www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พิษณุโลก >> สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง

สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง

 สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง หรือวัดสระสองพี่น้อง (ในหลายๆ แห่งจะพบว่าใช้คำว่าวัดนำหน้า ส่วนทัวร์ออนไทยขอยึดเอาตามหนังสือประวัติการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ ซึ่งเรียกว่า สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง เป็นหลัก)
 สำนักสงฆ์สระสองพี่น้องเป็นสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่บนเขาสมอแคลง (เขาสมอแคลง บางครั้งก็จะเห็นมีผู้สะกดด้วย ร คือเขาสมอแครง ทัวร์ออนไทยก็ยึดเอาตามหนังสือซึ่งสะกดด้วย ล โดยจะมีข้อมูลของที่มาการสะกดคำว่า เขาสมอแคลงอย่างละเอียดให้อ่านกันในลำดับต่อไปครับ) บนเขาสมอแคลงมีวัดโบราณอยู่ท้้งหมด 7 แห่งแต่ปัจจุบันเหลือ 4 วัด คือ วัดตระพังนาค สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง (เป็นวัดที่สมเด็จพระ นเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้) วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง วัดราชคีรีหิรัญยาราม และวัดร้างบนยอดเขา มีโรงเจไซทีฮุกตึ๊งซึ่งเป็นศาสนสถานนิกายมหายานของชาวจีน (เดิมคือศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย)

 ด้วยเหตุที่มีวัดอยู่มากมายหลายแห่งที่เขาสมอแคลง จึงมีความสับสนเกี่ยวกับเสนาสนะ โบราณสถาน โบราณวัตถุ อยู่มากมายหลายเรื่อง ที่เคยเห็นก็จะมีบางแห่งที่เขียนว่าเจ้าแม่กวนอิมหยกขาวสูง 3 เมตร อัญเชิญมาจากประเทศจีน ประดิษฐานบนเขาสมอแคลง เป็นเจ้าแม่กวนอิมของวัดเขาสมอแคลง ซึ่งความจริงเจ้าแม่กวนอิมหยกขาวประดิษฐานอยู่ในวัดราชคีรีหิรัญยาราม แม่แต่เรื่องเจดีย์ยอดด้วนบนยอดเขาสมอแคลง บ้างก็บอกว่าเป็นของวัดเขาสมอแคลง ซึ่งความจริงอยู่ใกล้กับสำนักสงฆ์สระสองพี่น้องมากกว่า ดังนี้เป็นต้น

 สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง เป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่บนเขาสมอแคลง ถัดจากวัดราชคีรีหิรัญยาราม ไปไม่นานนักเพราะเขาสมอแคลงไม่ใช่ภูเขาขนาดใหญ่ แต่ละวัดจึงไม่ได้อยู่ห่างกันมากนัก

สถานที่ที่น่าสนใจ
 พระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์
 เจดีย์ยอดด้วน
 สระสองพี่น้อง

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.พิษณุโลก โทร.0 5525 2742-3, 0 5525 9907, 0 5523 1063
http://www.tourismthailand.org/phitsanulok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 13316

