www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ลำปาง >> วัดปงสนุก

วัดปงสนุก

 วัดปงสนุก หรือวัดปงสนุกเหนือ ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ.1223 หรือ 1,334 ปีก่อน มีสถาปัตยกรรมในวัดที่เก่าแก่และสวยงามมากมาย ได้รับรางวัล (Award of Merit) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตามโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO

  ลุงมานพ คันธวิสูตร มรรคนายกวัดปงสนุกเหนือ เล่าว่า เดิมวัดปงสนุกมีชื่อเรียกถึง 4 ชื่อ ได้แก่วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว วัดพะยาว เป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การอพยพผู้คนในเหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ.2346 ที่พญากาวิละได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่นของพม่า และได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนซึ่งเป็นชาวบ้านบ้านปงสนุกมาตั้งถิ่นฐานที่ลำปาง รวมถึงการอพยพของคนเมืองพะยาวที่หนีศึกพม่าลงมายังลำปาง ชาวปงสนุกเชียงแสน และชาวพะยาว จึงได้ตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นหมู่บ้าน ราว พ.ศ.2386 เจ้าหลวงมหาวงศ์ได้ไปฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ ครูบาอินทจักรพระอุปัชฌาย์ของครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี ได้นำชาวพะยาว (พะเยา) อพยพกลับ แต่ก็ยังคงเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ และได้มาตั้งรกรากอยู่กับชาวบ้านปงสนุก ตั้งแต่นั้นมาชื่อวัดและหมู่บ้านจึงเหลือเพียง “ปงสนุก” เพียงชื่อเดียว ต่อมา จึงได้มีการแบ่งวัดเป็นวัดปงสนุกด้านเหนือและวัดปงสนุกด้านใต้ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2429 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยเริ่มจากการซ่อมพระเจดีย์ สร้างฉัตร ก่อซุ้มประตูโขง วิหารหลังมียอด หรือวิหารพระเจ้าพันองค์ หรือวิหาร 12 ราศี หรือวิหารสะเดาะเคราะห์ ที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากในสมัยก่อนทั้งเจ้านายชั้นสูงและประชาชนทั่วไป เมื่อมีเคราะห์ ต่างก็จะพากันมาสะเดาะเคราะห์ ณ วิหารแห่งนี้ทั้งสิ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง โทร. 054-222-214
https://www.facebook.com/lampang.tourism/

แก้ไขล่าสุด 2016-04-04 15:41:27 ผู้ชม 13837

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
อุโบสถวัดปงสนุกเหนือ

อุโบสถวัดปงสนุกเหนือ ชุมชนปงสนุก มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน อย่างที่เราเขียนบรรยายเอาไว้ข้างต้น ทีนี้เราจะเข้าไปดูในวัดกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจ ถึงได้รับรางวัลใหญ่จากยูเนสโก วัดปงสนุกมีอยู่สองวัด คือวัดปงสนุกเหนือกับวัดปงสนุกใต้ ทั้งสองแบ่งกันตรงเส้นพระธาตุเจดีย์บนเนินสูง ไม่มีกำแพงกั้นมีบันไดนาคเดินขึ้นเจดีย์ได้จากทั้งสองวัด เป็นภาพที่แปลกตามากทีเดียว ปกติเราจะเดินทางมาถึงวัดปงสนุกใต้ก่อน ส่วนวัดปงสนุกเหนืออยู่สุดซอย แต่จะจอดรถที่วัดไหนก็ได้เหมือนกัน

พระธาตุวัดปงสนุก

พระธาตุวัดปงสนุก เข้ามาในวัดจอดรถหน้าโบสถ์ จากนั้นเดินมาที่จุดสำคัญของวัดก่อน คือพระธาตุเจดีย์ที่อยู่บนเนินสูง มีบันไดนาคขึ้นได้ 4 ทิศ ขึ้นจากวัดปงสนุกเหนือ หรือใต้ ก็ได้ การสร้างอยู่บนเนินสูงทำให้พระธาตุดูเด่นกว่าสิ่งใดๆ ในวัด

จากประวัติของวัดเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ ว่า "...จุลศักราช 1249 (พ.ศ.2430) ในปีที่ผ่านมา (จ.ศ. 1248 พ.ศ. 2429) ข้าฯ (ตุ๊อาโนชัย) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่วัดปงสนุกเหนือ คือได้สร้างฉัตร 4 ใบและซ่อมพระธาตุเจ้า สร้างวิหารหลังมียอด ..." แสดงให้เห็นว่าพระธาตุองค์นี้สร้างมาก่อนปี 2429 ถือว่ามีอายุเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง

วัดปงสนุก

วัดปงสนุก

พระพุทธรูปสี่องค์ประดิษฐานในมณฑปข้างพระธาตุเจดีย์ ผินหลังเข้าหากันเหมือนในวัดภูมินทร์ ของจังหวัดน่าน

หน้าบันวิหารพระนอน

หน้าบันวิหารพระนอน อีกด้านหนึ่งขององค์พระธาตุจะพบวิหารที่มีลักษณะยาวจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ นี่คือวิหารพระนอน หรือวิหารพระเจ้าพันองค์

จากการบูรณะครั้งแล้วครั้งเล่า วิหารหลังนี้ก็มีความวิจิตรงดงามของศิลปะทั้งภายนอกและภายใน วิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่รวบรวมงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน และพม่า ที่หาชมได้ยากยิ่ง

พระนอนวัดปงสนุก

พระนอนวัดปงสนุก ประวัติการก่อสร้างวิหารพระนอนและวิหารพระเจ้าพันองค์

จุลศักราช 1223 (พ.ศ. 2414) เดือนเกี๋ยง ขึ้น 13 ค่ำ ข้าฯ (ตุ๊อาโนชัย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างยังวิหารพระนอน และพระพุทธรูปเจ้านอนวัดปงสนุกเหนือ เสี้ยง (หมดสิ้น) สะตาย (ปูน) น้ำหนัก 1 ล้าน 1 แสน ใส่น้ำฮัก (รัก) 122 กระบอก และ 10,000 หม้อแก้ว (กระจก) 1,600 แผ่น ทองคำเปลว 18,830 แผ่น ตาปู 7,000 เล่ม ดินขอ (กระเบื้อง) 14,000 แผ่น

จุลศักราช 1249 (พ.ศ.2430) ในปีที่ผ่านมา (จ.ศ. 1248 พ.ศ. 2429) ข้าฯ (ตุ๊อาโนชัย) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่วัดปงสนุกเหนือ คือได้สร้างฉัตร 4 ใบและซ่อมพระธาตุเจ้า สร้างวิหารหลังมียอด (มณฑป, วิหารพระเจ้าพันองค์) และวิหารหลังลุ่ม ตลอดถึงกุฎิ ฆ้อง กลอง ระฆัง ได้ก่อซุ้มประตูโขง สร้างพญานาคขึ้นบันไดทั้ง 3 ด้าน ปิดทองคำเปลวพระนอน สิ้นทองคำเปลวทั้งหมด 28,300 แผ่น ได้ก่อสร้างกำแพงรอบชั้นบน ได้สร้างวิหารพระนอนได้สร้างอาสนา (เครื่องหลวง) หีบธรรม แท่นแก้ว ศาลาบาตร 4 หลัง จองเบิก 1 หลัง และได้หล่อพระพุทธรูปพิมพา 1080 องค์ ติดมณฑป เสร็จแล้วได้ทำบุญฉลอง ในปีจุลศักราช 1249 (พ.ศ.2430) โดยนิมนต์พระสังฆเจ้า มารับไทยทาน 300 รูป ศรัทธาอุปถัมภค้ำชูมี พระองค์ต๋นเป๋นเจ้าสุริยะจางวาง และพระองค์ต๋นเป๋นเจ้านรนันท์ชัย และเจ้าบุญรัฐบุรีศรีบุญเลิศ และแม่เจ้าคำปิ๋ว พร้อมตายะกะ (ทายก) ตายิกา (ทายิกา) ทั้งหลายและผู้ร่วมฮอมตาน (บริจาค) ดังนี้ เจ๊กฟอง 10 แถบ หลานนางคำมวล 10 แถบ เจ้าเมือง 1 แถบ เจ้าเมืองใจ-เจ้าล้อม 1 แถบ เจ้าพระยางำเมือง 2 แถบ แม่ป้าบุตร 5 แถบ ตุ๊เจ้าปินตา วัดปงสนุกใต้ ดินจี่ (อิฐ) 1,000 ก้อน พ่อเลี้ยงน้อย ดินจี่ 5,000 ก้อน เจ้าพระยามหาเทพ-เจ้าหนานสาร ค้ำปูนน้ำหนัก 1 ล้าน 1 แสน

