www.touronthai.com

หน้าหลัก >> บึงกาฬ >> ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก)

ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก)

 ภูทอก ประวัติความเป็นมา
    ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จ.บึงกาฬ ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปชมได้ตามปกติ ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ต่อมาพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    ในเวลาต่อมา ก่อนที่พระอาจารย์จวนจะละสังขาร ได้เล็งเห็นการณ์ไกลที่จะช่วยเหลือชาวบ้านแถวนี้ให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและถาวร เป็นการตอบแทนบุญคุณญาติโยมที่มีอุปการะ จึงได้ริเริ่มจัดสร้างสะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธรักษ์ คือการท่องเที่ยวในเชิงการแสวงบุญหรือธรรมจาริก นักท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์จากการเที่ยวชมธรรมชาติคือขุนเขาลำเนาไพรและได้ศึกษาพุทธศาสนา ส่วนชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าและธุรกิจร้านอาหาร (เงินจะสะพัด)
    นี่คือการช่วยเหลือประชาชนในแนวทางของพระอริยะ ส่วนพระที่ช่วยเหลือประชาชนโดยการบอกเลขใบ้หวย เป็นการช่วยเหลือที่ไม่จีรังยั่งยืน

บันไดขึ้นภูทอก

    การขึ้นภูทอกนั้น ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้
    ชั้นที่ ๑ เมื่อนักแสวงบุญเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่หนึ่งนี้นักแสวงบุญจะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์
    ชั้นที่ ๒ เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 (ดูภาพประกอบ) เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก
    ชั้นที่ ๓ เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง (ดูภาพประกอบ) ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม (ขอแนะนำว่าควรขึ้นทางนี้ แล้วลงทางนั้น(ทางลัด))
    ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
    ชั้นที่ ๕ หรือชั้นกลาง เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6) มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6
    พุทธวิหาร แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่ มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
    ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมต่อ บุคคลธรรมดาไม่อาจข้ามมาที่พุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น แต่มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่สามารถปรากฎตัวที่พุทธวิหารได้ คือพระอรหันต์และท่านผู้ทรงอภิญญา ท่านเหล่านี้จะมาพักผ่อนที่พุทธวิหารเองโดยการเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมา เพราะต้องการปลีกวิเวกและไม่ให้ใครมารบกวนได้ ดังนั้น หินประหลาดก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว 
    ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหารแล้วก็ตาม แต่นักแสวงบุญทั่วไปก็ไม่อาจเข้าไปสัมผัสพุทธวิหารใกล้ชิดกว่านี้ได้ เพราะทางวัดปิดประตูไว้ เนื่องจากเทวดาที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุทนเหม็นกลิ่นสาบมนุษย์ไม่ไหว ทางวัดจึงอนุญาตให้นักแสวงบุญมาได้แค่ปากประตูเท่านั้น (แค่นี้ก็ดีแล้ว)
    ความอัศจรรย์ของพุทธวิหาร คือ หินก้อนนี้แยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แล้ว แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ข้อนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยสังเกต หากอยากเห็นชัด ๆ ให้เดินมาที่ฐานของพุทธวิหาร จะเห็นได้ชัด หรือสังเกตุดูที่ภาพถ่ายก็ได้ การที่พุทธวิหารตั้งอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาถือได้ว่า น่าอัศจรรย์พอ ๆ กันกับพระธาตุอินทร์แขวน
    สะพานหิน ยาวทอดตัวออกมาจากภูทอก ยื่นออกมาทางพุทธวิหาร (ดูภาพประกอบ) เมื่อยืนบนสะพานหินจะสามารถมองเห็นภูทอกใหญ่และมองเห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสูดอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คล้ายกับอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มิปาน
    สะพานไม้ มีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินและพุทธวิหาร เป็นดุจสิ่งที่เชื่อมต่อโลกสวรรค์และแดนนิพพานเข้าด้วยกัน เมื่อยืนอยู่บนสะพานไม้แล้วมองลงไปด้านล่าง จะเห็นแต่ต้นไม้และหุบเหวที่ลึกสุดหยั่ง (คนขวัญอ่อนมิควรมองลงไป) จะทำให้ทราบว่า บุคคลที่สามารถข้ามจากสะพานหินเพื่อไปบำเพ็ญเพียรหรือพักผ่อนที่พุทธวิหารได้ ต้องมิใช่บุคคลธรรมดา
    เมื่อมาถึงชั้นที่ 5 แล้ว ต้องมาที่สะพานหิน สะพานไม้ และข้ามมาที่พุทธวิหารให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงภูทอก (อย่าลืมถ่ายรูปไว้ด้วย)
    ชั้นที่ ๖ เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตร เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตุคือมีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ขังอยู่เกือบตลอดปี (ดูภาพประกอบ) 
    การถ่ายภาพพุทธวิหารให้ได้ภาพงดงามที่สุด ต้องถ่ายซูมจากชั้นที่ 6
    ชั้นที่ ๗ จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผจญภัยดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
    สำหรับชั้นที่เจ็ดบนดาดฟ้านั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นชั้นมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ มีเพียงป่ากับต้นไม้ ส่วนบางคนไม่ประทับใจเลย บอกว่าไม่เห็นมีอะไร ส่วนพวกนักท่องเที่ยวผู้มีตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษก็บอกว่า ต้นไม้บนดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดเป็นวิมานของพวกเทวดาเต็มไปหมด ดังนั้น คนที่ไม่มีบุญหรือบุญไม่พอ จะไม่มีโอกาสได้มาถึงชั้นเจ็ดอย่างแน่นอน ถึงเดินมาก็มาไม่ถึง หรืออาจเดินหลงทางหรือหาทางขึ้นไม่เจอก็เคยมี
    นักท่องเที่ยวผู้มาจากแดนไกล เมื่อมีโอกาสแล้ว ควรหาโอกาสปีนมาให้ถึงชั้น 7 จะได้ไม่คาใจ (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น)

