ผู้เขียน หัวข้อ: สัมผัสมรดกแห่งสุโขทัย มรดกโลกที่ประกาศความเกรียงไกรในอารยธรรม  (อ่าน 1125 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2,661
  • คะแนน: +1/-0
สุโขทัยชวนนักท่องเที่ยวย้อนรอยเส้นทางเครื่องปั้นดินเผาและสังคโลก
สัมผัสมรดกแห่งสุโขทัย มรดกโลกที่ประกาศความเกรียงไกรในอารยธรรม
[/size][/color]

จังหวัดสุโขทัยเชิญทุกท่านร่วมตามรอย “เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสังคโลก”  อันแสดงอัตลักษณ์ของเมืองสุโขทัย ด้วยศิลปวัฒนธรรมที่ยังทรงคุณค่าสืบทอดอารยธรรมมานานกว่า 700 ปี และมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก พร้อมเชิญชมวิถีชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่ บ้านทุ่งหลวง เตรียมยกมาตรฐานเครื่องปั้น เพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
   นางสุมิตรา ศรีสมบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า “ เครื่องสังคโลกของจังหวัดสุโขทัย          มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นบ้านเป็นเมือง เป็นแหล่งอารยธรรม อันเป็นความภาคภูมิใจของชาวสุโขทัยและของคนไทยทั้งชาติ  ปัจจุบันนี้จังหวัดได้ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาให้เข้ากับยุคสังคมปัจจุบันมากขึ้น เป็นการยกมาตรฐานการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นในลักษณะประติมากรรมตามออเดอร์เช่น รูปปั้นของตัวละครในวรรณคดี หรืองานภาชนะ ถ้วยน้ำชากาแฟ โคมไฟ ถ้วยชาม หรือของที่ระลึกต่างๆ”
   เครื่องสังคโลกสุโขทัยมีความโดดเด่นที่การปั้นและเคลือบน้ำยาซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของสุโขทัย มักเป็นภาชนะมีลวดลายเฉพาะของสุโขทัยคือเป็นรูปปลา กงจักร และดอกไม้ เป็นสีเขียวและสีคราม ปัจจุบันยังคงสืบทอดการทำสังคโลกกันมากที่อำเภอศรีสัชนาลัย ส่วนเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยก็เป็นงานฝีมือไทยที่สืบทอดกันมากว่าหลายร้อยปีเช่นกัน ดังปรากฏหลักฐานบนศิลาจารึก โดยได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากชาวจีนที่มาทำการค้ากับสุโขทัย สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันมีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ เป็นงานปั้นเพื่อใช้ในการประกอบอาหารและถนอมอาหาร เช่นหม้อกรันที่ไว้ใช้ใส่ข้าวสาร ใส่น้ำดื่ม ด้วยคุณลักษณะที่กักเก็บความเย็นได้ดี เพราะใช้ดินที่มีคุณภาพในพื้นที่ คือดินจากแหล่งหนองอ้อ และแหล่งหนองทอง ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวไม่มีส่วนผสมของกรวดและสิ่งเจือปน จึงง่ายต่อการนำมาปั้น ปัจจุบันดินในพื้นที่ไม่เพียงพอเพราะมีความต้องการเป็นจำนวนมาก จนต้องสั่งดินมาจากพื้นที่อื่นเช่นจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้มาก็นำมาเข้ากระบวนการแยกดิน,ตำดินให้เหนียว แล้วจึงนำไปขึ้นรูปทรงต่างๆ ที่นิยมมากที่สุดก็คือชามขนาดใหญ่ ถ้วยน้ำ พานรอง โคมไฟ ตลอดจนรูปตัวละครในวรรณคดี รูปสัตว์ ของประดับตกแต่งต่างๆ อาจเพิ่มความงามด้วยการฉลุลายโปร่ง กรรมวิธีการเผาของเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องสังคโลกสุโขทัยต่างจากเครื่องปั้นดินเผาชนิดอื่น เพราะใช้เตาทุเรียง คือเตาเผารูปทรงเอกลักษณ์ คล้ายประทุนเกวียน  แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเผาในเตาแก๊สที่ให้ความร้อนสูงถึง 1250 องศา เมื่อเผาแล้วดินจะสีเข้มขึ้นเป็นสีออกส้ม 
   ในการตามรอยเครื่องปั้นดินเผา ณ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง นักท่องเที่ยวจะได้ชมการสาธิตการทำเครื่องปั้นแบบดั้งเดิม ตั้งแต่การขึ้นรูปซึ่งจะมีอยู่สี่วิธี คือ การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การขึ้นรูปด้วยการหล่อ การขึ้นรูปด้วยการปั้น และการปั้นด้วยการตี ซึ่งในปัจจุบันนั้นยังหลงเหลือการทำวิธีนี้อยู่น้อยแห่งในเมืองไทย สัมผัสวิธีทำเครื่องปั้นของลูกหลานสุโขทัยครบทุกกระบวนการแล้ว ยังจะได้เยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก ที่ อ.สวรรคโลก ชมเตาทุเรียงโบราณ เรียนรู้กรรมวิธีการทำเครื่องสังคโลก และตื่นตากับแหล่งเตาทุเรียงที่มีการขุดค้นพบมากมาย
   " เราเชื่อว่า ทุกกิจกรรมท่องเที่ยว ที่จัดขึ้นในปีท่องเที่ยวสุโขทัย (รุ่งอรุณแห่งความสุข) 2556-2557 นี้ จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองสุโขทัยมากยิ่งขึ้น เพราะสุโขทัยมิใช่เพียงโดดเด่นด้วยมรดกโลกถึงสองแห่งเท่านั้น หากแต่ยังมีธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม งานฝีมือ วิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ตลอดจนอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์มากมาย รอต้อนรับ ให้ทุกคนมาสัมผัสความสุขที่สุโขทัยค่ะ” นางสุมิตรา กล่าวปิดท้าย