ภาพมงคลที่พระบาทพระนอน

ภาพมงคลที่พระบาทพระนอน

วัดปงสนุก

วัดปงสนุก

บันไดนาคด้านทิศเหนือ

บันไดนาคด้านทิศเหนือ เป็นทางเดินลงจากองค์พระธาตุไปยังวัดปงสนุกเหนือ หน้าบันไม้แกะสลักนูนต่ำ สวยงาม

วัดปงสนุก

มณฑปพระพุทธรูป

มณฑปพระพุทธรูป

 เตียงพระเจ้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า อาสนา

เตียงพระเจ้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า อาสนา เมื่อเข้ามาในเขตวัดปงสนุกเหนือ ด้านซ้ายมือของเราจะมีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของเก่าแก่ของวัดเอาไว้มากมายหลายอย่าง ซึ่งหาชมแทบจะไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เตียงพระเจ้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า อาสนา , จองคำ , แท่นคำเหลือง หรือสังเค็จ ที่เราเห็นเรียงรายอยู่นี้ นับเป็นหนึ่งในเครื่องสักการะทางพระพุทธศาสนา ตามแบบล้านนา ที่เรียกกันว่า "เครื่องหลวง"

เครื่องหลวง หมายถึงเครื่องสักการะสูงสุดในพระพุทธศาสนา ชาวล้านนาให้ความสำคัญกับเครื่องใช้ในพิธีกรรม และมีชื่อเรียกที่หลากหลายเช่น เตียงพระเจ้า , อาสนา , จองคำ , แทนคำแหลือง หรือ สังเค็จ มักปรากฏคู่กับเครื่องสูง (เครื่องเทียมยศ) หรือศาสตราวุธ มีชื่อเรียกว่า "ปัดป้าวจามร" เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนถึงพระพุทธรูป, พระธาตุ (พระเจดีย์) , พระพุทธบาท , พระนอน (พระพุทธไสยาสน์) ตลอดจนถึง พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในฐานะเดิมของพระองค์ คือเจ้าชายสิทธัตถะ เครื่องหลวงที่สร้างขึ้นตามอุดมคติของชาวล้านนามักจะแสดงถึง พระเกียรติยศของวรรณะกษัตริย์หรืออาจจะเทียบได้กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของภาคกลาง ได้แก่ ธารพระกร, พระแสงขรรค์ , วาลวิชนี , พระมหาพิชัยมงกุฏและฉลองพระบาท หรือที่เรียกว่า "เครื่องท้าวห้าประการ"

เครื่องหลวงประกอบด้วย

1 เตียงพระเจ้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า อาสนา , จองคำ , แท่นคำเหลือง หรือสังเค็จ สร้างเป็นเตียงมีเสา และมีหลังคา ที่เรียกว่า "ทรงปากบาน" มีพนักพิงด้านหลัง และมีพนักขนาดเล็ก ทั้งสอง (ไม่ทำพนักตลอดแนว) ไม่นิยมที่จะสร้างเป็นทรงปราสาทยอดแหลมหรือเรียกว่า "เตียงพระเจ้าปากบานหลังก๋าย" บางวัดสร้างเป็นหลังคาทรงจั่ว