หมายเหตุ
    ชั้น 3 - 6 สามารถเดินเวียนรอบได้ ส่วนชั้นนที่ 5 - 7 เป็นแดนสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นสูง นักแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวต้องสำรวมระวังกาย วาจา และใจให้มาก ถ้าจะให้ดีกว่านั้นหรือถ้ามาเป็นหมู่คณะ ควรรวมกลุ่มกันสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยให้เหล่าเทพฟังด้วยก็จะดี เป็นการนำบุญมาฝาก
    ภูทอก คือแดนสวรรค์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ตายจริง

ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา

    เนื่องจากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร หากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ ผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ
    ๑. ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด
    ๒. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา
    ๓. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน
    ๔. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
    (อสุภาพสตรี (แปลว่า สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ) นุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)

สาเหตุที่ห้าม
    ๑. เนื่องจากที่แห่งนี้มีนาค (งู) อาศัยอยู่มาก และงูเหล่านี้ถือศีลงดกินเนื้อสัตว์ หากได้กลิ่นอาหารจะทำให้ตบะแตกแล้วเลื้อยออกมาหาอาหาร จะทำให้นักท่องเที่ยวพบสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์และจะเป็นอันตรายสำหรับภิกษุ-สามเณรที่อยู่ประจำ
    ๒. หากอนุญาตให้นำอาหารไปทานบนภูทอกได้ ไม่ช้าภูทอกก็จะเต็มไปด้วยขยะ ระบบนิเวศน์และทัศนียภาพที่สวยงามจะเสียหาย
    ๓. อสุภาพสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ ทำให้บุรุษเพศหรือภิกษุ-สามเณรเห็นแล้วเกิดความกำหนัดคือเกิดกิเลส แม้มนุษย์ด้วยกันจะไม่รู้ แต่เทพยดาที่นี้จะรู้ ดังนั้นจึงได้ห้ามเด็ดขาด

การเดินทาง
    ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร

*ข้อมูล จาก http://www.intaram.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=22&Id=538979488

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุดรธานี 0 4232 5406-7
http://www.tourismthailand.org/udonthani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 125758

