www.touronthai.com

หน้าหลัก >> หนองบัวลำภู >> วัดถ้ำกลองเพล

วัดถ้ำกลองเพล

 วัดถ้ำกลองเพล เป็นวัดป่าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ไป 13 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เดิมสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยขอมเข้ามาครอบครองแผ่นดินแห่งนี้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.ใด ต่อมาเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2501 พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโยพระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ได้อาศัยวัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้พื้นที่ที่เกิดจากหมู่ก้อนหินขนาดใหญ่ 3-4 ก้อน ที่มีหลืบและชะโงกหิน ก่อเป็นหลังคาคอนกรีตเชื่อมถึงกัน ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ สามารถจุคนได้หลายร้อยคน เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นั่นจนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2526

ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีเนื้อที่กว้างขวาง ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ ป่าเขียว และสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดดูสวยงามกลาดเกลื่อนวัด มีถ้ำซึ่งภายในถ้ำมีกลองโบราณสองหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กลองเพล ภายในถ้ำมีรูปปั้นของหลวงปู่ขาว ตามซอกหินภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปัญฑรนิมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำหลักลงในก้อนหิน และมีพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าถ้ำกลองเพล

จากวัดถ้ำกลองเพลไม่ไกลนักมีถนนลาดยาง ลัดเลาะไปตามแนวป่าและหมู่ก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ก็จะถึงอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ขาว ที่ประกอบด้วย

พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่ขาว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวใช้เป็นที่ระลึกและสักการะบูชาของศาสนิกชนทั่วไป

กุฎิเก่าของหลวงปู่ขาว เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ตั้งอยู่กลางดงไม้ บรรยากาศร่มรื่น ส่วนกุฏิใหม่สร้างเป็นเรือนทรงไทยทันสมัยหลังใหญ่

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว สร้างขึ้นในรูปทรงของก้อนหินเรียงกัน 3 ก้อน เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศของวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเต็มไปด้วยสวนหิน รอบๆ บริเวณตกแต่งด้วยไม้ดอกและสนามหญ้าสีเขียวขจี ภายในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่านั่ง ห้องข้างๆ ยังมีเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวตั้งแสดงไว้ด้วย

เจดีย์หลวงปู่ขาวและมณฑปหลวงปู่ขาว อยู่วัดถ้ำกลองเพล โดยมีทางแยกทางขวามือเข้าไปประมาณ 300 เมตร สร้างอยู่บนลานหินมีบันไดเป็นทางเดินขึ้นไปสู่องค์เจดีย์
เจดีย์หลวงปู่ขาว เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อใช้บรรจุอัฐิหลวงปู่ขาว
มณฑปหลวงปู่ขาว เป็นมณฑปจตุรมุขที่หลวงปู่ขาวสร้างไว้ครั้งยังมีชีวิตอยู่เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรม รอบๆ บริเวณ เงียบสงบและร่มรื่น

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812,0 4281 1405
http://www.tourismthailand.org/loei

แก้ไขล่าสุด 2017-06-11 11:42:24 ผู้ชม 36079

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าวัดถ้ำกลองเพล

ทางเข้าวัดถ้ำกลองเพล จากตัวเมืองหนองบัวลำภู มุ่งหน้าไปยังอุดรธานีด้วยทางหลวงหมายเลข 210 เป็นถนนที่ค่อนข้างใหญ่ เดินทางได้สะดวก ระหว่างทางจะมองเห็นทางเข้าวัดถ้ำกลองเพลอยู่ขวามือ โดยมีรูปเหมือนหลวงปู่ขาวพร้อมที่สำหรับสักการะ จุดธูปเทียน แจกันดอกไม้พร้อมอยู่ริมทาง ถนนลาดยางเข้าวัดมีป้ายอยู่เหนือถนนบอกให้รู้ได้เลยว่ามาไม่ผิดทางแน่ๆ ถ้ามาจากตัวเมืองหนองบัวลำภูจะเลี้ยวขวาเข้าวัดเลยไม่ได้ ต้องตรงไปก่อนเพื่อหาที่กลับรถ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทางโค้งลาดลงเขาจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เข้าถนนเข้าวัดแล้วขับตรงไปเรื่อยๆ จะผ่านชุมชนหมู่บ้านตรงอย่างเดียวจะถึงวัดถ้ำกลองเพลในที่สุด

