย อย่างไรก็ตามก่อนจะเก็บรับประทานแบบสดๆก็ควรระวังเสียหน่อย และที่สำคัญรับรองได้ว่าสตรอเบอรี่ที่นี่สด สะอาด และปลอดภัยอย่างแน่นอน เพราะที่นี่ไม่ฉีดยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีใดๆทั้งสิ้น  เมื่อผลสตรอเบอรี่สามารถเก็บได้แล้วก็จะถูกส่งไปจำหน่ายต่อที่โครงการหลวง ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขาตก 2 แสนบาทต่อปี นับเป็นเม็ดเงินมหาศาลจากการส่งสตรอเบอรี่จำหน่ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

         เมื่อเจ้าหน้าที่บรรยายจบแล้ว ก็ถึงเวลาที่หลายคนรอคอย คือ การเก็บผลสตรอเบอรี่สดจากไร่ ซึ่งที่นี่มีกล่องพลาสติกไว้บริการด้วย เพียงราคากล่องละ 100 บาทเท่านั้น เราสามารถเก็บเท่าไหร่ตามใจชอบ และที่สำคัญ คือ จะเก็บไป กินไปก็ได้อีกด้วย นับเป็นความประทับใจและความสนุกสนานมากบนไร่สตรอเบอรี่แห่งนี้

       

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
            การเดินทางเรียนรู้วิถีชีวิตของชาว ไทย-ภูเขายังมีอีกมากมาย หลังจากที่เก็บสตรอเบอรี่กันอย่างสนุกสนานแล้ว ก็เดินทางกันต่อไปเยี่ยมชนเผ่าปะหล่อง ณ หมู่บ้านนอแล และหมู่บ้านอบด้ง

            สถานที่แรก คือ หมู่บ้านนอแล ณ ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล หากเรียกให้เข้าใจกันง่ายขึ้น ก็คือ บริเวณสุดเขตชายแดนไทย – พม่า

             หมู่บ้านนอแลเป็นหมู่บ้านที่ชาวไทย – ภูเขา ชาวปะหล่อง ซึ่ง เป็นชนเผ่าที่อพยพเข้ามาจากพม่า พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า ‘ดาระอัง’ ส่วนคำว่าปะหล่องนั้นเป็นภาษาไทยใหญ่ที่ใช้เรียกชมชนกลุ่มนี้ หมายถึง คนดอย หรือคนภูเขา

             เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่จะมีมัคคุเทศก์น้อย เป็นเด็กๆชาวปะหล่อง อายุประมาณ  10 – 15  ปี พวกเขาพยายามที่จะฝึกลูกหลานชาวปะหล่องที่ถูกคัดเลือกและอาสามาทำหน้าที่ เป็นอาสาสมัครต้อนรับและให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่ามัคคุเทศก์น้อยนั้น นอกจากจะคอยดูแลนักท่องเที่ยวแล้ว สำหรับสิ่งตอบแทนที่พวกเขาจะได้ เป็นเพียงสินน้ำใจเล็กๆน้อยๆจากนักท่องเที่ยวที่ให้ด้วยความพึงพอใจ และข้อกำหนดอย่างชัดเจน คือ พวกเขาจะไม่เรียกร้องสิ่งใดๆเป็นการตอบแทน เมื่อได้มาสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว มัคคุเทศก์น้อยทุกคนต่างมีความตั้งใจ และมีรอยยิ้มพร้อมพลังอันเต็มเปี่ยมที่มอบให้พวกเรา  ฉันจึงมอบสินน้ำใจเล็กน้อยให้แก่พวกเขา ซึ่งสิ่งที่น่าชื่นชมคือ พวกเขาจะมีการแบ่งกันอย่างยุติธรรมที่สุด         

             สำหรับหมู่บ้านนอแล เป็นส่วนหนึ่งของดอยอ่างขาง มีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย-พม่า มีการอพยพของชนกลุ่มน้อยตลอดเวลา เช่น กลุ่มขุนส่า หว้า ไทยใหญ่ และชนเผ่าปะหล่อง  ชนเผ่าปะหล่องเป็นชมกลุ่มน้อยที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งโดยถวายฎีกาแด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2527 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จทรงงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พระองค์จึงมีพระดำรัสให้ชนเผ่าปะหล่องอาศัยอยู่ที่บ้านอแล

              ฐานปฏิบัติการบ้านนอแลนั้น  เริ่มแรกเป็นที่ตั้งของวัดปะหล่อง และมีห้องเรียนเคลื่อนที่โดยเจ้าหน้าที่จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ทำหน้าที่เป็นครูสอนประจำที่โรงเรียนบ้านขอบด้ง ซึ่งไปสอนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ต่อมาเมื่อปี 2528 – 2530 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดน ระหว่างกลุ่มขุนส่า  กลุ่มว้า และไทยใหญ่  มีเพียงกลุ่มว้าเท่านั้นที่เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณวัดปะหล่อง และห้องเรียนเคลื่อนที่ และในปี 2530 ได้เกิดเหตุการณ์ต่อสู้กันอย่างรุนแรงขึ้นระหว่างกลุ่มว้าที่ยึดครองพื้นที่ กับทหารพม่า จนในที่สุดทหารพม่าก็สามารถยึดครองพื้นที่ไว้ได้ และสามารถเชิญธงชาติพม่าขึ้นคู่กับธงชาติไทย หลังจากนั้นได้มีการส่งกำลังทหารไทยเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านขอบด้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้ง ทหารไทยจึงเข้าเจรจากับทหารพม่า จนทหารพม่าถอยกำลังออกจากบริเวณพื้นที่วัดปะหล่อง และตั้งเป็นฐานปฏิบัติการบ้านอแลจนถึงทุก วันนี้                                 