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ถ้ำชัยมงคล

ถ้ำชัยมงคล เป็นสถานที่แรกที่ผู้มาเยือนวัดเจติยาคีรีหรือวัดภูทอกจะแวะเข้ามาสักการะพระพุทธรูปขอพรเป็นสิริมงคล อยู่ห่างจากลานจอดรถประมาณ 100 เมตร ถัดจากศาลาริมน้ำ ก่อนที่จะเดินขึ้นไปบนภูทอกจะกราบพระที่นี่ก่อน

ถ้ำชัยมงคลภูทอก

ถ้ำชัยมงคลภูทอก

สระน้ำวัดภูทอก

สระน้ำวัดภูทอก ริมสระน้ำมีศาลาสำหรับพักผ่อน และลานจอดรถ เป็นมุมนิยมมุมหนึ่งที่จะถ่ายเจดีย์กับเงาที่สะท้อนบนผิวน้ำ เจดีย์ที่เห็นอยู่นี้คือ เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ

จุดเริ่มต้นทางเดินขึ้นสู่ภูทอก

จุดเริ่มต้นทางเดินขึ้นสู่ภูทอก ก่อนเดินขึ้นไปจะมีป้ายเตือนเรื่องข้อห้ามต่างๆ สำหรับผู้ที่จะขึ้นไปดังนี้
ข้อปฏิบัติก่อนขึ้นเขา
เนื่องจากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจรหากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด
ห้ามนำสุรา-อาหารขึ้นไปรับประทานบนเขาโดยเด็ดขาด และห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา ห้ามขีดเขียนหรือสลักข้อความลงบนหินหรือทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
(สุภาพสตรีนุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)

ภูทอกชั้น 4-5-6

ภูทอกชั้น 4-5-6 จากทางเดินชั้นแรกมองขึ้นไปจะเห็นระเบียงไม้ทางเดินคือชั้น 4 5 และชั้น 6 ตามลำดับ หลายคนที่เห็นแบบนี้ก็ตั้งใจว่าจะเดินขึ้นถึงเพียงชั้น 4 ก็พอก็มีเหมือนกัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะเดินถึงชั้น 3 หรือ ชั้น 4 เท่านั้น แต่หลายคนก็พยายามจะมาให้ได้สักครั้งในชีวิต
ทางเดินชั้น 1-3 จะเป็นบันไดเป็นส่วนใหญ่ บางช่วงเป็นบันไดไม้บางช่วงเป็นบันไดดิน มีทางแยกซ้ายกับขวา กับป้ายบอกทางว่าสามารถเดินขึ้นสู่ชั้นที่ 5 ได้ทั้งสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมาก ผ่านหลืบหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4

ภูทอกชั้น 4

ภูทอกชั้น 4 สำหรับวันนี้จะพาชมทีละชั้นถึงทางแยกทางลัดสู่ชั้น 5 ผมเลือกทางขวาผ่านชั้น 4 เมื่อก้าวพ้นชั้น 3 มายังชั้น 4 เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับชี ก็จะเห็นป้ายคำเตือนเรื่องการส่งเสียงรบกวน เดินตามทางไม้นี้ไปเรื่อยๆ จะมีบันไดสู่ชั้นที่ 5 แต่หลายคนมาถึงจุดนี้จะขอลงเพราะทนความน่ากลัวของความสูงกับทางเดินไม้ที่มองเห็นเบื้องล่างอยู่ตลอดเวลาไม่ไหว

วิวภูทอกชั้น 4

วิวภูทอกชั้น 4 เนื่องจากชั้น 4 ไม่มีทางเดินวนรอบเขาได้ วิวที่เห็นจึงยังคงเป็นด้านเดียวกับบริเวณวัดอยู่

ทางโค้งเตี้ยๆ

ทางโค้งเตี้ยๆ บางช่วงเป็นทางโค้งตามแนวเขา ด้านบนมีหินยื่นออกมาเหมือนหลังคาแต่ไม่สูงมากนัก