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ศาลาบวรชินรัตน์

ศาลาบวรชินรัตน์ การเดินทางขึ้นเขาสมอแคลงของเราผ่านทางแยกบริเวณวัดราชคีรีหิรัญยาราม และทางแยกไปโรงเจไซทีฮุกตึ๊ง (ดอยสุเทพ 2) เพียงไม่ไกลก็เข้าสู่บริเวณสำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง ซึ่งตั้งอยู่สุดถนนขึ้นเขาสมอแคลง สำนักสงฆ์แห่งนี้มีกุฎิกระจายอยู่หลายหลัง มีศาลาหลังหนึ่งเป็นสถานที่เราจอดรถ หลังจากนั้นเดินมุ่งหน้าไปทางพระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ ข้างๆ ทางเดินขึ้นพระเจดีย์ มีศาลาบวรชินรัตน์ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ เป็นเจดีย์ที่สร้างระหว่างปี 2546 - 2548 โดยมีประวัติที่บันทึกไว้โดยผู้สร้างเจดีย์ คือนาวาเอกจุลินทร์ เหลือนาค มีใจความดังต่อไปนี้
ประวัติการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2545 ข้าพเจ้า นาวาเอกจุลินทร์ เหลือนาค ได้ขึ้นมาจังหวัดพิษณุโลกเพื่อมาอยู่กับบุตรสาวคนโต (อาจารย์จุฑารัตน์ เกตุปาน) ตามที่ได้อธิษฐานต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ว่า ในปีนี้จะขึ้นมาตายที่บ้านเก่า ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2545 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวที่เขาแดง ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะสร้างพระมหาเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระแม่ย่าเสือง ตลอดจนบรรพบุรุษที่ได้กอบกู้และตั้งเป็นอาณาจักรแห่งชนชาติไทยขึ้น การดำเนินการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ปรากฏว่ามีอุปสรรคมากมายจึงไม่อาจสร้างได้ในขณะนั้น
ต้นปีพุทธศักราช 2546 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้พบกับหลวงปู่ศรี จนฺทสาโร ที่วัดนายโรง กรุงเทพฯ ท่านได้เมตตาชี้แนะว่า หากโยมจุลินทร์ จะสร้างพระมหาเจดีย์ ต้องไปบอกกล่าวกับหลวงพ่อพระพุทธชินราชก่อน โดยให้จัดละครชุดใหญ่ 1 ชุด ให้ไปรำถวาย พร้อมทั้งหัวหมู 2 หัวเพื่อเลี้ยงบริวารของท่าน ดอกไม้ 7 สี ผลไม้ 7 อย่าง เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองพิษณุโลกได้จัดถวายพร้อมทั้งอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะสละทรัพย์สมบัติทุกอย่างที่มีอยู่เหลือเพียงนาฬิกาเรือนเดียว จะรักษาศีลห้า และจะแต่งชุดขาวเป็นนิตย์ พร้อมกันนี้ข้าพเจ้าก็จะบวชอีก 9 วัน และจะไปจำอยู่ที่บนเขาแดงตลอด 9 วัน
เมื่อข้าพเจ้าได้อุปสมบทที่วัดบึงพระ จังหวัดพิษณุโลกแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปจำที่ที่พักสงฆ์เขาแดง ได้เกิดความคิดว่าเราจำต้องสร้างบารมีเบื้องต้นก่อน ข้าพเจ้าจึงอธิษฐานจิตต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ข้าพเจ้าจะขอสร้างมหาเจดีย์ บนยอดเขาสมอแคลง ณ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้องเพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าสถานที่นี้จะเป็นที่ซ่องสุมฝึกปรือคนหนุ่มเพื่อกู้ชาติไทย ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ข้าพเจ้าได้เป็นผู้เลือกและกำหนดสถานที่เอง ในวันเพ็ญเดือนหก วันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2546 จึงกำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยได้นิมนต์ท่านพระครูพิทักษ์จุฬามณี (วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก) เป็นองค์วางศิลาฤกษ์พร้อมทั้งเรียนเชิญ พลเอก ดร. ศิริ ทิวะพันธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาสมาช่วยกันก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ สำหรับสิ่งมหัศจรรย์ที่น่าจะเล่าให้ลูกหลานฟังก็คือ ในวันวางศิลาฤกษ์นั้น ขณะที่วางศิลาฤกษ์ ประมาณ 9.00 น. ท้องฟ้ามืดครึ้ม เกิดรุ้งกินน้ำเป็นวงกลมครอบเขาสมอแคลงนี้ ต่อมาไม่นานนัก พลโทพิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 (ยศในขณะนั้น) ท่านผู้นี้เป็นศิษย์เตรียมทหารรุ่นที่ 5 ของข้าพเจ้า ได้อาสาเข้ามาช่วยในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ผู้คนหลั่งไหลกันมาทำบุญ การก่อสร้างค่อนข้างจะลำบากเพราะลักษณะภูมิประเทศลาดเอียงแต่ก็สำเร็จได้โดยสะดวก ก็ด้วยพระมหาบารมีขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประมาณ 20 เดือนก็แล้วเสร็จ จึงทำการฉลองพระบรมธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญ เดือน 3 พุทธศักราช 2548