ไหว้พระวัดถ้ำกลองเพล

ไหว้พระวัดถ้ำกลองเพล เข้ามาในกำแพงวัดถ้ำกลองเพล จะเห็นลานจอดรถอยู่ข้างพระอุโบสถ แต่พระอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล จะมีลักษณะแตกต่างจากวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ขัด เมื่อแรกเข้ามาหากไม่มีป้ายบอกว่าเป็นพระอุโบสถหลายคนจะมองไม่ออกเลยด้วยซ้ำ อุโบสถวัดถ้ำกลองเพลนั้น เป็นการก่อสร้างผนังและหลังคาบางส่วนแทรกเข้าไประหว่างก้อนหินขนาดใหญ่ ที่อยู่ใกล้ๆกัน เดิมทีเดียวจะมีลักษณะคล้ายหลืบหรือเพิงหิน เมื่อสร้างผนังก่อปิดช่องว่างแล้วก็เป็นอาคารก่ออิฐสลับกับหินที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะเป็นประตูเข้าอุโบสถจะเห็นมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ บนฐานที่สร้างเป็นชั้นๆ ระหว่างซอกหิน เราจะไหว้พระตรงนี้ก่อนที่จะเข้าไปภายในอุโบสถ พระพุทธรูปบริเวณนี้หากจะเปรียบกับอุโบสถทั่วไปที่สร้างด้วยการก่ออิฐทั้งหลังก็คล้ายพระพุทธรูปที่อยู่ด้านหน้าประตูอุโบสถนั่นเอง

อุโบสถวัดถ้ำกลองเพล

อุโบสถวัดถ้ำกลองเพล ความสำคัญอย่างหนึ่งของเสนาสนะแห่งนี้นอกเหนือจากเป็นอุโบสถวัดแล้ว ยังเป็น สัญลักษณ์สถาน การเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่พสกนิกร ณ สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าสถานที่เหล่านั้นจะทุรกันดาร หรือมีภัยอันตรายมากเพียงใด พระองค์ท่านก็มิได้ย่อท้อ หรือกลัวเกรงภัยอันตรายนั้นแต่อย่างใด เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อชาติบ้านเมือง และพสกนิกรทั้งมวล จังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้สร้างสัญลักษณ์ แห่งสถานที่พระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ธรรมชาติของวัดถ้ำกลองเพลจะมีหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ แม้แต่ด้านหน้าของอุโบสถ ก็มีหินขนาดใหญ่ 2 ก้อน มีช่องว่างระหว่างก้อนหินกว้างพอที่จะเดินผ่านไปยังบันไดอุโบสถได้

พระพุทธรูปในอุโบสถ

พระพุทธรูปในอุโบสถ เมื่อเข้ามาด้านในอาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเป็นหินขนาดใหญ่ จะพบพระพุทธรูปจำนวนหลายองค์ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือ เป็นพระประธานในอุโบสถ

พระพุทธรูปในอุโบสถ

พระพุทธรูปในอุโบสถ ผนังอีกด้านหนึ่งของอุโบสถวัดถ้ำกลองเพลมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ จากพระพุทธรูปองค์นี้ไปด้านขวามือจะมีผนังหินสูงใหญ่มีพระพุทธรูปและรูปเหมือนของหลวงปู่ขาว หลวงปู่มั่น เป็นต้น

ภายในอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล

ภายในอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล มีซอกหลืบหินตามธรรมชาติหลายแห่ง ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และรูปเหมือนของพระบูรพาจารย์ รวมทั้งภาพถ่าย จัดเรียงไว้ในตำแหน่งตามความเหมาะสมของลักษณะผาหินที่นำมาใช้เป็นผนังด้านหนึ่งของโถงที่สร้างขึ้นเป็นพระอุโบสถ และด้านหนึ่งมีกลอง 2 หน้า ที่ชาวบ้านจะเรียกว่ากลองเพล เพราะพระจะใช้การตีกลองนี้บอกเวลาฉันภัตตาหารเพล (อาหารกลางวัน) ผนังที่ก่อขึ้นตรงที่ตั้งกลองเพลมองเห็นว่ามีผนังชั้นในที่ก่อสร้างไว้ก่อนหน้านี้เพราะดูค่อนข้างมีอายุเก่าแก่ ก่อนที่จะมีการสร้างผนังด้านนอกปิดทับอีกชั้นหนึ่งทั้งหลัง