                การเดินทางมา ณ ฐานปฏิบัติการบ้านนอแลครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ฉันเห็นถึงประวัติการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศแล้ว ยังทำให้ฉันรู้ว่า ถึงแม้ว่าชนเผ่าปะหล่องจะไม่ใช่คนไทยแท้ แต่เมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ พี่น้องชาวไทยก็พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างไม่แบ่งชนชาติอีกด้วย นับเป็นสิ่งที่น่ายกย่องอย่างมากในน้ำใจของคนไทย  นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของชนเผ่าชาวปะหล่องอีกด้วย

                หลังจากนั้นพวกเราก็เดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตยัง สถานที่แห่งที่สอง  คือ ชนเผ่ามูเซอดำ
ณ หมู่บ้านขอบด้ง กันต่อ ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันนัก

               ชาวหมู่บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมซึ่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่าชาวมูเซอดำ สังเกตได้จากการแต่งกายจะเน้นเสื้อผ้าสีดำ ในตอนต้นของโครงการหลวงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาที่หมู่บ้านขอบ ด้งก่อน แล้วจึงเสด็จเข้าไปในโครงการ ซึ่งจะมี จะหลุง ผู้นำหมู่บ้านคอยรับเสด็จ แต่เนื่องจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้จะมีเพียง จะหมอ น้องชายที่ทำหน้าที่เป็นหมู่บ้านแทนเท่านั้น ซึ่งเคยเข้าเฝ้าและรับเสด็จเช่นกัน  ปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่

              ลักษณะบ้านเรือนของชนเผ่ามูเซอดำ สังเกตได้ คือ หลังคาเตี้ย  และลักษณะสำคัญ คือพวกเขาจะก่อไผในบ้าน เนื่องจากว่าดอยอ่างขางมีอากาศหนาวเย็น  ประกอบกับตัวบ้านไม่ได้แน่นหนามากจึงสามารถก่อไฟในบ้านเพื่อสร้างความอบอุ่น ได้ อาชีพหลักของชนเผ่ามูเซอดำ คือ การปลูกสตรอเบอรี่บนพื้นที่ 80 กว่าไร่ ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับชนเผ่าปะหล่องที่พวกเราได้ไปเก็บสตรอเบอรี่มาก่อน หน้านี้  นอกจากนี้แล้วพวกเขายังมีอาชีพทำหน้า เลี้ยงหมูป่า และจำหน่ายกำไล รวมถึงงานหัตถกรรมอีกด้วย

                สำหรับหมู่บ้านขอบด้งยังนับถือผี และมีความเชื่อว่าถ้าคนในหมู่บ้านไม่สบายหรือมีพิธีทำบุญ พวกเขาก็จะมีพิธีไหว้ผี โดยมีจะหมอเป็นผู้นำ จะมีการกระทืบเท้า และเต้นไปรอบๆในการทำพิธีด้วย

              ฉันได้มีโอกาสเข้าไปในบ้านของชนเผ่ามูเซอดำด้วย บ้านของเขามีลักษณะเป็นสองชั้น ตัวบ้านทำจากไม้ไผ่ที่สานกันไม่แน่นมากทั้งหลัง  ใต้ถุนบ้านจะเป็นที่สำหรับเก็บฟืน และมีพื้นที่ไว้สำหรับชะล้าง ส่วนชั้นบนจะเป็นพื้นที่ไม่กว้างมากนัก บริเวณกลางบ้านจะมีที่ไว้สำหรับก่อไฟ และหุงหาอาหาร  และแยกพื้นที่ไว้สำหรับนอนอีกด้านหนึ่ง  ซึ่งมีวีถีชีวิตเรียบง่ายมาก  นอกจานี้ฉันยังมีโอกาสได้ลองสะพายกระบุงของชนเผ่ามูเซอดำ และได้ลองสวมชุดที่พวกเขาเย็บด้วยความประณีตสวยงามอีกด้วย  สำหรับสินค้าที่วางจำหน่ายนั้น เป็นพวกกำไล และสินค้าหัตถกรรมที่พวกเขาทำขึ้นเอง

                การดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชนเผ่ามูเซอดำนั้น นอกจากอยู่กับธรรมชาติ ดำเนินวิถีแห่งความพอเพียงแล้ว ไม่ต้องการปัจจัยอื่นๆที่นอกเหนือจากปัจจัยทั้ง 4 เพราะพวกเขารู้ว่า เขาจะสามารถหาความสุขอันแท้จริงได้จากที่ไหน มันทำให้ฉันตระหนักถึงการดำเนินชีวิตของคนกรุงในปัจจุบันที่ต้องแข่งขัน ดำเนินชีวิตอยู่บนความอยากได้ อยากมี และอยากเป็น มีแต่ความโลภ โกรธ หลง  แม้จะอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่ทำไมมันถึงต่างกันเช่นนี้