บันไดสู่ภูทอกชั้น 5

บันไดสู่ภูทอกชั้น 5 สุดทางตรงนี้จะต่อด้วยบันไดชันและยาวสู่ชั้นที่ 5 ผมใช้เวลาพักอยู่ตรงนี้ค่อนข้างนานเพราะขาจะมีอาการตึงๆ รวมทั้งไม่ได้กินข้าวเช้ามาเลยเกิดหิวจัดกลางทาง แต่วิวก็สวยคุ้มค่า ลมพัดเย็นสบายอยู่ด้านที่เป็นเงาของภูเขาจึงไม่โดนแดด

วัดเจติยาคีรีหรือวัดภูทอก

วัดเจติยาคีรีหรือวัดภูทอก เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 4 แล้วก็ถ่ายภาพบริเวณวัดเห็นสระน้ำที่จอดรถไว้ กับหลังคาแหลมๆ เป็นจุดที่อยู่ใกล้กับถ้ำชัยมงคลและจุดเริ่มต้นการเดินชมภูทอก

ทางตันบนภูทอก

ทางตันบนภูทอก ประวัติการสร้างสะพานไม้ สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปี บันไดที่ทอดขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งโลกุตระหรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ภูทอกยังคงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน ดังนั้นผู้ที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ควรอยู่ในความสงบและเคารพสถานที่ ด้วยอายุของสะพานไม้ก็ย่อมมีการผุพังไปตามกาลเวลา เห็นภาพนี้แล้วบางทีก็คิดเหมือนกันว่าส่วนที่เราเดินอยู่จะยังแข็งแรงแค่ไหน

มองย้อนหลังสะพานไม้ภูทอก

มองย้อนหลังสะพานไม้ภูทอก เมื่อเดินมาได้สักระยะบางทีก็สงสัยเหมือนกันว่าที่เราเดินผ่านมานั้นมันเป็นยังไง ภูทอกไม่ใช่เพียงร่างกายแข็งแรงก็จะขึ้นได้แต่ต้องมีกำลังใจความกล้าอย่างสูงสละแล้วซึ่งความกลัวจึงจะเดินขึ้นมาได้

ถึงภูทอกชั้น 5

ถึงภูทอกชั้น 5 เอาละเดินขึ้นบันไดที่สูงชันยาวเหยียดมายังชั้น 5 ได้ สิ่งแรกที่ทำคือวางกระเป๋ารอให้เหงื่อแห้งค่อยเดินต่อไป ป้ายที่เห็นอยู่ลิบๆ คือป้ายบอกชื่อวิวลังกา เป็นจุดชมวิวที่มีการสร้างระเบียงกว้างเป็นพิเศษ ทิวทัศน์สวยงามมาก ด้านหลังเดินไปยังทางขึ้นอีกทางที่แยกกันช่วงชั้นที่ 3 โดยไม่ผ่านชั้น 4

วิวลังกา

วิวลังกา ฤดูฝนที่กำลังมาถึงทำให้ทิวทัศน์บริเวณนี้เขียวขจีสุดสายตาจรดเส้นขอบฟ้าสวยงามมากจริงๆ

ผาเทพนิมิต

ผาเทพนิมิต ทางเดินช่วงนี้มีชื่อว่าผาเทพนิมิตบางช่วงสะพานเริ่มจะแคบลงเพิ่มความน่าหวาดเสียว เลยจากจุดนี้ไปก็จะมีเหลี่ยมเสาประดง และทางเดินที่เป็นสะพานไม้จะไปเชื่อมกับทางดินที่เกิดตามธรรมชาติที่เขามีส่วนที่เป็นพักของชั้นผา

วิวลังกา

วิวลังกา ภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงามด้านหนึ่งของภูทอกในวัดเจติยาคีรีหรือวัดภูทอกซึ่งอยู่บนชั้นที่ 5 มีระเบียงยื่นออกมา กว้างใหญ่เป็นพิเศษสำหรับให้ชมวิว ในช่วงต้นฤดูฝนต้นไม้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวขจีสวยงามสุดสายตา มองเห็นอ่างเก็บน้ำห้วยสหายที่กว้างใหญ่เหลือเล็กนิดเดียว ถัดจากวิวลังกามาเล็กน้อยจะมีกุฏิที่พักสงฆ์มีประตูไม้กั้นทางอยู่ ซึ่งจะปิดตามเวลาที่วัดกำหนด