2 ปัด ป้าว จามร (เครื่องสูง) หรือ เครื่องเทียมยศ มักจะทำเป็นชุดอยู่ในราวเดียวกัน 1 ชุด อาจจะมี 5,6 หรือ 7 ชิ้น และนิยมที่จะสร้าง 2 ชุดตั้งอยู่ด้านซ้าย และขวาของเตียงพระเจ้า ซึ่งชาวล้านนามักเรียกว่า "เครื่องสัตตะ 7 ประการ"
2.1 ปัดป้าว หรือพัดโบก มักจะแกะสลักเป็นรูปหัวพญานาคคาบพัด ทำจากไม้แกะสลักหรือสานด้วยเสื่อกก ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง เป็นเครื่องที่ใช้โบกเพื่อให้ความเย็นแก่พระมหากษัตริย์
2.2 จามร มักจะแกะสลักไม้เป็นรูปใบโพธิ์ มียอดแหลม ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง มักใช้ประกอบราชรถในการเดินทางของพระมหากษัตริย์
2.3 ละแอ หรือที่เรียกว่า "กุบจิก" ภาษาล้านนาเรียกว่า "กุบละแอ" เป็นหมวกทรงยอดแหลม ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ หรือขุนนางใส่ในการออกรบ หรือเทียบได้กับพระมหาพิชัยมงกุฏ (ชฎา) ของพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่ง เปรียบได้กับ ร่ม หรือ "สัปทนใช้สำหรับกางบังแดด" และบังฝนในการเดินทางของพระมหากษัตริย์
2.4 บังวัน หรือบังศูนย์ มักจะแกะไม้เป็นรูปใบโพธิ์ขนาดใหญ่ ใช้ทำหน้าที่บังไม่ให้แสงจากดวงตะวัน (พระอาทิตย์) สาดส่อง พระมหากษัตริย์ในการเดินทาง
2.5 บังแทรก มักจะเป็นไม้แกะ หรือสานตอกเป็นทรงกลมใช้ทำหน้าที่บังไม่ให้แสงจากดวงจันทร์สาดส่องพระมหากษัตริย์
2.6 ไม้เท้า ไม้วา มักจะเป็นไม้แกะสลัก หรือกลึงให้กลม คล้ายกระบอก ไว้ใช้สำหรับการป้องกันตัว การเดินทางของพระมหากษัตริย์หรือการเดินทางของพระมหากษัตริย์ที่ชราภาพ
2.7 แซ่จามรี มักจะแกะเป็นรูปหัวพญานาคปากคาบขนจามรี เพื่อใช้ในการปัดไม่ให้ยุงหรือแมลงกัดต่อยองค์พระมหากษัตริย์

ขันดอก เป็นพานใส่ดอกไม้ที่ชาวบ้านนำมาบูชาพระที่วัด ทำด้วยไม้กลึง หรือบ้างครั้งอาจทำในลักษณะของเครื่องเขินสีแดง- ดำ มีหน้าที่ใส่ดอกไม้ถวายพระ ข้าวตอก ธุปเทียน เป็นต้น
การตกแต่งของขันดอกโดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมลงพื้นผืวด้วยการทารักทาทาง เป็นช่องลายภายนอก ในวัดที่สำคัญขันดอกนั้นๆ จะนิยมตกแต่งลวดลายให้สวยงามวิจิตรบรรจงให้เป็นพิเศษอาจจะมีการปิดทอง หรือไม่ก็ประดับด้วยแก้วจีน ชาวลำปางเรียกขันดอกว่า "ขันเหลี่ยม" หรือ "ต้อมก่อม" มักประกอบอยู่ในเครื่องสักการะ อันประกอบด้วย ต้นเทียบ ต้นผึ้ง หมากสุ่ม พลู สุ่ม ต้นดอก (ขันดอก)