ในปี พ.ศ. 2546 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์อุบาลี อตุโล วัดจันทร์ตะวันตกเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระอาจารย์อุบาลี อตุโล ไปเข้าสมาบัติบนเขาสมอแคลงเป็นครั้งแรก โดยมีน้อยคนนักที่จะทราบ บนกุฎิปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ซึ่งสร้างอยู่ติดกับพระมหาเจดีย์ศรีบวรรัตน์ เพื่อเป็นมงคลแก่สถานที่ที่กำลังก่อสร้างพระมหาเจดีย์นี้ สำหรับการเข้าสมาบัตินั้นข้าพเจ้าคาดการณ์เอาเองจากประสบการณ์ว่าก็คือการเข้านิโรธสมาบัติ ในวันนั้น เวลา 18.00 น. พระอาจารย์มาถึงเขาสมอแคลง ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระสงฆ์ 5 รูปมาเป็นสักขีพยานในความบริสุทธิ์ของท่านพร้อมทั้งญาติโยมอีกประมาณ 20 คน ข้าพเจ้าได้ประกาศต่อหน้าพระอาจารย์และที่ประชุมว่า ในปีนี้ขอให้ท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ได้ป่าวประกาศต่อท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พร้อมด้วย เหล่าเทวดาทั้งหลายว่า ห้ามมิให้มาใส่บาตรพระอาจารย์อุบาลีก่อน ในปีนี้เรานาวาเอกจุลินทร์ เหลือนาค ซึ่งเป็นมนุษย์ขอใส่บาตรพระอาจารย์อุบาลีเป็นคนแรก แล้วจึงให้เทวดามาใส่บาตรหลังข้าพเจ้า ขณะนั้น พระอาจารย์อุบาลี ยืนนิ่งชั่วครู่หนึ่งแล้วจึงเดินเข้าห้องที่ปฏิบัติธรรม พระสงฆ์สวดชยันโต ปิดประตูห้องเป็นเสร็จพิธี เมื่อมาถึงวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชา พ.ศ. 2547 วันนี้จะเป็นวันพระที่อาจารย์จะออกจากสมาบัติ ข้าพเจ้า ได้ขึ้นไปเปิดประตูชั้นล่างโดยมีหลานสองคน พยุงขึ้นไป ข้าพเจ้าได้เอาทองคำแปดบาทใส่บาตรพระอาจารย์อุบาลีเป็นคนแรกได้จริง เมื่อพระอาจารย์ลงมาข้างล่างเพื่อบิณฑบาตรโปรดสัตว์ มีลมพัดกรรโชกมา 3 ครั้ง มีเกสรดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งเต็มไปหมดโดยไม่ทราบว่าเป็นดอกอะไร ติดอยู่บนศรีษะคนเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้คือติดอยู่ที่ศรีษะอาจารย์ยาณี วราศิระ เป็นที่น่าอัศจรรย์เพราะบริเวณนั้นมีเพียงดอกเฟื่องฟ้าเท่านั้น