สะพานไม้ทางเดินบนภูทอก

สะพานไม้ทางเดินบนภูทอก ทางเดินที่ทำจากไม้ดูน่าหวาดเสียวทุกย่างก้าวนี้อยู่ถัดจากบริเวณผาเทพนิมิต และ เหลี่ยมเสาประดง ที่จะมุ่งหน้าไปสู่บันไดขึ้นชั้นที่ 6 ทางเดินช่วงนี้สร้างอยู่บนผาหินลาดชันไม่มีอะไรรองรับ นอกจากเสาไม้ที่สร้างมานานมากแล้วเหล่านี้

เส้นทางเดินชมรอบภูทอกชั้น 5

เส้นทางเดินชมรอบภูทอกชั้น 5 ถึงตรงนี้จะเป็นสะพานไม้ยาวๆ พาดจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อข้ามหุบลึก ยาวประมาณ 30 เมตร ด้านซ้ายมีบันไดขึ้นสู่ชั้น 6 มีกุฏิ ที่พักสงฆ์และสามเณร ซึ่งจะมีอยู่เป็นระยะๆ ห่างกันพอสมควรเพื่อความสงบ มีป้ายเตือนว่า "เป็นที่ปฏิบัติธรรมของสงฆ์-สามเณร ไม่ใช่ที่ท่องเที่ยว ห้ามส่งเสียงดัง" ให้เห็นอยู่เป็นระยะ

ทางขึ้นชั้น 6 แดนสวรรค์

ทางขึ้นชั้น 6 แดนสวรรค์ เป็นบันไดทอดยาวสูงชันมากพอๆ กันกับบันไดจากชั้น 4 มายังชั้น 5 หากมองด้านหน้าตรงๆ จะเห็นเป็นบันไดสูงๆ เห็นแล้วน่ากลัวว่าจะเดินขึ้นไม่ไหว

จุดชมทิวทัศน์แดนสวรรค์ ภูทอกชั้นที่ 6

จุดชมทิวทัศน์แดนสวรรค์ ภูทอกชั้นที่ 6 ช่วงนี้เป็นทางเดินเลียบผาที่มีหินด้านบนลาดเอียงออกมาทำให้คนเดินผ่านต้องก้มหัวบ้างเป็นบางช่วง ทำให้เหลือบไปเห็นเบื้องล่างอยู่บ่อยๆ ทั้งที่หลายครั้งก็ไม่อยากจะมอง ส่วนแนวไม้กั้นรอบทางเดินดูไม่น่าไม่เกาะไปยึกสักเท่าไหร่ ยิ่งเรื่องพิงคงไม่มีใครกล้าทำแน่ๆทางเดินในลักษณะนี้บนชั้น 6 ค่อนข้างยาว สามารถเดินได้รอบเป็นวงกลมจนมาบรรจบที่เดิมได้
ทิวทัศน์ที่แดนสวรรค์นี้ได้รับการบอกเล่าจากคนในพื้นที่ว่าควรมาชมในฤดูหนาวซึ่งจะมีหมอกหรือทะเลหมอกทำให้เหมือนอยู่บนสวรรค์ แต่สำหรับวันนี้วิวที่เห็นจะเหมือนกับวิวลังกา เพราะอยู่ด้านเดียวกันแต่มุมที่มองออกไปยังอ่างเก็บน้ำจะต่างกันเล็กน้อยคือมองเห็นอ่างเก็บน้ำได้ชัดเจนกว่า