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
   หลังจากทราบถึงประวัติความเป็นมาของโครงการหลวงกันเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการหลวงบอกว่าเราจะไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่สโมสรอ่าง ขาง  ซึ่งสามารถเดินผ่านสวน ๘๐ ลงไปได้  แต่กว่าจะได้รับประทานอาหารนั้นทุกคนต่างแวะถ่ายรูปกับดอกไม้ที่ถูกจัดวาง ไว้อย่างสวยงาม ณ สวน ๘๐ แห่งนี้

         สวน ๘๐ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสโมสรอ่างขาง ซึ่งสวนนี้จัดขึ้นในวาระที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงมีอายุครบ 80 ชันษา โดยเป็นแปลงปลูกไม้ประดับเมืองหนาว จัดตามสไตล์สวนอังกฤษ นับว่าเป็นไฮไลท์ของการมาเที่ยวสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  มีดอกไม้นานาชนิดทั้งของอังกฤษ ญี่ปุ่น เช่น ดอกเดซี่  ดอกกะหล่ำประดับ ไวโอเล็ต, ชบาอาบูติลอน ลินาเลีย เป็นต้น สีสันและกลิ่นของดอกไม้ทำให้รู้สึกสดชื่น และเก็บภาพความประทับใจไว้มากมาย เพราะนานๆครั้งจะได้มาเห็นสวนไม้ประดับเมืองหนาว ออกดอกสวยงามมาก อีกทั้งยังหายากมาประดับตกแต่งไว้ ณ สวนแห่งนี้  ด้วยบรรยากาศการตกแต่งสวนที่มีการจัดเป็นทางเดิน และมีดอกไม้ขึ้นล้อมรอบ ด้านข้างมีการสร้างน้ำตกจำลอง และเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนหรือถ่ายรูปตามอัธยาศัยราวกับอยู่บนสวรรค์  สิ่งสวยงามเหล่านี้ยากนักที่จะมีโอกาสได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเอง นักท่องเที่ยวจึงไม่พลาดที่จะต้องแวะมาเยี่ยมชมความตระการตาของสวน๘๐ แห่งนี้

        หลังจากที่เพลิดเพลินกับการถ่ายรูป และตะลอนทัวร์กับกิจกรรมต่างๆแล้ว ก็ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวันณสโมสรอ่างขาง  บริเวณด้านใน จัดตกแต่งสถานที่แบบสบายๆ เป็นกันเองเหมือนท่านได้อยู่บ้านของตนเอง ซึ่งจะแยกเป็นโซนนั่งพักผ่อน กับโซนร้านอาหาร  โดยจะมีกลิ่นไอของชาวเหนือผสมอยู่ด้วย  สำหรับเมนูเด็ดของสโมสรอ่างขางที่อยากจะนำเสนอ คือ ยำสตรอเบอรี่   ซึ่งเป็นเมนูการนำผลสตรอเบอรี่มาประกอบอาหารในรูปแบบของการยำ ซึ่งได้รสหวานจากผลสตรอเบอรี่ และรสเผ็ดจากพริก ตอนแรกอาจจะดูแปลก ไม่เข้ากัน แต่เมื่อได้ลองชิมแล้วมันอร่อยมาก เพราะความหวานของสตรอเบอรี่ กับความเผ็ดของพริกนั้นสามารถเข้ากันได้อย่างลงตัว หากใครไม่เชื่อ ขอแนะนำว่าควรมาลองชิมด้วยตัวเอง  และสำหรับเมนูอาหารของสโมสรอ่างขางนั้นมีให้เลือกตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนดอยอ่างขาง  เมนูอาหารพื้นเมือง เมนูเนื้อสัตว์ เมนูประเภทยำ ซึ่งล้วนแล้วเป็นผลผลิตจากโครงการหลวง ซึ่งรับรองได้ว่าถูกปาก และถูกใจนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
             เมื่ออิ่มท้องแล้วก็ต้องเดินชมบริเวณด้านนอก   สำหรับด้านนอกนั้นจะมีร้านกาแฟดอยคำ จำหน่ายกาแฟ และขนม  ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการหลวง อีกทั้งยังจำหน่ายโปสการ์ดราคา 10 บาท  พร้อมติดแสตมป์ และมีตู้ไปรษณีย์อ่างขางไว้บริการจัดส่งอีกด้วย   บริเวณใกล้ๆก็มีซุ้มไว้ถ่ายรูป และมีบริการโต๊ะนั่งสำหรับรับประทานอาหาร  ให้อีกด้วย

             บรรยากาศ ณ สวน ๘๐ และสโมสรอ่างขางนั้น นอกจากจะทำให้เพลินตาเพลินใจกับธรรมชาติอันงดงามแล้ว ยังทำให้เราอิ่มท้อง และอิ่มใจอีกด้วย
 

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
ปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น...ตื่นตากับสวนดอกไม้
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 03:31:26 PM »
การเดินทางมา ณ ดอยอ่างขางยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เรายังไม่เคยรู้  รวมถึงการปลูกต้นซากุระญี่ปุ่น กิจกรรมช่วงบ่ายสำหรับวันนี้