พระพุทธรูปใกล้อุโบสถ

พระพุทธรูปใกล้อุโบสถ ด้านหนึ่งของอุโบสถวัดถ้ำกลองเพลถ้าสังเกตุให้ดีจะมีบันไดเหมือนจะขึ้นไปบนชั้น 2 แต่ความจริงเป็นบันไดขึ้นไปยังโถงหินแห่งหนึ่ง มีลักษณะเป็นถ้ำที่ไม่ลึกมากนัก มองเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในสุดของถ้ำได้ ตรงปากทางเข้าถ้ำแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ องค์ที่อยู่ด้านซ้ายมือของรูปนี้คือ หลวงพ่อพระโกนาคม มีจารึกที่ฐานแบบเขียนลงในเนื้อหินด้วยลายมือ ข้อความว่า "ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีจิตศรัทธา ปาสาทะความเลื่อมใสเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ สร้างไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2513 หลวงปู่หนา ปุญญาพโย หลวงปู่เสาร์ พระบุญเรือง พระประสาร ส ณ สำอางค์ เป็นนายช่างทำ" พระโกนาคมนพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 23 ถัดจากพระกกุสันธพุทธเจ้า ที่พระองค์มีพระนามเช่นนี้เนื่องจากพระประยูรยาติขนานนามของพระองค์ว่า โกนาคมน์ เพราะในขณะที่พระองค์ประสูติ ฝนทองได้ตกลงมาทั่วทั้งชมพูทวีป พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดภิยโยสราชกุมารและอุดรราชกุมาร พร้อมด้วยบริวาร ทรงมีพระชนมายุ 30,000 ปี ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/พระโกนาคมนพุทธเจ้า

พระพุทธรูปบนผนังถ้ำ

พระพุทธรูปบนผนังถ้ำ จุดเด่นอย่างหนึ่งภายในถ้ำที่อยู่ใกล้กับอุโบสถ มีพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายองค์ติดอยู่บนผนังหินเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

พระกัสสปพุทธเจ้า

พระกัสสปพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในสุดของถ้ำ ด้านหลังองค์พระมีหินขนาดใหญ่เกือบปิดถ้ำ พระกัสสปะพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ ทรงจุติลงมาในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระโกนาคมพุทธเจ้าแล้ว โดยนับตั้งแต่อายุมนุษย์ลดลงจากสองหมื่นปีเหลือ 10 ปี แล้วเพิ่มขึ้นจนถึงสองหมื่นปีอีกครั้ง พระองค์จึงเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดานามว่าพรหมทัต มารดานามว่าธนวดี มเหสีนามว่าสุนันทา มีโอรสชื่อว่าวิชิตเสน ทรงเป็นฆราวาสอยู่ 2,000 ปี เมื่อเห็นเทวทูตทั้งสี่ จึงออกผนวช บำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วันก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระอัครสาวกของพระองค์คือพระติสสเถระและพระภารทวาชเถระ พระอัครสาวิกาคือพระอนุลาเถรีและพระอุรุเวลาเถรี อัครอุบาสกคือ สุมงคลอุบาสกและฆฏิการอุบาสก อัครสาวิกาคือวิชิตเสนาอุบาสิกาและภัททาอุบาสิกา พระกายสูง 20 ศอก รัศมีพระกายเหมือนจันทร์ทรงกลด มีพระชนมายุได้สองหมื่นปี พระศาสนาของพระองค์อยู่ได้สองหมื่นปี ในสมัยพุทธกาลนี้ พระโคตมพุทธเจ้าได้เกิดเป็นโชติปาลมานพ สหายของฆฏิการอุบาสก ได้ฟังธรรมแล้วมีจิตเลื่อมใสจึงออกบวช และได้รับพุทธพยากรณ์ว่าต่อไปภายหน้าโชติปาลภิกษุจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/พระกัสสปพุทธเจ้า