ขันแก้วทั้งสาม หมายถึง พานที่ใช้ใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาสักการะพระรัตนตรัยซึ่งทางล้านนาเรียกว่าขันแก้วทั้ง 3 อันหมายเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำขันแก้วทั้ง 3 ขึ้นมาสำหรับวัดต่างๆ นั้น ทางผู้นำชุมชนสมัยโบราณต้องการให้ประชาชนนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันเป็นจุดเดียว เป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตรงกับคำว่า เอกฉันท์พร้อมใจเป็นหนึ่ง เอกสามัคคี หรือพร้อมกันเป็นหนึ่งเดียว
ความหมายอีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องสอนใจให้เห็นว่า การทำอย่างนั้นเป็นการให้ชาวบ้านรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเวลาใส่ดอกไม้ลงไปต้องทำเป็น 3 ส่วน แม้จะอยู่ในที่เดียวกัน แต่ก็แยกกันให้เห็นโดยพฤตินัย โดยศรัทธาชาวบ้านจะนำดอกไม้ เครื่องสักการะของตนเองมาจากที่บ้าน เมื่อมาถึงวัด หลังจากกราบไหว้พระในวิหารแล้วจะต้องใส่ขันแก้วทั้ง 3 โดยใส่ไปตามมุมของขันทั้ง 3 มุม
ลักษณะและการตกแต่งของขันแก้วทั้ง 3 นี้ จะเป็นพานไม้ ตัวขันใช้ไม้ 3 แผ่นมาต่อกันโดยให้ปลายขันบาน ก้นขันสอบเข้าส่วนเอวขันจะคอด และจะผายลงอีกครั้งเพื่อให้รับกับขอของขัน

ขันขอศีล คือพานที่ใช้ประเคนพระสงฆ์ ก่อนอาราธนาศิล ซึ่งมักจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ใส่ลงไปในขัน หรือพาน เป็น 2 ส่วน มีคนเข้าใจแตกต่างกันไปบ้าง คือ บางท่านกล่าวว่าส่วนที่หนึ่งใช้บูชาไดรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนที่สองใช้บูชาศิลซึ่งเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติให้ถูกต้องและมีความเคร่งครัด อีกประการหนึ่ง การใส่ขันศิลแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งหมายถึง จุลศิล หมายถึงศิลที่ปฏิบัติได้พอประมาณ และมหาศิล หมายถึงการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเยี่ยมยอดที่เรียกกันอีกอย่างว่า อธิศิล
ขันขอศีล จะใช้ใส่ดอกไม้ธูปเทียนอย่างละ 9 เช่น ดอกไม้ 9 เทียน 9 ธูป 9 หมายถึงไตรสรณคมน์ บางแห่งใช้เพียงดอกไม้ 3 เทียน 3 ธูป 3 บางแห่งใช้อย่างละ 5

สัตตภัณฑ์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า สัตต หมายถึง เจ็ด ส่วนคำว่า ภัณฑ์ มาจาก บริภัณฑ์ หมายถึงสิ่งของ รวมกันหมายถึงเขาทั้ง 7 ทิวที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ หรือเรียกตามลักษณะการใช้งานก็คือเชิงเทียนสำหรับบูชา พระประธานในวิหารถือเป็นเครื่องสักกาะที่สำคัญอย่างหนึ่งในคติทางศาสนาของล้านนา
สัตตภัณฑ์มีลักษณะคือ ทำจากไม้เนื้อแข็ง แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ อย่างหนาแน่น เช่น รูปสัตว์ รูปพรรณพฤกษา แต่ที่นิยมที่สุดคือรูปนาคเกี้ยว ลำตัวพันกันเป็นลักษณะของลายไส้หมูซึ่งเป็นลายที่นิยมกันมากในจังหวัดลำปาง
สัตตภัณฑ์โดยหน้าที่แล้วจะใช้เป็นเชิงเทียนหรือแทนโต๊ะหมู่บูชาของคนล้านนา ด้วยเพราะว่าตามแบบแผนแล้วการบูชาพระของคนล้านนาในสมัยก่อนจะไม่มีการใช้โต๊ะหมู่บูชาแต่จะใช้สัตตภัณฑ์นี้เป็นที่จุดเทียนเพื่อบูชาพระประธานในวิหาร