                ต้นซากุระญี่ปุ่น  ต้องใช้เวลาเพาะเมล็ดถึง 10 ปีกว่าจะเจริญเติบโตเป็นต้นซากุระออกดอกสีสวยให้พวกเราได้ชมกัน  และในวันนี้พวกเราก็ได้มีโอกาสมาปลูกต้นซากุระญี่ปุ่นที่จะแบ่งบานในประเทศ ไทยแล้ว  ถึงแม้ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลานานเสียหน่อย แต่มันก็คุ้มค่ากับการรอคอย ถ้าเราจะได้เห็นต้นซากุระที่ปลูกกับมือของเราเอง  กิจกรรมการปลูกต้นซากุระนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมต้นซากุระ และขุดหลุมให้พวกเราเรียบร้อยแล้ว  เหลือแค่เอามันลงดินก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์  ต้นซากุระที่ออกดอกนั้นจะมีสีขาว ถึงชมพูอ่อน-เข้มแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ซึ่งฉันเคยไปเห็นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วมันจะมีกลีบดอกขึ้นซ้อนกัน และมีความบอบบางมาก   กลิ่นของมันจะหอมอ่อนๆ มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น และอีก 9 ปีข้างหน้า ฉันจะเดินทางกลับมาดูต้นซากุระที่ฉันปลูกกับมือนี้อีกครั้งหนึ่งว่ามันจะ เป็นอย่างไร
                หลังจากนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงสาธิตการจัดสวน  บนพื้นที่ 1.5 ไร่จะเน้นคอนเซ็ปต์ของ ทุ่งลาเวนเดอร์  ซึ่งเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์อื่นนั้นจะไม่ค่อยออกดอกเท่ากับ 7 สายพันธุ์ที่ปลูกอยู่ ณ ดอยอ่างขางปัจจุบันนี้

                ดอกลาเวนเดอร์นั้นจะมีลักษณะเป็นช่อชูขึ้นมาและมีกลีบสีม่วงเข้ม สำหรับการขยายพันธุ์นั้นจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ การปักชำ และการเพาะเมล็ด

                 ต้นลาเวนเดอร์ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดนั้น จะใช้เวลา 6 เดือนถึงจะออกดอก  แต่ถ้าเป็นการปักชำจะใช้เวลา 3 – 4 เดือน ซึ่งในแปลงลาเวนเดอร์ที่เห็นนั้นเพิ่งปลูกเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา  และจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม และเจ้าหน้ายังแนะนำอีกว่า การที่เราจะสัมผัสได้ว่าดอกลาเวนเดอร์จะหอมหรือไม่หอม ใช้วิธีการ ‘ต้นลูบแล้วหอม’ โดยการใช้มือรูดต้นและดม ซึ่งกลิ่นที่ได้ติดมือมาคือ กลิ่นหอมจากต้นลาเวนเดอร์  มันหอมเสียจนฉันอยากจะเด็ดต้นมาลูบไปตัวเลย  เจ้าหน้าที่บอกว่าต้นลาเวนเดอร์นำเข้ามาจากประเทศนิวซีแลนด์และ อังกฤษ                สำหรับในแปลงที่เห็นนี้มีทั้งหมดแปดพันกว่าต้น  นับว่าเป็นการปลูกต้นลาเวนเดอร์ที่เยอะมากที่สุดในประเทศไทยจริงๆ
                  บริเวณรอบๆแปลงสาธิตนี้ยังมีดอกไม้ชนิดอื่นที่ปลูกไว้ด้วย เช่น ดอกไอซ์แลนด์ป็อปปี้, ต้นเคอรี่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไว้ใช้สำหรับทำเป็นผงกะหรี่ไว้ปรุงอาหารได้, ,ดอกแคลิฟอร์เนียป็อปปี้ เป็นต้น  นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรือนกุหลาบแปลงทดลองอีก ด้วย  ซึ่งมีกุหลาบมากมายหลายสายพันธุ์ ออกดอกสีสวยเต็มไปหมด นอกจากจะปลูกกุหลาบไว้ทดลองแล้ว ยังปลูกกุหลาบไว้ตัดขายอีกด้วย  ภายในโรงเรือนนั้นค่อนข้างมีความชื้นมากพอสมควร โดยการพ่นสเปรย์น้ำอัตโนมัติ ซึ่งจะมีเวลาติดไว้ด้านหน้าโรงเรือนว่าจะฉีดน้ำเวลาใดบ้าง
                 หลังจากนั้นก็เดินข้ามฝั่งไปยังโรงเรือนไม้ในร่ม ซึ่งภายในนอกจะรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถปลูกในร่วมไว้จำนวนมาก  เช่น กล้วยไม้ , ต้นฟุกเชีย หรือโคมญี่ปุ่น มีทั้งหมด 23 ชนิด ,ดอกท้อ , ดอกเบิร์ดออฟพาราไดซ์ , ดอกไอวี่ , ดอกวินเอร์เชอรี่  ฯลฯ  เจ้าหน้าที่บอกว่า ถึงแม้ว่าในโรงเรือนและแปลงจัดสวนจะมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงค่อนข้างมาก แต่จะไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง  เพราะ ถึงแม้ว่าจะต้นไม้ที่ปลูกจะออกดอกเพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่ก็คำนึงถึงเรื่องการสูดดมก็อาจจะมีผลต่อร่างกายได้  และต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่ฉันรู้สึกชื่นชอบ คือ ต้นสนหอม ใช้ลักษณะการลูบต้นเหมือนต้นลาเวนเดอร์ กลิ่นที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกลิ่นตะไคร้หอม