บรรยากาศอันร่มรื่นของวัดถ้ำกลองเพล

บรรยากาศอันร่มรื่นของวัดถ้ำกลองเพล นอกเหนือจากสภาพสวนหินขนาดใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ในวัดแห่งนี้ยังมีต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิดสร้างความรู้สึกร่มรื่นให้กับผู้ที่เข้ามาในวัด หลังจากที่กราบพระในอุโบสถและพระพุทธรูปหลายองค์ใกล้ๆ กับอุโบสถ จากด้านหน้าอุโบสถมีถนนลาดยางเข้าไปภายในพื้นที่อันกว้างขวางของวัด ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกหลายอย่างภายในวัดถ้ำกลองเพลแห่งนี้ซึ่งเราจะพาเข้าไปชมกันครับ

กุฎิบนหิน

กุฎิบนหิน จากอุโบสถขับรถตรงเข้าไปตามทางเรื่อยๆ ประมาณ 300 เมตร จะมีทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางเขียนว่า มณฑปหลวงปู่ขาว และ เจดีย์หลวงปู่ขาว เลี้ยวขวาเข้ามาไม่ไกลก็จะเห็นกุฎิหลังหนึ่งเป็นการสร้างกุฎิที่พักสงฆ์อยู่บนหินขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อการฝึกจิตใจให้สงบ กุฎิที่สร้างลักษณะเดียวกันนี้มีให้เห็นอยู่หลายจุดในวัด จอดรถไว้ที่ก้อนหินนี้เพื่อเดินขึ้นไปบันไดไปยังเจดีย์หลวงปู่ขาวครับ

เจดีย์หลวงปู่ขาว

เจดีย์หลวงปู่ขาว สร้างอยู่บนลานหินสูงไม่มากนัก มีบันไดนาคทอดขึ้นไปประมาณสิบกว่าขั้น ขึ้นบันไดมาแล้วเจดีย์หลวงปู่ขาวองค์สีขาวนี้โดดเด่นอยู่บนลานประทักษินสูงขึ้นไปไม่มากอีกชั้นหนึ่ง อยู่ด้านซ้ายมือของเรา เยื้องไปด้านหน้าจากที่เรายืนอยู่ที่บันไดเป็นมณฑปหลวงปู่ขาว ความสำคัญของเจดีย์หลวงปู่ขาวคือเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ขาว มีรูปหลวงปู่ขาวอยู่ด้านหน้ามีการปิดทองคำเปลวบนรูปหลวงปู่ พร้อมกับอักษรจารึกว่า เจดีย์อังคารอนาลโย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 มีชาวบ้านนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะอัฐิหลวงปู่ขาวอยู่เป็นประจำ จากคำบอกเล่าของผู้ดูแลสถานที่เล่าว่า ในระยะหลังเมื่อมีการสร้างพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย ขึ้นมาที่อีกด้านหนึ่งของวัด คนที่จะขึ้นมาชม มาสักการะอัฐิหลวงปู่ขาวที่เจดีย์แห่งนี้ก็ลดลงไปมาก

มณฑปหลวงปู่ขาว

มณฑปหลวงปู่ขาว หรือมณฑปอนาลโย เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีทางสงฆ์ มณฑปแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยหลวงปู่ขาวยังมีชีวิตอยู่ ปี พ.ศ. 2511 เดิมทีเปิดให้เข้าชมได้ ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บข้าวของเครื่องใช้บางอย่างของหลวงปู่ขาว อนาลโย และปิดตายไว้ ด้านหลังของมณฑปจะมีระเบียงเดินชมวิวทิวทํศน์ได้รอบบริเวณ จนกาลเวลาผ่านไปหลายปี ต้นไม้ใกล้ๆ ระเบียงเติบโตขึ้นจนปิดทิวทัศน์ไปหมดแล้ว

พระพุทธรูปหินแกะสลัก

พระพุทธรูปหินแกะสลัก เป็นงานสลักลงบนหินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณบันไดขึ้นมณฑปอนาลโย หินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณนี้มีอยู่มาก แต่ที่เห็นการสลักหินแบบนี้มีอยู่เพียงจุดเดียว พระพุทธรูปบนหินก้อนใหญ่นี้มีพระนามว่า "พระพุทธศิลามหาจำเริญ"