หีดธรรม หรือหีบธรรม

หีดธรรม หรือหีบธรรม สิ่งล้ำค่าที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัดปงสนุกเหนือสมกับรางวัลยูเนสโก ก็คือการเก็บรักษา หีบธรรมโบราณเอาไว้เป็นอย่างดี หีบธรรมเหล่านี้ จะไม่ค่อยมีการสร้างขึ้นมาแล้วในยุคปัจจุบัน จนทำให้หลายๆ คนไม่เคยเห็นหรือรู้จักหีบที่เก็บรักษาคัมภีร์พระธรรมคำสั่งสอนต่างๆ เอาไว้ จนผ่านเวลาลุล่วงมาได้นานนับร้อยปี

เสาหลักเมืองหลักแรกของลำปาง

เสาหลักเมืองหลักแรกของลำปาง ตามหลักฐานจากบันทึกของครูบาอโนชัยธรรมจินดามุนี

ในปี พ.ศ. 2400 ข้าฯ ธุอาโนชัยธรรมจินดามุนีและเจ้าหลวงวรญาณรังษีราชธรรม เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางเป็นประธานลงฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง (เสาอินทขีล) หลักแรกของจังหวัดลำปาง โดยนิมนต์พระมา 4 รูป และพ่อเมืองทั้ง 4 พร้อมด้วยเทพนิกาย ร่วมพิธี ณ วัดปงสนุกเหนือแห่งนี้
เสาหลักเมือง จ.ลำปาง เป็นเสาไม้สัก มีด้วยกัน 3 หลัก

หลักที่ 1 สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 ในสมัยของเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม ขณะนั้นได้ฝังเสาหลักเมืองหลักนี้ ณ วัดปงสนุกเหนือ อันเป็นวัดสะดือเมืองในสมัยนั้น ต่อมาได้ถูกย้ายไปฝัง ณ คุ้มเจ้าราชวงศ์เก่า
หลักที่ 2 สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2416 ในสมัยพระเจ้าพรหมมธิพงษ์ธาดา ขณะนั้น ได้ฝังเสาหลักเมืองหลักนี้ ณ ฝั่งเมืองปัจจุบัน ณ คุ้มเจ้าราชวงศ์เก่า (ปัจจุบันได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว)
หลักที่ 3 สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 ในสมัยเจ้าหลวงนรนัน ชัยชวลิต ขณะนั้นได้ฝังเสาหลักเมืองหลักนี้ในฝั่งเมืองใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลาง (หลังเก่า) เสร็จ จึงได้อัญเชิญหลักเมืองทั้งสามหลักมาประดิษฐาน ณ ศาลากลางหลังเก่า และได้สร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามหลักในปี พ.ศ. 2511 จวบจนทุกวันนี้

วัดปงสนุก

อุโบสถวัดปงสนุกใต้

อุโบสถวัดปงสนุกใต้

วัดปงสนุก

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ในวัดยังมีอีกมาก ไว้ลองเข้ามาดูมาศึกษาร่วมภูมิใจและเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาของเก่าแก่ ทรงคุณค่า ของเมืองไทยกันครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดปงสนุก ลำปาง
Kanecha's Home เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอลด์ ทาวน์ บูติค โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan San Dee Guesthouse Lampang เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชิตา คอฟฟี่แอนด์เกสต์เฮ้าส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
อาร์ ลำปาง เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ริเวอร์ไซด์ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
Gruond Zero เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพิณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
TK Home #1 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
TK Home #3 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.11 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com