ภายในโรงเรือนนอกจากจะจัดตกแต่งแบบสวนแล้ว ยังตกแต่งสถานที่ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับจิบกาแฟดอยคำที่มีบริการไว้ข้างๆอีกด้วย  สำหรับโรงเรือนแห่งนี้ยังมีผลิตผลจากโครงการหลวงไว้จำหน่ายด้วย เช่น ผลสตรอเบอรี่สด  สตรอเบอรี่อบแห้ง  ไวน์ เป็นต้น ก่อนที่จะเดินทางกันต่อฉันเหลือบไปเห็นเจ้าผีเสื้อกลางคืน และอดที่จะตะลึงกับมันไม่ได้ เพราะมันมีขนาดใหญ่มาก ไม่เคยพบมาก่อน  มันนอนสงบนิ่งอยู่บนต้นไม้ และไม่พลาดที่จะเก็บรูปมันไว้เป็นที่ระลึก

                การได้มาเห็นธรรมชาติอันสวยงามที่มีอยู่จริงบนดอยอ่างขางแห่งนี้ นอกจากจะทำให้ฉันได้ใช้ประสาทสัมผัสทางการมองเห็น การสูดดม และการสัมผัสแล้ว ยังได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายจากสถานที่แห่งนี้ที่ทำให้ฉันตั้งใจไว้ว่าจะ ต้องกลับมาที่นี่ให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
                เมื่อ ประตูเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ จะเจอลานกลางบ้านที่ต้อนรับทุกคนเข้ามา เจ้าหน้าที่บอกว่าสังเกตพื้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มีการขัดมันให้เงา งาม หรือปูกระเบื้อง เนื่องจากต้องการให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวบ้าน โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต หรือ Living Sight Museum ซึ่ง ไม่เฉพาะในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น  เราก็สามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมในชุมชนได้ ภายในแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ห้อง ดังนี้
 

                1.ห้องเกริ่นนำ  บอกเล่านิยาม และความเฉพาะตัวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ที่ต้องการให้การเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดไว้แค่ภายในตัวอาคาร

                ห้องแรก คือ ห้องชีวิตชายขอบ  ได้จำลองมาจากสถานทูตจีน  ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านยางแห่งนี้  ในระยะแรกชาวจีนยูนนานนิยมสร้างบ้านที่มีระเบียบของฝาผนัง ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีน ส่วนวัตถุที่จัดแสดงอยู่นั้นก็มาจากประเทศจีน เช่น อานม้า อานล่อ  ถูกนำเข้ามาเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว  , กา 4 ใบเป็นภาชนะสำหรับชาวมุสลิม ไว้สำหรับชำระร่างกายก่อนละหมาด รวมไปถึงไหไว้สำหรับหมักดอง และกระทะทองเหลืองโบราณด้วย

               2.ลานอเนกประสงค์  พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม  การแสดง  หรือนิทรรศการกลางแจ้ง  ซึ่งจัดให้มีหมุนเวียนสลับกันไปตลอดทั้งปี

                3.กำเนิดโครงการหลวง  แสดงพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาภาคเหนืออย่างยั่งยืน และเรื่องราวของโครงการหลวง ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีที่นานาชาติยกย่อง

                ในส่วนนี้จะเริ่มบอกเล่าถึงความเป็นมาของโครงการหลวง  เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จเยือน ณ หมู่บ้านของชาวเขา พร้อมกับร่วมรับประทานอาหารกับชาวไทย – ภูเขา เพื่อให้พวกเขาวางใจในพระองค์ท่านเสียก่อน หลังจากนั้นมีผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งชวนพระองค์ไปเที่ยวที่บ้าน พร้อมกับรินเหล้าถวายพระองค์ แต่ใช้แก้วค่อนข้างจะมีคราบสกปรก หม่อมเจ้าภีศเดช รัศนีทรงเป็นห่วงและให้พระองค์ทรงแกล้งดื่ม แต่เหล้าจริงหม่อมเจ้าภีศเดชจะดื่มเอง  แต่สุดท้ายแล้วพระเจ้าอยู่หัวก็เสวยด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสกับหม่อมเจ้าภีศเดชว่า ไม่เป็นไร เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้เชื้อโรคตายหมด  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากหม่อมเจ้าภีศเดช  หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงสำรวจพื้นที่ด้วยพระองค์เองจนไปเจอท้อพันธุ์พื้น เมือง และนำท้อจากต่างประเทศมาปลูก และทรงริเริ่มนำพืชเมืองหนาวมาปลูกแทนฝิ่น  รวมถึงการปลูกถั่วเหลืองด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชทานสัตว์เลี้ยง เช่น หมู แกะ ไก่ ฯลฯ ซึ่งต้องพระราชทานเป็นคู่ เพื่อให้ขยายพันธุ์เป็นอาหารให้แก่ชาวไทย – ภูเขาต่อไป  ส่วนหมูนั้นมีความสำคัญกับชาวไทย – ภูเขาอย่างมากในยุคนั้น เพราะเขาใช้หมูสำหรับการเซ่นไหว้ และใช้สำหรับขอสาวในการแต่งงานด้วย  และนอกจากนี้ยังจัดแสดงถึงการพระราชทานความช่วยเหลือในด้านคุณภาพชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และภายในนิทรรศการยังแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาแบบรอบด้าน และยั่งยืนด้วย

              รวมถึงการสรุปความจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีที่ว่า ‘ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก’ ช่วยชาวเขา หมายถึง ช่วยชาวเขาให้เลิกจากการปลูกฝิ่น และไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยชาวเรา หมายถึง เมื่อชาวเขาไม่ตัดไม้ทำลายป่า ชาวเราก็มีต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ ช่วยชาวโลก     หมาย ถึง เมื่อชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น ไม่มีปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด  จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ที่ทรงเริ่มจาการช่วยชนกลุ่มน้อย และผลที่ได้รับ คือ ชาวเรา และชาวโลกนั่นเอง

                นอกจากนี้ภายในห้องจัดแสดงยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชาวไทย – ภูเขาอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของโครงการหลวง

            4.กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) แสดง วิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว  ในการต่อยอดโครงการหลวง  ด้วยการตั้งโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง)  ทั้งทรงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรและงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน   

            ภาย ในห้องจัดแสดงนี้ได้จำลองโรงงานชั่วคราวผ่านกรรมวิธีการแปรรูป และกระบวนการผลิตโดยชาวจีนยูนนานผ่านการแสดงโปรเจ็คเตอร์ ซึ่งเป็นการแสดงเงาของตัวละคร ที่สร้างขึ้นภายในห้องจำลองโรงงานขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพการทำ งานอย่างชัดเจน
            นอกจากนี้มีการจัดแสดงรถโฟล์ค  รถยนต์พระราชทานเมื่อครั้งก่อตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่๑ ซึ่งไว้ใช้ในการส่งของ ปัจจุบันรถคันนี้ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ แต่เก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์

           จากนั้นเข้าสู่ห้องจำลองโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ การผลิตอาหารกระป๋องในยุคแรกนั้น คือ การผลิต ลูกท้อลอยแก้วบรรจุกระป๋อง ซึ่งมีรูปแบบผลิตภัณฑ์จัดแสดง รวมถึงเครื่องลำเลียงผลิตภัณฑ์จัดแสดงไว้ด้วย

             รวมทั้งมีการจัดแสดงภาพเหตุการณ์น้ำป่าเมื่อปี 2549  ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโรงงานอันนำมาสู่โรงงานในปัจจุบัน รวมถึงการจัดแสดงภาพถ่ายชุมชนบ้านยาง และชาวไทยภูเขาอีกด้วย และที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพวาดสีน้ำฝีมือนายสือสง  แซ่ย่าง  ชาวจีนยูนนานวัย  94  ปี ซึ่ง ท่านรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรง ให้พวกเขาได้อาศัยอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ จึงวาดภาพผ่านปลายพู่กันจีน มีความหมายถึง นกที่อยู่ในภาพ หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ส่วนขุนเขา หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  นกและขุนเขาคู่กัน  หมายถึง ความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน  ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)  เมื่อวันที่  19  มกราคม  2552

           5.บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด  เล่า ประวัติและบทบาททางสังคมของบริษัทฯ  โดยจัดแสดงอยู่ภายในร้านจำหน่ายสินค้าดอยคำ  อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับผู้สนใจศึกษาข้อมูลและงานวิจัย  ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ฯ โรงงานฯ และชุมชนโดยรอบ  ที่บริเวณชั้นลอยของห้องอีกด้วย

            ..เน้นช่วยเหลือเกษตรกรโดยไม่หวังผลกำไร ดังพระราชดำรัส

                                                                                 “ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา”
 

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
อิ่มท้อง อิ่มใจ ณ คุ้มขันโตก
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 03:40:08 PM »
                เมื่อเดินทางออกจากดอยอ่างขางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ก็ได้เวลาอาหารค่ำ สำหรับวันนี้ฉันได้มีโอกาสมารับประทานขันโตก ณ คุ้มขันโตก ครั้งแรกในชีวิต

                หลังจากที่ลงรถเรียบร้อย ทางคุ้มขันโตกก็มีจัดการแสดงฟ้อนรำต้อนรับนักท่องเที่ยว  เมื่อเดินเข้ามาก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับอารยธรรมล้านนาที่ถูกรังสรรค์ขึ้น พื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ถูกจำลองให้คล้ายเมืองๆหนึ่ง เมื่อเดินเข้ามาก็ได้กลิ่นไอของความเป็นชาวเหนือ  ไม่ว่าจะเป็นที่นั่ง พนักงาน บรรยากาศ และที่สำคัญคือ อาหาร

                  เมนูที่มาเสิร์ฟนั้นเป็นบุฟเฟ่ต์ขันโตกประกอบด้วย กล้วยทอด ซุปใส ข้าวเหนียว ไก่ทอด ผลไม้ตามฤดูกาล แคบหมู ผัดผักรวม หมี่กรอบ แกงฮังเลหมู  และ น้ำพริกหนุ่มพร้อมผักลวก ในตอนแรกฉันก็รู้สึกงงงวยกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า พูดตามความจริงแล้ว คือ รับประทานไม่เป็น แต่พี่ๆก็บอกว่าลองทานดูก็เหมือนกับอาหารทั่วไป ซึ่งสังเกตได้ว่าอาหารเหนือนั้นจะมีความมัน และมีรสชาติเผ็ดนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้วก็อร่อย และสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ดีที่ครั้งหนึ่งก็ได้มีโอกาสมารับประทานขันโตก