เส้นทางภายในวัด

เส้นทางภายในวัด ออกจากเจดีย์หลวงปู่ขาวและมณฑปอนาลโย กลับเข้าถนนสายหลักของวัดเลี้ยวขวาเดินทางลึกเข้าไปตามแนวป่าที่มีต้นไม้เรียงรายจำนวนมากแตกต่างจากบรรยากาศพื้นที่อื่นๆ นอกวัดที่ค่อนข้างจะมีต้นไม้อยู่น้อย แสดงให้เห็นความเป็นวัดป่า หรือวัดสำหรับพระปฏิบัติ ระยะทางยาว เกือบ 2 กิโลเมตร ถึงพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย เส้นทางลาดยางยาวตลอดทาง มีเพียงบางช่วงที่ลาดขึ้นเนินลงเนินตามสภาพของเนินเขา มีบางช่วงมีหินอยู่ระหว่างทางจนทำให้ต้องตัดถนนลัดเลาะก้อนหินเหล่านี้เป็นทางโค้งหักศอกที่ต้องระวังเป็นพิเศษ แนะนำว่าให้ขับช้าๆ ครับ อีกอย่างจะได้ไม่รบกวนพระท่านผู้กำลังปฏิบัติธรรมในบริเวณวัดด้วย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย ก่อนที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้จะผ่านอาคารหลังหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งมีทางแยกไปยังกุฏิหลวงปู่ขาวอยู่ซ้ายมือ แต่ด้วยแนวคิดที่ว่าพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร อยู่ลึกสุดในวัดก็เลยเข้ามาที่นี่ก่อนแล้วค่อยย้อนกลับออกไปยังกุฏิหลวงปู่ขาว และพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งทีหลัง เส้นทางเข้ามายังพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร เป็นเส้นทางเดินรถทางเดียว มีลานจอดรถขนาดใหญ่มาก น่าจะใหญ่ที่สุดในบรรดาลานจอดรถในบริเวณวัดถ้ำกลองเพลก็ว่าได้ มีประชาชนเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร ซึ่งมีรูปร่างของอาคารแบบประยุกต์สวยงามนี้กันจำนวนมากในแต่ละวัน

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย ด้านหน้าของอาคารสร้างบันไดขึ้นมายังอาคารท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับหลายอย่าง หลายชนิด มีรูปปั้นช้าง 1 คู่ อยู่ข้างทางเดินด้านหน้าอาคารเด่นเป็นสง่าแต่ไกล หลวงปู่ขาวมาจำพรรษาอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำกลองเพลเมื่อปี พ.ศ. 2501 หลังจากมรณภาพ ปี พ.ศ. 2526 ทางการและศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ของท่านไว้ 2 แห่ง คือพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร เป็นหินอ่อน สร้างขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของท่าน เป็นที่ระลึกและเป็นที่เคารพสักการะของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วไป ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ขาว

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย อาคารทรงประยุกต์ดูทันสมัยหลังนี้สร้างแบบจตุรมุข เหมือนกันทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้าออกเป็นบานกระจกใส 3 ด้าน ส่วนอีกด้านคือด้านหลังเป็นที่ตั้งรูปเหมือนหลวงปู่ขาว จึงไม่มีช่องประตูเข้าออก รูปร่างที่สวยงามแปลกตาของอาคารหลังนี้เป็นจุดสนใจของประชาชนที่เดินทางมา ทุกๆ คนที่มาถึงที่นี่จะเอาโทรศัพท์ หรือกล้องถ่ายรูปออกมาเก็บภาพอาคารสวยหลังนี้กันทุกคน

รูปเหมือนหลวงปู่ขาว

รูปเหมือนหลวงปู่ขาว อยู่ด้านในพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขาร ภายในอาคารที่สร้างขึ้นมา ทุกๆ ด้านตกแต่งให้เป็นตู้กระจกแบบฝังติดผนัง ภายในตู้กระจกมีเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวที่หลวงปู่ใช้ในระหว่างการออกธุดงค์ จาริก ปลีกวิเวกไปยังพื้นที่ต่างๆ เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศ

สมุดประจำตัวพระภิกษุ

สมุดประจำตัวพระภิกษุ เป็นเอกสารเพื่อแสดงว่าเป็นพระภิกษุ เหมือนกับการมีบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลทั่วไป สำหรับหลวงปู่ขาวอนาลโยก็มีเอกสารนี้ เป็นเอกสารที่เก่ามีอายุมากอย่างที่เห็นครับ

