www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เลย >> ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

    ผีขนน้ำ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ไม่ค่อยจะใช้เรียกกันแล้วในปัจจุบันคือ แมงหน้างาม เป็นการละเล่นตามความเชื่อที่สืบสานกันมายาวนาน แต่ก็เกือบสูญหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และก็มีผู้ที่เห็นความสำคัญได้ช่วยกันพยายามที่จะรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนี้กลับมาให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หลายปีต่อจากนั้นมาภาพของผีขนน้ำปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีหลายคนเข้าใจว่า ผีขนน้ำ คือ ผีตาโขน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ทัวร์ออนไทยวันนี้พาเราไปรู้จักกับผีขนน้ำ หรือแมงหน้างามกันแบบถึงแก่นกันดีกว่า

    ผีขนน้ำ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ชาวบ้านก็เล่นสืบมาเป็นประเพณี ไม่มีประวัติว่าเล่นครั้งแรกเมื่อใด เป็นการละเล่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ถึงมองเผินๆ จะเหมือนผีตาโขนแต่ความจริงมีความต่างกันอยู่ ชาวบ้านนาซ่าวแต่เดิมเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวนอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณ นาซำหว้า เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่ง พอชุมชนขยายมากขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น สมัยนั้นยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้น

    ผีขนน้ำนั้นแต่แรกคือพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเรียกว่า เลี้ยงบ้าน กำหนดเอาวันเสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนาโดยมี จ้ำ (ผู้ประกอบพิธีกรรม) เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับเจ้าปู่จิรมาณพ และเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่าน บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) ซึ่งจะทำพิธีเข้าทรงกำหนดวันที่จะเลี้ยงบ้านขึ้น จากนั้นจ้ำจะไปประกาศบอกชาวบ้าน โดยการตะโกนตามสี่แยกหรือที่ชุมชนหนาแน่น ไม่ก็ใช้วิธีขึ้นไปบอกตามบ้านทุกหลังคาเรือนภายในหมู่บ้านว่า ในปีนี้จะกำหนดจัดพิธีการเลี้ยงบ้านแล้ว ให้ชาวบ้านจัดหาข้าวปลาอาหาร และของบวงสรวงต่างๆ ไปประกอบพิธีกันที่ดอนหอ ศาลเจ้าปู่ ของหมู่บ้าน เดิมการบวงสรวงนั้น จะมีการนำวัว ควาย มาเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม เล่ากันว่า การบวงสรวงสัตว์เลี้ยงภายในบริเวณศาล สัตว์ที่นำไปผูกหลักเลี้ยงจะตายเองโดยไม่มีการฆ่า ขณะที่ประกอบพิธีอัญเชิญผีเจ้าปู่ และผีบรรพบุรุษต่างๆ ให้ลงมากินเครื่องเซ่น ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่า ให้ชาวบ้านทำ แมงหน้างาม หรือ ผีขน เพื่อเป็นการบูชาวัว ควาย ที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย

    นอกเหนือจากการบูชาเพื่อรำลึกคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า ผีขน คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่รอบๆ หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองจะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขนและได้ยินแต่เสียงกระดึงแต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า ผีขนวัว ผีขนควาย ยุคแรกๆ จะพากันเรียกผีขนน้ำว่า การละเล่นผีขน แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า ผีขนน้ำ มาถึงปัจจุบัน

    เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไปประเพณีนี้ก็ต้องปรับตามยุคตามสมัยแต่ยังคงรายละเอียดเดิมเอาไว้ กำหนดวันจัดงานผีขนน้ำจึงกำหนดให้เป็น วันแรม 1 ค่ำเดือน 6 

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812,0 4281 1405
http://www.tourismthailand.org/loei

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 10803

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ เรื่องราวความเป็นมาของผีขนน้ำ เราเล่ามาเยอะค่อนข้างละเอียดพอให้เข้าในว่าผีขนน้ำคืออะไรเนาะ ยังไงก็อย่างน้อยให้รู้ว่ามันไม่ใช่ผีตาโขนก็แล้วกันเดี๋ยวจะเหมารวมงานเค้าไปเป็นชื่อเดียวกันซะหมด

    นายเกียรติพงษ์ คชวงษ์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเลย พาเหล่าบล็อคเกอร์และสื่อทีวีนิตยสารมาทำข่าวการละเล่นผีขนน้ำ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา 