ในคืนวันมาฆบูชา ปี พ.ศ. 2547 เวลาประมาณ 24.00 น. พระอาจารย์อุบาลี อตุโล ได้กล่าวกับลูกหลานของข้าพเจ้าและญาติธรรมว่า โยมจุลินทร์กล้าหาญมากกล้าห้ามพระอินทร์ ดีว่าเทวดาเขาสาธุเลยไม่เป็นอะไร การที่โยมจุลินทร์อธิษฐานในตอนใส่บาตรเป็นคนแรกเป็นความจริงทุกประการ คำที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานในวันนั้นก็คือ
1. ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีบุญ
2. ผู้ใดที่เคยเกิดเคยตายตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขอให้ได้มาร่วมบุญกับข้าพเจ้าแม้เพียงบาทเดียว เป็นต้นไปขอให้ข้าพเจ้าได้นำเขาเหล่านั้นขึ้นสู่เมืองฟ้า (สวรรค์)
3. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นอัมพาตเพราะจะได้นำสังขารนี้ไปบอกบุญแก่คนทั่วไป
เมื่อพระอาจารย์อุบาลี อตุโล ออกจากสมาบัติครั้งแรก ปี พ.ศ. 2547 มีคนมาทำบุญใส่บาตรกับท่านเป็นจำนวนถึง 1,200,000 ท่านเมตตามอบเงินให้แก่ข้าพเจ้าหมดเพื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ ข่าวได้เล่าลือไปทั่วสาระทิศทำให้คนมาทำบุญกับท่านมากมาย ข้าพเจ้าและคณะกรรมการได้ดำเนินการก่อสร้างพระมหาเจดีย์เสร็จในปลายปีพุทธศักราช 2547 นั่นเอง ข้าพเจ้ากำหนดว่าเมื่อพระอาจารย์อุบาลี อตุโล ออกจากสมาบัติในวันเพ็ญเดือน 3 ปี พ.ศ. 2548 ก็ให้เป็นวันเฉลิมฉลองพระมหาเจดีย์องค์นี้ด้วย โดยให้พระอาจารย์อุบาลี อตุโล เป็นองค์ประธานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุไว้ภายในผอบทองคำหนัก 25 บาท ขึ้นบรรจุไว้บนยอดพระมหาเจดีย์องค์นี้ ในขณะที่พระอาจารย์ออกรับบิณฑบาตรเดินโปรดสัตว์อยู่นั้น คุณเล็ก (คุณคณิชชา ยิ้มแย้ม) ได้ถ่ายรูปเข้าไว้แต่ข้าพเจ้าเพิ่งได้มีโอกาสเห็นรูปนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 นี้เอง เขาบอกว่าเทวดามีจริงแน่นอน เพราะภาพนั้นเป็นภาพขยาย 3 รูปโดยถ่ายต่อเนื่องกัน มีลำแสงสีขาวค่อยๆ เคลื่อนตัวจากไหล่พระอาจารย์อุบาลีลงสู่ถุงย่ามตามลำดับ
เมื่อพระอาจารย์อุบาลี อตุโล ออกจากสมาบัติครั้งที่สอง ณ ที่เดิม ในวันมาฆบูชา ปี พ.ศ. 2548 พระบรมธาตุศรีบวรชินรัตน์จึงเสร็จสมบูรณ์

พระบรมธาตุศรีบวรชินรัตน์สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง

พระบรมธาตุศรีบวรชินรัตน์สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างโดยใช้แบบฝีมือช่างกรุงสุโขทัยเป็นต้นแบบ บริเวณโดยรอบๆ องค์มหาเจดีย์มีลานกว้างพอสมควรสำหรับกระทำทักษินาวัตร (เวียนเทียน) นอกจากนี้ในวันธรรมดา ประชาชนจะเดินทางมาที่สำนักสงฆ์สระสองพี่น้องเพื่อชมวิว หลังจากที่สักการะองค์พระเจดีย์เรียบร้อยแล้ว บนลานประทักษินจะมองเห็นวิวกว้างไกลของอำเภอวังทอง ที่ยังคงมีพื้นที่เกษตรกรรมเขียวขจีสุดสายตา

ชมวิวสวยๆ บนสำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง

ชมวิวสวยๆ บนสำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง

พระพุทธลีลาธรรมราชาลิไท

พระพุทธลีลาธรรมราชาลิไท เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของพระบรมธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ ที่มีพระพุทธรูปปางลีลาพระพุทธศิลป์งดงามทั้งสี่ด้าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และพระวิสุทธิกษัตรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา เรือนยอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์มีผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระนลาฎคือกระดูกหน้าผากของพระพุทธเจ้า