ความร่มรื่นรอบอาคาร

ความร่มรื่นรอบอาคาร หลังจากสักการะรูปเหมือนหลวงปู่ขาว อนาลโยแล้วก็เดินชมรอบๆ พิพิธภัณฑ์ สังเกตุเห็นสวนรอบๆ อาคาร กับป่าไม้ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ในฤดูแล้งเดือน มกราคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอิสานของไทยเข้าสู่สภาวะขาดน้ำ หลายๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ต้นไม้ในภาคอิสานส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลืองหรือทิ้งใบจนหมด แต่สวนรอบๆ พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งอยู่ห่างจากอุโบสถเกือบ 2 กิโลเมตร กลับได้รับการดูแลจนมีสีเขียวขจีแตกต่างจากต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว อนาลโย

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว อนาลโย พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว หลังนี้ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ย้ายไปอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ขาว ที่ท่านใช้ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่แทน หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นพระวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่งในสายพระธุดงค์กรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตะเถระ เป็นคนอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในปัจจุบันคือ จังหวัดอำนาจเจริญ) มีนามเดิมว่า ขาว โคระถาา สมัยเป็นฆราวาสมีอาชีพทำนา ได้ครองเพศฆราวาสจนอายุ 31 ปี จึงได้ออกบวช ได้อยู่จำพรรษาเพื่อศึกษาหลักธรรมวินัยในวัดโพธิ์ศรีอยู่ 6 ปี จากนั้น ได้ออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน และได้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ท่านได้ย้ายที่จำพรรษาไปหลายแห่งเช่นที่ถ้ำเป็ด บ้านชุมพล ภูเขาค้อ ถ้ำค้อ จนท้ายที่สุดได้มาจำพรรษาที่ถ้ำกลองเพล ซึ่งในสมัยนั้นเป็นป่าดงหนาทึบเต็มไปด้วยถ้ำหิน ภูเขา และโขดหินใหญ่น้อยมากมาย เป็นที่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาและได้จำพรรษาอยู่จนมรณภาพเมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม 2526 ศิษยานุศิษย์ ประชาชนทั่วไปที่รักเคารพและศรัทธาในหลวงปู่ขาวได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นเป็นรูปทรงหินเรียงกัน 3 ก้อน ให้เข้ากับภูมิประเทศในบริเวณวัดซึ่งเต็มไปด้วยหินขนาดใหญ่มากมายกระจัดกระจายทั่วพื้นที่

กุฎิธรรมชาติ

กุฎิธรรมชาติ อีกภาพหนึ่งที่จะนำมาฝากกันเป็นภาพสุดท้ายจากวัดถ้ำกลองเพลก็คือกุฎิที่สร้างแบบกลมกลืนกับบรรยากาศธรรมชาติโดยสร้างบนหินที่มีอยู่ทั่วไปในวัด ว่างๆ ผ่านไปทางหนองบัวลำภู เข้าไปสักการะรำลึกถึงพระสุปฏิปันโณ ผู้มีจริยวัตรงดงาม เป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วประเทศที่วัดถ้ำกลองเพลกันครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู
หนองบัวลำภู ซิกเนเจอร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
หนองวัวซอ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
หนองบัว การ์เดน วิลล์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟ้าหลวง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
จีเอ็ม กรีน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  35.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
โฮมสเตย์เอสทีซี เบด แอนด์ เบรคฟาสต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  38.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านต้น รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  40.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
นาดี รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
อัมรินทร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  43.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสุขใจ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู
พิพิธภัณฑ์หอยหินโบราณ หนองบัวลำภู
  3.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
พี.ซี.แรนช์ PC Cowboy Town
  6.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์หัตถกรรมปั้นหม้อบ้านโค้งสวรรค์ หนองบัวลำภู
  9.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ หนองบัวลำภู
  11.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนองบัวลำภู
  15.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
นิทรรศการและแหล่งรวมร้านผ้าเมืองลุ่มภู
  16.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
หนองบัว หนองบัวลำภู
  16.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา หนองบัวลำภู
  16.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอพระบางวัดมหาชัย หนองบัวลำภู
  16.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อุดรธานี
  28.45 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com