การทำหน้ากากผีขนน้ำ

การทำหน้ากากผีขนน้ำ เอาไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) ฯลฯ ที่มีขนาดพอเหมาะมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่างๆ เช่นลายบัวเครือ ลายผักแว่น ตามความเชื่อและจินตนาการเพื่อให้ดูน่ากลัว หน้ากากผีขนน้ำจะขุดให้เป็นรูปหน้าคล้ายๆ วัว ควาย วาดให้เป็นรูปผีน่ากลัว ตาจะโต จมูกโต ฟันใหญ่ แต่มักเขียนปากให้เป็นรอยยิ้ม เหมือนเมตตาปราณี ใบหูทำด้วยสังกะสีโตพอควรกับใบหน้า ส่วนเขาต่อมานิยมใช้หวายมาตรึงติดกับหน้ากาก ให้ปลายทั้งสองข้างแยกออกจากกัน ใช้เชือกมัดลำหวายให้โค้งเข้าหากันพองาม เหมือนกับเขาควายที่โค้ง ใช้กระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นริ้วติดประดับระหว่างเขาทั้งสองข้าง การละเล่นของชาวอีสานนิยมใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่นไม่ฟุ่มเฟือยหรือสิ้นเปลือง มักจะดัดแปลงจากข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ที่พอหาได้

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ แต่ก่อนในอดีตคนที่จะแต่งชุดผีขนน้ำเดินแห่ป่าวประกาศไปทั่วหมู่บ้านมักจะเป็นชายหนุ่มหรือเด็กๆ ทุกวันนี้ผีขนน้ำมีจำนวนมากขึ้นด้วยชาวบ้านหลายหมู่บ้านร่วมใจกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของตนเองเลยมีทั้งสาวๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุมาร่วมแต่งตัวเป็นผีขนน้ำแห่รอบหมู่บ้านกันเป็นจำนวนมาก

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ วันแรก

ผีขนน้ำ วันแรก วันนี้จะมีการแห่ ชาวบ้านเรียกว่า วันโฮม ชาวบ้านจะไปรวมกันที่ ศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าว ในช่วงเย็นๆ เพื่อไปรวมกันแห่ดอกไม้เข้าไปยัง วัดโพธิ์ศรี ขบวนแห่นั้นประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงของเจ้าปู่จิรมาณพ นางเทียมเจ้าปู่ผ่านพิภพ จ้ำ นางแต่ง ผีขน และชาวบ้านจากคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้านเดินแห่เป็นขบวนไปรอบหมู่บ้าน ตีฆ้อง ตีกลอง ปรบมือ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เดินไปยังวัดโพธิ์ศรี เมื่อเดินถึงวัด พระก็จะตีกลองใหญ่บนหอกลอง 3 ครั้ง ขบวนแห่ก็จะเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ เสร็จแล้วนำดอกไม้ไปบูชาที่ผาม (ประรำพิธี) ที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ พร้อมบูชาบวงสรวงผีปู่ย่า เป็นเสร็จพิธี สำหรับคนที่สนใจจะมาดูแผนที่ศาลเจ้าปู่นาซ่าวคลิกเลย

บรรยากาศบ้านนาซ่าวในวันงานผีขนน้ำ

บรรยากาศบ้านนาซ่าวในวันงานผีขนน้ำ ชาวบ้านนาซ่าว ถือว่าวันงานบุญเดือนหก เป็นวันสำคัญของหมู่บ้าน วัยทำงานที่ออกเดินทางไปทำมาหากินต่างถิ่นจะเดินทางกลับหมู่บ้านเพื่อร่วมงานบุญที่รื่นเริงตามประสาวิสัยชาวอีสาน ความสนุกของงานบุญเหนือสิ่งอื่นใดทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบานพาลูกหลานเดินร่วมขบวนแห่รอบหมู่บ้านส่วนคนที่ไม่ร่วมขบวนแห่นั่งอยู่ที่บ้านก็จะหาหน้ากากผีขนน้ำหรือซื้อเสื้อยืดลายผีขนน้ำมาใส่เพื่อร่วมสมทบทุนทำบุญประจำปี

ขบวนแห่ดอกไม้

ขบวนแห่ดอกไม้ ในวันแรก นอกเหนือจากผีขนน้ำชุดแรกที่ร่วมพิธีที่ศาลเจ้าปู่นาซ่าวที่เหลือก็จะเป็นชาวบ้านที่มาร่วมขบวนแห่ดอกไม้ไปยังวัด งานวันนี้คึกครื้นมากเพราะชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมาร่วมขบวนแห่ไปด้วยกันรอบหมู่บ้านแล้ววกกลับไปยังวัดโพธิ์ศรี วันนี้จะมีไม่ผีขนน้ำมาเดินในขบวนแต่จะมีผีขนน้ำมาในวันถัดไป ชาวบ้านทุกวัยจะมาร่วมกันแห่อย่างสนุกสนานครื้นเครงไปพร้อมกับรถเครื่องเสียงที่เปิดเพลงหมอลำอย่างสนุกสนานไปตลอด บางคนก็จะแต่งตัวสวยงามเป็นพิเศษเพื่อมาร่วมในงานบุญวันนี้