                นอกจากเพลิดเพลินกับเมนูอาหารแล้ว ไฮไลท์ของที่นี่ คือ การแสดงฟ้อนรำของชาวเหนืออันตระการตาโดยจะแสดงผ่านการเล่าเรื่องราวประวัติ ความเป็นมาของชาวเหนือ พร้อมกับมีการแปลภาษาให้ชาวต่างชาติฟังอีกด้วย

                สำหรับกิจกรรมในวันนี้ รวมถึงมื้อค่ำในวันที่สอง ณ เชียงใหม่ นอกจากจะเปิดประสบการณ์ให้ฉันอย่างมากแล้ว ยังทำให้ฉันเรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยู่ที่เชียงใหม่แห่งนี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ฉันยังไม่เคยรู้มาก่อน  และสำหรับวันพรุ่งนี้ฉันเชื่อว่ายังมีเรื่องราวอีกมากที่ต้องน่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน ... อิ่มท้อง อิ่มใจ หลับฝันดี

 
                                 

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
กิจกรรมสุดท้าย ณ โครงการหลวง อ.ขุนวาง
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: มีนาคม 26, 2011, 03:43:33 PM »
           ตลอดระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา ฉันได้เห็นสิ่งต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นจากโครงการหลวง และ ณ  โครงการหลวงขุนวางก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการเข้าไปพัฒนาและดูแลจนสร้าง รายได้ให้แก่ชาวบ้านและชาวไทยภูเขา

           ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางนี้ในหลวงเสด็จมาเมื่อปี 2525 โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกชาวกะเหรี่ยงและชาวม้ง โดยโครงการหลวงจะส่งเสริมอาชีพให้แก่พวกเขา เข่น

           ปลูกไม้ดอก เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกคาร์เนชั่น ดอกแคลล่าลี ดอกอะกาแนททัส

           ปลูกผัก เช่น หอมญี่ปุ่น ผักกาดหวาน บล็อคโคโลนี่ ถั่วลันเตาหวาน

           ปลูกไม้ผล เช่น องุ่นดำไร้เมล็ด กีวี่ฟรุ๊ท พลับ สตรอเบอรี่ พีช

             นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมโครงการอื่นๆ เช่น

       โครงการงานส่งเสริมชาจีน  คือ ชาอู่หลง  โดยเกษตรกรส่งใบชาสดมาให้โครงการหลวง แล้วเข้าสู่กระบวนการแปรรูปโดยไม่หยุดพักเป็นเวลา 2 วัน

       โครงการเพาะกล้าผัก  โครงการหลวงจะเข้าไปช่วยเพาะกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรงให้ก่อน แล้วจึงส่งให้เกษตรกรมารับไปปลูก ก็ช่วยลดต้นทุนได้
       โครงการวานิลลา  เป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ ให้ผลในปีที่สาม โดยเกษตรกรจะต้องผสมให้ออกดอกเดือนก.พ.-มี.ค. ซึ่ง 1 ดอกบาน 30 วัน และต้องผสมเลย หลังจากนั้นใช้เวลาบ่ม 4-6 เดือน วานิลลานั้นมีคุณสมบัติช่วยหยุดการกระจายของเซลล์มะเร็งเต้านม ลอดความเครียดและความวิตกกังวล         
        สำหรับโครงการหลวงแล้วนั้นยังมีกิจกรรมเด่นอีกหลายอย่าง ไม่เฉพาะการปลูกพืชเท่านั้น  ยังมีโครงการเพาะเห็ด เช่น เพาะเห็ด Portobello เห็ดยานางิ  เห็ดนางรมหลวง รวมไปถึงงานท่องเที่ยว เช่น มีการบริการที่พักและแคมป์ไฟ ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมชนเผ่า  แบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การตำข้าว การทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง และการล่องแพ และอีกประเภทหนึ่ง คือ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น ชมการปลูกฟักทองพันธุ์ Big Moon ซึ่ง 1 ลูก หนัก 50 กก. รวมไปถึงการปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ของชาวบ้านด้วย และยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวนิเวศในชุมชนเพื่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
 
         และจากการเดินทางมายังศูนย์พัฒนาโครงการหลวง อ.ขุนวางครั้งนี้ ได้มีโอกาสเข้าชมโรงเพาะเห็ดPortobello   ชมผลวานิลลา  ชมการตำข้าวและการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง  พิธีการบายศรีสู่ขวัญของชาวกะเหรี่ยง และรับประทานอาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงด้วย นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสชิมเห็ด Portobello ย่างเนย  ซุปเห็ด Portobello  ซุปฟักทองญี่ปุ่น  น้ำสตรอเบอรี่สด และไอศกรีมวานิลลา จะเห็นได้ว่าโครงการหลวงนั้นนอกจากจะช่วยสร้างอาชีพใหม่และยั่งยืนให้แก่ชาว เขาแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่พวกเขาและสร้างรายได้ทางหนึ่งให้แก่ประเทศด้วย       การเดินทางมาเที่ยวโครงการหลวงครั้งนี้ นอกจากจะได้ประสบการณ์จากสิ่งที่ไม่เคยเห็นแล้ว ยังได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวเขา  รวมทั้งได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามด้วยตัวเอง นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากๆจากการมาเที่ยวครั้งนี้ และทุกประสบการณ์นั้นยังคอยสอนและให้ข้อคิดแก่เราด้วย และหวังว่าประสบการณ์การเดินทางอันมีค่าครั้งนี้จะทำให้ผู้รักการเดินทางทุก ท่านชื่นชอบและรักโครงการหลวงเหมือนฉันนะคะ