เจดีย์ยอดด้วนหรือเจดีย์ด้วน

เจดีย์ยอดด้วนหรือเจดีย์ด้วน มีเรื่องเล่าว่า เจดีย์บนยอดเขาสมอแคลง ผู้สร้างคือพระยาจิตรไวย สร้างเพื่อบรรจุพระธาตุเจ้าของพระอุบาลีเถระและพระศิริยานนท์ เจดีย์บนเขามีการสร้างซ่อมแซมบูรณะมาหลายครั้ง
การขุดค้นทางโบราณคดีและการขุดแต่งโบราณสถาน บนยอดเขาสมอแคลงหลักฐานที่พบคือ เจดีย์ทรงลังกา มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 3 ชั้น หลังจากนั้นจะเป็นฐานแปดเหลี่ยม แล้วขึ้นเป็นองค์ระฆัง แต่ไม่พบบัลลังก์ คือ จากองค์ระฆังก็ถึงปล้องไฉน รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยตอนปลายหรือสมัยอยุธยาตอนต้น หลักฐานแสดงว่า น่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งอาจเป็นสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ได้
ตำราพิชัยสงคราม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าจัดทำขึ้น เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงครองเมืองพิษณุโลก หลักฐานนี้แสดงว่าเขาสมอแคลงน่าจะมีความสำคัญทางด้านฝึกทหาร หรือใช้ไปดูกำลังศึก ซึ่งปัจจุบันกองทัพก็ได้ใช้เขาสมอแคลงในการฝึกรบเช่นกัน

เจดีย์ยอดด้วนหรือเจดีย์ด้วน

เจดีย์ยอดด้วนหรือเจดีย์ด้วน ปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่คือองค์เจดีย์ที่มีการชำรุดตรงส่วนยอด ส่วนคอระฆังเองก็แตกชำรุดทลายลงจนเหลือเพียงครึ่งเดียว ตามพงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า
พระยาจิตรไวย เจ้าเมืองน่าน สร้างเจดีย์องค์นี้เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์เถระเจ้า คือ พระอุบาลีเถระ และพระศิริมานนท์เถระ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ 2 รูป ที่ได้รับนิมนต์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สร้างพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
มีผู้รู้เล่าว่า เจดีย์องค์นี้เป็นที่บรรจุพระอัฐิ เจ้าเมืองพิษณุโลกทุกพระองค์ ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมหลายครั้ง อิฐทุกก้อนที่สร้างเจดีย์นี้จะมีลวดลายบนแผ่นอิฐ ลวดลายทั้งหมดได้มีการคัดลอกเอาไว้โดยช่างกรมศิลปากร พบว่ามีลวดลายทั้งหมด 27 ภาพ แบ่งออกเป็น 11 หมวดหมู่ ลวดลายบนภาพแบ่งออกได้เป็น ภาพเทพเทวดา ภาพสัตว์ ภาพดอกไม้ และภาพทรงเรขาคณิต คาดว่าเจดีย์องค์นี้มีอายุประมาณราว 700 ปี

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง พิษณุโลก
บ้าน 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 400 ตร.ม. – สมอแข เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทามัน สปา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านดวงกมล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเลอปาร์ค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมอมรินทร์ ลากูน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนแพ รอยัล พาร์ค พิษณุโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรัตนาปาร์ค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรัตนา วิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมคาซา ฮอลิเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรอยัล เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ สำนักสงฆ์สระสองพี่น้อง พิษณุโลก
เขาสมอแคลง พิษณุโลก
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระมหาชัยเจดีย์ศรีสมอแคลง(เจดีย์ยอดด้วน)
  0.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงเจไซทีฮุกตึ๊ง พิษณุโลก
  1.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว พิษณุโลก
  1.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดราชคีรีหิรัญยาราม พิษณุโลก
  1.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขาสมอแคลง พิษณุโลก
  1.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดคลองเรือ พิษณุโลก
  1.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
สี่แยกอินโดจีน พิษณุโลก
  12.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการเดินตามรอยเท้าพ่อ (เกษตรอินทรีย์) กองทัพภาคที่ 3
  20.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกสกุโณทยาน (น้ำตกวังนกแอ่น)
  22.27 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com