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

มนุษย์พ่นควัน

มนุษย์พ่นควัน สีสันของงานแห่ผีขนน้ำที่เราจะได้เห็นคือเครื่องดนตรีที่ดัดแปลงเอาเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงเก่าๆ ที่ใช้การไม่ได้แล้วมาทำเป็นลำโพงขนาดใหญ่แบกใส่หลังพร้อมกับบรรเลงเสียงพิณไปตามถนนปิดท้ายขบวนแห่ เวลาเดินไปทางไหนชาวบ้านจะพูดว่า มาแล้วมนุษย์พ่นควัน เพราะเดิมทีลำโพงของแกทำหน้าที่พ่นยาฆ่าแมลงนั่นเอง ขบวนแห่เดินทางไปอย่างช้าๆ รอบหมู่บ้านระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเข้าวัดโพธิ์ศรีจัดแจงตกแต่งบริเวณวัดด้วยดอกไม้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานบุญในวันรุ่งขึ้น ทั้งหมดดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดย อปพร อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ของหมู่บ้าน ซึ่งมีรถสกายแลปสีชมพูเป็นพาหนะ สร้างสีสันให้กับงานบุญนี้ได้เป็นอย่างดี

ผีขนน้ำ วันที่สอง

ผีขนน้ำ วันที่สอง วันที่สอง คือวันงาน เริ่มพิธีงานตั้งแต่เช้ามืด จะมีพิธีบวงสรวงผีเจ้าปู่ที่ศาลของหมู่บ้าน ร่างทรงหรือ จ้ำ จะมาทำพิธีบวงสรวง พร้อมการฟ้อนรำบนศาลเจ้าปู่นาซ่าว และต่อด้วยการทำพิธี ที่ด้านล่างหน้าศาลโดยมีบั้งไฟ 5 ลูก ที่จะจุดในวันสุดท้ายเป็นส่วนสุดท้ายของประเพณีผีขนน้ำที่ทำสืบต่อกันมาทุกปี

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะมีการอัญเชิญพระอุปคุต พร้อมบั้งไฟ 5 ลูก แห่เข้าไปยังวัดโพธิ์ศรี ขณะที่แห่ก็มีการตีฆ้อง ร้องรำทำเพลงไปด้วย เมื่อไปถึงบริเวณวัดก็แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วเชิญพระอุปคุตไปไว้ที่หออุปคุต ความเชื่อเรื่องแห่อุปคุตนี้มีความเชื่อต่อกันมาว่า เพื่อให้พระอุปคุตมาปกปักรักษาชาวบ้านและประชาชนที่มาเที่ยวชมงานไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ 

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำรวมตัวที่จุดนัดพบ

ผีขนน้ำรวมตัวที่จุดนัดพบ เมื่อถึงเวลาบรรดาผีขนก็จะเดินไปรวมตัวกัน ที่จุดนัดหมายตามที่กำหนดไว้ (แต่เดิมประเพณีผีขนน้ำมีคนมาร่วมไม่มากอย่างทุกวันนี้ จุดนัดพบก็ใช้โรงเรียนบ้านนาซ่าว ต่อมาเมื่อมีผีขนน้ำต้องการร่วมงานบุญนี้มากขึ้นๆ จึงเปลี่ยนมาใช้บริเวณลานองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว) เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็จะแห่ขบวนเข้าไปยังวัด โดยมีพิธีการเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปีๆ ในปีนี้ นายพรชัย ถมกระจ่าง ปลัดจังหวัดเลย นายบรรพรรต  ยาฟอง นายอำเภอเชียงคาน นายวรวุฒิ  มีแพง  รองประธานสภา อบจ.เลย นายสำเนียง  ทาก้อม  ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงคาน นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว กำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลนาซ่าว นางสมฤดี จิตรจง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอีกหลายท่านมาร่วมพิธีเปิดงานประเพณีแห่ผีขนน้ำอย่างยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวเชียงคานขึ้นมาให้ยิ่งใหญ่เหมือนกับงานผีตาโขน และก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจงานนี้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