ทางเดินชมภูทอกชั้น 6

ทางเดินชมภูทอกชั้น 6 ระเบียงทางเดินบางช่วงมีการสร้างหลังคาคลุมไว้ให้ บางจุดมีที่นั่งพักผ่อนให้หายเหนื่อยก่อนที่จะเดินกันต่อไป เดินมาเรื่อยๆ จะเห็นศาลาบนผาหินรูปร่างประหลาด คล้ายหัวสุนัขใส่หมวก มีทางเดินเชื่อมออกไปยังศาลาได้
ศาลาหลังนี้คือ พุทธวิหาร แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่ มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมต่อ บุคคลธรรมดาไม่อาจข้ามมาที่พุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น แต่มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่สามารถปรากฎตัวที่พุทธวิหารได้ คือพระอรหันต์และท่านผู้ทรงอภิญญา ท่านเหล่านี้จะมาพักผ่อนที่พุทธวิหารเองโดยการเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมา เพราะต้องการปลีกวิเวกและไม่ให้ใครมารบกวนได้ ดังนั้น หินประหลาดก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว
ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหารแล้วก็ตาม แต่นักแสวงบุญทั่วไปก็ไม่อาจเข้าไปสัมผัสพุทธวิหารใกล้ชิดกว่านี้ได้ เพราะทางวัดปิดประตูไว้ เนื่องจากเทวดาที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุทนเหม็นกลิ่นสาบมนุษย์ไม่ไหว ทางวัดจึงอนุญาตให้นักแสวงบุญมาได้แค่ปากประตูเท่านั้น (แค่นี้ก็ดีแล้ว)
ความอัศจรรย์ของพุทธวิหาร คือ หินก้อนนี้แยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แล้ว แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ข้อนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยสังเกต หากอยากเห็นชัดๆ ให้เดินมาที่ฐานของพุทธวิหาร จะเห็นได้ชัด หรือสังเกตุดูที่ภาพถ่ายก็ได้ การที่พุทธวิหารตั้งอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาถือได้ว่าน่าอัศจรรย์พอๆ กันกับพระธาตุอินทร์แขวน
สะพานหิน ยาวทอดตัวออกมาจากภูทอก ยื่นออกมาทางพุทธวิหาร เมื่อยืนบนสะพานหินจะสามารถมองเห็นภูทอกใหญ่และมองเห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสูดอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คล้ายกับอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มิปาน
สะพานไม้ มีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินและพุทธวิหาร เป็นดุจสิ่งที่เชื่อมต่อโลกสวรรค์และแดนนิพพานเข้าด้วยกัน เมื่อยืนอยู่บนสะพานไม้แล้วมองลงไปด้านล่าง จะเห็นแต่ต้นไม้และหุบเหวที่ลึกสุดหยั่ง(คนขวัญอ่อนมิควรมองลงไป) จะทำให้ทราบว่า บุคคลที่สามารถข้ามจากสะพานหินเพื่อไปบำเพ็ญเพียรหรือพักผ่อนที่พุทธวิหารได้ ต้องมิใช่บุคคลธรรมดา
สำหรับบริเวณที่ยืนอยู่นี้เป็นจุดชมวิวที่ชื่อว่าวิวภูวัว ก็เป็นวิวคล้ายๆ กันกับวิวลังกาและวิวแดนสวรรค์

พุทธวิหารภูทอก

พุทธวิหารภูทอก เดินเข้ามาใกล้ๆ พุทธวิหารอีกหน่อยจะเห็นว่าอยู่ในลักษณะที่สวยมาก หากมีหมอกเกิดขึ้นคงจะสวยกว่านี้อีกมากแน่นอน การเดินทางมาเยือนภูทอก ทำได้ทั้ง 3 ฤดู หากมาเพียงฤดูเดียวจะไม่ได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามที่แตกต่างกันตามฤดูกาลของภูทอก ที่สำคัญ การเดินทางมาควรมาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ไม่ก่อเสียงรบกวนแก่ผู้ปฏิบัติธรรมในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