ออฟไลน์ Tommy

  • Global Moderator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,577
  • คะแนน: +3/-1
  • รักเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย
    • ทัวร์ออนไทยดอทคอม
Re: ทักทายกันก่อนนะคะ :)
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: มีนาคม 27, 2011, 08:07:46 PM »
  สวัสดีค่ะเพื่อนๆชาว Tour on Thai ค่ะ
    ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะคะ
 
ชื่อ พัชสนันท์  จีนะนัทธ์ ค่ะ หรือ เรียกสั้นๆว่า พัช ก็ได้นะคะ
กำลังศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 1 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ค่ะ
และความภาคภูมิใจล่าสุด คือ เป็น
1 ใน 5 ผู้เข้ารอบสุดท้ายการประกวด
'ทีมประชาสัมพันธ์พิเศษโครงการหลวง' ค่ะ
 
เพื่อนๆหลายคนอาจจะสงสัยว่าคืออะไร
การประกวดครั้งนี้ คือ การประกวดเพื่อค้นหาทีมประชาสัมพันธ์พิเศษเพื่อเผยแพร่และแบ่งปันประสบการณ์
จากการไปเที่ยวโครงการหลวงมาค่ะ
รับรองว่า ถ้าเพื่อนๆได้อ่านเรื่องราวจากบทความและรูปถ่ายที่พัชได้มีโอกาสไปสัมผัสด้วยตัวเองมาแล้ว
คงอยากไปกันอย่างแน่นอน เพราะธรรมชาติที่นั่นสวยงามมาก และมีสิ่งมหัศจรรย์ที่พวกเราไม่เคยรู้มาก่อนด้วย
 
แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ถ้าเพื่อนๆไปเที่ยวกับพัชต้องเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองให้เป็นอย่างดีค่ะ
เพราะสำหรับพัช การไปเที่ยวโครงการหลวงจะต้อง
เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย
และที่สำคัญต้องเปิดประสาทสัมผัสทางใจ เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆด้วยค่ะ
เพราะการไปเที่ยวโครงการหลวงครั้งนี้เพื่อนๆจะได้ใช้ประสาทสัมผัสครบอย่างแน่นอน
 
ถ้าพร้อมแล้ว อย่ารอช้าค่ะ...ยินดีต้องรับเข้าสู่

โครงการหลวง อัศจรรย์ความสุขสุดขอบฟ้า
 ;)

ยินดีที่ได้รู้จักครับ สนใจเรื่องราวโครงการหลวงอยู่พอดีเหมือนกันเลย อยากจะหาข้อมูลและไปชมโครงการหลวงให้ทั่วเมืองไทยสักครั้งในชีวิตเหมือนกัน แต่คงเป็นไปได้ยากเพราะโครงการหลวงมีมากเหลือเกิน คงได้ดูจากเรื่องของคุณพัชนี่ละมั้งครับ  ;D
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 27, 2011, 09:23:38 PM โดย Tommy »
เที่ยวเมืองไทยกระจายรายได้สู่ชุมชน

ออฟไลน์ Tommy

  • Global Moderator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,577
  • คะแนน: +3/-1
  • รักเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย
    • ทัวร์ออนไทยดอทคอม
Re: ล่องแม่น้ำกก...เรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทลื้อ
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มีนาคม 27, 2011, 08:14:32 PM »
ว้าว  :o
น่าเสียดายจัง อุตส่าห์ได้ไปถึงท่าตอนมาแล้วแต่ไม่ได้ล่องเรือ เลยไม่รู้ว่าเสน่ห์การล่องเรือของท่าตอนเป็นอย่างนี้นี่เอง มิน่าชาวต่างชาติจึงไปเที่ยวกันเยอะนัก แต่คนไทยแทบไม่มีคนรู้จักบ้านท่าตอนเลย

ภาพบางส่วนจากทริปท่าตอนของเราครับ





สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ วัดท่าตอนครับ


เที่ยวเมืองไทยกระจายรายได้สู่ชุมชน

ออฟไลน์ Tommy

  • Global Moderator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,577
  • คะแนน: +3/-1
  • รักเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย
    • ทัวร์ออนไทยดอทคอม
Re: กระตุกกี่...ทอผ้าไหมแบบฉบับชาวไทใหญ่
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: มีนาคม 27, 2011, 08:16:18 PM »
 :'( เห็นแล้วอยากไป  :'(
เที่ยวเมืองไทยกระจายรายได้สู่ชุมชน

ออฟไลน์ Tamroyporluang

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 15
  • คะแนน: +0/-0
Re: ตามรอยพ่อหลวง (ท่าตอน-อ่างขาง)
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: มีนาคม 29, 2011, 01:01:46 AM »
ขอบคุณที่ติดตามบทความค่ะ แล้วก็ฝากโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ด้วยนะคะ :)