ร่างทรงเจ้าปู่นาซ่าวร่วมพิธีแห่ผีขนน้ำ

ร่างทรงเจ้าปู่นาซ่าวร่วมพิธีแห่ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ ระหว่างที่รอพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ผีขนน้ำที่มีรวมตัวกันจนเต็มลานกว้างย้อมให้ลานที่เคยว่างเปล่าเต็มไปด้วยสีสันของเหล่าผีขน เปิดเพลงเต้นตามจังหวะไปเรื่อยๆ อย่างสนุกสนาน เป็นเรื่องประหลาดที่ปกติเวลาจะแห่ผีขนน้ำจะมีฝนตกลงมาเป็นประจำทุกปี ปีนี้แม้ว่าฝนจะไม่ตกแต่แดดที่เคยแผดจ้าเป็นประจำทุกวันกลับครึ้มจนทำให้อากาศเย็นสบาย

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ในพิธีเปิดปีนี้เหล่าผีขนน้ำส่วนหนึ่งจะทำการแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการกำเนิดประเพณีผีขนน้ำ จบการแสดงด้วยการฉีดน้ำจากสายดับเพลิงเพื่อเพิ่มความสนุกสนานชุ่มฉ่ำให้เหล่าบรรดาผี

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

การแห่ผีขนน้ำ

การแห่ผีขนน้ำ จากจุดเริ่มต้นที่เหล่าผีนัดพบคือองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว จะแห่ขบวนเข้าไปยังวัด ซึ่งนำหน้าขบวนด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่จิรมาณพ ร่างทรงเจ้าปู่ผ่านพิภพ จ้ำ นางแต่ง และนางเทียม ร่างทรงวิญญาณคนอื่น ๆ ตามด้วยขบวนผีขน ขบวนบั้งไฟน้อย 5 บั้ง (ชาวบ้านเรียกว่า มะเขี่ย) ขบวนตีฆ้องตีกลอง ร้องรำทำเพลงให้ขบวนนางเทียมได้ฟ้อนรำ ส่วนผีขนก็จะเต้นรำไปตามจังหวะกลอง โดยจะเป็นการฟ้อนที่ไม่มีกำหนดตายตัวลงไปว่ามีท่าใดบ้าง คือทำท่าตามจินตนาการที่คิดว่าทำได้เหมือนผี และทำให้ผู้คนกลัวด้วย และจะมีขบวนฟ้อนเซิ้งของคุ้มต่างๆ ซึ่งปีนี้ชาวบ้านทุกหมู่ในตำบลนาซ่าวต่างก็แต่งตัวเป็นผีขนน้ำเข้าร่วมขบวนกันอย่างล้นหลาม เกิดเป็นสายแห่งสีสันเคลื่อนไปช้าๆ ตามถนนเข้าหมู่บ้านมุ่งหน้าไปยังวัดโพธิ์ศรี

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ในระหว่างทางของขบวนแห่ที่แต่เดิมมีระยะสั้นๆ แต่เมื่อมีผีขนน้ำมากขึ้น คนมาเที่ยวงานจากต่างถิ่นก็เริ่มมากขึ้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบและเส้นทางการแห่ให้ยาวขึ้นก็จะทำให้คนมาดูได้ดูผีขนน้ำอย่างจุใจเต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น จากองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าวไปยังวัดโพธิ์ศรี ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดินข้ามถนนจากนั้นเข้าซอยข้างวัดศรีโพนแท่น เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกลางหมู่บ้านเดินแห่เป็นเส้นตรงไปเลี้ยวเข้าประตูวัดโพธิ์ศรี ไม่สั้นเกินไปไม่ยาวเกินไป ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ตามเส้นทางขบวนแห่จะคอยต้อนรับผีขนน้ำ บางบ้านมีน้ำใส่แก้วใส่น้ำแข็งเย็นๆ มาให้กิน บางบ้านมีน้ำมาฉีดด้วยสายยางบ้างมาสาดกันบ้างพอให้ชุ่มฉ่ำเย็นสบายเหมือนสงกรานต์ขนาดย่อมเลยทีเดียว เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของช่วงเวลาที่จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน


ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ แมงหน้างามแห่งบ้านนาซ่าว

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

ผีขนน้ำ

รีวิว ประเพณีผีขนน้ำ


 "20 May 2019 will see this festival again
20 พฤษภาคม 2562 จะมีงานแบบนี้อีกครั้งนะ"

Akkasid Tom Wisesklin
2019-05-14 18:19:21

ประเพณีผีขนน้ำ


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ประเพณีผีขนน้ำ
ขอนทอง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตำหนักเอก รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชียงคาน เด่อ เลย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
นอนนับดาว ริมภู รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
Norn Nab Dao RimPhu Resort- Private Villa Tent เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
Kwanruen Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชียงคาน แกลอรี่ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจเจ แอท เชียงคาน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
แฟร์แฟร์ บูทิก รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชียงคาน ดราม่า โฮมสเตย์
  11.60 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com