รอยแยกที่ทางเดินพุทธวิหาร

รอยแยกที่ทางเดินพุทธวิหาร หลายๆ คนคงอยากที่จะไปเดินชมรอบๆ พุทธวิหารนี้เมื่อแรกเห็นแต่เมื่อได้เห็นรอยแยกตัวขนาดใหญ่จนเหมือนกับว่ากำลังจะขาดออกจากกันของผานี้อาจจะเปลี่ยนใจเหมือนผมก็ได้ถ่ายมาเพียงวิวเท่านี้ก็พอแล้ว ยังไม่กล้าเสี่ยงเดินข้ามไปบริเวณนั้น ทางข้ามไปยังพุทธวิหารมีทั้งสะพานไม้และสะพานหิน ปกติทางวัดจะปิดไว้ไม่ให้เข้าชมด้วยครับ เดินต่อไปอีกหน่อยจะมีบันไดขึ้นชั้น 7 สำหรับบนชั้น 7 เป็นยอดเขาต้นไม้มาก ชมวิวได้เหมือนกับชั้น 6 และชั้น 5 แต่อาจจะมีต้นไม้บังบ้าง

เดินย้อนกลับหลังไปยังบันไดชั้น 6

เดินย้อนกลับหลังไปยังบันไดชั้น 6 ลงจากชั้น 7 เมื่อมาถึงผารูปร่างแปลกๆ แล้ว ก็คงต้องเดินย้อนกลับ เพราะหากเดินต่อไปจะสามารถเดินได้รอบก็ตามแต่เวลาช่วงบ่ายจะทำให้อีกด้านหนึ่่งของภูทอกเป็นด้านที่ย้อนแสงหมดทั้งซีก (เพราะด้านนี้เป็นส่วนเงาของภูเขา) คงไม่ได้ภาพดีๆ มาแน่เลยเลือกเดินกลับทางเดิม

เอียงตัวตามหิน

เอียงตัวตามหิน ช่วงนี้ก็น่ากลัวเหมือนกันเพราะจะต้องเดินตัวเอียงไปด้านนอกระเบียงนิดๆ ตามแนวเอียงของหิน เดินย้อนกลับหลังมาจนถึงบันไดชั้นที่ 6 ที่เป็นทางลงไปยังชั้น 5 ทางเดิมที่ขึ้นมา ก็ยังมีทางเดินให้เดินต่อไปได้ (เพราะรอบเป็นวงรอบเขา)

ก่อปราสาทหิน

ก่อปราสาทหิน ด้านหนี่งของชั้นที่ 6 ของภูทอก มีลานกว้างพอประมาณ มีคนเอาก้อนหินก้อนเล็กก้อนน้อยมาซ้อนกันเป็นปราสาทหินตามความเชื่อมีอยู่หลายสิบจุด

ผาชมวิวภูทอก

ผาชมวิวภูทอก ที่ด้านหนึ่งของชั้น 6 มีผาหินขนาดใหญ่ยื่นออกมาจากทางเดิน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากจุดหนึ่งมองเห็นวัดเจติยาคีรีได้ทั่วบริเวณ รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย อยู่ใกล้ๆ กันกับจุดที่คนก่อปราสาทหิน

ภูทอก

ภูทอก ยอดเขาบนสุดคือชั้น 7 ทางเดินไม้สีขาวคือทางเดินชั้น 6 ที่จะกลับไปยังบันไดลงชั้น 5

เดินทางกลับ

เดินทางกลับ เอาละครับพาชมภูทอกกันแบบรอบด้าน ละเอียดมากพอแล้วขอกลับแล้วละครับ จากนี้ก็เดินลงอย่างเดียวเก็บกล้องเข้ากระเป๋าเพื่อความปลอดภัย

รีวิว ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก) บึงกาฬ


 "ไม่ได้มาตั้งหลายปีแต่ตอนนี้ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมนะครับสะพานยังคงแข็งแรงเดินได้คนมาเที่ยวก็ยังเยอะเหมือนเดิม "

Akkasid Tom Wisesklin
2019-05-07 18:07:44

ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก) บึงกาฬ


 ""

Sakda Law
2017-12-17 12:45:00


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก) บึงกาฬ
เดอะลิตเติ้ล การ์เด้น รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟ็ตพาะอมเกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไทยเกสต์เฮาส์ บึงโขงหลง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
Khun Naparn Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุโรชา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  46.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนริ้วระเบียง เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  54.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
เซ็นจูรี แกรนด์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  55.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนรัตนะ รีสอร์ท
  55.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะ วัน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  56.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
บีเคเพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  57.12 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com